xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุตุฯ อธิบาย ทำไมช่วงนี้ "ฝนตกน้อย" เตือน 21 มิ.ย.เป็นต้นไปฝนจะเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอุตุนิยมวิทยาเผยสาเหตุที่ไทยมีฝนน้อย ในช่วงเดือน มิ.ย.-ต้น ก.ค.ของทุกปีจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงหรือเป็นช่วงที่มีภาวะฝนน้อย เตือนตั้งแต่ 21 มิ.ย. 67 เป็นต้นไปฝนจะเพิ่มขึ้นและเริ่มกลับมาตกตามฤดูกาล

วันนี้ (20 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "กรมอุตุนิยมวิทยา" โพสต์ระบุข้อความว่า ”หลายคนอยากทราบสาเหตุว่าเหตุใดรอบๆ ประเทศไทยมีเมฆเป็นจำนวนมาก แต่ไม่ถูกพัดพาเข้าประเทศไทย ทำให้ฝนบริเวณตอนกลางของประเทศฝนน้อย เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องมาจาก : ความสูงต่ำของภูมิประเทศ : ภายหลังจากที่ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน (20/5/67) เป็นต้นมา มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน) ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังปานกลาง ถึงค่อนข้างแรง พัดสลับกัน แต่ส่วนใหญ่กำลังของมรสุมช่วงต้นฤดู มีกำลังค่อนข้างแรงพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันมาปะทะแนวเทือกเขาด้านตะวันตกบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง ทำให้ฝนส่วนใหญ่ตกด้านหน้าเขาตามแนวชายแดนประเทศเมียนมา ด้านหลังเขาจึงเป็นเขตอับฝน หากมรสุมมีกำลังแรงก็จะพัดนำเมฆฝนข้ามผ่านไปตกทางด้านตะวันออกของภาคอีสาน มีบางส่วนที่ปะทะแนวเทือกเขาเพชรบูรณ์ และแนวเขาใหญ่ ดังนั้น บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง กทม.และปริมณฑล จึงมีฝนตกน้อย

ในช่วงเดือน มิ.ย.-ต้น ก.ค.ของทุกปีจะมีภาวะฝนทิ้งช่วงหรือเป็นช่วงที่มีภาวะฝนน้อย เนื่องมาจากในระยะนี้มักจะมีลิ่มความกดอากาศสูงจากซีกโลกใต้แผ่ขึ้นมาสูงและดันร่องมรสุมให้เลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศจีนตอนใต้และเวียดนามตอนบน ทำให้อากาศบริเวณประเทศไทยมีความชื้นน้อยลง โอกาสจะก่อตัวเป็นเมฆและฝนน้อยลงด้วย การกระจายของฝนในระยะนี้จึงไม่สม่ำเสมอ ฝนตกบางจุดบางพื้นที่ บางพื้นที่มีฝนตกหนัก บางพื้นที่ไม่มีฝนตกเลย ตั้งแต่ 21 มิ.ย. 67 เป็นต้นไปฝนจะเพิ่มขึ้นและเริ่มกลับมาตกตามฤดูกาล มีปัจจัยที่ทำให้ฝนเพิ่มขึ้นคือ มรสุม ร่องมรสุม และหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง หรือมีพายุ”


กำลังโหลดความคิดเห็น