xs
xsm
sm
md
lg

“สะตอ” ผักยืนต้นคุณประโยชน์เหลือหลาย แก้ไตพิการป้องกันเบาหวานได้ดี...พันธุ์ใหม่ “หนึ่งเดียวในโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



สะตอ เป็นไม้ป่าของไทย มีมากในภาคใต้ และขึ้นอยู่ในหลายภาค แปลงใหญ่ที่สุดกลับอยู่ที่อีสาน เคยเห็นแถบเทือกเขาตะนาวศรีในอำเภอสวนผึ้ง ต้นสูงใหญ่เก็บไม่ถึงชาวบ้านต้องใช้ปืนยิง มีกลิ่นรสเป็นเอกลักษณ์และเป็นที่นิยมของชาวใต้ แพร่ไปถึงมาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดเนเซียที่กินสะตอไทย

ในตำราแพทย์แผนไทย ใช้เมล็ดแก้ลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะพิการ ไตพิการ ส่วนงานวิจัยสมัยใหม่พบว่า สะตอมีแร่ธาตุและวิตามินมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่าง เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต แคลเซียม เหล็ก ฟอสฟอรัส วิตามินเอ บี และซี ช่วยในการขับลมในลำไส้ แก้ปัสสาวะพิการ ไตพิการ ช่วยลดน้ำตาลในเลือด และการรับประทานสะตอเป็นประจำยังช่วยป้องกันการเป็นเบาหวานได้ สะตอมีกากใยอาหารช่วยในการขับถ่าย ลดอาการท้องผูก ป้องกันการเกิดริดสีดวงทวาร ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยป้องกันเส้นเลือดอุดคัน ทั้งยังช่วยยับยั้งการเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อรา

แม้สะตอจะมีประโยชน์มากมาย แต่ในเมล็ดสะตอมีกรดยูริคสูง หากรับประทานมากเกินจะส่งผลให้แก่ผู้เป็นโรคเกาต์ ทำให้เกิดอาการุนแรงขึ้น เกิดไตอักเสบได้ อีกทั้งกลิ่นฉุนของสะตอ หากรับประทานมากเกินไปอาจมีกลิ่นปาก และปัสสาวะมีกลิ่นของสะตอไปด้วย ฉะนั้นจึงควรรับประทานแต่พอเหมาะพอควร และอย่ารับประทานเป็นประจำ

สำหรับการกำจัดกลิ่นสะตอที่รับประทานเข้าไปนั้น มีคำแนะนำไว้ว่า ให้ดื่มน้ำผลไม้รสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว ที่มีความเป็นกรดสูง จะช่วยยับยั้งเอนไซม์ที่ทำให้เกิดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ในสะตอและกระเทียม หรือกินมะเขือเปราะ ๒-๓ ลูก ก็จะช่วยดับกลิ่นของสะตอได้ หรือไม่ก็ดื่มนมที่มีไขมัน จะช่วยดับกลิ่นสะตอและกระเทียมได้เช่นกัน

ตามปกติต้นสะตอจะสูง ๒๐-๓๐ เมตร ทำให้เก็บลำบาก จนเกิดอาชีพรับจ้างปีนต้นเก็บฝักสะตอ แต่ปัจจุบัน
ศูนย์วิจัยพืชสวนตรังได้คัดเลือกสะตอจากสวนของเอกชนตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ จำนวน ๑๑๘ ต้น จนได้สะตอพันธุ์ดีที่สุด เป็นสะตอข้าว ต้นติดตาให้ผลผลิตเมื่ออายุ ๓ ปี ทรงต้นเตี้ย สะดวกต่อการเก็บและดูแล ให้ผลผลิตทั้งในและนอกฤดู ฝักตรง มี ๑๕ เมล็ดต่อฝัก ขนาดสม่ำเสมอกัน ทั้งยังฝักดก มีรสหวานและมีกลิ่นฉุนน้อย เมื่ออายุ ๑๐ ปีจะมีความสูงเพียง ๕ เมตร ขนาดทรงพุ่มกว้าง ๘ เมตร ให้ผลผลิตไม่น้อยกว่า ๒๐๐ ฝักต่อปี คือจะให้ผลผลิตในฤดูระหว่างเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม และนอกฤดูในเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ซึ่งจะมีราคาแพงมากกว่า ๓-๔ เท่า ถ้าให้น้ำดีก็จะมีฝักทั้งปี จึงให้ชื่อว่า “สะตอพันธุ์ตรัง ๑” ขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์แนะนำเมื่อปี ๒๕๖๐ อดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัยได้เดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง กล่าวชื่นชมว่า ศูนย์วิจัยพืชสวนตรัง เป็น “ศูนย์วิจัยสะตอหนึ่งเดียวในโลก” และอยากให้ทำงานวิจัยเรื่องอื่นๆของสะตอต่อไป

สะตอยังมีข้อพิเศษอีกอย่าง คือไม่สามารผสมเกสรในต้นเดียวกันได้ เพราะดอกตัวผู้กับดอกตัวเมียจะบานไม่พร้อมกัน ดอกตัวผู้จะบานและโรยไปก่อน ดอกตัวเมียเลยไม่มีดอกตัวผู้มาช่วยผสม สะตอที่ติดฝักก็เพราะมีค้างคาวเล็บกุดและผีเสื้อกลางคืนมาช่วย โดยค้างคาวจะใช้ปีกโอบดอกแล้วกินน้ำหวาน ละอองเกสรจึงติดที่หน้าอกค้างคาวไป เมื่อไปกินน้ำหวานต้นอื่นก็จะนำละอองเกสรที่อกไปช่วยผสมให้ด้วย

ผู้เขียนเคยปลูกสะตอติดตาไว้ ๒ ต้น ต้นหนึ่งตายไปก่อนเหลืออยู่ต้นเดียว เมื่ออายุได้กำหนดออกดอก ต้นสูงราว ๔ เมตร พอเข้าฤดูฝนก็ออกดอกทุกยอด ไม่ว่างแม้แต่ยอดเดียว และเป็นเช่นนี้อยู่หลายปี แต่ไม่เคยติดฝักเลยแม้แต่ฝักเดียว ทั้งๆค้างคาวก็มี แต่ย่านนั้นไม่มีใครปลูกสะตอเลย

ปัญหานี้ได้มีกลุ่มนักเรียนกลุ่มหนึ่งของโรงเรียนสุราษฎร์พิทยาได้นำมาคิดค้นหาทางแก้ไข และได้ประดิษฐ์อุปกรณ์ผสมเกสรขึ้น ประกอบด้วยกรวยพลาสติกยาว ๑๕ ซม. ทำหน้าที่แทนค้างคาว ด้ามทำด้วยท่อพีวีซียาว ๕ ม. ภายในกรวยมีสปริงทำให้ขนแปลงขยับเข้าออก เก็บละอองเกสรตัวผู้ให้ตกลงมาในที่เก็บละอองเกสร แล้วนำไปผสมกับดอกตัวเมียที่กำลังบาน ส่งผลให้เกิดการผสมเกสรขึ้น ซึ่งให้ผลดีทำให้สะตอติดฝักได้ถึง ๙๖ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งการผสมตามธรรมชาติจะได้ผลราว ๓๕ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น และแต่ละช่อดอกจะติดฝักถึง ๑๐ ฝัก โดยมีค่าใช้จ่ายในการทำอุปกรณ์ชุดนี้ ๗๕๐ บาท

สะตอเป็นผักยืนต้นที่มีคุณค่าทางอาหารสูงอีกอย่างหนึ่ง หากมีที่พอก็น่าจะปลูกสะตอไว้ในบ้านสัก ๒-๓ ต้น โดยเฉพาะในที่ต้องการร่มเงา จะได้มีสะตอไว้กินทั้งปี หากเหลือกินก็อาจจะวางขายไว้หน้าบ้านหรือฝากร้านค้าใกล้บ้านขายก็ยังได้ มีแฟนสะตอเยอะแน่ไม่ว่าภาคไหนของประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น