xs
xsm
sm
md
lg

2 ปีนั่งผู้ว่าฯ กทม. คอร์รัปชั่นโผล่ “ชัชชาติ” แก้ผ้าเอาหน้ารอด ?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



2 ปี “ชัชชาติ” นั่งผู้ว่าฯ กทม. เรื่องราวฉาวโฉ่เริ่มโผล่มาเป็นซีรีส์ ตั้งแต่การจ้างบริษัททำ CI งบ 3 ล้าน ได้ฟอนต์โบราณๆ มาติดสติ๊กเกอร์สกายวอล์ก ตามด้วยการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายราคาแพงกว่าท้องตลาดสูงลิ่ว ซื้อรถบัส 6 คัน 30 ล้านใช้งานไม่ทันไรต้องจอดทิ้ง และกรณีจ้างประชาสัมพันธ์กรุงเทพฯ มหานครแห่งกีฬางบเกือบ 40 ล้านบาท พบบริษัทที่ได้งานเชื่อมโยงอดีต ผอ.สำนักงบฯ ที่เพิ่งเกษียณ บางบริษัทตั้งมาเพื่อรับงานจาก กทม.โดยเฉพาะ “ชัชชาติ” ยืนยันความโปร่งใส บอกพร้อมแก้ผ้าให้ดูเลย แต่จะเป็นแค่แก้ผ้าเอาหน้ารอดหรือเปล่า สั่งย้ายรองปลัด “สมบูรณ์” เหมือนย้ายจากขุมเงินไปอยู่ขุมทอง



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงปัญหาการคอร์รปชั่นที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร(กทม.) หลังจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผ่านความไว้วางใจจากคนกรุงเทพฯ กว่า 1 ล้าน 3 แสนเสียง ให้เข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม. คนที่ 17 ในการเลือกตั้งเมื่อ วันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ซึ่งขณะนี้ผ่านมา 2 ปีกว่าแล้ว


ในสมัยที่กำลังหาเสียงเลือกตั้งอยู่นั้น นายชัชชาติ ชูนโยบายบริหาร กทม. เอาไว้อย่างสวยหรูถึง 214 นโยบาย สัญญาเอาไว้อย่างขึงขังให้คนเขียนการ์ตูนหาเสียงไว้อย่างสวยหรูว่า นโยบายบริหารจัดการดี เน้นความโปร่งใส เพิ่มการมีส่วนร่วม รับฟังเสียงประชาชน เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและการให้บริการ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ว่า “เพราะที่ผ่านมา ข้อมูลต่าง ๆ ไม่เคยถูกเปิดเผย นี่จึงเป็นครั้งแรก ที่ทุกอย่างจะถูกเปิดเผยอย่างโปร่งใส”




แต่มาถึงวันนี้ นโยบายที่สัญญาเอาไว้ไม่แน่ใจว่าทำสำเร็จไปกี่ข้อ หรือ โปร่งใสขนาดไหน ที่แน่ ๆ เสียงสะท้อนก่นด่าจากประชาชนชาว กทม. กลับเริ่มหนาหูขึ้นทุกวัน เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ ผลงานมันก็ฟ้องออกมาว่า บริหารงานแย่ไม่ต่างจากยุคก่อน ปัญหาหลักของคน กทม. ทั้งฝนตกน้ำท่วมขังตามถนนใหญ่ ซอกซอย หมู่บ้าน ฝุ่นพิษ PM 2.5 ปัญหาการจราจร - รถติด ปัญหาฟุตบาธ ปัญหาคนตกท่อตาย ถึงทุกวันนี้ก็ยังคงแก้ไขอะไรไม่ได้ตามที่หาเสียง


หนักยิ่งไปกว่านั้น ไม่เพียงปัญหาเก่ายังแก้ไม่ได้ แต่ยังพบความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานคร ที่ส่อไปในทางทุจริตคอรัปชั่นอีกหลายต่อหลายโครงการด้วย

ล่าสุด มีกลิ่นฉาวโฉ่เกี่ยวกับการคอร์รัปชันของ กทม. ออกมาให้ผู้เกี่ยวข้องไปตามตรวจสอบกันพร้อม ๆ กันหลายโครงการ ?


เรื่องแรก :การติดสติกเกอร์“กรุงเทพ - Bangkok” บริเวณเหนือสกายวอล์กที่สี่แยกปทุมวัน จากสติกเกอร์ข้อความBangkok City Of Lifeที่ติดไว้สมัยนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นผู้ว่าฯ กทม. มาเป็นสติกเกอร์ที่ออกแบบใหม่ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเรื่อง FONT หรือตัวอักษรโบราณไป ไม่ทันสมัย ไม่คุ้มค่างบออกแบบ

ทั้งหมดนี้ใช้ “งบออกแบบ” ตัวอักษรและอัตลักษณ์ หรือ Corporate Identity ของ กทม. ใหม่ ไปเกือบ 3 ล้านบาท


เรื่องความสวยงาม ยังพอแถได้ว่าแล้วแต่มุมมองคน แต่ปรากฏว่าผ่านไปไม่กี่วัน ป้ายเจ้ากรรมก็ดันมามีปัญหาปูดบวมพองขึ้นมาเพราะมีน้ำฝนซึมเข้าไปได้ง่าย ๆ จนต้องไล่ตามแก้ไขกลบความผิดพลาดกันแทบไม่ทัน

ที่น่าสังเกตก็คือ ก่อนหน้านี้ สำนักประชาสัมพันธ์ กทม. ประกวดราคาจ้างเหมาดำเนินการกำหนดอัตลักษณ์และภาพลักษณ์หลักของ กทม.ราคากลาง 3 ล้านบาท ปรากฏว่ามีบริษัทหนึ่งชนะ เสนอราคาต่ำกว่าราคากลาง 50,000 บาท หนำซ้ำ บริษัทที่ชนะประมูล เปิดเผยกับสื่อเองว่า รู้เรื่องประมูลก่อนปิดรับสมัครเพียง 2 วัน เพราะผู้ใหญ่ในวงการดีไซน์ โทร.มาชวน และใช้เวลาอ่านทีโออาร์ 1 วันเท่านั้น เพื่อเอาเวลาที่เหลืออีกวัน เตรียมเอกสารเพื่อเข้าไปร่วมประมูลงาน แล้วปรากฎว่าชนะประมูล


เรื่องที่สอง มีเฟซบุ๊กเพจที่ใช้ชื่อว่า “ชมรม STRONG ต้านทุจริตประเทศไทย” พบความผิดปกติการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย ภายใน ศูนย์กีฬาวารีภิรมย์ และ ศูนย์กีฬาวชิรเบญจทัศ รวมกัน 2 ที่เกือบ 10 ล้านบาท ยกตัวอย่างเช่น ลู่วิ่งไฟฟ้า เครื่องละ 759,000 บาท จักรยานออกกำลังกายตัวละ 480,000 บาท ดัมเบลชุดละ 270,000 บาท


เทียบกับราคาตลาดแล้วแตกต่างมาก ยกตัวอย่าง เก้าอี้ฝึกดัมเบลแบบปรับระดับได้ เกรดดี ไม่เกิน 30,000 บาท แต่ กทม.จัดซื้อราคา 96,000 บาท หรือราคาแพงกว่าเกิน 3 เท่า

นอกจากนี้ยังมี ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาแฉซ้ำว่า ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการติดตามงบประมาณของสภาฯ ส่งหนังสือให้ผู้ว่าฯ ชัชชาติ ชี้แจงโครงการซื้อครุภัณฑ์ 10 โครงการ ช่วงปี 2565 - 2567 โดยหนึ่งในนั้นคือเครื่องออกกำลังกาย 9 โครงการ 74 ล้านบาท ปรากฏว่าถึงตอนนี้ทาง กทม.ยังไม่มีหนังสือชี้แจงกลับมา


แต่กลับพบว่า โครงการซื้อเครื่องออกกำลังกายช่วงปี 2562-2567 มีไม่น้อยกว่า 110 ล้านบาท แบ่งเป็นของ สมัย ผู้ว่าฯ อัศวิน 25 ล้านบาท สมัย ผู้ว่าฯ ชัชชาติอีก 87 ล้านบาท


ปรากฏว่าเฉพาะลู่วิ่ง สมัยผู้ว่าฯ อัศวิน ปี 2562 จัดซื้อตัวละ 254,000 บาท ปี 2563 ปรับราคากลางขึ้นมาเป็น 500,000 บาท ปี 2565 ปรับลงมาตัวละ 334,000 บาท

แต่มาถึง สมัยผู้ว่าฯ ชัชชาติ ซึ่งได้รับเลือกเข้ามาตั้งแต่ ช่วงกลางปี 2565 ลู่วิ่งปรับราคากลางขึ้นมาเป็นตัวละ 518,000 บาท ต่อมา ปี 2566 ราคาก็ก้าวกระโดดไปที่ตัวละ759,000 บาท !!!


โดยมีหลายโครงการที่ใช้ลู่วิ่งราคา 759,000 บาท ทั้งที่ศูนย์มิตรไมตรี ศูนย์วัดดอกไม้ ศูนย์วารีภิรมย์ และศูนย์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ที่สำคัญมีการล็อกผลงาน ทำให้ช่วงหลังๆ คนเสนอราคาแข่งกัน จะเป็นหน้าเดิมๆ 2-3 บริษัท และยังพบว่า ศูนย์อื่นๆ ที่คาดว่าเครื่องออกกำลังกายหลายรายการที่มีการจัดซื้อด้วยราคาสูงเกินราคาตลาด 5-10 เท่า !!!

พอเห็นเค้าลางปัญหาลามเข้ามาใกล้ตัวแบบนี้ แบบนี้ ผู้ว่าฯ ชัชชาติก็เลยแถลงข่าวเมื่อ วันที่ 6 มิถุนายน 2567 ว่าเมื่อ 2 เดือนก่อน สตง.ออกมาทักท้วงว่าโครงการผิดปกติได้ชี้แจงไปแล้ว ยอมรับว่าซื้อในราคาสูงกว่าปกติ แต่เป็นไปตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง


โดยได้แต่ พูดเท่ ๆ ยอมรับว่ามีเรื่องที่ไม่โปร่งใสอยู่บ้าง แต่ก็พร้อมจะตรวจสอบและปรับปรุง ถ้าอธิบายไม่ได้ ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ หากพบว่า มีการทุจริตจะดำเนินการตามกฎหมายเต็มที่ ยืนยันผมโปร่งใส เหมือนตอนนี้ยืนแก้ผ้าให้ดูได้เลย

นายชัชชาติ ยังอ้างว่า การปรับราคา อาจจะเอา “ราคาเก่า” ก่อนที่ตัวเองจะเข้ามาทำงาน เอามาเป็นฐาน แต่ต่อไปจะปรับปรุงทั้งระบบ และเชื่อว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่เรื่องนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ อีกที่รอการแก้ไข


“คุณชัชชาติจะอ้างว่าเป็นราคาเก่าๆ ไม่ได้ เพราะคุณชัชชาติ เป็นผู้ว่าปี 2565 แต่ราคากลางที่เปิดมา ของปี 66 - 67 ใครดูก็รู้ว่าแพงเกินเหตุ อย่าว่าแต่คณะกรรมการจัดทำราคากลาง ผู้บริหาร กทม. สำนักงบ กทม. และสภา กทม. ไม่มีใครค้านสักคน ขนาดคนโง่ๆ ดูยังรู้เลยว่ามันแพงชิบฉาย แต่ทำไมปล่อยออกมาได้ตั้งหลายโครงการ” นายสนธิ กล่าว

โดยในปีงบประมาณ ปี 66-67 กทม. จัดซื้อไปทั้งหมด 7 โครงการ แต่พบว่าตอนประกวดราคา e-Bidding จะมีผู้เข้าเสนอราคาเพียง 2 รายเท่านั้น โดยมีอยู่ 4 โครงการ ที่คงเป็นความบังเอิญอย่างร้ายกาจที่มีเอกชน 1 ราย เสนอเท่ากับราคากลางเป๊ะ ๆ ตลอด ขณะที่อีก 3 โครงการ จะมีเอกชนหน้าเดิมชนะ เพราะคู่แข่งมักจะเข้าเสนอราคาสูงกว่าราคากลางทุกโครงการ

นอกจากนี้ ยังพบว่า หนึ่งในบริษัทที่ชนะประมูลจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายราคาแพง คือบริษัท วาล็อค สปอร์ต อีควิปเม้นท์ จำกัด นั้นไม่เคยมีการซื้อขายกับหน่วยงานราชการใด หรือแม้แต่เอกชน นอกจากกรุงเทพมหานคร เพียงอย่างเดียว ไม่มีหน้าร้าน ไม่มีพนักงาน ไม่มีสต็อกสินค้า แต่สามารถรับงานมูลค่าหลายสิบล้านได้ยังไง?


ปรากฏว่าเจ้าของ และกรรมการบริษัท ชื่อนายสรวิชญ์ ศรีรัตนพัฒน์ เป็นลูกชายอดีต ผอ.สํานักงบประมาณ กทม. ที่เพิ่งเกษียณไปเมื่อปี 2565 แถมยังรับงานยุคของ รองปลัดฯ สมบูรณ์ หอมนาน ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผอ.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว อยู่ในขณะนั้น ซึ่งบริษัทเพิ่งจดทะเบียนเมื่อปี 2564 แต่แต่กลับได้รับการคัดเลือกจัดซื้อจัดจ้างในปี 2565 ถึง 3 โครงการ มีความน่าเชื่อถืออย่างไร แต่ละโครงการห่างจากราคากลางแค่หลักพันบาทเท่านั้น

“ท่านผู้ว่าฯ ครับ อุปกรณ์ทางกีฬานั้น กทม. อย่าไปนั่งมั่วตั้งราคากลางด้วยตัวเอง กทม.จะซื้ออะไรก็ตาม ท่านผู้ว่าฯ ต้องยอมรับว่ามันมีขายในประเทศไทยหมด ทุกแห่ง จะไปตามห้างสรรพสินค้า ห้างกีฬา มีหมดทุกอย่าง หรือแม้กระทั่งออนไลน์ ทำไมลูกน้องท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ หรือท่านรองปลัดฯ สมบูรณ์ ที่คุมเรื่องนี้ ถึงไม่ดูราคากลางจากของที่เขาขายกันอยู่ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า ห้างกีฬา หรือว่าในออนไลน์ แล้วเอาราคากลางที่เขาขายกันตรงนั้นมาเป็นราคากลางที่ต้องมาประมูลกัน” นายสนธิ กล่าว

มีการอ้างว่าปัจจุบันเครื่องออกกำลังกายเป็นสินค้าหมวดนวัตกรรม จึงไม่มีราคากลาง ทั้งที่ลู่วิ่งกี่แบบในตลาดมีหมดเลย ในออนไลน์ก็มี การที่บอกว่าไม่มีราคากลาง ก้เพื่อจะตั้งราคาเท่าไรก็ได้ เหมือนเสาไฟกินนรี ที่ อบต.ราชเทวะ จ.สมุทรปราการ เสาไฟราคาต้นละ 94,000 บาท รวมมูลค่าทั้งหมดเป็นพันล้านบาท


เครื่องออกกำลังของ กทม. ก็เหมือนกัน ที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติอ้างว่า“ถ้าดูจากกระแสก็ซื้อในราคาสูงกว่าปกติ แต่หากดูตามกระบวนการเบื้องต้นก็เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง ปี 2560 มีการทำ TOR ผ่านขบวนการ e-bidding เรียบร้อยแล้ว

ถามว่าผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไม่ทราบเลยหรือว่าขบวนการ e-bidding จริงๆ คือตัวร้าย ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมติงานงานหนึ่ง ถ้าทำกันอย่างตรงไปตรงมา บริษัทที่ได้งานอาจจะได้กำไร 5 บาท แต่ถ้า 2 บริษัทที่เข้าประมูล รู้กันฮั้วกัน ส่งบริษัทหนึ่งให้ได้งาน ขูดกำไรได้สูงกว่า อาจจะ 20 บาท แล้วเอามาแบ่งกันก็ได้เจ้าละ 10 บาทแล้ว

ประเด็นต่อมาหลังการขยายผลการตรวจสอบเพิ่มเติมโครงการที่เกี่ยวข้อง พบความผิดปกติ ในโครงการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของ กทม.ที่จัดซื้อราคาสูงกว่าท้องตลาด ใน 7 โครงการ ซึ่งมีผู้เข้าเสนอราคาเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นการจัดซื้อโดย สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว ที่ นายสมบูรณ์ หอมนาน รองปลัด กทม. เป็นผู้รับผิดชอบ

วันศุกร์ที่แล้ว วันที่ 7 มิถุนายน 2567 นายชัชชาติ มีคำสั่งย้ายนายสมบูรณ์ ไปปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม


ดูเผินๆ เหมือนเป็นการลงโทษ แต่ถ้าดูในรายละเอียด หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบอะไรบ้าง?
- สำนักสิ่งแวดล้อม
- สำนักงานประชาสัมพันธ์ สำนักปลัด กทม.
- การพาณิชย์ของ กทม.
- บริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด

ก็คือรวบยอดเรื่องการหารายได้ การพาณิชย์ รวมไปถึงป้ายโฆษณาต่างๆ ในกรุงเทพให้มาอยู่กับนายสมบูรณ์ รองปลัด กทม. ซึ่งนายชัชชาติทำเหมือนว่าถูกลงโทษด้วยการสั่งย้าย แต่จริง ๆ แล้ว กลับเป็นการสั่งย้ายจาก“ขุมเงิน”ไปอยู่ “ขุมทอง” เสียมากกว่า !?!

ยังไม่หมด ยังมีเรื่องกลิ่นคอร์รัปชันฉาวโฉ่เรื่องที่สามมีเพจที่ชื่อว่า “คิด ทำ ทิ้ง” พบเห็นรถบัส กทม.ซุกไว้ข้างสระน้ำบริเวณศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ไทย-ญี่ปุ่นจำนวน 6 คันซึ่งมีการจอดไว้นานเกินปี ไม่ได้ใช้งาน พอสืบข้อมูลพบว่ารถ 6 คันนี้ใช้ งบประมาณราว 30 ล้านบาท(คิดแบบง่าย ๆ เฉลี่ยคันละ 5 ล้านบาท)


เมื่อไปดูรายละเอียดก็พบว่า รถ 6 คันดังกล่าวนั้นเป็นรถแบบสั่งประกอบพิเศษ โดยแบ่งเป็น 2 สัญญา คือ แบบมีแหนบ 4 ล้านบาท และ แบบมีถุงลม 6 ล้านบาท

โดยรถบัสเหล่านี้ ถูกระบุว่า ใช้ในภารกิจขนส่งนักกีฬาไปแข่งขันทั่วประเทศ ทว่า หลังใช้งานได้ไม่นานมีการแจ้งซ่อมเบิกจ่ายมาโดยตลอด ตั้งแต่ก่อนหมดระยะประกัน ซ่อมแพงเกินจริง แถมมีการสั่งการห้ามแจ้งภายนอก เพราะอยู่ในประกัน แต่ก็ซ่อมช้าดึงเรื่องไว้เพื่อให้หมดประกัน พอหมดประกันก็อ้างหมดประกันแล้วทำอะไรไม่ได้ รอจะขายทอดตลาดอีก เจ้าของโครงการคือกองการกีฬา สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กทม.ที่เดียวกับที่จัดซื้อเครื่องออกกำลังกายแพงโคตร ๆ นั่นเอง !


เรื่องที่สี่ มีเพจที่ชื่อว่า “ซึ่งต้องพิสูจน์” เผยเอกสารทีโออาร์ระบุว่า กทม. “จ้างประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร” ให้เป็น “มหานครแห่งกีฬา” ผลิตและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งกีฬา ผ่านสื่อโทรทัศน์ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยม Facebook Fan page, Twitter, Instagram, YouTube ตั้งราคากลาง 40 ล้านบาท ปรากฏว่า บริษัท ไนซ์ไฟน์เวิร์ค จำกัด ชนะการประมูล 39.6 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคากลาง 4 แสนบาท


สังคมตั้งข้อสงสัยว่า การใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ว่ามหานครแห่งกีฬา จำเป็นต้องใช้งบประมาณถึง 40 ล้านบาทเลยหรือ ทั้งที่โปรโมตว่าเป็นมหานครแห่งกีฬา ไม่ใช่จัดการแข่งขันกีฬาด้วยซ้ำ

พอไปดูเว็บไซต์ภาษีไปไหน พบว่า ช่วงปี 2566-2567 บริษัทนี้รับงานเฉพาะ กทม.อย่างเดียว เช่น ปี 2566 โครงการเมืองน่าอยู่สิ่งแวดล้อมดีปลอดภัยพิบัติน้ำท่วม 17.17 ล้านบาท

ปี 2567 ประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานครให้เป็นมหานครแห่งกีฬา39.6 ล้านบาทและประชาสัมพันธ์ร่วมสร้างกรุงเทพฯ เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน อีก 24.27 ล้านบาท

รวมแล้ว 2 ปี 3 โครงการ บริษัทนี้บริษัทเดียวรับงานไปเหนาะ ๆ กว่า 81 ล้านบาท

ประเด็นคือการตั้งงบประมาณประชาสัมพันธ์ต้องใช้มากขนาดนี้เชียวหรือ แทนที่จะนำงบประมาณไปปรับปรุงสาธารณูปโภคให้เป็นเมืองน่าอยู่ ปลอดน้ำท่วม ไปส่งเสริมกีฬาแก่เด็กและเยาวชน คือทำอะไรให้เห็นเป็นรูปธรรม ดีกว่าจะทุ่มงบโฆษณาประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ที่ดี แต่ความเป็นจริงทุกวันนี้คุณภาพชีวิตครกรุงเทพฯ ไม่ได้ดีขึ้นมาเลย


“ที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่ง คือ เวลามีใครออกมาเปิดโปงถึงความไม่ชอบมาพากลใน กทม. ก็จะมีสื่อที่คอยแบกผู้ว่าฯ ชัชชาติ ตั้งแต่เรื่องสติกเกอร์ ก็มีสื่อบางค่ายพยายามออกข่าว เอานักวิชาการ เอานักออกแบบมาอธิบาย หรืออย่างข่าวจัดซื้อเครื่องออกกำลังกาย สื่อที่แบกผู้ว่าฯ ชัชชาติน้อยคนนักที่สนใจรายงานข่าว แต่พอผู้ว่าฯ ชัชชาติขึงขัง ก็ออกข่าวกันใหญ่โตบอกว่าพร้อมให้ตรวจสอบบ้าง โยกย้ายรองปลัดฯ กทม. บ้าง

“ท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติครับ ผมเคยเตือนท่านมานานแล้ว ตั้งแต่ท่านเป็นผู้ว่าฯ ใหม่ๆ ว่า ท่านควรจะลงทุนในเรื่องของคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนใน กทม. ที่เสียไปในเรื่องงบประชาสัมพันธ์ หรืองบที่คุณตั้งราคากลางของอุปกรณ์กีฬาเกินกว่าความเป็นจริง 5 เท่า 10 เท่า ส่วนต่างพวกนี้เอามารวมๆ กันแล้ว เอาไปเพิ่มคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนใน กทม. ให้ดีขึ้น อย่างน้อยที่สุด จ้างครูสอนภาษาอังกฤษ หรือภาษาจีน ที่มีคุณสมบัติดี เพิ่มเติมเข้าไป ให้เห็นว่าเด็กที่เรียน กทม. นั้น สามารถที่จะเรียนภาษาอังกฤษจากครูสอนภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพ หรือภาษาจีน หรือภาษาญี่ปุ่น ที่มีคุณภาพ



“หลังจากนี้ กทม. จะโดนขุดอีกเยอะ โครงการกี่โครงการจะโดนสังคมลากไส้ออกมาให้เห็นกันชัดๆ ถ้าทุกอย่างโปร่งใสก็ไม่มีอะไรต้องกังวล ถ้าไม่เป็นอย่างนั้นแล้วก็ต้องเตรียมตัวรับเอาไว้ให้ดี ท่านผู้ว่าฯ ไม่เคยคิดที่จะไปดูบ้างหรือครับ บริษัทบางบริษัทที่รับงานของท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ 2-3 ปี ก็บริษัทเจ้านี้ตลอดเวลา แล้วบริษัทที่ลูกชาย ที่คุณพ่อเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กทม. ไม่ลองดูบ้างหรือครับ หน้าร้านก็ไม่มี อะไรๆ ก็ไม่มี แต่ประมูลได้ตลอดเวลา แล้วท่านรองปลัดฯ สมบูรณ์ ท่านย้ายจากขุมเงินไปสู่ขุมทอง ดูแลป้ายโฆษณาทั่วกรุงเทพมหานคร ที่คนที่เกือบๆ จะผูกขาดไว้คนเดียว คือ Plan B ถึงเวลาหรือยังครับที่ต้องขึ้นราคาค่าป้ายโฆษณา เอาเงินมาชดเชยการคอร์รัปชันโครงการต่างๆ

“ท่านผู้ว่าฯ ครับ ที่ท่านบอกว่าในชีวิตทางการเมืองท่านทำมา ปีนี้จะพังทลายหมด เรื่องนี้จะทำให้ท่านพัง ใช่ครับ ถ้าท่านยังต้องการความเท่อยู่เหมือนเดิม ใช้สื่อมวลชนที่คอยแบกท่านเอาไว้ ช่วยเหลือเขาไป เชื่อสิท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ ท่านพังแน่ๆ ครับ ในที่สุดแล้ว ผลงานจะเป็นเครื่องพิสูจน์ คงไม่พูดเกินเลยว่า ในยุคท่านผู้ว่าฯ ชัชชาติ การคอร์รัปชันนั้นมากมายมหาศาลกว่าทุกยุคทุกสมัยครับ”
นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น