ผักยืนต้น คือผักที่สามารถปลูกและเก็บเกี่ยวเป็นอาหารได้อย่างต่อเนื่อง หรือเก็บกินไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน การดูแลก็ไม่ยาก ไม่ให้น้ำก็ไม่ตาย เพราะเป็นไม้ป่าที่ขึ้นอยู่ทั่วไป ทั้งไม่มีแมลงรบกวนมาก แต่ก็ต้องคอยตัดแต่งบ้าง เพื่อไม่ให้สูงเกินไปทำให้เก็บไม่ถึง แต่ละชนิดล้วนเป็นผักที่มีคุณค่าต่อสุขภาพอย่างมาก
ผักประเภทนี้มีอยู่มากมายหลายอย่าง วันนี้เราจะเริ่มกันอย่างที่เห็นกราดเกลื่อนอยู่ทั่วไป แม้แต่บนแผงขายผัก แต่ไม่ค่อยเห็นมีใครปลูก นั่นก็คือ “ขี้เหล็ก”
ขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้น สูงได้ถึง ๑๕ เมตร แตกกิ่งก้านสาขาเป็นร่มทึบ ทนต่อสภาพความแห้งแล้ง จึงนิยมปลูกเป็นร่มเงา ใบอ่อนและดอกตูมยังเป็นผักสมุนไพรที่ตลาดต้องการ ถือเป็นยาทำให้นอนหลับสบาย ขับถ่ายสะดวก ยอดสดมีวางขายตามแผงตลาด โดยเฉพาะในเดือนมกราคมถึงมีนาคมที่ขี้เหล็กออกดอก บ้างก็นำไปต้มใส่ถุงขาย ในราคากิโลกรัมละ ๓๐-๕๐ บาท แต่ก็ไม่ค่อยเห็นมีใครทำสวนปลูกขี้เหล็ก เพราะมีขึ้นดื่นไปหมด ถนนหลายสายในชนบทก็นิยมปลูกขี้เหล็กไว้ข้างทางให้เป็นร่มเงา เลยทำให้มีอาชีพหนึ่งเกิดขึ้นในหลายภาค โดยชาวบ้านกลุ่มหนึ่ง ๓-๔ คน รวมตัวกันเช่ารถปิกอัพไปตระเวนเก็บยอดขี้เหล็กตามริมถนน แล้วเอามารูดใบต้มส่งตลาด มีรายได้แบ่งกันคนละไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ บาทต่อเดือน
ถ้ามีที่ว่างพอให้ขี้เหล็กยืนเป็นร่มเงาสักต้นเดียว ก็จะเก็บได้พอกินแล้ว หรือจะปลูกหลายต้นในระยะห่าง ๒ เมตร แล้วคุมความสูงไว้ ๑๓๐-๑๖๐ เซนติเมตรพอให้เก็บสะดวก หรือจะปลูกเป็นรั้วรอบบ้าน ห่างกันแค่ ๕๐ เซ็นติเมตรก็ได้ ไม่ว่าจะปลูกแบบไหนก็สามารถเก็บขี้เหล็กมาแกงได้ทั้งนั้น โดยใช้เวลาแค่ ๖ เดือน จากนั้นก็จะเก็บไปได้ชั่วลูกชั่วหลาน ในช่วงฤดูแล้ง ขี้เหล็กจะเก็บผลผลิตได้เดือนละ ๑ ครั้ง แต่ในช่วงฤดูฝนสามารถเก็บผลผลิตได้เดือนละ ๒-๓ ครั้ง ในช่วงที่ขี้เหล็กออกดอกจะเก็บกันสัปดาห์ละครั้ง เพื่อให้ทันดอกบาน
ขี้เหล็กติดฝักให้เมล็ดเมื่ออายุ ๓ ปีขึ้นไป ฝักจะแก่เก็บเมล็ดได้ประมาณเดือนเมษายน–พฤษภาคม สังเกตได้จากฝักแก่จะมีสีค่อนข้างคล้ำหรือน้ำตาลแก่ การเก็บฝักให้เก็บจากต้น อย่าปล่อยให้ฝักแก่มาก เพราะเมื่อฝักแก่มากจะแตกทำให้เมล็ดร่วงหล่น เมื่อเก็บฝักมาแล้วให้นำไปตากแดดบนผ้าหรือพลาสติกปูรอง ฝักจะแห้งและแตกอ้าขึ้นทางด้านขั้วฝัก เมล็ดขี้เหล็กจะหล่นออกมาเอง หรือหน้าฝนอย่างตอนนี้แถวไหนมีต้นขี้เหล็กก็จะมีต้นจากเมล็ดขึ้นเกลื่อน ขุดเอามาปลูกได้เลย
ส่วนวิธีปลูกด้วยเมล็ด นำเมล็ดไปแช่น้ำร้อนจัด คนให้ทั่วกัน ๕ นาที แล้วลงน้ำเย็นแช่ไว้อีก ๑๒ ชั่วโมง จากนั้นห่อผ้าเปียกใส่กล่องปิดฝาไว้ เมื่อเห็นเมล็ดเริ่มปริ หรือไม่ปริก็ได้หากฝนตก ให้พรวนดินหลุมตื้นๆแค่ฝ่ามือ แล้วหยอดเมล็ดลงไป ๒-๓ เมล็ด กลบดินบางๆ ในช่วง ๒ เดือนแรกถ้าขาดฝนควรจะรดน้ำทุกวัน จากนั้นก็ปล่อยให้เติบโตไปตามธรรมชาติหลุมละต้น แค่ ๖ เดือนก็ได้กินขี้เหล็กแล้ว
ขี้เหล็กมีรสขมจัด ก่อนจะบริโภคต้องทำให้รสขมจางไปก่อน คือเมื่อเด็ดยอดมาแล้ว ให้รูดใบขี้เหล็กและดอกออกจากก้าน นำไปต้มโดยใส่น้ำให้ท่วม ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง เปลี่ยนน้ำต้ม ๒ ครั้งเพื่อให้รสขมออกไป มีเคล็ดลับให้ใส่ก้านกล้วยลงไปด้วย จะทำให้ขี้เหล็กไม่ดำและมีรสจืดเร็วขึ้น เมื่อต้มครบ ๒ น้ำ ให้ปิดไฟแล้วใส่น้ำลงไปอีก จากนั้นทิ้งไว้ให้เย็น จึงนำมาบีบน้ำออก นำไปแกงใส่กะทิ พร้อม เนื้อย่าง หมูย่าง ปลาย่าง กุ้งย่าง หรือ หอยขม หมูสามชั้น ไม่ว่าจะใส่อะไรก็พาข้าวหมดหม้อได้ทั้งนั้น
สรรพคุณของขี้เหล็กมี โปรตีน วิตามินเอ คาร์โบไฮเดรต ไขมัน แคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก เบตาแคโรทีน วิตามินบี ๑ วิตามินบี ๒ วิตามินบี ๓ วิตามินซี เส้นใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยรักษาโรคผิวหนังขับเสมหะ ลดน้ำตาลในเลือด หอบหืด แก้ไข้ แก้หวัด บำรุงไต บำรุงตับ บำรุงผม ลดความดันโลหิต ช่วยย่อยอาหาร ป้องกันมะเร็ง ป้องกันโรคเบาหวาน ป้องกันไตวาย บำรุงสมอง บำรุงประสาท เป็นยาระบายแก้ท้องผูก ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยถ่ายพยาธิ รักษาริดสีดวง ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงโลหิต บำรุงน้ำดี บำรุงกระดูก บำรุงฟัน บำรุงสายตา ช่วยเจริญอาหาร สรรพคุณที่ทำให้ขี้เหล็กถูกกล่าวถึงมากก็คือ มีสาร "บาราคอล" มีฤทธิ์บำรุงสมอง บำรุงประสาท ลดความเครียด บรรเทาอาการจิตฟุ้งซ่าน ใช้เป็นยานอนหลับอ่อนๆ ทำให้นอนหลับสบาย และยังพบสารแอนธราควิโนน ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาระบายอีกด้วย
ใน “ตำราพระโอรสพระนารายณ์” กล่าวถึงสรรพคุณของขี้เหล็กไว้ว่า ดอกและยอดอ่อนช่วยให้เจริญอาหาร ใบใช้เป็นยาแก้ระดูขาว แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ส่วนดอกใช้ล้างรังแคบนศีรษะได้
สรรพคุณล้นชามแบบนี้ จะไม่ปลูกขี้เหล็กไว้สักต้นหรือ และถ้าใครมีที่มาก ยังไม่รู้จะปลูกอะไร ก็ขอเสนอให้พิจารณาขี้เหล็ก
จากการศึกษาการเจริญเติบโตและผลผลิตของขี้เหล็ก ณ สถานีวิจัยปากช่อง อ.ปากช่อง นครราชสีมา ระหว่าง ๑๗ เมษายน ๒๕๔๐ - ๒๗ กันยายน ๒๕๔๒ โดยปลูกต้นขี้เหล็กในระยะห่างระหว่างแถว ๒ เมตร ระหว่างต้น ๑ เมตร ๑ ไร่ปลูกได้ ๖๐๐ ต้น บังคับทรงพุ่มและความสูงให้อยู่ในระดับ ๑๓๐-๑๖๐ เซนติเมตร
จากการศึกษาผลผลิตโดยการตัดยอดหลังปลูกได้ ๖ เดือน พบว่า ในช่วงฤดูแล้ง ขี้เหล็กสามารถทำการเก็บผลผลิตได้เดือนละ ๑ ครั้ง แต่ในช่วงฤดูฝนสามารถเก็บผลผลิตได้เดือนละ ๒-๓ ครั้ง เมื่อต้นอายุ ๑-๒ ปี สามารถตัดยอดได้ ๔๖.๐๙ ยอด/ต้น/เดือน โดยมีน้ำหนักยอด ๒๔๒.๓๑ กรัม/ต้น/เดือน ในพื้นที่ปลูก ๑ ไร่ ระยะเวลา ๑ ปี สามารถผลิตจำนวนยอดและใบอ่อนได้ ๔๔๒,๔๖๔ ยอด คิดเป็นน้ำหนัก ๒,๓๒๖.๑๘ กิโลกรัม
ในช่วงหน้าฝนที่ยอดอ่อนขี้เหล็กออกมามากจนกินไม่หมดหรือขายไม่ทัน ก็สามารถทำเป็นใบขี้เหล็กแห้งเก็บไว้ข้ามปีได้ โดยการนำใบขี้เหล็กที่ผ่านการต้มลดความขมแล้วไปตากแดดให้แห้ง แดดดีๆวันเดียวก็ได้ นำไปบรรจุในถุงพลาสติกหรือภาชนะปิดฝา เมื่อจะแกงก็เอามาต้มน้ำอีกที ๔-๕ นาที ใบขี้เหล็กแห้งก็จะกลับมาเหมือนใบขี้เหล็กสดต้ม ขณะนี้ในออนไลน์ก็มีการขายใบขี้เหล็กแห้งกันหลายราย ขนาดถุงละ ๕๐ กรัม แกงกินได้ ๒-๓ คน ราคาถุงละ ๖๐ บาท ตกกิโลกรัมละ ๑,๒๐๐ บาทเชียวนะ ขี้เหล็กไม่ใช่ขี้ไก่
รู้อย่างนี้แล้วจะช้าอยู่ไย ฝนกำลังดี ปลูกขี้เหล็กไว้ซักต้น อยากกินแกงขี้เหล็กเมื่อไหร่ก็แกงได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาไปหาซื้อ หรือมีที่เหลือเยอะ ก็ปลูกขี้เหล็กให้เต็มไปเลย จะได้ไม่ต้องเช่ารถไปเก็บข้างถนน ไม่ต้องดูแลมากก็ทำรายได้ให้ทั้งปี