xs
xsm
sm
md
lg

ผลงานโบดำ “โจ๊ก” ปั้นคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ ทำลาย “โอเอทรานสปอร์ต” กำจัดคู่แข่งให้ “ตู้ห่าว” สุดท้ายยกฟ้องทั้ง 3 ศาล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดผลงานชิ้นโบดำ “โจ๊ก สุรเชษฐ์” อ้างปราบทัวร์ศูนย์เหรียญ ฟ้อง “โอเอทรานสปอร์ต”ข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร จนธุรกิจเสียหายหลายพันล้าน ครอบครัวทนทุกข์ทรมาน พนักงาน 8 พันคนตกงาน แต่เครือข่าย “ตู้ห่าว” ไม่ยอมแตะ ซ้ำช่วยยื้อคดีเผาสวนงูกว่า 10 ปี แต่สุดท้ายศาลยกฟ้อง“โอเอทรานสปอร์ต” ทั้ง 3 ศาล เช่นเดียวกับคดีเรือฟินิกซ์ล่ม ที่เล่นใหญ่ระดมเจ้าหน้าที่เอาผิดเจ้าของบริษัท แต่ศาลก็ยกฟ้องเช่นเดียวกัน สะท้อนทำงานมั่วซั่ว ถนัดแต่ยัดข้อหา สร้างภาพเอาผลงานให้ตัวเอง



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณี “บิ๊กโจ๊ก” หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร.ที่เมื่อหลายปีก่อนยังดำรงตำแหน่ง “พล.ต.ต.” เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว เป็นตัวตั้งตัวตีในการอ้างว่าจะไปกำราบ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ไปไล่ล่าจับกุมบริษัท โอเอทรานสปอร์ต โดยตั้งข้อกล่าวหาเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร จนเขาล้มละลาย เสียหายทั้งครอบครัว

แต่สุดท้าย ศาลมีคำตัดสินยกห้องทั้ง 3 ศาล โดยศาลฎีกา มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 256 4และนัดอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2565 จากกรณีที่ใน ช่วงปี 2559-2560 พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ ในขณะนั้นเป็นตัวตั้งตัวตีอาสา รับงานจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะไปปราบกลุ่มที่ถูกเรียกว่า“ ทัวร์ศูนย์เหรียญ” โดยอ้างว่าเพราะได้รับการร้องเรียนจากหน่วยงานในประเทศจีนว่ามี กลุ่มคนที่พฤติกรรมในการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทยเสียหาย รวมถึงผู้ประกอบการมีพฤติกรรมในการเลี่ยงการเสียภาษีอากร ต่อมาทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ให้มีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนในคดีนี้ ได้สอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดี


พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ผู้นี้ถูกตั้งฉายาจากคนในแวดวงว่าเป็น “ดาราสีกากี” เพราะเวลาทำอะไร ชอบตีปี๊บป่าวประกาศไปทั่ว โดยอาศัยเครือข่าย นักข่าว ผู้สื่อข่าว ผู้จัดรายการ โซเชียลมีเดียให้เผยแพร่ข้อมูลไปในลักษณะชี้นำให้สังคมเชื่อว่า ทุกอย่างเป็นไปตามที่ “บิ๊กโจ๊ก” ลั่นวาจาออกมาทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น ไอ้นี่มันเป็นทัวร์ศูนย์เหรียญ, ไอ้บริษัทนี้มันเป็นนอมินีของต่างชาติ,ไอ้นั่นเป็นอั้งยี่-ซ่องโจร,ไอ้โน่นมันหนีภาษี เลี่ยงภาษี เป็นร้อยเป็นพันเป็นหมื่นล้าน, ไอ้ทัวร์บริษัทนี้ มันเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ข่มขู่ลูกทัวร์-ทิ้งลูกค้า ฯลฯ

ไม่ปฏิเสธว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” นั้นมีอยู่จริง แต่ในข้อเท็จจริงแล้วแล้วใช่ว่า นายตำรวจที่ชื่อ สุรเชษฐ์ หักพาล จะเอาผิดผู้ต้องหาที่ถูกเหวี่ยงแหจับมาได้เสมอไป เพราะยังมีคดีอีกมากมายที่นายตำรวจผู้นี้รับผิดชอบและดำเนินการแบบอึกทึกครึกโครม เพื่อให้ตนเองได้หน้าคว้าคะแนนนิยมพร้อมเสียงสรรเสริญยกย่อง สมกับฉายา “ดาราสีกากี” แต่ในท้ายที่สุด ศาลกลับตัดสินว่าจำเลยซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่โดนตัวเองเล่นงาน เป็นผู้บริสุทธิ์มิได้กระทำความผิดตามสำนวนคดีที่ สุรเชษฐ์ หักพาล ปั้นมากับมือจึงพิพากษายกฟ้อง

ทั้งนี้ ในคดีลักษณะดังกล่าวที่คำพิพากษาไม่ต่างอะไรกับการกระชากหน้ากากการทำงานของ สุรเชษฐ์ หักพาล ว่า มั่วซั่ว ถนัดในการยัดข้อหาทิพย์ ก็คือ “คดีทัวร์ศูนย์เหรียญ” หรือที่ในวงการข่าวเขาเรียกกันสั้น ๆ ว่า “คดีโอเอ” โดยคดีนี้ ศาลฏีกาพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วเมื่อต้นปี 2565


ย้อนรอย “คดีโอเอ”

สำหรับจุดเริ่มต้นของคดีนี้เกิดขึ้นในปี 2559 ขณะที่ สุรเชษฐ์ หักพาล มียศ พล.ต.ต. ดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่คุมสำนักงานตำรวจแห่งชาติในวันนั้น

ในฐานะตำรวจท่องเที่ยว สุรเชษฐ์ หักพาล จึงเปิดศึกกับบริษัททัวร์จีนที่อยู่ในเมืองไทยและนำคนจีนมาเที่ยวที่จังหวัดภูเก็ต โดยตั้งข้อหาว่ามีการกระทำเป็นอั้งยี่ ฟอกเงิน เอาเปรียบผู้ประกอบการชาวไทย

โดยเป้าใหญ่ที่ สุรเชษฐ์ หักพาล พุ่งเข้าถล่มก็คือ บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด ซึ่งทำทัวร์นำคนจีนเข้ามาเที่ยวเมืองไทยและ บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ซึ่งมีรถบัสอยู่ในเครือข่ายมากถึง 2,500 คัน ทำหน้าที่ให้บริการรับส่งนักท่องเที่ยวพาไปยังสถานที่ต่าง ๆ ซึ่ง สุรเชษฐ์ หักพาล ระบุว่าเป็นร้านค้าและโรงแรมในเครือข่าย ทำให้เม็ดเงินวนอยู่ในกลุ่มนอมินีของจีน หลบเลี่ยงภาษี เป็นการสร้างความเสียหายให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวที่มีคนไทยเป็นผู้ประกอบการมูลค่านับพันล้านบาท


และแน่นอนว่าสไตล์การทำงานของ สุรเชษฐ์ หักพาล ต้องตีข่าวให้ดังและดุดันเข้าไว้ ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมซึ่งมีถึง 13 คน จึงไม่ได้รับการประกันตัว ต้องเข้าไปตกระกำลำบากในคุกกันถ้วนหน้า

ทั้งนี้ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของบิ๊กโจ๊กในครั้งนั้น ประกอบด้วย บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด บริษัท ซินหยวน ทราเวล จำกัด บริษัท รอยัล เจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัท รอยัล พาราไดซ์ จำกัด บริษัท รอยัล ไทย เฮิร์บ จำกัด บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด


นอกจากนี้ยังมีบุคคล เช่น นายสมเกียรติ คงเจริญ จำเลยที่ 1 นางธวัล แจ่มโชคชัย จำเลยที่ 2 นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี จำเลยที่ 4 นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี จำเลยที่ 9 นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี จำเลยที่ 10 น.ส.สายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี จำเลยที่ 12 นายวินิจ จันทรมณี จำเลยที่ 13

สังเกตว่า ในรายชื่อจำเลยนั้นมีนามสกุล โรจน์รุ่งรังสี อยู่หลายคนซึ่งก็คือตระกูลเจ้าของบริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต โดย นางธงชัย กับ นายนิสา โรจน์รุ่งรังสี นั้นเป็นสามีภรรยากัน ขณะที่ น.ส.สายทิพย์ กับ นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี นั้นเป็นลูก คือ ลูกสาวคนโต กับ ลูกชายคนเล็ก โดยครอบครัวนี้มีลูกทั้งหมด 4 คน ซึ่งทั้งหมดทั้งบริษัท และบุคคลที่เกี่ยวข้อง ถูก สุรเชษฐ์ หักพาล ระบุว่าเป็นเครือข่ายเดียวกัน


ปฏิบัติการโหด “โจ๊ก” ทำลาย OA เพื่อช่วย “ตู้ห่าว”

ก่อนที่จะไปลงรายละเอียดถึงคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ ขอกล่าวถึงชะตาชีวิตของคนในตระกูลโรจน์รุ่งรังสี เจ้าของบริษัทโอเอ รวมไปถึง พนักงานอีกเกือบ 8,000 คนเสียก่อน เพราะเรื่องนี้ถือได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่เกิดกับชีวิตคนจริง ๆ ที่เกิดจากความอำมหิตของ “สุรเชษฐ์ หักพาล” และพรรคพวก

ท่านผู้ชมครับ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559-2560 หลายปีก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด ทัวร์จีนในเมืองไทยกำลังเฟื่องฟูมาก เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจีนเข้ามาเที่ยวเมืองไทยปีละมากถึง 9 - 10 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนเหล่านี้จับจ่ายใช้สอยมือเติบ ทำรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไทยมากถึงปีละ ถึง 450,000 ล้านบาท ถึง 520,000 ล้านบาท

ในเวลานั้นบริษัททัวร์ ธุรกิจนำเที่ยว รถนำเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกประเภทที่มุ่งเน้นรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนเฟื่องฟูมาก ในประเทศไทยมีบริษัทใหญ่ๆ 5 บริษัท ดังนี้ (1) บริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ของตระกูลโรจน์รุ่งรังสี (2) โมเดิร์นเจมส์ หรือ เอ็มจี ของ “ตู้ห่าว” ทุนจีนสีเทา (3) เจมส์ แกลอรี่ (4) สยามเจมส์ และ (5) วังถลาง

โดยในเวลานั้น โอเอ ทรานสปอร์ต ถือเป็นเบอร์หนึ่งในวงการธุรกิจนำเที่ยวของนักท่องเที่ยวจีน


ด้วยเหตุที่ผลประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวนั้นมากมายมหาศาล ในแวดวงนี้จึงมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด และหลายครั้งนำไปสู่ความรุนแรง เช่น “คดีเผาสวนงู” ซึ่งก็คือ เหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย รปภ.สวนงู จ.ภูเก็ต ปางตาย และวางเพลิงเผาสวนงูเมื่อ เดือนเมษายน 2555 โดยคนที่อยู่เบื้องหลังก็คือ ตู้ห่าว และ “หนูนา” พ.ต.อ.หญิง วัทนารีย์ กรณ์ชายานันท์ ภรรยาที่เป็นตำรวจ และเป็นหลานของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก อดีต ผบ.ตร.

เรื่องการเผาสวนงูของบริษัท ภูเก็ตเฮลตี้ นูทรีเม้น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโอเอ ทรานสปอร์ต จากการบงการของบริษัท โมเดิร์นเจมส์ คู่แข่งสำคัญ และเบื้องหลังก็คือ ตู้ห่าว และภรรยา


แต่ตอนนั้นก็มีการใช้อิทธิพลทั้งตำรวจ อัยการ โอบอุ้ม “ตู้ห่าว มาเฟียจีนสีเทา” กับเมียเอาไว้ ให้รอดพ้นจากบ่วงกรรมนับเป็นสิบปี โดยมีอิทธิพลถึงขั้นอัยการสูงสุดสั่งไม่ฟ้อง

กลับมาถึงกรณีเรื่องการยัดข้อหาทัวร์ศูนย์เหรียญให้กับโอเอ ทรานสปอร์ตและครอบครัวโรจน์รุ่งรังสี ต้องไม่ลืมว่า ช่วงนั้นเป็นช่วงหลังการรัฐประหาร วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พวกลิ่วล้อของทหารในเครือข่าย คสช. นั้นกำลังปีกกล้าขาแข็งมาก โดยมีการมุ่งเป้าไปที่การเด็ดปีก บริษัทนำเที่ยวเบอร์หนึ่งอย่าง“โอเอ ทรานสปอร์ต” (ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย) และดัน“โมเดิร์นเจมส์” ของตู้ห่าว (ซึ่งเป็นทุนจีนสีเทา )ขึ้นมาทดแทนให้ได้ จึงมีการเปิดปฏิบัติการ “กวาดล้างทัวร์ศูนย์เหรียญ” ขึ้น


ทั้งนี้ การจับกุมบริษัท OA เกิดขึ้น 2 รอบ คือ

รอบแรก เกิดขึ้นในปี 2558 เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ซึ่งวิธีปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ภายใต้การควบคุมของ “โจ๊ก สุรเชษฐ์” จะเหมือนกันทุกครั้ง คือใช้กำลังตำรวจนับร้อยนายพร้อมอาวุธหนักเข้าปิดล้อม พร้อม ๆ กับมีหน่วยงานอื่น ๆ เช่นสคบ. จับข้อหาขายสินค้าแพง,ปปง.จับข้อหาฟอกเงิน,สรรพากร จับข้อหาหลีกเลี่ยงภาษี

ซึ่งในรอบแรก แรกนี้บริษัท OA ได้ต่อสู้ในชั้นศาล สามารถชนะในศาลชั้นต้นแล้ว แต่แล้ว “โจ๊ก สุรเชษฐ์” ก็ยังปฏิบัติการซ้ำอีกครั้งที่ จ.ภูเก็ต


รอบที่สอง เกิดขึ้นในปี 2560 ซึ่งทุกครั้งจะใช้วิธีเหมือนเดิม ใช้กำลังตำรวจจาก สตช. นับร้อยนาย พร้อมกับหน่วยงานอย่าง ปปง. สคบ. สรรพากร ตามไปตั้งข้อกล่าวหา และแต่ละคดีแยกศาล แยกอัยการทั้งสิ้น โดย ตลอดระยะเวลานานหลายปี คนที่เป็นตัวหลักของ OA จะถูกติดตามประกบทุกคน ทุกเวลา จากเจ้าหน้าที่เพื่อกดดันให้ได้ตามเป้าหมาย และทุกคนไม่ทราบว่าตนเองทำผิดเรื่องอะไร ?

มาให้ดูว่าคำให้สัมภาษณ์ของ “สุรเชษฐ์ หักพาล” ในเวลานั้น เขาทำยังไง? และ พูดว่าอะไร?


วันที่ 17 มีนาคม 2561 ในวันที่มีการบุกจับคนในครอบครัวโรจน์รุ่งรังสีที่บ้านพักย่านตลิ่งชัน ในข่าวระบุรายละเอียดไว้ว่า ... พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว พร้อมคณะได้สนธิกำลังชุด อรินทราช ตำรวจท่องเที่ยว ได้นำหมายค้น และหมายจับ เข้าตรวจค้นที่หลังหนึ่ง ในหมู่บ้านภาณุแลนด์ แขวงบางระมาด เขต ตลิ่งชัน กทม. ซึ่งเป็นบ้านของ นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี อายุ 61 ปี เจ้าของบริษัททัวร์ศูนย์เหรียญ หลังตรวจพบว่ามี นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี อายุ 62 ปี ประธานบริษัทในเครือโอเอ ทรานสปอร์ต จำกัดซึ่งเป็นภรรยาของ นายธงชัย มีส่วนเกี่ยวข้อง เรื่องหลีกเลี่ยงภาษีมีมูลค่าสูงกว่าหมื่นล้านบาท

โดยในการบุกจับดังกล่าว พล.ต.ต.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า
“ทางกองตรวจสอบภาษีกลางกรมสรรพากรได้ตรวจสอบจนพบว่า นายธงชัย(โรจน์รุ่งรังสี ผู้เป็นพ่อ)เป็นผู้ประกอบการที่มีรายได้จากการขายสินค้าในระหว่างปี 2554 ถึง 2559 กว่า 3 หมื่นล้านบาท และจากการตรวจสอบพบว่านายธงชัยได้ปกปิดธุรกรรมการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีกว่าหมื่นล้านบาท อันเป็นการฉ้อโกงหรืออุบายหรือ วิธีการใด โดยการหลีก เลี่ยงการเสียภาษีอากรตามมาตรา 37 (2) แห่งประมวลรัษฎากร จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน บก.ปอศ กระทั่งในวันที่ 16 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้ยื่นคำร้องขอหมายจับต่อศาลอาญา จากนั้นศาลได้อนุมัติหมายจับ”

พร้อมกล่าวอีกว่า
“หลังจากกรมสรรพากร ได้ตรวจสอบแล้วและพบว่า ทั้งหมดที่จับกุม มีการเลี่ยงภาษี และมีการร้องทุกข์กับทางพนักงานสอบสวน กระทั่งมีการออกหมายจับ และฐานความผิดมี 48 ฐานความผิดและเราจะให้ประกันตัวเป็นหลักทรัพย์ที่สูง ส่วนอีก 2 คน มีข่าวว่าจะเข้ามอบตัวแต่เราไม่รอให้มามอบตัว และจะติดตามไปจับกุมตัวอย่างไรก็ตามทัวร์ศูนย์เหรียญต้องหมดไปทั้งนี้ยังมีการตรวจพบว่าใน จังหวัดภูเก็ต ยังมีอีก ต้องหมดไปถ้าไม่หมดเราจะไปจับกุมให้หมด ...


““สุรเชษฐ์ หักพาล” วันนั้น คุณพูด หรือ พ่นอะไรออกมาคุณจำได้ไหม? ผมจะย้ำให้ฟังอีกครั้งนึง“ยังมีการตรวจพบว่าใน จังหวัดภูเก็ต ยังมีอีก ต้องหมดไปถ้าไม่หมดเราจะไปจับกุมให้หมด ...”

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงคืออะไร ? ตำรวจพวกคุณมีการปราบปรามจับกุมแค่กลุ่มโอเอ ทรานสปอร์ต เท่านั้น
ส่วนของโมเดิร์นเจมส์ ตู้ห่าวไม่เคยถูกจับ หรือดำเนินคดีใด ๆ เลย แถมคดีเก่า คือ คดีเผาและทำร้าย รปภ. สวนงูจนพิการยังได้รับการช่วยเหลือยื้อคดีได้อีกเป็นสิบปี “ นายสนธิกล่าว

ในขณะที่เหลืออีก 3 บริษัทใหญ่ที่มีขนาดลดหลั่นกันลงมา แม้แต่ถูกเข้าตรวจค้น แต่ก็ไม่ถูกจับกุมเช่นกัน ทั้งนี้มีเสียงลือเสียงเล่าอ้างออกมาว่ามีการเจรจา และจ่ายเงินรายละหลักร้อยล้านบาท หรือ หลายร้อยล้านบาท เพื่อไม่ให้มีการดำเนินคดีกับบริษัทอื่น ๆ ที่เหลือ ส่วน OA ไม่มีการเจรจาใด ๆ ทั้งสิ้น บุกจับกุมใช้อำนาจปราบปราม ยัดคดี ยึดทรัพย์ ยึดรถ จับกรรมการบริษัทเขาเข้าคุก โดยไม่ได้ให้เขาได้ประกันตัว หรือ ลืมตาอ้าปากได้เลย !?!


นี่มันคือ การใช้อำนาจเถื่อนโดยอ้างกฎหมาย โดยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐ

โศกนาฏกรรมครอบครัว “โรจน์รุ่งรังสี”

ครอบครัว “โรจน์รุ่งรังสี” เจ้าของ OA มีสมาชิกอยู่ 6 คน พ่อ แม่ และ ลูก ๆ อีก 4 คนการออกหมายจับครั้งแรกตำรวจตั้งใจจะจับพ่อคือ นายธงชัย โรจน์รุ่งรังสี ให้ได้ก่อน แต่เกิดความผิดพลาดเนื่องจากหมายจับมีความคลาดเคลื่อน เพราะพิมพ์ชื่อ และอายุ สลับคนกัน ทำให้ไม่สามารถจับได้ แต่มีการจับแม่ นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี และ ลูกชายคนเล็กชื่อ “วสุรัตน์” ไป ทั้ง ๆ ที่ “วสุรัตน์” เพิ่งจะเดินทางกลับมาจากต่างประเทศไม่กี่เดือน ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่อะไรเลย

จึงต้องมีการออกหมายจับครั้งที่สอง โดยไปตรวจสอบว่าคนที่ต้องการจับเป็นกรรมการผู้บริหารอยู่บริษัทอะไร และตามจับเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยคราวนี้จับ พ่อ และ พี่สาวคนโต รวมจากครอบครัว 6 คน ถูกจับไป 4 คน


“ในการออกหมายจับของสุรเชษฐ์ นั้น ไม่เคยมีการออกหมายเรียก มีแต่หมายจับทั้งนั้น ทั้งๆ ที่จำเลยพร้อมจะมอบตัวตลอดเวลา คุณสุรเชษฐ์ คุณจำได้ไหม ตอนที่คุณจะถูกออกหมายจับจากศาลอาญา คุณก็โวยวาย ว่าต้องออกหมายเรียกก่อน แต่คุณทำกับชาวบ้านเขา คุณก็ใช้วิธีการเดียวกับที่คุณออกมาโวยวาย ทั้งๆ ที่จำเลยที่ถูกกล่าวหาพร้อมจะมอบตัวตลอดเวลา แต่ไม่ คุณจะจับเพื่ออะไร เพื่อให้เป็นข่าว เพื่อคุณจะได้แสงไง ทรัพย์สินเงินต่างๆ นับพันล้านบาท ก็โดนยึด และยังคัดค้านการประกันตัวของเขา” นายสนธิ กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับการจับกุมตัวโดยใช้หมายจับ ในทางเทคนิคแล้วก็เพื่อไม่ให้จำเลยสามารถประกันตัวได้ง่าย

นอกจากนี้เมื่อจับไปขังคุกแล้ว ยังมีการส่งคนไปกดดัน “คนที่อยู่ในคุก” อีกด้วย ส่วน “คนที่อยู่นอกคุก” ก็มีคนคอยติดตาม ตลอดระยะเวลาหลายปี


ลูกชายคนหนึ่งที่ไม่ได้ถูกจับกุมตัวไป เคยเล่าให้ฟังว่า ตอนที่แม่ติดคุก 2 เดือนแรก แม่ถูกกลั่นแกล้งให้นอนแถวด้านหน้าห้องน้ำ แทนที่จะนอนในหมู่กลุ่มทั่วไปตามระเบียบ โดยแม่ต้องนอนคุดคู้เงียบด้วยความกลัว หวาดผวาจนสติแตก แต่แม่ไม่เคยปริปากบอกเล่าเรื่องนี้เลย เพราะกลัวคนที่อยู่ข้างนอกจะเครียด และคิดว่า ถึงจะบอกก็ช่วยอะไรไม่ได้อยู่แล้ว

ต่อมาหลังจากที่ลูกสาวคนโต ถูกจับรอบที่ 2 และเข้าไปในเรือนจำหญิง จึงได้พบแม่ และรู้ว่าแม่ลำบากมาก ต้องกราบกรานคนในคุก ขอความเมตตา ที่สุดนำเรื่องมาเล่าให้คนอื่นฟังตอนมาเยี่ยม

ลูกที่เหลืออีกสองคนที่ไม่ได้ถูกจับติดคุก สติแตกเลย นอนไม่หลับ กินข้าวไม่ได้ บางครั้งต้องเดินทางไปที่คุก เจอใครแต่งเครื่องแบบข้าราชการกรมคุก ก้มลงกราบที่เท้าแนบกับพื้นดิน เจอใครกราบเท้าหมด แม้กระทั่งภารโรง พร้อมกับร่ำไห้บอกทุกคนว่า “ขอความเมตตา ช่วยแม่ด้วย อย่าทำร้ายแม่ผม”

ด้วยเหตุนี้ แม้หลังได้รับการประกันตัวออกมาจากคุกแล้ว คุณแม่จึงกลายเป็นคนที่หวาดกลัว ไม่กล้าพบเจอผู้คนไปเลย

ฟ้ามีตา! ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์-ฎีกา ยกฟ้องรวด

แม้ “สุรเชษฐ์” จะยัดข้อหา ยัดคดีความ จับเขาขังคุก ข่มขู่เขาต่าง ๆ นา ๆ แต่ในที่สุดแล้วผิดหรือไม่ผิด ความจริงต้องปรากฎ เพราะ เมื่อคดีผ่านกระบวนการต้นน้ำ กลางน้ำ ขึ้นสู่ชั้นศาล ผลกลับปรากฏออกมาว่าศาลชั้นต้นยกฟ้องทุกข้อหา เมื่อโจกท์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องทุกข้อหาเช่นกัน แต่ลงโทษเฉพาะตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวให้ปรับจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 13คนละ 500,000 บาท ทั้งโจกท์และจำเลยจึงยื่นฎีกา

ครั้นถึง วันที่ 3 มีนาคม 2565 ศาลฏีกานัดอ่านคำพิพากษาสรุปว่ายกฟ้อง โดยศาลฎีกาได้อธิบายเหตุผลอย่างละเอียดซึ่ง สรุปให้ฟังง่าย ๆ คือ

หนึ่ง ข้อกล่าวหาและหลักฐานทั้งหมดของโจทก์ เป็นข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เท่านั้น มิได้มาจากพยานหรือหลักฐานโดยตรงของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และพยานโจทก์ล้วนแต่เบิกความขัดแย้งกับข้อกล่าวหา(ดังปรากฎในคำพิพากษาของศาลฎีกาหน้าที่ 24 และหน้าที่ 35)


สอง ในคดีนี้เมื่อมีการเบิกความอ้างอิงถึงอีก 2 บริษัทที่ทำธุรกิจเหมือนกลุ่มโอเอ คือ บริษัท สยามเจมส์ และ บริษัทเจมส์ แกลลอรี่ ซึ่งเป็นคู่แข่งขันของกลุ่มโอเอ โดยไม่เคยมีการบังคับขู่เข็ญนักท่องเที่ยวหรือบังคับให้ซื้อสินค้าที่ร้านใด หรือ ห้ามมิให้ซื้อสินค้าที่ร้านค้าใด

“นอกจากนี้เมื่อนักท่องเที่ยวซื้อสินค้าแล้ว แม้ไม่ใช่ร้านในเครือของจำเลย ก็สามารถนำสินค้านั้นเก็บในรถได้โดยไม่มีข้อห้ามแต่อย่างใด ทั้งจำเลยก็ยังไม่เคยมีข้อห้ามดังกล่าว …”(ดังปรากฎในคำพิพากษาของศาลฎีกาหน้าที่ 33)

สาม ส่วนเรื่องการที่ร้านค้าจ่ายค่าคอมมิชชัน กับบริษัทนำเที่ยว และไกด์ทัวร์นั้น ก็เป็นพยานโจทก์เอง ชื่อ พ.ต.ท.สุรศักดิ์ ที่ยอมรับว่า การจ่ายค่าคอมมิชชันนั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา และเมื่อนักท่องเที่ยวชาวไทยไปเที่ยวต่างประเทศ ก็มีทำแบบเดียวกัน(ตามคำพิพากษาหน้า 35)

สี่ นอกจากนี้ในคำพิพากษาหน้าถัดมา หน้าที่ 36 ยังระบุด้วยว่า พยานโจทก์ พ.ต.ท.ธรรมรักษ์ ก็เบิกความตอบคำถามทนายจำเลยยอมรับว่า เมื่อไปตรวจสอบร้านของจำเลย ก็พบว่า ร้านในเครือของโอเอมีไกด์พานักท่องเที่ยวจากบริษัททัวร์อื่นไปซื้อสินค้าจำนวนมาก และไม่มีมีนักท่องเที่ยวคนไหนร้องเรียนว่าจำหน่ายสินค้าราคาสูง นอกจากนี้สินค้าก็มีใบรับประกัน และสามารถนำมาคืนได้ในภายหลังอีกด้วย ... ส่วนพนักงานสอบสวนเมื่อสอบปากคำนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นพยาน 2 คน ก็ยืนยันว่า ประทับใจที่เดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และไม่เคยถูกบังคับให้ซื้อสินค้า หรือ เดินทางไปที่หนึ่งที่ใด


ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้นศาลฎีกา อ่านคำพิพากษาระบุว่า

“ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันอั้งยี่

“ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของพวกมีลักษณะ ร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยเป็นการตกลงกันเข้าลักษณะเป็นสมาชิกของคณะบุคคล ในการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมีความมุ่งหมายเพื่อหารายได้จากการที่นักท่องเที่ยวมาซื้อสินค้าแล้วนำรายได้มาแบ่งปันผลประโยชน์กัน .... เป็นการดำเนินธุรกิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อมุ่งหมายให้ได้ผลประโยชน์จากนักท่องเที่ยว เป็นการเอาเปรียบนักท่องเที่ยว ขัดต่อศีลธรรม อันดี และขัดต่อความสงบเรียบร้อย ขัดต่อระเบียบ ข้อบังคับและกฎหมาย ทั้งยังเป็นการ ผูกขาดระบบเศรษฐกิจและระบบอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ทำให้ร้านค้ารายย่อยไม่มีโอกาสขายสินค้า ผู้ประกอบการรายอื่นที่มีเงินทุนน้อยกว่าไม่สามารถแข่งขันได้

“ศาลฏีกาเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นการคาดคะเนเอาเองของโจทก์ โดยใช้เพียงข้อมูลที่เกิดจากการรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานต่าง ๆ ที่ได้มาของเจ้าพนักงาน ตำรวจและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินซึ่งไม่ใช่พยานโดยตรง

“โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นที่มีเหตุผลสนับสนุน ตรงกันข้ามทางพิจารณากลับได้ความว่ากลุ่มจำเลยต่างประกอบธุรกิจนำเที่ยว และประกอบกิจการการขนส่งคนโดยสารเพื่อให้เช่ารถโดยสาร จำหน่ายสินค้าต่าง ๆ และของที่ระลึก รวมทั้งธุรกิจร้านอาหาร หาใช่ผูกขาดมีเฉพาะกลุ่มจำเลยเท่านั้นไม่ จึงมีการแข่งขันกันสูงแต่ก็เป็นการแข่งขันอย่างเสรี

“และทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าการเลือกและตัดสินใจซื้อสินค้าที่ร้านค้าในเครือของจำเลยที่ มีการบังคับข่มขู่หรือชักจูงใจ ทั้งไม่ปรากฏว่าเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพและราคาสูงกว่าปกติมากในลักษณะที่เอาเปรียบเกินควร สินค้าแต่ละประเภทมีป้ายติดแสดงราคาไว้ กับมีใบรับประกันและสามารถนำมาคืนได้ในภายหลัง



“ดังนั้นการกระทำ ของจำเลยจึงมิใช่การร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวหาประโยชน์ ที่ไม่เป็นธรรมจากนักท่องเที่ยวมิใช่การร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวจัดบริการนำเที่ยว ให้แก่นักท่องเที่ยวโดยไม่ได้รับค่าบริการหรือรับค่าบริการในอัตราที่เห็นได้ว่าไม่เพียงพอ กับค่าใช้จ่าย และมิใช่การร่วมกันประกอบธุรกิจนำเที่ยวอันจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวแหล่งท่องเที่ยว หรือนักท่องเที่ยว

ด้วยเหตุนี้ศาลจึงตัดสินว่า
“สำหรับความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้ง 13 ร่วมกันกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ กรณีจึงไม่มีความผิดมูลฐานอันจะทำให้การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันฟอกเงินได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกายังไม่เห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1, 2 และ 13 ฟังขึ้น

“ศาลฏีกาจึงพิพากษายกฟ้อง”

คำพิพากษาศาลฎีกาที่นัดอ่านกันเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2565 นั้นถือว่าเป็น “การปิดฉากคดีทัวร์ศูนย์เหรียญ” ว่าจริง ๆ แล้วที่ทำมาทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่อุปโลกน์ขึ้นมาทั้งหมด เพราะสุดท้ายหาผู้กระทำผิดไม่ได้เลย

หลัง “โจ๊ก สุรเชษฐ์” กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ-อัยการ ซึ่งทำคดีนี้มาตั้งแต่ต้น แต่กลับในชั้นศาลกลับแพ้คดี “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ทุกชั้นเลย 3 ศาล ทั้งชั้นต้น-อุทธรณ์-ฎีกา น่าแปลกไหมว่า ทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนเรื่องนี้ ว่าตั้งแต่แรกมีการทำคดีนี้โดยสุจริตหรือไม่ หรือ มีวาระแอบแฝงอะไร ?

การใช้กำลังตำรวจมากมายหลายร้อย หลายพันนาย สิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากมายมหาศาล แล้วถูกศาลยกฟ้องรวดหมดอย่างนี้ สตช. ไม่สนใจตรวจสอบเรื่องนี้เลยหรือ?


ที่น่าเศร้าก็คือ ความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนตระกูลเจ้าของ OA เท่านั้น แต่พนักงานอีกเกือบ 8,000 คน รวมทั้งครอบครัวอีกด้วย รวมหลายหมื่นคนที่ไม่มีเงินเดือน ต้องตกงานอย่างกระทันหัน เพราะบริษัทถูกยึดทรัพย์ ชีวิตต้องลำบากยากเข็ญอย่างแสนสาหัส แม้บางคนหางานใหม่ได้ แต่บางคนก็หางานใหม่ไม่ได้ ครอบครัวลำบาก ความเป็นอยู่ลำบากยากเข็ญ มีบางคน บ้านโดนยึด รถโดนยึด ต้องฆ่าตัวตาย วันนี้การต่อสู้สิ้นสุดแล้ว ชนะคดีแล้ว คนเหล่านี้จะทวงหาความยุติธรรมจากใคร?

“ผมขอถาม “โจ๊ก สุรเชษฐ์” แทนบรรดาพนักงานนับพัน ๆ หมื่น ๆ คน ซึ่งตกเป็นเหยื่อจากการใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบเช่นนี้ว่า ทำไมต้องทำลายธุรกิจ ทำลายบริษัทที่เขาทำงานหาเลี้ยงชีพอยู่?

“คุณเคยคิดไหมว่า พฤติกรรมลุแก่อำนาจ ใช้อำนาจรัฐอย่างเกินขอบเขตของคุณ ทำให้ชีวิตของพวกเขาต้องล้มละลาย ครอบครัวต้องล่มสลาย ?

“ที่สำคัญ คุณทำก็เพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนจีนสีเทาอย่าง “ตู้ห่าว” กับ “เมีย” ให้ก้าวขึ้นมาครองตลาดทัวร์จีนแทน OA ใช่หรือไม่?”
นายสนธิกล่าว

ทั้งหมดนี้จึงเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าตำรวจที่อ้างว่าตัวเองเป็น “ตำรวจน้ำดี” ไม่ใช่ “ตำรวจน้ำลาย” อย่าง “สุรเชษฐ์ หักพาล” นั้นเป็นแค่ภาพลวงตา แต่ฉายาที่ควรได้คือ “จอมปาหี่” ซึ่งกำลังถูกกฎแห่งกรรม ตามเอาคืนให้ชดใช้ ในวันนี้

ยังไม่จบ นอกจากคดีโอเอ ทรานสปอร์ต และครอบครัวรุ่งโรจน์รังสี กับพนักงานของเขาอีกหลายพันคน ครอบครัวของพนักงานอีกหลายหมื่นคน ที่ต้องตกระกำลำบากเพราะการกระทำของพวกคุณแล้ว ยังมีอีกคดีหนึ่งที่ต้องทบทวนความทรงจำกันด้วย นั่นคือ คดีเรือฟีนิกซ์ล่ม ที่จังหวัดภูเก็ตในช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือ เดือนกรกฎาคม 2561


ย้อนรอย “คดีเรือฟีนิกซ์” อีกผลงานชิ้นโบดำ “โจ๊ก”

คดีเรือนำเที่ยว “ฟีนิกซ์” ล่มที่ใกล้เกาะเฮ จ.ภูเก็ต คร่าชีวิตทั้งนักท่องเที่ยวและลูกเรือไปถึง 47 ชีวิต เมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 เป็นคดีความในชั้นศาล ก็เป็นอีกเรื่องที่ชื่อ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าไปพัวพัน

โดย “สุรเชษฐ์ หักพาล” ที่ขณะนั้นมียศเป็น พล.ต.ต. ตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ได้ร่วมเป็นทีมคลี่คลายคดีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ด้วย เป็น “สุรเชษฐ์ หักพาล” ที่ตอนนั้นกำลังเมามันกับการไล่ขย่ม “ทัวร์ศูนย์เหรียญ”


พอมีเหตุเรือฟีนิกซ์ที่เกี่ยวกับนักท่องเที่ยวจีน ก็เลยเล่นใหญ่ระดมหน่วยงานมาไล่เบี้ยบริษัทเจ้าของเรือยกใหญ่ ตราหน้าเป็น “นอมินีทุนจีน” เลยเถิดไปยัดข้อหา “อั้งยี่” อีกด้วย ทั้งที่ความจริงควรมุ่งคลี่คลายเฉพาะต้นสายปลายเหตุที่ทำให้เรือล่มมากกว่า

ขณะที่ในส่วนคดีกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายนั้น ก็มีการแจ้งข้อหา กรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของเรือฟีนิกซ์ ด้วย ทั้งที่โดยปกติฐานความผิดทางอาญาแบบนี้จะดำเนินคดีกับ “กัปตัน-ไต๋เรือ” ที่เป็นผู้ควบคุมเรือเท่านั้น ส่วนผู้บริหารบริษัท จะเป็นการฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายก็ว่ากันไป

เพราะหากใช้บรรทัดฐานกันนี้ “เจ๊เกียวโคราช” เจ้าของธุรกิจรถทัวร์รายใหญ่ คงไม่เป็นอันทำมาหากิน เพราะรถทัวร์มีอุบัติเหตุไม่เว้นแต่ละวัน คงมีคดีอาญาเป็นหางว่าว

ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อ กรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของเรือฟีนิกซ์ ไปมอบตัวรับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน กลับคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่ให้ประกันตัว ทั้งที่โดยปกติอีกเช่นกัน คดีประมาทให้ผู้อื่นถึงความตาย มักได้รับการประกันตัวไปต่อสู้คดีในชั้นศาล


ซึ่งในวันที่เข้าไปมอบตัวนั้น “สุรเชษฐ์ หักพาล” ก็นั่งหัวโต๊ะร่วมสอบปากคำอยู่ด้วย ซึ่ง กรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของเรือฟีนิกซ์ ก็ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ได้ประกันตัว

ปรากฎว่าในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำ กรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของเรือฟีนิกซ์ ก็ถูก “ตำรวจท่องเที่ยว” เข้าไปถึงในเรือนจำ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพ โดยระบุว่า หากต่อสู้คดีไปถึง 3 ศาลอาจใช้เวลานานกว่า 6 ปี แต่หากสารภาพก็จะได้รับการลงโทษโดยรอลงอาญา ไม่ต้องติดคุก อยู่ตลอด และยังข่มขู่อีกว่า หากไม่รับสารภาพ จะจับกุมพ่อแม่ และคนในครอบครัวที่เป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ด้วย ทำให้สุดท้าย กรรมการผู้จัดการบริษัทเจ้าของเรือฟีนิกซ์ จึงตัดสินใจรับสารภาพ

แม้ที่สุดแล้วทางบริษัทเจ้าของเรือฟีนิกซ์จะต่อสู้จนชนะคดี แต่ครอบครัวก็ได้รับผลกระทบจากการกระทำของตำรวจที่ว่ากันว่ามี “สุรเชษฐ์ หักพาล” คอยบงการอยู่เบื้องหลัง

จากคดี OA จนถึง คดีเรือฟีนิกซ์ เห็นได้ชัดว่า พฤติกรรมของ “สุรเชษฐ์ หักพาล” ที่ทำซ้ำ ๆ คือ จะใช้วิธีการตั้งข้อหาความผิดร้ายแรง เกินข้อเท็จจริงแห่งคดี แล้วจะห้ามให้ประกันตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน แถมยังไปคัดค้านถึงชั้นศาลด้วย

จากนั้น เมื่อผู้ต้องหาถูกควบคุมตัวในเรือนจำ ก็จะส่งตำรวจลูกน้องไปเกลี่ยกล่อม กดดันให้ยอมรับสารภาพ พอผู้ต้องหารับสารภาพก็ปิดคดีในชั้นตำรวจ ก็กลายเป็น“ผลงานชิ้นโบแดง”ให้กับนายตำรวจที่ชื่อ “สุรเชษฐ์ หักพาล” ทันที โดยไม่สนใจว่าในชั้นอัยการ หรือ ชั้นศาลจะเป็นอย่างไรต่อ


สำหรับคดีเรือฟีนิกซ์ ที่ซ้ำรอยคดี OA นี้ นี้คนที่ออกมาเปิดเผยคือ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต ส.ส.พัทลุง ที่เป็นทนายความคดีเรือฟีนิกซ์ ได้เปิดเผยในเฟซบุ๊กส่วนตัวมาเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา

นายนิพิฏฐ์ สรุปกรณีเรือฟีนิกซ์ล่มไว้ว่า“เรื่องคดีเรือฟีนิกซ์ล่ม บิ๊กโจ๊ก และ ทีมตำรวจ รู้ดีว่าท่านทำอะไรไป ผมไม่กล่าว มันจบไปแล้วแต่อยากบอกว่า ครอบครัวของจำเลย แม้ชนะคดี บ้านแตก สาแหรกขาด น่าสงสารเวทนามาก

“ผมดูชะตากรรมของ “บิ๊กโจ๊ก” ในขณะนี้แล้ว เหมือนคดีที่ลูกความผมเคยโดนมาเป๊ะ ๆๆ มีนายตำรวจบางคนที่ “บิ๊กโจ๊ก” หอบหิ้วไปทำคดีเรือฟีนิกซ์ โดนคดีบ่อนการพนันกับ “บิ๊กโจ๊ก” ด้วย อัศจรรย์ยิ่งนัก ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่อง บาป กรรม เท่าไหร่ แต่วันนี้ ผมเชื่อว่า “กรรม” ครับ”


แม้ผลงานทั้ง OA และ เรือฟีนิกซ์ คนที่ไม่รู้เรื่องจะบอกว่า “นี่ไงผลงานชิ้นโบว์แดงของบิ๊กโจ๊ก คนทำงาน ตำรวจน้ำดี ไม่ใช่ตำรวจน้ำลาย”

แต่ในสำหรับคนที่รู้ต้นสายปลายเหตุ รู้ เรื่อง ตั้งแต่ต้นจนจบ และที่สำคัญคือ ในสายตาของ จำเลยผู้ถูกกระทำ ซึ่งเป็น “ผู้บริสุทธิ์” รวมถึงครอบครัวแล้ว นี่คือ “ผลงานชิ้นโบว์ดำ”…ทั้งยังดำสนิทอย่างยิ่งด้วย !



กำลังโหลดความคิดเห็น