รายงานพิเศษ
“ชุมชนตรอกโพธิ์ มีลักษณะเป็นบ้านเช่า 1-2 ชั้น อยู่ในเวิ้ง ซึ่งถูกล้อมรอบด้วยตึกและอาคารต่างๆ ทำให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงเข้าถึงยากมากเมื่อเกิดเพลิงไหม้ ทางเข้าบางจุดต้องเดินผ่านครัวของห้องแถว”
“มีหัวแดง หรือ หัวจ่ายประปาดับเพลิงอยู่ในชุมชน แต่ก็เป็นจุดที่เข้าถึงได้ยากเช่นกันเพราะพื้นที่คับแคบ ทำให้รถดับเพลิงต้องเรียงคิวกันเมื่อมาถึง”
“พื้นที่แคบทำให้ต้องใช้เวลาในการดับไฟค่อนข้างนาน โดยเฉพาะเมื่อเกิดในพื้นที่เยาวราช ที่การจราจรหนาแน่น”
ทั้งหมดนี้คือข้อความสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดต่อสาธารณะโดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ หลังลงมาตรวจพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ย่านถนนเยาวราช ที่ชุมชนตรอกโพธิ์ เขตสัมพันธวงศ์ อีกครั้งในช่วงเช้าวันที่ 7 กรกฎาคม 2567
เหตุการณ์นี้สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนประมาณ 60 หลัง มีผู้ได้รับผลกระทบไม่มีที่อยู่อาศัย 37 ครัวเรือน พื้นที่เสียหายรวมทั้งชุมชนประมาณ 1.8 ไร่ ส่วนพื้นที่โดยรอบชุมชน เพลิงลุกลามไปถึงบริเวณชั้น 4 -6 โรงแรมนิวเอ็มไพน์ ,มีพื้นที่ร้านหูฉลามเฉลิมบุรี ชั้น 4-5 ได้รับความเสียหาย ... ในระหว่างเกิดเหตุต้องอพยพผู้ป่วย 26 คน ออกจากโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ และต้องอพยพู้เข้าพัก 22 ห้อง ออกจากโรงแรมโพธิ์เพลสด้วย
นักดับเพลิง ยืนยันตรงกับชัชชาติ เข้าถึงพื้นที่เพลิงไหม้ชุมชนตรอกโพธิ์ได้ยาก
“เราได้รับแจ้งเหตุในช่วงเวลาประมาณ 20.30 น. ครับ ข้อมูลในขณะนั้นคือ ไฟลามเข้าไหม้บ้านเรือนที่เป็นบ้านไม้ประมาณ 3 หลังแล้ว แต่ก็ยืนยันได้ว่า กลุ่มอาสานักดับเพลิงในเครือข่ายศูนย์วิทยุพระราม 199 เข้าไปถึงที่เกิดเหตุได้เร็ว สามารถเช็ตอัพนำกระเช้าขึ้นไปดับเพลิงได้เร็ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าเส้นทางทางภาคพื้นดินค่อนข้างเข้าถึงที่เกิดเหตุได้ยาก เพราะซอยแคบ และมีสิ่งกีดขวางจากอาคารโดยรอบค่อนข้างมาก”
จักราวุธ ตั้งสกุลยิ่งเจริญ นักดับเพลิงจากกลุ่มอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมผจญเพลิงในเหตุการณ์ที่ถนนเยาวราชในคืนวันที่ 6 กรกฎาคม 2567 ด้วย อธิบายสภาพพื้นที่ตรงกับข้อความที่ถูกสื่อสารมาจากผู้ว่าฯ กทม. และด้วยสภาพพื้นที่เช่นนี้ เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า นักผจญเพลิง จำเป็นต้องใช้เครื่องดับเพลิงหาบหามเข้าไปต่อกับหัวจ่ายน้ำประปาที่อยู่ด้านในชุมชน
“มันมีทางเข้าหลายทางก็จริงครับ แต่ซอยแคบมาก มีตึกสูงล้อมรอบด้วย ใช้รถดับเพลิงเข้าไปเลยไม่ได้ พวกเราก็ต้องใช้เครื่องดับเพลิงหาบหาม คือ เครื่องขนาดเล็กที่ออกแบบคล้ายรถเข็นเข้าไปต่อกับหัวแดงที่อยู่ข้างใน และบางส่วนก็ต้องเข้าไปฉีดน้ำลงมาจากในตึกสูงที่เปิดอยู่ให้เราเข้าไปได้ แต่บางอาคารก็ล็อกไปแล้วเราก็เข้าไปไม่ได้ครับ”
“เส้นทางคับแคบ อยู่ในเวิ้งถูกล้อมรอบด้วยตึก รถดับเพลิงตองจอดเรียงคิว เข้าถึงพื้นที่เพลิงไหม้ได้ยาก เข้าถึงหัวจ่ายประปาดับเพลิงได้ยาก” ... เหล่านี้ ล้วนเป็น “ปัญหาที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ” เมื่อเกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่เปราะบาง โดยเฉพาะชุมชนแออัด
ซึ่งหมายความว่า ท้องถิ่นอย่างกรุงเทพมหานคร หรือหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อาจจำเป็นต้องมองหาแนวทางใหม่ๆ ในการรับมือกับเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่เช่นนี้
“ในสถานการณ์แบบนี้ ถ้าเรามีเครื่องดับเพลิงหาบหามในชุมชนก็จะดีนะครับ หรือจริงๆแล้วอย่างน้อยแค่เรามีสายดับเพลิงไปต่อตรงเข้ากับหัวแดงได้เลยก็สามารถพอจะช่วยได้แล้วครับ ไม่ต้องใช้เงินมากด้วย แต่ปัญหาที่สำคัญคือ ถ้าเรามีอุปกรณ์ แต่อุปกรณ์เหล่านั้นถูกนำไปตั้งไว้เฉยๆมันก็พัง ไม่มีคนใช้เป็น หรือบางจุดก็อาจไม่เคยถูกนำมาใช้ฝึกฝนร่วมกับชุมชนเลยมันก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าจะทำให้มันมีประสิทธิภาพ ก็ต้องมีกระบวนการสอนและต้องฝึกซ้อมกันบ่อยๆในชุมชนด้วย” จักราวุธ แสดงความเห็นต่อการแก้ปัญหาควบคุมเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ชุมชนแออัด
“หน่วยดับเพลิงชุมชนหลังสามร้อยห้อง” โมเดลสร้างชุมชนรับมือเพลิงไหม้
เดือนกุมภาพันธ์ 2564 เกิดเหตุเพลิงไหม้บ้านเรือนที่เป็นชุมชนแออัดใน “ชุมชนหลังสามร้อยห้อง” เขตบางคอแหลม กทม. เป็นชุมชนที่มีทางเข้าออก 2 ทาง แต่ละทางเป็นซอยแคบที่ใช้รถจักรยานยนต์ในการสัญจรได้เท่านั้น แต่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น “มีบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายรวมทั้งหมด ... เพียง 5 หลัง”
“ชุมชนหลังสามร้อยห้อง มีเครื่องดับเพลิงหาบหามของเราเองค่ะ และเรามีทีมดับเพลิงที่ฝึกซ้อมกันอย่างสม่ำเสมออยู่ในชุมชน มีคนในชุมชน 3-4 คน เป็นอาสาดับเพลิง ... ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุ เราก็มีทั้งคนและอุปกรณ์ที่สามารถช่วยจำกัดวงของเพลิงไหม้ให้อยู่ในวงแคบไว้ได่ ระหว่างรอหน่วยดับเพลิงและอาสานักผจญเพลิงกลุ่มใหญ่มาช่วย”
ปิยนุช เทพสวงค์ หรือ นุช ประธานชุมชนหลังสามร้อยห้อง เล่าถึงแนวทางการบริหารจัดการเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ซึ่งถูกวางวแผนละซักซ้อมกันเองในชุมมาโดยตลอด จนทำให้ชุมชนแห่งนี้ ได้รับความเสียหายน้อยมากเมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นจริง
เหตุเพลิงไหม้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ถือป็นเพลิงไหม้ครั้งแรกและครั้งเดียวที่เกิดขึ้นกับชุมชนหลัง 300 ห้องมาจนถึงวันนี้ (7 ก.ค. 2567) ... ดังนั้น การที่ชุมชนหลัง 300 ห้อง สามารถจำกัดวงความเสียหายจากเพลิงไหม้ตั้งแต่ครั้งแรกที่พวกเขาต้องเผชิญหน้า ให้เกิดความเสียหายไม่มากจนเกินไป ย่อมมีความหมายแฝงว่า ชุมชนนี้มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์และบุคลากรอยู่ก่อนแล้ว ทั้งหมดถูกเตรียมไว้ แม้ว่าจะยังไม่เคยเกิดเหตุมาก่อนด้วยซ้ำ
“เมื่อปี 2564 ชุมชนเรามีเครื่องดับเพลิงหาบหามอยู่แล้ว เพราะประธานชุมชนคนก่อน ซึ่งเป็นคุณพ่อของนุชเอง ไปชนะการแข่งขันในรายการเกมโชว์ทางทีวีและขอเป็นรางวัลมาไว้ที่ชุมชนตั้งแต่ปี 2562 (2 ปี ก่อนเกิดไฟไหม้) เนื่องจากเห็นว่า ชุมชนหลัง 300 ห้อง มีส่วนที่เป็นชุมชนแออัด เป็นบ้านเช่าขนาดเล็กอยู่ในซอยแคบ ถือเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะมีความสียหายมากถ้าเกิดไฟไหม้”
“และชุมชนเราก็โชคดี คือ เมื่อเรามีเครื่องดับเพลิงหาบหามอยู่ในชุมชน เรายังมีคนในชุมชนอีก 3-4 คน ที่เป็นอาสาสมัครออกไปร่วมดับเพลิงตามเหตุต่างๆอยู่แล้ว จึงสามารถจัดการให้เกิดการฝึกซ้อมขึ้นบ่อยๆในชุมชนได้ เราสามารถสร้างอาสานักดับเพลิงรุ่นใหม่ๆขึ้นมาจากคนในชุมชนได้ และคนเหล่านี้ก็ช่วยทำให้ชุมชนได้รับความเสียหายไม่มากนัก เมื่อเกิดเพลิงไหม้ขึ้นจริงๆ” ประธานชุมชนหลังสามร้อยห้อง เล่าถึงที่มาของเครื่องมือและทีมดับเพลิงในชุมชนแห่งนี้
เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คนในชุมชนก็ยิ่งเห็นความจำเป็นของการมีเครื่องและทีมดับเพลิง โดยเฉพาะเมื่อเห็นตรงกันว่า ยังมีจุดเปราะบางที่เสี่ยงจะเสียหายหนักอยู่ในจุดอื่นด้วย คนในชุมชนจึงตัดสินใจช่วยกันออกเงินเพื่อจัดซื้อเครื่องดับเพลิงและอุปกรณ์เพิ่ม และทำให้ชุมชนหลังสามร้อยห้อง มีจุดที่ติดตั้งเป็นตู้เก็บเครื่องและอุปกรณ์ดับเพลิงในจุดเสี่ยง 2 จุด มีเครื่องดับเพลิงหาบหามรวม 3 เครื่อง มีสมาชิกในชุมชนทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนเข้ามาร่วมฝึกซ้อมใช้อุปกรณ์ดับเพลิงทุกๆ 2 เดือน และสมาชิกหลายคนมีความรู้และประสบการณ์เพิ่มจากการร่วมไปเป็นอาสาสมัครนักผจญเพลิงเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ในพื้นที่ต่างๆ
จากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จะเห็นได้ว่า ทีมดับเพลิงชุมชนของชุมชนหลังสามร้อยห้อง ที่สามารถช่วยลดความเสียหายจากเหตุเพลิงไหม้ลงไปได้มากแม้จะอยู่ในพื้นที่เปราะบางอย่างชุมชนแออัด น่าจะเป็นหนึ่งในพื้นที่ต้นแบบซึ่งควรถูกหยิบยกขึ้นมาศึกษาและพัฒนาต่อยอดไปใช้ในพื้นที่เปราะบางอื่นๆได้
แต่ก็ยังมีประเด็นที่ประธานชุมชนหลังสามร้อยห้อง เน้นย้ำว่าต้องให้ความสำคัญอย่างมาก นั่นคือ หน่วยดับเพลิงชุมชน จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่มีงบประมาณมาจัดซื้อเครื่องดับเพลิงมาวางไว้ในชุมชน
“ในปีงบประมาณนี้ กทม.มีงบพัฒนาชุมชนละ 2 แสนบาทค่ะ โดยให้ชุมชนนำเสนอความต้องการของชุมชนส่งไปให้สำนักงานเขต ซึ่งชุมชนเราก็เสนอขออุปกรณ์ดับเพลิงเพิ่มเติมไปสำนักงานเขตบางคอแหลมแล้ว เพราะแม้เราจะมีเครื่องดับเพลิงและมีทีมนักดับเพลิงที่พร้อมอยู่แล้ว แต่การมีอุปกรณ์ที่ดีเพิ่มขึ้นมา ก็จะช่วยเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น”
“แน่นอนว่า เราควรสำรวจพื้นที่เปราะบางใน กทม.ว่าจุดไหนบ้างเป็นจุดที่ควรมีเครื่องดับเพลิงในชุมชน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ชุมชนหลังสามร้อยห้องสามารถสร้างทีมดับเพลิงในชุมชนขึ้นมาได้ ก็สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มีแผนการฝึกฝนการใช้เครื่องมืออย่างสม่ำเสมอ มีทีมอาสาสมัครที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของเครื่องมือและอุปกรณ์ร่วมกันของคนในชุมชน ... เมื่อทำเช่นนี้ได้ เครื่องดับเพลิง หัวแดงจ่ายน้ำ หรือสายดับเพลิง จึงจะถูกใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพของมัน” ปิยนุช กล่าว