xs
xsm
sm
md
lg

สนทนากับ ‘ดร.ทรรศวรรณ ปรีดาวิภาต’ ผู้แปล Doing to Done ผลงาน ‘Mike Williams’ Life Architecture Coach ชื่อดัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.ทรรศวรรณ ปรีดาวิภาต
“ความสำเร็จใหญ่ๆ เริ่มได้ที่ Small Win ซึ่งเป็นความสำเร็จเล็กๆ เมื่อเราลงมือทำ แม้เราทำแล้ว อาจจะยังไม่สำเร็จ แต่ก็ยังสามารถที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการต่างๆ ไปได้ ดังนั้น มันมีหลายวิธีที่จะนำไปสู่เป้าหมาย
เป้าหมายไม่เปลี่ยน แต่เราค่อยๆ ขยับวิธีการหรือการลงมือทำของเราให้ค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า ถึงแม้จะล้ม ก็ล้มไปข้างหน้า ค่อยๆ ขยับไปทีละนิด ความสำเร็จก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นได้ ความเป็นจริงจึงเกิดจากการลงมือทำ”

“เมื่อเรามีกำลังใจ หาก Goal นั้นใหญ่มาก เราก็ทำไปทีละนิดๆ ทำไปเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับบทบาทอื่น ๆ ของเรา”


“Doing to Done …ทำให้จัดการชีวิตได้ดีขึ้น มีสมดุลในชีวิต ทำแต่ละบทบาทได้ดี ทำให้มี well-being ในการดูแลใส่ใจคนรอบข้าง เป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน”

“หนังสือ Doing to Done เมื่ออ่านจบก็จะมีแบบฝึกหัดให้ลองทำ โดยแต่ละบทจะมีเครื่องมือให้ทบทวนในแต่ละเรื่อง ดังนั้น เมื่ออ่านจบแต่ละบทก็เหมือนเราทำสำเร็จทีละเรื่องๆ หนังสือเล่มนี้ ทำให้เรากลับมาเปิดทบทวนได้ตลอดเวลาเมื่อเราคิดถึง ถ้าวางไว้บนโต๊ะทำงานหรือหัวเตียงหรือที่ที่เราต้องเดินผ่านบ่อยๆ เราก็สามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้เรื่อยๆ”

DOING TO DONE® คือหนังสือและหลักสูตรที่ออกแบบโดย Mike Williams นักวางกลยุทธ์ด้านประสิทธิภาพชื่อดัง
มีจุดมุ่งหมายเพื่อการเพิ่มประสิทธิภาพการทํางานและการใช้ชีวิตสู่ความสําเร็จ โดยบริษัท Entrepreneurship Plus ได้รับลิขสิทธิ์ในการแปลและเผยแพร่ในประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียว

ดร.ทรรศวรรณ ปรีดาวิภาต
ดร.ทรรศวรรณ ปรีดาวิภาต กรรมการผู้จัดการบริษัท Entrepreneurship Plus อีกทั้งเป็นผู้แปลหนังสือเล่มดังกล่าว ให้สัมภาษณ์กับ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ถึงความน่าสนใจของ Doing to Done ประสบการณ์ประทับใจจากการเรียนหลักสูตรชื่อเดียวกันนี้ จาก Mike Williams ผู้เขียนและเป็นทั้ง Life Architecture Coach คนสำคัญ

ด้วยบทบาทที่หลากหลายของ ดร.ทรรศวรรณ อาทิ เป็นผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย CUD4S (Chulalongkorn University Design for Society)
รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการตลาดและลูกค้าสัมพันธ์ บริษัท ธนาพัฒน์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (กลุ่มเล้าเป้งง้วน)
และเป็นผู้ก่อตั้ง Entrepreneurship Plus การแปลหนังสือเล่มนี้ จึงเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่ท้าทายและน่าสนใจ

บางเรื่องราวของ ดร.ทรรศวรรณ และ Doing to Done รวมถึงบริบทที่เกี่ยวข้อง ปรากฏในคำบอกเล่านับจากนี้
พร้อมด้วยมุมมอง แง่คิดที่เปี่ยมพลังและแรงบันดาลใจในการรับมือกับแต่ละบทบาทของชีวิตได้อย่างสมดุล


กำเนิด Entrepreneurship Plus และการแปล Doing to Done

เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงความเป็นมาในการก่อตั้งบริษัท Entrepreneurship Plus
ดร.ทรรศวรรณ หรือ ‘เม้ง’ เกริ่นถึงบทบาทความเป็นมาก่อนที่จะนำไปสู่การก่อตั้งบริษัทว่า
“ก่อนจะตั้งบริษัท Entrepreneurship Plus เม้งเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยทำธุรกิจกับที่บ้านคือกลุ่มเล้าเป้งง้วนค่ะ ตอนนี้ก็ทำอาคารเล้าเป้งง้วนและมีงานอสังหาริมทรัพย์ด้วยค่ะ”

ดร.ทรรศวรรณ เล่าว่าเธอทำธุรกิจมาประมาณ 20 กว่าปี และปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์การออกแบบเพื่อสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CUD4S (Chulalongkorn University Design for Society) ด้วย






“งานตรงนี้ของเม้งก็มีหลายบทบาทมากมาย แต่ส่วนตัวแล้วเม้งเป็นคนที่ชอบเรื่องพัฒนาคน, ทำเรื่องเกี่ยวกับ Social Impact, การสอนหนังสือเม้งจึงทำงานด้านการเป็นวิทยากรแล้วก็เป็นโค้ชด้วย รวมทั้งจบปริญญาเอก ด้านการศึกษาด้วยค่ะ ซึ่งประมาณปีหรือสองปีก่อน เม้งได้พูดคุยกับอาจารย์ธนัย ชรินทร์สาร ซึ่งเป็นรุ่นพี่เม้งที่เคยเรียนที่ UIUC ด้วยกัน
(หมายเหตุ : ดร.ทรรศวรรณ จบการศึกษาปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เกียรตินิยมอันดับ2) ปริญญาโท Master of Science Business Administration University of Illinois at Urbana Champaign (UIUC) ปริญญาเอก ด้านการจัดการการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ )

“เม้งรู้จักอาจารย์ธนัยมาเกือบ 20 ปี ก็คุยกับอาจารย์ธนัยว่าอยากจะสอนหลักสูตรอะไรสักอย่างที่ช่วยคนได้เยอะๆ แล้วเม้งก็เล่าถึงสิ่งที่เม้งสนใจ อาจารย์ธนัยจึงแนะนำว่ามีหลักสูตรหนึ่งที่น่าสนใจ เพิ่งเปิดตัวขึ้นมาใหม่ ชื่อว่าหลักสูตร Doing to Done ของคุณ Mike Williams ซึ่งคุณ Mike Williams เป็นนักวางกลยุทธ์ด้านประสิทธิภาพที่ช่วยผู้นำธุรกิจระดับโลกมาแล้วมากมาย แล้วก็เพิ่งจะเปิดตัวหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา”

ดร.ทรรศวรรณ ปรีดาวิภาต และ ดร.ธนัย ชรินทร์สาร (ซ้าย)
“อาจารย์ธนัยบอกว่าเม้งเหมาะมากเลยที่จะขับเคลื่อนให้ Doing to Done เข้ามาช่วยคนไทยได้มากขึ้น จึงเป็นที่มาของการเปิดบริษัทร่วมกันกับอาจารย์ธนัย ในชื่อ Entrepreneurship Plus ค่ะ ซึ่งชื่อ Entrepreneurship นี้ ก็มีที่มาจากงานวิจัยของเม้งที่จบปริญญาเอกด้วย คำนี้หมายความถึงการสร้างความเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งวันนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่นักธุรกิจที่เป็นผู้ประกอบการ แต่รวมถึงทุกๆ คนที่จะต้องลุกขึ้นมาเป็น Leadership หรือเป็นผู้นำที่จะต้องประกอบการอะไรให้สำเร็จ”

ดร.ทรรศวรรณ กล่าวว่า การจะเป็น Leadership หรือเป็นผู้นำได้นั้น ก็จะต้องอาศัยการมีเป้าหมาย การลงมือทำ ทำจนกว่าจะสำเร็จ ต้องมีนวัตกรรมที่จะช่วยให้สำเร็จ ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อ Entrepreneurship ของบริษัทนั่นเอง ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องมีการ Plus ด้วย แต่จะ Plus อย่างไร ให้คนสามารถสร้างการเป็นผู้ประกอบการและทำได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ


ความประทับใจใน Doing to Done

ถามว่า นอกจากคำแนะนำที่ได้รับจากรุ่นพี่ที่เคารพแล้ว โดยส่วนตัวของคุณ เมื่อได้ศึกษางานของคุณ Mike Williams แล้ว คุณสนใจอะไรใน Doing to Done จึงตัดสินใจแปลและนำเข้าลิขสิทธิ์เองด้วย

ดร.ทรรศวรรณ ตอบว่า เริ่มแรก เมื่อหนังสือส่งมาจากอเมริกา เธอก็อ่านจบเร็วมาก จบภายในวันหรือสองวัน เพราะส่วนใหญ่เป็นภาพที่สวยน่ารัก ตัวหนังสือน้อย
เมื่ออ่านจบ สิ่งที่ได้ผลทันทีเลยก็คือ ดร.ทรรศวรรณ ตระหนักว่ามีเครื่องมือที่อ่านง่าย เข้าใจง่าย และเป็นเครื่องมือที่ลงมือทำได้เลยทันที


“เมื่ออ่านจบปุ๊บ เม้งก็บอกได้เลยว่าสนใจ จึงเรียนหลักสูตรออนไลน์กับคุณไมค์ เพื่อเรียนรู้ว่าเป็นยังไงและลองลงมือทำด้วยตัวเอง นำเอาเครื่องมือต่างๆ มาปรับใช้กับชีวิต แล้วพบว่าเครื่องมือนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์แค่กับตัวเรา แต่ต้องเป็นประโยชน์กับคนรอบข้างด้วย เม้งจึงติดต่อกับทางเจ้าของหลักสูตรว่าเราสนใจอยากนำเข้ามา Training และหัวใจสำคัญคือเราต้องเป็นคนแปลด้วย เม้งจึงเป็นคนนำเข้าลิขสิทธิ์และเป็นคนแปลหนังสือเล่มนี้”


Work-life Balance

ดร.ทรรศวรรณ เล่าว่า จริงๆ แล้วเธอมีงานหลายด้านหลายบทบาท แต่ด้วยเครื่องมือ Doing to Done ก็พิสูจน์ได้ว่าเธอสามารถแปลหนังสือนี้ได้เสร็จเรียบร้อยในที่สุด เธอทำบริษัทนี้ได้และนำมาปรับใช้ด้วย ทำให้หลายๆ บทบาทในชีวิตสามารถจัดการได้ นอกจากเรื่องงานก็ยังมีเรื่องส่วนตัวคือการดูแลคุณพ่อ คุณแม่

“คุณพ่อของเม้ง ดร.พิพัฒน์ ปรีดาวิภาต เป็น Founder ของกลุ่มเล้าเป้งง้วน คุณพ่อเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากๆ ซึ่งตอนนี้คุณพ่อไม่สบาย เม้งก็ดูแลคุณพ่อเป็นหลักแล้วก็ดูแลคุณแม่ด้วย เม้งรู้สึกว่าถ้าเราสามารถจัดสรรบทบาทเรื่องงาน เรื่องครอบครัว จัดสรรบทบาทต่างๆ และดูแลสุขภาพตัวเองด้วยก็จะเป็นเรื่องดี
เม้งชอบออกกำลังกายด้วย มีงานอดิเรกสังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งทุกบทบาทเหล่านี้เราก็สามารถดูแลได้อย่างดี”


ดร.ทรรศวรรณ มองว่า การทำหน้าที่ในหลายบทบาทได้ดี นับเป็น Productivity ยุคใหม่ เพราะเราไม่ได้มีเรื่องงานในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่เรายังอยากสร้างความสุขไปพร้อมๆ กับความสำเร็จด้วย สิ่งนี้จึงนับเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ ดร.ทรรศวรรณ ต้องการนำหลักสูตร Doing to Done เข้ามาให้คนรอบๆ ข้างในชีวิตเราได้นำไปขยายผล ไม่ว่าในที่ทำงานของเรา ลูกศิษย์เรา คนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ เขาก็ได้ผ่อนคลาย ลดความเครียด เนื่องจากเขาได้รู้จักกับ Productivity ทำให้สามารถจัดการ รับมือกับหลายๆ บทบาทในชีวิตได้ดี

“เพราะฉะนั้น การพัฒนาคนคือสิ่งที่เม้งเชื่อ และ Doing to Done สามารถช่วยตรงนี้ได้ ทำให้เขาจัดการชีวิตได้ดีขึ้นได้ มีสมดุลในชีวิต ทำแต่ละบทบาทได้ดี ทำให้มี well-being ในการดูแลใส่ใจคนรอบข้าง เป็นการเติบโตอย่างยั่งยืน”


“เม้งนำเอาเครื่องมือ Doing to Done มาใช้ในการสอน Training เพื่อช่วยองค์กรต่างๆ ให้ได้มากขึ้น รวมถึงหน่วยงานต่างๆ เช่น สถานศึกษา เพราะ Doing to Done ไม่ใช่ช่วยให้เราจัดการชีวิตแค่เรื่องงาน แต่รวมถึงนักเรียนที่กำลังจะเข้ามหาวิทยาลัย หรือคนที่จะต้องปรับตัวจากการเป็นนักศึกษาไปเป็นคนทำงาน หรือ First Jobber รวมถึงคนที่กำลังจะปรับเปลี่ยนบทบาท เติบโตจากหน้าที่การงานที่ใหญ่ขึ้นหรือว่าการที่จะเปลี่ยนผ่านในแต่ละช่วงของชีวิต สิ่งนี้สามารถช่วยคนได้ในหลายๆ กลุ่มค่ะ”


จาก ‘Small Win’ สู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

ดร.ทรรศวรรณ เล่าว่า เธอเรียนออนไลน์หลักสูตร Doing to Done และได้เรียนสดกับ คุณ Mike Williams
ได้ลงมือทำด้วยตัวเองผ่าน Framework ซึ่งหากรวมระยะเวลาในการเรียนออนไลน์และการแปล จัดทำหนังสือ Doing to Done ด้วย ก็ใช้เวลาประมาณปีครึ่ง เนื่องจากเมื่อเรียนแล้ว ก็ต้องรู้ว่าเป้าหมายในชีวิตของเราคืออะไร เห็นภาพ มี Vision และเราต้องลงมือทำด้วย โดยทำซ้ำๆ เช่น วันละห้านาที ทำให้สำเร็จ เป็นความสำเร็จเล็กๆ ที่เรียกว่า Small Win แล้วก็ตั้งใจทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นได้


“แม้ไม่สามารถทำสำเร็จในวันเดียว แต่เราก็วางโปรแกรม วางแพลน ทำอย่างต่อเนื่อง ทำซ้ำๆ ทำไปเรื่อยๆ ในที่สุด จาก Small Win ก็กลายเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ได้

“เมื่อเรามีกำลังใจ หาก Goal นั้นใหญ่มาก เราก็ทำไปทีละนิดๆ ทำไปเรื่อยๆ ควบคู่ไปกับบทบาทอื่น ๆ ของเรา”
ดร.ทรรศวรรณ ระบุ

อดถามไม่ได้ว่า หากเป็นความสำเร็จน้อยๆ ในแต่ละวันที่เราอยากสร้างให้ตัวเอง เช่น การอ่านหนังสือให้ได้ทุกวัน จะนำไปสู่ความสำเร็จที่ใหญ่กว่าอย่างไร
ดร.ทรรศวรรณ ตอบว่า “ทำได้ค่ะ ตัวอย่างเช่น การอ่านหนังสือ Ultimate goal ของเราคืออยากพัฒนาตัวเอง เช่นอ่านหนังสือภาษาอังกฤษ เพื่อฝึกทักษะของเรา ภาพ Ultimate goal ของเราคือ เราเป็นคนสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีขึ้น นี่คือ Ultimate goal สำหรับการอ่านหนังสือภาษาอังกฤษของเรา อาจจะอ่านวันละเล่ม จากนั้นก็กลับมาดูว่าเราทำได้ไหม หรืออาจเป็นเล่มเล็กๆ ดีไหม หรือเป็นวันละบทไหม แล้วเราก็ตั้งนาฬิกาไว้เลยว่าช่วงที่เราอ่านหนังสือได้ดีที่สุดเป็นช่วงไหน อาจเป็นก่อนนอน หรืออ่านวันละ 30 นาที หรือ 15 นาที หรืออ่านวันละบท จากนั้นเราก็ตั้ง Calendar ไว้เลย”

ดร.ทรรศวรรณ กล่าวว่า เมื่อเราลงมือทำจริง อาจรู้สึกว่าเป้าหมายที่เราตั้งไว้ว่าจะอ่านหนังสือ 7 วัน อาจจะยังไม่สำเร็จ เราอาจปรับเป็น 3 วันต่อสัปดาห์ เรียกว่า ‘เมตตาต่อตัวเอง’ หรือจากเป้าหมายที่เราอยากจะเห็น เช่นภายใน 1 ปี อ่านหนังสือภาษาอังกฤษให้ได้เดือนละ 1 เล่ม แม้เราอาจจะยังทำไม่ได้ แต่ให้ลองตั้งเป้าเล็กๆ ไว้ แม้จะทำได้ 2 เดือนต่อ 1 เล่ม หรือ 3 วันต่อสัปดาห์ แต่เราก็ยังได้ความภูมิใจว่าเราทำได้ เราได้เริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างและทำสำเร็จ


คนที่อยากทำอะไรเป็นเป้าหมายใหญ่ๆ แต่อาจลังเล ไม่มั่นใจ เลื่อนออกไปก่อน เมื่อมีสิ่งที่เราทำแล้วไม่มั่นใจ นั่นก็เนื่องจากว่าอะไรที่ทำให้เราคิดว่า ‘เป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะทำสำเร็จ’ หากคิดเช่นนั้นก็จะรู้สึกว่า ‘ไม่อยากจะเริ่มทำ เพราะไม่อยากผิดหวัง’ ไม่อยากเสียใจ เพราะรู้สึกว่าแพ้ ไม่สำเร็จ

“แต่สิ่งที่เม้งเชื่อและสิ่งที่ Doing to Done ทำให้เม้งเชื่อก็คือ จากความสำเร็จใหญ่ๆ เริ่มที่ตัว Small Win ซึ่งเป็นความสำเร็จเล็กๆ ดังนั้น มันมีหลายวิธีที่จะนำไปสู่เป้าหมาย
เมื่อเราลงมือทำ แม้เราทำแล้ว อาจจะยังไม่สำเร็จ แต่ก็ยังสามารถที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการต่างๆ ไปได้ เป้าหมายไม่เปลี่ยน แต่เราค่อยๆ ขยับวิธีการ หรือการลงมือทำของเราให้เราค่อยๆ ขยับไปข้างหน้า ดังนั้น ถึงแม้จะล้ม ก็ล้มไปข้างหน้า ค่อยๆ ขยับไปทีละนิด ความสำเร็จก็จะค่อยๆ เกิดขึ้นได้
เม้งจึงมองว่าความเป็นจริงเกิดจากการลงมือทำค่ะ”


ประสบการณ์การเรียนรู้หลักสูตรกับ Mike Williams

ถามว่า มีอะไรอยากเล่าเพิ่มเติม เกี่ยวกับคุณ Mike Williams ไหม มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง
ดร.ทรรศวรรณ ตอบว่า Mike Williams เป็น Life Architecture Coach เป็นคนที่ช่วยสร้างความสำเร็จให้กับผู้ประกอบการ โดยที่คุณไมค์เชื่อว่าเรื่องของ งานเขียนหนังสือ หรือ Productivity Tools จะต้องเป็นวิธีที่ง่าย ไม่มีความยุ่งยาก สามารถทำให้คนลงมือทำได้

“คุณไมค์จึงใช้เรื่องของงานเขียนของท่าน การวาดรูปประกอบหรือการเป็นโค้ชที่เน้นเรื่องของความเรียบง่ายและจะใช้พลังของคำถามต่างๆ ซึ่งเม้งก็โชคดีมากๆ ที่คุณไมค์เป็นครูของเม้งเองที่นำเครื่องมือ Doing to Done มาใช้ ก่อนที่เราจะสอนคนอื่นได้เราก็ต้องสำเร็จก่อน คุณไมค์จึงเป็นเหมือนโค้ชเม้ง

Mike Williams นักวางกลยุทธ์ด้านประสิทธิภาพและผู้เขียนหนังสือ Doing to Done
“ทุกครั้งที่ Coach เม้ง คุณไมค์ก็จะมีทั้ง Framework และพลังของคำถามต่างๆ ที่ช่วยปลดล็อคสิ่งที่เรามอง เพื่อให้เห็นภาพที่เราต้องการว่าคืออะไร พลังของคำถามจะช่วยในสิ่งเหล่านี้ ช่วยให้เรามองเห็นว่าทำอย่างนี้ก็ได้ ทำให้เราเริ่มมองเห็นความเป็นไปได้หลายๆ อย่าง ทำให้มองเห็นความสามารถของเราได้ เม้งว่าท่านเป็นคนที่สร้าง Framework ขึ้นมาได้ง่าย และทุกคนสามารถใช้ Framework ของคุณไมค์ทำให้เกิดความสำเร็จได้ด้วย”


มนต์ขลังแห่งหนังสือ…คงอยู่ไม่เสื่อมคลาย

ถามว่า ทุกวันนี้ เราอยู่ในโลกยุคโซเชียล ผู้คนคุ้นชินอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต หน้าจอคอมพิวเตอร์ แต่คุณกลับให้ความสนใจในการแปลหนังสือเล่มนี้ คุณมองว่ายังเป็นไปได้ใช่ไหม ที่คนจะอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำตามหนังสือเล่มนี้ในยุคที่ข้อมูลมากมายมีให้อ่านง่ายดายในรูปแบบดิจิตอล

ดร.ทรรศวรรณ ตอบว่า “เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของเม้งนะคะ เม้งเชื่อว่าในยุคโซเชียลหรือยุคดิจิตอล AI หรือเครื่องมือต่างๆ เป็นเครื่องมือทรงพลังที่จะคอยช่วยเราแน่นอน มีจุดแข็งมีจุดดี
แต่หนังสือเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังมากๆ เพราะทำให้เราโฟกัส จดจ่ออยู่กับปัจจุบัน" 


"การที่เราอ่านหนังสือจบ ช่วยให้เราสร้างสมาธิและค่อยๆ ทบทวน กลั่นกรอง กระบวนการของการหยิบหนังสือ อ่านหนังสือ อ่านถึงตรงไหน คั่นเอาไว้ แล้วก็อ่านจนจบ เหมือนเราเดินผ่านหนังสือทุกวัน เมื่อเดินมาถึงหน้าที่คั่นไว้แล้วก็ทำให้เรากลับมาอ่าน การอ่านหนังสือจึงยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับมนุษย์”


“หนังสือหรือการที่เรามีสิ่งที่เราจับต้องได้จะทำให้มีการโฟกัสได้ดีขึ้น ทำให้ค่อยๆ อ่าน ค่อยๆ ย่อย แล้วก็กลั่นกรองความคิดและทบทวนสิ่งต่างๆ จากการอ่านหนังสือได้ เม้งจึงคิดว่าหนังสือยังเป็นสิ่งที่จำเป็นมากๆ ค่ะ สำหรับคนเรา ในหนังสือ Doing to Done เมื่ออ่านจบ ก็จะมีแบบฝึกหัดให้ลองทำ โดยแต่ละบทจะมีเครื่องมือให้ทบทวนในแต่ละเรื่อง ดังนั้น เมื่ออ่านจบแต่ละบท ก็เหมือนเราสำเร็จทีละเรื่องๆ จากการที่เราได้ลงมือทำค่ะ”

“หนังสือเล่มนี้ ทำให้เรากลับมาเปิดทบทวนได้ตลอดเวลาเมื่อเราคิดถึง
ถ้าวางไว้บนโต๊ะทำงานหรือหัวเตียง หรือที่ที่เราต้องเดินผ่านบ่อยๆ เราก็สามารถหยิบขึ้นมาอ่านได้เรื่อยๆ
นี่ก็เป็นจุดเด่นที่ต่างจากดิจิตอลแน่นอนค่ะ” ดร.ทรรศวรรณ ฝากทิ้งท้ายได้อย่างเห็นภาพ
…………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ดร.ทรรศวรรณ ปรีดาวิภาต, ภาพ Mike Williams จาก learnomnifocus.com,
(@askmikewilliams) / X