xs
xsm
sm
md
lg

ป่าอุดมสมบูรณ์! พบสัตว์ป่าหลากหลายชนิดออกหากินในป่าแก่งกระจาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช“ โพสต์ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า เผยให้เห็นสัตว์ป่าหลากหลายชนิดออกหากินอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เพจ “กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช“ โพสต์ภาพจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเผยให้เห็นสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่อาศัยและหากินอยู่ในพื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยทางเพจรายงานว่า “นายมงคล ไชยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เปิดเผยว่า ฝ่ายวิชาการ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้รายงานผลการสำรวจ ศึกษา วิจัย หรือทดลองทางวิชาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ประจำเดือนพฤษภาคม 2567 พบมีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่อาศัยและหากินอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน

ด้านนางสาวจิรนันท์ จรัสกุล รายงานว่า การสำรวจ ศึกษา วิจัย หรือทดลองทางวิชาการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เรื่อง "การติดตามประชากรเสือโคร่งและสัตว์ป่าในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน" โดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF - ประเทศไทย) ร่วมกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน สำรวจโดยการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (camera trap) และสำรวจร่องรอยของสัตว์ป่า นอกเหนือจากเป็นข้อมูลในด้านวิชาการแล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์ในการป้องกันและลักลอบเข้าไปล่าสัตว์ป่าของพรานจากแหล่งต่างๆ ได้อีกด้วย โดยการบันทึกภาพจะเป็นการเก็บข้อมูลและหลักฐานในการดำเนินคดีได้เป็นอย่างดี นอกจากจะทราบชนิด และจำนวนของสัตว์ป่าแล้ว ผลจากการเก็บข้อมูลครั้งที่ 1 ภาพจากกล้องพบว่ามีสัตว์ป่าหลากหลายชนิดที่อาศัยและหากินอยู่ในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน คือ เสือโคร่ง (KKT-002 (ณเดชน์)), (KKT-003), (KKT-004)และ (KKT-006) นอกจากนี้ยังพบช้างป่า เสือดาว เสือลายเมฆ กวางป่า กระทิง หมูป่า ลิงกัง อีเห็นข้างลาย เม่นใหญ่แผงคอยาว เหยี่ยวปลาเล็กหัวเทา แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า

นายมงคลกล่าวเพิ่มเติมว่า "ผืนป่าแก่งกระจานมีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมาก เป็นป่าต้นน้ำแหล่งกำเนิดแม่น้ำเพชรบุรี และแม่น้ำปราณบุรี รวมถึงเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยหรือ “บ้านของสัตว์ป่า” นานาชนิดอันชุกชุม ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มป่าแก่งกระจานได้เป็นมรดกโลก นับได้ว่ามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จในการดำเนินการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ ชนิดพันธุ์พืช และพันธุ์สัตว์ ที่ปัจจุบันมีคุณค่าในระดับโลก ซึ่งเกิดจากการดูแลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงนักท่องเที่ยวทุกคนที่มีส่วนร่วมในการดูแลผืนป่ากันมากขึ้น"

คลิก>>>อ่านโพสต์ต้นฉบับ
















กำลังโหลดความคิดเห็น