xs
xsm
sm
md
lg

รพ.นครพิงค์ เผยเคส ด.ญ. 4 ขวบปวดท้องตรวจพบเนื้องอกรังไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "โรงพยาบาลนครพิงค์" เผยเคสคนไข้เป็นเด็กหญิงวัย 4 ขวบ มีอาการท้องอืด และปวดท้อง ตรวจสอบพบเนื้องอกที่ปีกมดลูกขนาดใหญ่ และได้รักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว

เมื่อวันที่ 4 ก.ค. เพจ "โรงพยาบาลนครพิงค์" โพสต์ภาพพร้อมเผยเคสคนไข้เป็นเด็กหญิงวัย 4 ขวบ มีอาการท้องอืด และปวดท้อง เมื่อตรวจสอบพบเนื้องอกรังไข่ โดยทางเพจระบุว่า "เนื้องอกรังไข่ ในเด็ก พบไม่บ่อยแต่ไม่ควรมองข้าม ปวดท้อง ท้องอืดคลำได้ก้อนในท้อง ควรปรึกษาแพทย์
เด็กหญิง วัย 4 ปี ปวดท้องน้อย 1-2 วันก่อนมาโรงพยาบาล คุณยายสังเกตุว่าเด็กท้องอืดโตขึ้น และต่อมาอาการปวดท้องเป็นมากขึ้น ผู้ปกครองจึงพามาโรงพยาบาล สูตินรีแพทย์ได้ตรวจร่างกาย อัลตร้าซาวด์ เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ พบว่ามีก้อนเนื้องอกที่ปีกมดลูกขนาดใหญ่ ได้รักษาด้วยการผ่าตัด พบว่ามีเนื้องอกที่รังไข่ข้างซ้ายและมีการบิดขั้วของตัวรังไข่ จึงได้ทำการตัดก้อนเนื้องอกออก การผ่าตัดเรียบร้อยดี ผลชิ้นเนื้อ พบเป็นเนื้องอกธรรมดาของรังไข่ ไม่ใช่เนื้อร้าย ผู้ป่วยได้รับการดูแลหลังผ่าตัด และมีนัดตรวจติดตามอาการและเฝ้าระวังการเกิดเนื้องอกซ้ำ

เนื้องอกรังไข่ในเด็ก เป็นโรคที่พบได้ไม่บ่อยในเด็ก แต่พบได้ทุกช่วงอายุ สาเหตุแตกต่างจากผู้ใหญ่ โดยในเด็กมักจะเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือถุงน้ำที่รังไข่ที่ไม่ใช่เนื้อร้าย มีเพียง 3-8% เท่านั้นที่เป็นมะเร็งที่รังไข่ (คิดเป็น 1% ของมะเร็งในเด็ก) โดยในส่วนของมะเร็งมักเกิดจากมะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ของรังไข่ (Germ cell tumor)
อาการของเนื้องอกรังไข่ส่วนใหญ่ มักเริ่มจากการมีท้องอืด คลำได้ก้อนในท้อง ปวดท้อง รวมถึงอาการกดเบียดของก้อนไปที่อวัยวะข้างเคียง ได้แก่ อาเจียน ขับถ่ายผิดปกติ ซึ่งมีความสำคัญที่ผู้ปกครองควรสังเกตอาการและพาบุตรหลานมาพบแพทย์

การวินิจฉัยโรคแยกโรคอาศัยลักษณะอาการของผู้ป่วย ร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่

- การตรวจทางรังสีวิทยา เช่น การตรวจคลื่นความถี่สูง หรือการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อดูรอยโรคและการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง

- การตรวจสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor marker) ได้แก่ AFP, B-HCG, CA-125, CA19-9 อาจพบค่าสูงกว่าปกติได้ในกรณีที่เป็นมะเร็ง

- การวินิจฉัยและการรักษาต้องอาศัยการผ่าตัดเป็นหลัก เพื่อตัดเอาก้อนมาส่งตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อจำแนกชนิดและดูความเป็นมะเร็งรวมถึงประเมินการกระจายของโรคไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะข้างเคียง

เนื้องอกรังไข่ที่ไม่ใช่มะเร็ง ส่วนใหญ่มักมีลักษณะเป็นถุงน้ำ อาจเป็นถุงน้ำปกติ เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ หรือเป็นหนองจากการติดเชื้อในช่องท้อง ก้อนมักมีขนาดไม่ใหญ่ (<8-10 cm) บางครั้งพบการบิดขั้วทำให้มีอาการปวดท้องแบบรุนแรงได้

เนื้อร้ายที่พบบ่อยที่ตำแหน่งนี้คือ มะเร็งเซลล์สืบพันธุ์ของรังไข่ เป็นเนื้องอกของเซลล์ที่จะพัฒนาไปเป็นอวัยวะสืบพันธุ์ (Germ cell tumor) พบมากเป็นลำดับที่ 5 ของโรคมะเร็งในเด็ก พบบ่อย 2 ช่วงอายุ คือ ในอายุ 1-4 ปี และ 15-19 ปี อาการมักค่อยเป็นค่อยไป ร้อยละ 85% สามารถคลำได้ก้อนที่ท้องน้อยตรงอุ้งเชิงกราน ร้อยละ 10-15 มีปวดท้องแบบรุนแรงจากการมีเลือดออก การบิดขั้ว หรือการแตกออกของก้อนมะเร็ง การรักษาทำได้โดยการผ่าตัด และให้เคมีบำบัด หากทำการผ่าตัดได้ยาก อาจพิจารณาให้การรักษาเคมีบำบัดก่อนเพื่อลดขนาดของก้อนเพื่อให้ผ่าตัดง่ายขึ้น"




กำลังโหลดความคิดเห็น