จบมหากาพย์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ยืดเยื้อมาเกือบ 4 ปี เมื่อศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนว่าการประมูลเป็นไปอย่างถูกต้อง แต่ “คีรี บีทีเอส” และเครือข่าย ดูเหมือนจะยังไม่ยอม ปั่นกระแสตั้งคำถามว่าโครงการล่าช้าสร้างความเสียหาย 1.3 แสนล้านบาทใครจะชดใช้ แต่เหมือนทำปืนลั่นใส่พวกเดียวกันเอง เพราะคำตอบก็คือ “คีรี” และพรรคพวกนั่นแหละต้องชดใช้
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดมีพิพากษา เมื่อวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2567 คดีการประมูลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ว่า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ได้ดำเนินการประมูลโครงการชอบด้วยกฎหมายแล้ว จบมหากาพย์ที่ยืดเยื้อมานาน 3 ปีกว่า เกือบ 4 ปี หลังจากนี้ไปก็เป็นเรื่องของการทำสัญญากันระหว่าง รฟม.กับเอกชนผู้ชนะการประมูล เพื่อที่จะดำเนินการก่อสร้างต่อไป
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มมูลค่าโครงการกว่า 140,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนตะวันออก ศูนย์วัฒธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.5 กม. 17 สถานี มีทั้งยกระดับและใต้ดินที่สร้างเสร็จแล้ว เหลือติดตั้งอาณัติสัญญาณและหาขบวนรถ คาดเดินรถในปี 2570-71 และส่วนตะวันตกจากศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ มีเฉพาะใต้ดิน ระยะทาง 13.4 กม. 11 สถานี
ก่อนหน้านี้ รายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ เคยนำประเด็น การประมูลสายสีส้มตั้งแต่ก่อนจะประมูล จนประมูลครั้งแรกมาถึงครั้งที่สองมาชำแหละไว้อย่างละเอียดมาแล้วตั้งแต่ปี 2564 เรื่อยมา
เริ่มจากเคยเตือนรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นห่วงเพราะว่ารถไฟฟ้าสายสีส้ม ผ่านย่านการค้า สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และประวัติศาสตร์ของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายสีส้มฝั่งตะวันตก ที่เริ่มจากศูนย์วัฒนธรรมฯ ไปบางขุนนนท์ต้องรอบคอบในการก่อสร้าง ต้องได้ผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีคุณภาพ เทคนิคการก่อสร้างต้องเชื่อถือได้ว่า มีมาตรฐานสูงพอจะไม่ทำให้สถานที่สำคัญ ๆ เสียหาย เช่น ถนนราชดำเนิน, โลหะปราสาท, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, พระบรมมหาราชวัง, วัดพระแก้ว, รพ.ศิริราช
ขณะเดียวกันเมื่อรัฐบาลจัดการประมูลโครงการครั้งใหม่ ได้ฟันธงลงไปว่า การประมูลได้ทำตามเงื่อนไขและกติกาของ รฟม.แต่ปัญหาที่เกิดตามมา เพราะบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ บีทีเอสซี ของ นายคีรี กาญจนพาสน์ และพวกไม่ยอม
กลุ่มบีทีเอส ตอนนั้นดำเนินการทุกอย่าง ทั้งยื่นร้องเรียน ฟ้องร้องต่อศาล ปฎิบัติการข่าวหรือไอโอ ใช้เครือข่ายนักวิชาการ สื่อในมือ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ หรือ แม้แต่นักแฉอย่างนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ก็ได้รับว่าจ้างให้เอาความเท็จมาปลุกปั่นสังคม หาทางเตะสกัดผู้ชนะในทุกรูปแบบ เป้าหมายของนายคีรีก็คือต้องการผลลัพท์ให้รัฐบาลล้มประมูลให้ได้
กล่าวถึง นายคีรี กาญจนพาสน์ ต้องย้ำอีกครั้งว่า นายคีรีเป็นนักธุรกิจที่เล่นการเมือง ไม่เหมือนนักธุรกิจทั่วไปซึ่งพวกเขาเมื่อมีการแข่งขัน มีกติกา ก็รู้แพ้ รู้ชนะ แต่คีรี ไม่รู้แพ้ รู้แต่จะเอาชนะ
นายคีรีอกหักจากรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งมูลค่าโครงการหลักหลายแสนล้าน และ ว่ากันว่า ใครประมูลชนะจะกลายเป็นผู้นำระบบขนส่งมวลชนระบบรางใน กทม.หรือของประเทศก็ว่าได้ นายคีรีก็เลยพาลเล่นการเมืองกู่ไม่กลับ เอาตัวเองไปคลุกวงในการเมือง เหมือนเป็นนักการเมืองคนหนึ่ง สนับสนุนเงินทุนให้พรรคการเมือง เช่นพรรคประชาชาติที่มี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นหัวหน้าพรรค เป็นต้น
นายคีรี คำนวณแล้วว่า จะต้องมีนักการเมืองเป็นของตนเอง และ จะต้องเข้าไปนั่งเป็นรัฐมนตรีคมนาคมในรัฐบาล โดยที่หัวใจสำคัญต้องมีหน้าที่ควบคุมดูแล “กรมราง” นั่นจึงเป็นที่มาของการให้การสนับสนุนให้นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ จากนักการเมืองท้องถิ่น กาญจนบุรี ลอยเหาะข้ามหัวใครหลาย ๆ คนมานั่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการคมนาคม มีหน้าที่กำกับดูแลกรมรางสมใจ
ตอนแรกที่นักข่าวไปถาม นายสุรพงษ์ ถึงความสัมพันธ์กับนายคีรี ก็อ้ำ ๆ อึ้ง ๆ ทำเหนียมอาย แต่อยู่ไป ๆ ตำแหน่งดูมั่นคง เพราะ นายคีรี กับ นายทักษิณ ชินวัตร ก็สนิทสนมกัน จำได้หรือไม่ ตอนที่นายทักษิณ นักโทษโคตรรวีวีไอพี ได้พักโทษออกมาแล้วกลับไปเยี่ยมบ้านที่เชียงใหม่ นอกจากจะมีนักการเมืองบริวารทั้งหลายของนายทักษิณแห่แหนไปต้อนรับ ยังปรากฏว่า นายคีรีถ่อสังขารไปร่วมขบวนกับเขาด้วย นายสุรพงษ์ถึงได้ยอมรับว่า มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายคีรี เป็นเพื่อนร่วมรุ่นหลักสูตรเรียนมาด้วยกัน
คงถึงบางอ้อในเวลาต่อมาว่า เหตุอันใด รถไฟฟ้าสายสีเหลืองสายสีชมพู ของนายคีรี ที่ได้รับสัมปทาน วิ่ง ๆ ไปล้อหลุด รางร่วง คนเดินตกท่อเสียชีวิต เกิดอุบัติเหตุกับประชาชนบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย กระทรวงคมนาคมไม่ได้ทำอะไรกับเจ้าของสัมปทานเลย แถมจ่ายเงินค่างวดงานให้ไม่มีอิดออด เพียงเพราะนายสุรพงษ์ กับ นายคีรี ซี้กัน ชาว กทม.จะเป็นอันตรายใช้รถไฟฟ้าที่มีปัญหาก็ช่างหัวมัน
นี่คือ คีรี กาญจนพาสน์
ตัดกลับมาที่หลังจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนยกคำฟ้องของกลุ่มบีทีเอสที่ฟ้อง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 กล่าวหาว่า ออกกติกาการร่วมลงทุนรถไฟฟ้าสีส้มตะวันตกไม่เป็นธรรม ทำให้บีทีเอสเสียหาย ถูกกีดกันออกจากการประมูล
ผลของคำตัดสินเท่ากับว่า ได้พิสูจน์การประมูลไร้ข้อครหา สิ้นสงสัย และ รฟม.ต้องเซ็นสัญญากับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ หรือ บีอีเอ็ม ผู้ชนะการประมูล ก็ปรากฏว่า กลุ่มบีทีเอส และ นายคีรี ออกมาเคลื่อนไหวไม่ยอมแพ้อีก
ขนาดศาลตัดสินแล้ว กลุ่มบีทีเอส ปากก็บอกน้อมรับคำตัดสิน แต่ขอหารือทีมทนายว่าจะมีช่องทางไหนที่จะคัดค้านได้อีก
พร้อมๆ กันนี้ เครือข่ายของนายคีรี ที่มีนักวิชาการ สื่อที่คีรีถือหุ้น ก็เคลื่อนไหวใช่โซเชียลมีเดีย พากันร้องแร่แห่กระเชอกันยกใหญ่ แนวทางแหกปากเป็นไปในทางเดียวกันว่า การประมูลงานก่อสร้างสายสีส้มที่ล่าช้ามา 3 ปีกว่า ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นใครต้องรับผิดชอบ? ... เงิน 68,000 ล้านหายไปเข้ากระเป๋าใคร?
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. และ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กูรูกูรู้เรื่องขนส่งราง ออกมาคำนวณค่าเสียหาย เป็นค่าเสียโอกาส ค่าโน่น นี่นั่น รวมแล้ว 130,000 ล้าน ตั้งคำถามว่า ความเสียหายอันใหญ่หลวงนี้จะมีคนรับผิดชอบหรือไม่?
นอกจากนี้ นายสามารถ ยังโพสต์ลอยๆ เรื่องเงิน 68,000 ล้านหายไปไหน?
เรื่องเงินหายนี้แม้จะพูดลอยๆ ออกมา เจตนาก็ดูออกว่า เขาพยายามให้คนคิดว่า โครงการประมูลสารสีส้มมีการทุจริตคอร์รัปชันมากถึง 68,000 ล้านบาท
คุ้น ๆ หรือไม่ว่า ตัวเลขนี้เอามาจากไหน?
ถ้าจำละครลิงที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ เคยเปิดแสดงเมื่อปีที่แล้วได้ ก็จะรู้ว่ามาจากไหน นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ หยิบมาเล่นใหม่ แต่มโนยังไม่เท่ากับนายชูวิทย์ ซึ่งบอกว่า รู้ว่าเงินไปไหน ไปโอนกันที่สิงคโปร์ รู้ละเอียดแม้กระทั่งเบอร์บัญชีธนาคารสิงคโปร์ที่เขาจ่าย-โอนกัน
สุดท้าย นายชูวิทย์ ก็แพ้ความจริงที่มีหนึ่งเดียว ยอมรับว่ารับงาน คีรี กับ BTS มา
ตัวเลขที่เครือข่ายคีรีเอามาตราหน้าว่าโครงการสายสีส้มมีโกงกินมีเงินทอน 68,000 ล้าน ก็คือส่วนต่างข้อเสนอรับผลประโยชน์จากรัฐ ระหว่างของบีทีเอสในการยื่นประมูลครั้งแรกที่ล้มประมูลไป กับตัวเลขของผู้ชนะประมูลครั้งใหม่
โดยที่ ว่ากันตามตรง ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครได้เห็นซองของกลุ่มบีทีเอสเสนอจริงหรือไม่ เพราะการประมูลถูกยกเลิก ตัวเลขนี้มีแต่บีทีเอสเท่านั้นที่รู้ และส่งให้เครือข่ายเอาไปโจมตี รฟม.และคู่แข่งอย่างบีอีเอ็ม
ตั้งแต่นายชูวิทย์ เล่นละครลิง มาถึงวันนี้ เครือข่ายคีรีและพวกก็ยังจับเอามาโยงกับประมูลครั้งที่สองที่ตัวเองไม่เข้าร่วมประมูล ตีโพยตีพาย ขยาย-ขยี้แต่ประเด็นตัวเลข 68,000 ล้านบาทนี้ซ้ำ ๆ วน ๆ
สรุปว่า วันนี้ การประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ผ่านคดีความที่บีทีเอส-คีรี ฟ้องร้อง ตอบได้ทุกคำถาม ชอบด้วยกฎหมาย
พิสูจน์ว่า ในการประมูลงานนี้นั้นเป็นไปตามกรอบของความโปร่งใส ผ่านกระบวนการยุติธรรมจนได้ข้อยุติ
เริ่มตั้งแต่ข้อกล่าวหาของบีทีเอสที่ว่า มีการแก้ไขทีโออาร์เอื้อประโยชน์คู่แข่ง จากรูปแบบเดิมเป็นการให้คะแนนค่าก่อสร้าง เงินตอบแทนที่ รฟม.ต้องคืนให้เอกชน เปลี่ยนเป็นการให้คะแนนค่าก่อสร้าง + คะแนนเทคนิค ทำให้จากที่รัฐต้องจ่ายให้เอกชน 7,000 ล้านบาท กลายเป็นรัฐต้องจ่าย 70,000 กว่าล้านบาทแทนตามที่ เครือข่าย BTS พยายามมโนตัวเลขเงินทอน 68,000 ล้านบาทดังกล่าว
สุดท้ายข้อร้องเรียนนี้ ถูกตัดสินว่า ในข้อเท็จจริง รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประเมิน TOR เป็นตัดสินด้วยคะแนนรวมด้านเทคนิค + การเงิน คือ เทคนิค 30 เปอร์เซ็นต์ การเงิน 70 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เอกชนให้ความสำคัญกับเทคนิคการก่อสร้างและการเดินรถควบคู่กับเงินที่ขอรัฐสนับสนุน มิเช่นนั้นจะเกิดการฟันราคากันโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพงานแทน ทำให้การก่อสร้างไม่ปลอดภัยกับประชาชน และ ทำให้สถานที่สำคัญในเกาะรัตนโกสินทร์ชั้นใน เช่น ถนนราชดำเนิน สนามหลวง สะพานพระปิ่นเกล้า หรืออาจจะรวมถึงพระบรมมหาราชวัง และวัดพระแก้ว ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่สำคัญ มีโบราณสถานอายุนับหลายร้อยปี เกิดความเสียหายได้
ข้อต่อมา การเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การประเมิน ไม่ทำให้เอกชนรายใดได้เปรียบหรือเสียเปรียบ เพราะว่าการเปลี่ยนวิธีประเมินผู้ชนะ ให้เอกชนทุกรายให้ความสำคัญกับทางด้านเทคนิค
พูดง่าย ๆ ว่า เอกชนคนไหนถ้าไม่มีเทคนิค ก็ไปเอาคนข้างนอก หรือบริษัทข้างนอกที่มีเทคนิค เข้ามาร่วมประมูล เมื่อประมูลเสร็จเรียบร้อยแล้ว เขายังขยาย TOR ให้เพิ่มอีก 45 วัน เพื่อให้เอกชนมีเวลาที่จะไปเอาเจ้าต่างๆ มาร่วมทุนกัน
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท อินชอน จากเกาหลีใต้มาร่วมกับอิตัลไทย ก็เข้าประมูลในครั้งที่สอง
ทั้งนี้ ข้อกล่าวหาว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์การประเมินใน TOR ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ละเมิดต่อ BTS มีผลการตัดสินจากศาลว่า การเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประเมินไม่ได้ละเมิดต่อ BTS
วันนี้ทุกอย่างชัดเจน ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ข้อกล่าวหาของกลุ่มบืทีเอสถูกยกฟ้อง และไม่มีน้ำหนัก คดีต่าง ๆ มหากาพย์ยาวนานควรต้องจบลงได้หรือไม่ ผู้มีสติปัญญาปัญญาชนย่อมพิจารณาได้
สำหรับคำถามที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ และเครือข่ายคีรีถามขึ้นมาว่า ความเสียหายอันใหญ่หลวงที่โครงการล่าช้ามากว่า 3 ปีเศษนี้ คิดเป็นมูลค่า 130,000 ล้านบาทใครต้องรับผิดชอบ
คำตอบนี้ สามารถ ราชพลสิทธิ์ ไม่รู้จริงๆ หรือ?
แล้วรู้หรือไม่ว่า ที่ตัวเองตั้งคำถามนั้นเป็นการทำปืนลั่นใส่พวกตัวเอง
เพราะ คนที่ต้องรับผิดชอบควรต้องชดใช้ค่าเสียหาย 130,000 ล้านบาทก็คือพวกคุณ
ไล่ตั้งแต่ คีรี กาญจนพาสน์ เจ้าของกลุ่มบีทีเอส ที่สั่งร้อง, สั่งฟ้อง ยื้อยุดฉุดการประมูลไม่รู้กี่คดีต่อคดี
นายคีรียังอาศัยความเป็นผู้ถือหุ้นในสื่ออย่างเนชั่น สั่งสื่อในเครือปูพรมเสนอข่าวการประมูลไม่ชอบมาพากล ปั่นกรณีเงินทอน 68,000 ล้านบาทให้เป็นเรื่องราวใหญ่โต ทั้งที่เป็นเรื่องของความมโนทั้งสิ้น
สื่ออื่น ๆ ที่คีรีให้การสนับสนุนเงินทุน อย่าง Top News ก็กระพือตาม รวมไปถึงปฎิบัติการข่าว (ไอโอ) อีกหลายสำนัก
นอกจากนี้ยังพึ่งพาบริการนายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ จอมแฉไปไถไป ให้ออกมาแฉช่วงก่อนจะมีเลือกตั้ง ละเลงจนสายสีส้มดูสกปรกเลอะเทอะ
นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่รับลูกนายทุนมาเขียนวิพากษ์วิจารณ์การประมูลในรูปแบบวิชาการแต่เอียงข้างเข้าทางบีทีเอส ในขณะที่สายสีเหลือง และ สายสีชมพู เกิดอุบัติเหตุ รางร่วง ล้อหลุด หยุดเดินรถ สามารถกลับเลี่ยงที่ไม่จะพูดถึง
เช่นเดียวกับ นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) (ACT) ที่ใช้ชื่อองค์กรชวนคนให้เชื่อ กุลีกุจอจัดเสวนา “ถามหาส่วนต่าง 68,000 หมื่นล้านบาท ประมูล “รถไฟสายสีส้ม” ให้เครือข่ายบีทีเอส ทั้ง พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด, สามารถ ราชพลสิทธิ์ มาจ้อ เพื่อหวังกดดันศาลช่วงระหว่างอยู่ในการพิจารณา
นายมานะ นิมิตรมงคล ก็เป็นเช่นเดียวกับ สามารถ พอมีเรื่องอุบัติเหตุที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับรถไฟฟ้าทั้งสายสีเหลือง-สีชมพู องค์กรต่อต้านคอรัปชันเหมือนปากอมอะไรไว้ ไม่พูดอะไรเลย ไม่เรียกร้องหรือจี้ให้รัฐตรวจสอบเหมือนที่ออกมาทำกับการประมูลสายสีส้ม
เพราะฉะนั้น ย้ำอีกครั้งว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มที่ล่าช้ามากว่า 4 ปี ถ้าจะถามว่า ความเสียหายอันใหญ่หลวง 130,000 ล้านบาทที่เกิดขึ้น ใครต้องรับผิดชอบ? คำตอบก็คือ คนพวกนี้นี่เองที่ต้องชดใช้ ต้องเช็กบิล
เรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินออกมาแล้ว ขั้นตอนต่อไป รฟม. ก็ต้องนำเสนอเรื่องนี้ต่อกระทรวงคมนาคม ให้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อทำสัญญากับผู้ชนะการประมูล เพื่อจะได้เดินหน้าก่อสร้างให้เสร็จโดยเร็วที่สุด เพื่อประชาชนจะได้ใช้เสียที
“ผมอยากให้ท่านผู้ชมจับตาดูให้ดีว่าคนที่ชื่อสุรพงษ์ปิยะโชติรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมจะออกมาคัดค้านเรื่องนี้อย่างไรในครม.เพราะยังไม่ทันไรเลยทันทีที่ศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ BEMชนะคุณสุรพงษ์ออกมาแส่ทันทีว่าต้องยกเลิกการประมูลหาทางยกเลิกการประมูลให้ได้นี่คุณเป็นรัฐมนตรีของประเทศไทยหรือคุณเป็นรัฐมนตรีช่วยฯคมนาคมดูแลกลุ่มรางโดยเฉพาะให้บีทีเอสคุณมากเกินไปหรือเปล่าคุณสุรพงษ์ทำไมหน้าด้านอย่างนี้” นายสนธิ กล่าว