xs
xsm
sm
md
lg

กรมการท่องเที่ยวชูมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย เดินหน้ายกระดับ Supply Side ชวนเที่ยวไทยมั่นใจไปกับช้างชูงวง ตอกย้ำภารกิจก้าวย่างอย่างยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมการท่องเที่ยวเดินหน้าส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ใช้มาตรฐานการท่องเที่ยวไทย “ช้างชูงวงเริงร่า” สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม ตอกย้ำภารกิจยกระดับสินค้าและบริการครอบคลุมตลอดทั้งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มุ่งพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว บริการท่องเที่ยว บุคลากรด้านการท่องเที่ยว ตลอดจนการอนุญาตธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ รวมถึงการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ตั้งเป้าสู่การเป็น Tourism Hub ของโลก
วันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2567 กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดงานแถลงข่าว กรมการท่องเที่ยว ก้าวย่างอย่างยั่งยืน “ท่องเที่ยวไทยมั่นใจไปกับ DOT” ณ ลานอีเดน ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร หนึ่งในสถานที่ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย มาตรฐานห้องน้ำสาธารณะ เพื่อการท่องเที่ยว

นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “กรมการท่องเที่ยวเดินหน้ายกระดับ Supply Side ชวนเที่ยวไทยมั่นใจไปกับมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย สัญลักษณ์ช้างชูงวงเริงร่าประกอบลายประจำยาม ตอกย้ำภารกิจก้าวย่างอย่างยั่งยืน ด้วยการยกระดับผู้ประกอบการและชุมชนให้มีความสะดวก สะอาด ปลอดภัย เป็นธรรม การให้บริการที่ดีแก่นักท่องเที่ยว รวมถึงสิ่งสำคัญในปัจจุบันคือเรื่องสิ่งแวดล้อม มีทั้งสิ้น 56 มาตรฐาน ครอบคลุมการท่องเที่ยวในด้านต่างๆ ทั้งที่พัก สินค้าและบริการท่องเที่ยว ด้านกิจกรรมท่องเที่ยว ด้านแหล่งท่องเที่ยว และด้านธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ซึ่งผู้ที่ได้รับรองมาตรฐานจะเป็นสถานประกอบการที่ภาครัฐรับรองว่ามีคุณภาพ สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้รองรับนักท่องเที่ยวได้ ตามเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล”


นายบุญเสริม ขันแก้ว รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว ได้กล่าวเสริมถึงการยกระดับสินค้าและบริการท่องเที่ยว ว่า “กรมการท่องเที่ยวดำเนินการเรื่องการออกใบอนุญาต การต่ออายุใบอนุญาต การยกเลิก หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว การประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ และการขึ้นทะเบียนผู้นำเที่ยว โดยมีสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์สาขา จำนวน 8 แห่ง ในภูมิภาคต่างๆ ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา หนองคาย สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ และภูเก็ต อีกทั้งให้บริการออกใบอนุญาตนอกสถานที่และระบบ e-Service ในอนาคต สร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยผ่านการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ บูรณาการการปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นแก่นักท่องเที่ยว คุ้มครองการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และการประกอบอาชีพมัคคุเทศก์ของคนไทย พร้อมกันนี้ มีการพัฒนาศักยภาพการให้บริการด้วยการฝึกอบรม การตรวจประเมินมาตรฐานธุรกิจนำเที่ยวและมาตรฐานมัคคุเทศก์ มีการประกาศกำหนดเขตพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชนให้มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นได้ตามกฎหมาย”

นายบุญเสริมกล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินงานด้านต่างประเทศว่า “เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย มีการพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศตามกรอบความร่วมมือต่างๆ โดยส่งเสริมให้มีการพัฒนามาตรฐานสมรรถนะตลอดจนรับรองมาตรฐานสมรรถนะบุคลากรด้านการท่องเที่ยว ตามข้อตกลงร่วมว่าด้วยการยอมรับคุณสมบัติบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียน และข้อตกลงอื่นที่เกี่ยวข้อง และส่งเสริมประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ชาวต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย ดำเนินมาตรการคืนเงินให้ผู้ผลิตภาพยนตร์ที่มีเงินลงทุนถ่ายทำในประเทศไทยสูง ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้ไปยังธุรกิจการถ่ายทำภาพยนตร์ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย และประชาสัมพันธ์ภาพ แหล่งท่องเที่ยวของไทยสู่ทั่วโลก”

นางณัฏฐิรา แพงคุณ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวถึงภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและบริการท่องเที่ยวว่า “เพื่อให้เกิดการเดินทางและเกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจากเมืองท่องเที่ยวหลักไปสู่เมืองน่าเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ได้คำนึงถึงการออกแบบสิ่งจำเป็นตามโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการท่องเที่ยว ภายใต้แนวคิดการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลหรือ Tourism for All ให้สามารถรองรับและตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกเพศ ทุกวัย


นอกจากนี้ ได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้แก่ชุมชนทั่วประเทศ ผ่านการตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนทั้งในระดับประเทศและระดับสากล สำหรับการพัฒนาสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ได้จัดทำมาตรฐานการท่องเที่ยวไทยและตรวจประเมินมาตรฐาน ผ่านกระบวนการที่เป็นสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวชาวไทย และชาวต่างชาติ ผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับด้านการบริการทั้งหมด 36 มาตรฐาน แบ่งเป็นมาตรฐานที่พัก มาตรฐานบริการท่องเที่ยว และมาตรฐานกิจกรรมท่องเที่ยว จนมีสถานประกอบการด้านบริการที่อยู่ระหว่างการรับรองมาตรฐานไม่น้อยกว่า 1,293 แห่ง สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านอัตลักษณ์ สินค้า บริการ และกิจกรรมของชุมชนที่ได้มาตรฐาน

ต่อยอดเพื่อสร้างจุดขายให้แก่นักท่องเที่ยว ตอบโจทย์ Tourism Trend มีการอบรมเสริมสร้างองค์ความรู้ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ ตลอดจนจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ การท่องเที่ยวรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม เพื่อส่งเสริมและบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายในการพัฒนาการท่องเที่ยวตามประเด็นต่างๆ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ผู้ประกอบการและชุมชนที่ได้รับมาตรฐาน ให้เป็นที่รู้จักแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งการจัดพิธีมอบเครื่องหมายรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวไทย ประจำปี พ.ศ. 2567 จะจัดขึ้น ในวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวง การท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธาน”

กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมพัฒนาห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว สร้างความยั่งยืนสู่ผู้ประกอบการ ชุมชน นักท่องเที่ยว รวมทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมดำเนินการตาม 5 กลยุทธ์ ภายใต้นโยบาย IGNITE Thailand’s Tourism ของรัฐบาลเพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น Tourism Hub มุ่งหวังให้การท่องเที่ยวไทยก้าวย่างอย่างยั่งยืน นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย ได้รับบริการท่องเที่ยวที่ดี พร้อมท่องเที่ยวไทยมั่นใจไปกับ DOT






กำลังโหลดความคิดเห็น