เผยตัวเลขมูลค่าธุรกิจรับกำจัดกากอุตสาหกรรมในไทยสูงถึงปีละ 1 หมื่นกว่าล้านบาท เป็นช่องทางทำมาหากินแบบชั่วๆ ของคนอย่าง “โอภาส บุญจันทร์” ที่เปิดกิจการรับกำจัดกากอุตสาหกรรมใน จ.ระยอง ทั้งที่ยังไม่ได้ใบอนุญาต แถมตัดราคาเจ้าอื่น จนมีลูกค้าจำนวนมาก แต่ไม่ได้นำไปจำกัดจริง แค่เช่าโกดังนำมาเก็บไว้ จนเกิดมลพิษ โดนชาวบ้านฟ้องร้อง ศาลตัดสินก็ทำเฉย สุดท้ายก็ใช้วิธีเผาทิ้งทำลายหลักฐาน กลบเกลื่อนความผิด งานนี้ต้องฝากไปถึง รมว.อุตสาหกรรม ต้องกำจัดคนชั่ว หนุนหลังคนดี ไม่ใช่เรียกอธิบดีกรมโรงงานเข้าไปด่า โดยไม่ถามไถ่อะไรก่อน
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงปัญหา “กากพิษอุตสาหกรรม” มหากาพย์ความชั่วร้ายที่มีความวุ่นวาย และซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นเรื่องราวที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องยาวนานนับสิบปี เกี่ยวข้องกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน นักการเมืองท้องถิ่น นักการเมืองระดับชาติ ผ่านรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัย แต่ไม่มีใครทำอะไรอย่างจริงจัง แม้ว่าชาวบ้านจะออกมาร้องทุกข์ว่า สารพิษรั่วไหล ทั้งในจังหวัดระยอง, อยุธยา, สระบุรีหรือ แม้แต่จ.เพชรบูรณ์อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ที่พวกเราภูมิใจนักภูมิใจหนาว่าเพิ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก แต่ไม่มีใครกล้าทำอะไรกับคนกลุ่มนี้ที่เอาขยะสารพิษไปกองทิ้ง ปล่อยทิ้งให้ปนเปื้อนลงในลำน้ำ ซึมลงใต้ดิน ทำให้ชาวบ้านใช้น้ำบาดาลไม่ได้ อากาศที่สูดดมเข้าไปก็เหม็นคลุ้ง ดินก็เพาะปลูกไม่ได้ ต้นไม้ก็ยืนต้นตาย ชาวบ้านใช้ชีวิตตามปกติไม่ได้ บางคนทนกลิ่นไม่ไหวต้องเข้าไปนอนอยู่ในห้องน้ำ ลูกเด็กเล็กแดง ผู้สูงอายุ มีอาการเจ็บป่วยเรื้อรังอันเป็นผลมาจากการได้รับสารพิษมาอย่างยาวนาน
แม้ว่าชาวบ้านจะรวมตัว นำเรื่องไปฟ้องสื่อมวลชนนำเสนอให้คนได้รับทราบ, นำความเดือดร้อนเป็นคดีฟ้องขึ้นศาล ศาลตัดสินมาแล้วว่าต้องชดใช้ค่าเสียหาย รวมถึงสั่งให้นำ ขยะ-กากสารพิษ ไปกำจัด แต่ก็ไม่มีการบังคับคดีอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อบต., อบจ., อุตสาหกรรมจังหวัด, ผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อยมาจนถึงส่วนกลางอย่างคนในกระทรวงอุตฯ เกือบทั้งหมดก็ใส่เกียร์ว่าง
เมื่อบังคับคดีกันไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐทำงานกันอย่างไร้ประสิทธิภาพ เพราะรับเงินใต้โต๊ะกันอย่างพุงกางมาตลอดหลายสิบปี แม้กระทั่ง“ไอ้โม่ง”ต้นตอการทิ้งกากสารพิษอุตสาหกรรมรายนี้จะวางระเบิด วางเพลิง โกดังเก็บสารพิษต่าง ๆ จนเป็นข่าวใหญ่ข่าวโตไปทั่วประเทศ แต่ก็ไม่มีใครทำอะไรอย่างจริงจัง อย่างที่ท่านผู้ชมอาจจะเคยได้ยินข่าวมาบ้างไม่ว่าจะเป็น การเผาโกดังเก็บสารพิษ-สารเคมี เช่น ที่
-โกดังเก็บสารพิษ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ตั้งอยู่เลขที่ 84/1 หมู่ 4 ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เหตุเกิดเมื่อ วันที่ 22 เมษายน 2567
-โกดัง จำนวน 5 หลัง ตั้งอยู่เลขที่ 2/4 หมู่ 2 ตำบลภาชี อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567
จนกระทั่งในยุคของ นายเศรษฐา ทวีสิน ได้รับทราบเรื่องนี้ และสั่งให้มีการจัดการอย่างเด็ดขาด โดยสั่งการไปที่ รักษาการ ผบ.ตร. พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เลยว่า“ตราบใดที่ผมยังเป็น นายกรัฐมนตรีอยู่จะต้องดำเนินคดี นายโอภาส ในคดีที่ระยองให้ได้”
ในที่สุด เมื่อวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2567 ก็มีการจับกุม “นายโอภาส บุญจันทร์” เจ้าของโรงงานเก็บกากสารเคมีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ที่บ้านหนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยองที่เป็นต้นตอ ของขยะและกากสารพิษจำนวนมากมายมหาศาลได้
ย้อนรอยที่มากากสารพิษอุตสาหกรรม
ตั้งแต่มีการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard เมื่อ 40 ปีก่อน ในสมัยรัฐบาลยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ผลักดันให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ในจังหวัดภาคตะวันออกมีโรงงานอุตสาหกรรม มีนิคมอุตสาหกรรมผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ทำให้ปัจจุบันจังหวัดระยองนั้นถือเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีจำนวนนิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศถึง 16 แห่ง
ทั้งนี้ เมื่อตัวเลขอัพเดตล่าสุดจากกระทรวงอุตสาหกรรมเมื่อปีที่แล้วคือ ปี 2566 พบว่าในระยอง มีโรงงานตั้งอยู่มากถึง 3,025 แห่ง โรงงานเหล่านี้มีมูลค่าเงินลงทุนรวมกันเกือบ 1.6 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานกว่า 2 แสนตำแหน่ง มีผลิตภัณฑ์จังหวัดต่อหัว (GPP per Capital) สูงที่สุดในประเทศไทยต่อเนื่องกันนับสิบปี โดยปัจจุบันอยู่ที่ 904,857 บาท/คน/ปี
ถึงแม้ว่าจังหวัดระยองจะไม่ได้ติดอันดับ Top 5 ของจังหวัดที่มีจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมมากที่สุดในประเทศไทย แต่อย่างที่กล่าวไปก็คือ โรงงานในระยองส่วนใหญ่นั้นเป็นอุตสาหกรรมหนัก และก่อให้เกิดผลผลิตจำนวนมาก มีรายได้มาก มากจนทำให้ จ.ระยอง กลายเป็นจังหวัดที่มี GDP ต่อหัว มากที่สุดในประเทศ
ทั้งนี้ หนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมของระยองมากที่สุด ก็คือ อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์เคยมี ซึ่งมีเงินลงทุนเกือบ 4 แสนล้านบาทโดย แหล่งที่ตั้งสำคัญของอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็คือ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง เช่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า ฯลฯ
แน่นอนว่า เมื่อมีโรงงาน-มีนิคมอุตสาหกรรมมาตั้งย่อมไม่ได้มีแต่ด้านดีด้านเดียว คือการนำงาน นำรายได้ เข้ามาสู่จังหวัด คนท้องถิ่น แต่อีกด้านหนึ่งก็คือ การก่อให้เกิดมลพิษ อุบัติเหตุ อุบัติภัยและการรั่วไหลของวัตถุดิบและของเสียจากอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน วิถีชีวิตของชาวบ้าน การประกอบอาชีพ และสภาพแวดล้อมอย่างรุนแรง
มกราคม 2565 คราบน้ำมัน ที่ถูกน้ำทะเลพัดมาติดบนชายหาดแม่รำพึง จ.ระยอง อันเกิดจากเหตุท่อใต้ส่งน้ำมันใต้ทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ในบริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง รั่วไหล
เหตุถังเก็บสารเคมี ของบริษัท มาบตาพุดแทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง รั่วไหล และระเบิดจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตหลายคน โดยเหตุเกิด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
กากของเสียอุตสาหกรรม กับผลประโยชน์หมื่นล้าน !
นอกจากมลพิษ อุบัติเหตุ อุบัติภัยและการรั่วไหลของวัตถุดิบและของเสียจากอุตสาหกรรมเหล่านี้แล้ว“By-Product”ที่เกิดจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งประชาชนมักจะไม่ค่อยคิดถึง ก็คือ“กากของเสียอุตสาหกรรม”หรือIndustrial Waste
กากของเสียอุตสาหกรรมคืออะไร ?
กากของเสียอุตสาหกรรม หมายถึง ของเสียหรือสิ่งที่ไม่ใช้แล้วที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน ตั้งแต่กระบวนการรับวัตถุดิบ การผลิต การตรวจสอบคุณภาพ การบำบัดมลพิษ การซ่อมบำรุงเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ไปจนถึงการรื้อถอนหรือก่อนสร้างอาคารภายในบริเวณโรงงาน รวมทั้งกากตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ทั้งนี้ รวมถึงของเสียอันตรายที่เกิดจากอาคารสำนักงานและที่พักคนงานที่อยู่ภายในบริเวณโรงงาน
ปัจจุบัน ในแต่ละปีจากกระบวนการผลิตของโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยนั้นก่อให้เกิด“กากของเสียอุตสาหกรรม”ประมาณ 37 ล้านตัน โดยใน 37 ล้านตันนี้แบ่งเป็น
-กากอันตรายเช่น น้ำมัน, สารไวไฟ, สารกัดกร่อน, สารพิษ, สารที่เกิดปฏิกิริยาปฏิกิริยาต่าง ๆ ได้ง่าย รวมไปถึงขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณ 3 ล้านตัน
-กากไม่อันตรายเช่น เศษเหล็ก เศษพลาสติก เศษกระดาษ เศษผ้า เป็นต้น ประมาณ 34 ล้านตัน
ทั้งนี้ ข้อมูลจากวงในกรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้ให้เห็นว่า ในจำนวนกากของเสียอุตสาหกรรมซึ่งเป็นกากอันตรายจำนวน 3 ล้านตันนี้ ประมาณ 80% นั้นเป็นกากอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในจังหวัดระยอง หรือ คิดเป็นปริมาณแบบคร่าว ๆ ก็คือ ทุก ๆ ปีในระยองมีกากอุตสาหกรรมที่ต้องนำไปกำจัดประมาณ 2.4 ล้านตัน
กากอุตสาหกรรม หรือ Industrial Waste ที่โรงงานต่าง ๆ ผลิตออกมานั้นไม่สามารถนำไปทิ้งเฉย ๆ ให้รถขยะมาเก็บได้ แต่จำเป็นที่จะต้องถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี และต้องได้รับอนุญาต
ด้วยเหตุนี้ธุรกิจการกำจัดกากอุตสาหกรรมจึงกลายเป็นธุรกิจใหม่ที่บูมขึ้นมาในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมานี้เองโดยเป็นธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาลปีละหลายหมื่นล้านบาท
ทำไมธุรกิจนี้มีมูลค่าหลายหมื่นล้านบาทได้ ?
ปัจจุบันนี้ ในแต่ละปีจากกระบวนการผลิตของโรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศไทยนั้นก่อให้เกิด “กากของเสียอุตสาหกรรม” ประมาณ 37 ล้านตัน โดยใน 37 ล้านตันนี้แบ่งเป็น กากอันตรายประมาณ 3 ล้านตัน กากไม่อันตรายประมาณ 34 ล้านตัน
สำหรับค่าใช้จ่ายในการกำจัดกากอุตสาหกรรมแบบกากอันตราย นั้นราคาค่ากำจัดอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 5,000 บาทต่อตัน ก็เท่ากับ 15,000 ล้านบาท
ส่วน ค่าใช้จ่ายในการกำจัดกากอุตสาหกรรมแบบกากไม่อันตราย)นั้นราคาค่ากำจัดอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 2,000 บาทต่อตัน
นี่เองเป็นช่องทางที่ดึงดูดคนอย่างนายโอภาส บุญจันทร์ ที่บางคนเรียกว่า “เจ้าพ่อแห่งวงการกากอุตสาหกรรม” ในจังหวัดระยอง แต่จริง ๆ แล้ว นายโอภาสน่าจะถูกตั้งฉายาว่าเป็น“จอมมาร” แห่งวงการการกำจัดกากอุตสาหกรรมเสียมากกว่า
โดยในห้วงระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา นายโอภาสนั้นได้ แพร่กระจายความชั่วร้าย โหดเหี้ยมอำมหิต ผิดมนุษย์มนา ของตัวเอง ออกนอก จ.ระยอง ไปยังจังหวัดอื่น ๆ ด้วย
"โอภาส บุญจันทร์" เป็นใคร?
นายโอภาส บุญจันทร์ วัย 67 ปี กรรมการ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด เจ้าของโรงงานเก็บกากสารเคมีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ที่บ้านหนองพะวา ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ถูกจับกุมขณะเดินทางไปยัง รงงานเอกอุทัย สาขาศรีเทพ ที่อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ หลังกรมโรงงานอุตสาหกรรมแจ้งความเอาผิดไว้หลายพื้นที่ ทั้งที่จังหวัดระยอง และอำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย โดยพยานให้การซัดทอดเรื่องการเทกากสารเคมี และการปลอมแปลงตราประทับ เบื้องต้นนำตัวไปดำเนินคดีที่สถานีตำรวจภูธรมาบตาพุด จังหวัดระยอง
นั่นถือเป็นแค่จุดเริ่มในวิบากกรรมของนายโอภาสเท่านั้น เพราะนายโอภาสยังจะต้องรับกรรมที่ตัวเองก่อเอาไว้อีกหลายสิบคดี
ข้อมูลเบื้องลึกของผมระบุว่า นายโอภาส (ปัจจุบันอายุ 67 ปี) พื้นเพเป็นคนตำบลเนินพระ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง มีภรรยาเป็นครู
เนื่องจากระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรมหนัก นายโอภาสจึงเห็นช่องทางในการทำธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้ ในการทำเรื่องการบริหารจัดการขยะ และของเสียจากอุตสาหกรรม เนื่องจากเวลานั้นยังไม่มีคนทำธุรกิจนี้มากนัก
นายโอภาส เริ่มต้นเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว จากการทำโรงงานเล็ก ๆ เพื่อล้างถังสี - ถังน้ำมัน จากโรงงานในแถบมาบตาพุด จากนั้นก็เห็นช่องทางเกี่ยวกับเรื่องขยะอุตสาหกรรม โรงงานรีไซเคิล ซื้อเศษเหล็ก เศษกระดาษ เศษพลาสติก น้ำมันเก่า เป็นต้น
ต่อมาใน ปี 2550 นายโอภาส บุญจันทร์ ก็จัดตั้งบริษัทชื่อ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ขึ้นเมื่อ วันที่ 9 ตุลาคม 2550 ที่ตั้งอยู่ ณเลขที่ 84/1 หมู่ที่ 4 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยองโดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการ คือ กิจกรรมซ่อม-ล้างถังด้วยตัวละลายทำเชื้อเพลิงผสม-ทดแทน คัดแยกวัสดุที่ใช้แล้ว
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ย้อนแย้งตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา บ.วิน โพรเสส นั้นไม่เคยได้ใบรับอนุญาตในการกำจัดกากอุตสาหกรรมใด ๆ เลย
โดย ปี 2554 บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานคัดแยกขยะ ประเภท 105 แต่ “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” ไม่ออกใบอนุญาตให้ เพราะถูกชาวบ้านในพื้นที่คัดค้าน
แม้จะไม่ได้รับใบอนุญาตในการประกอบกิจการคัดแยกขยะ ทว่า เมื่อย้อนกลับไปดูงบการเงินของ บ.วิน โพรเสส ของนายโอภาส ย้อนหลัง 10 ปี ก็จะพบว่า บริษัทรับกำจัดกากสารพิษอุตสาหกรรมของนายนั้นอู้ฟู่มาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2556 ถึง ปี 2558 นั้นมีรายได้สูงถึงปีละนับร้อยล้านบาท คือ
ปี 2556 รายได้206.8 ล้านบาท
ปี 2557 รายได้191.6 ล้านบาท
ปี 2558 รายได้100.6 ล้านบาท
ด้วยเหตุที่ว่าบ.วิน โพรเสสแม้ไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ แต่กลับมีรถขนขยะอุตสาหกรรมเข้าออกตลอดเวลาสิบกว่าปีที่ผ่านมา ชาวบ้านหนองพะวา จึงดำเนินการร้องเรียนบริษัท และโรงงานกำจัดกากอุตสาหกรรมแห่งนี้ที่ตั้งมาตั้งแต่ 2554
กระทั่ง ปี 2556 ชาวบ้านได้รับกลิ่นเหม็นจนชุมนุมกดดันให้นำรถแบ็กโฮมาขุดดินในโรงงาน พบการลักลอบฝังกลบขยะ แต่ก็ยังไม่ถูกดำเนินคดี
ต่อมาใน ปี 2560 พบว่าโรงงานแห่งนี้ได้ใบอนุญาตแล้ว 3 ใบ โดยได้รับอนุญาตเมื่อ วันที่ 8 มีนาคม 2560 และ 5 กันยายน 2560 เพื่อ
1. ประกอบกิจการ อัดเศษกระดาษ เศษโลหะ พลาสติก คัดแยกของใช้แล้วทั่วไป
2. ประกอบกิจการหล่อและหลอมโลหะ
3. ประกอบกิจการโรงงานรีไซเคิล ประเภท 106 คืนสภาพกรดหรือด่าง ทำเชื้อเพลิงผสม และล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย
แต่พบว่ายังเป็นเพียงใบอนุญาตจัดตั้งโรงงาน ยังไม่ได้ขออนุญาตประกอบกิจการรีไซเคิล ยังไม่มีเครื่องจักรสำหรับการรีไซเคิล แต่วัตถุดิบและสารเคมีต่างๆ ถูกนำเข้ามาในโรงงานแล้ว
นับจากนั้นเป็นต้นมา ชาวตำบลหนองพะวา โดยเฉพาะกลุ่มชาวสวนยางพาราและพื้นที่เกษตรกรรมอื่น ๆ ที่เสียหายซึ่งอาศัยอยู่ติดโรงงาน พบการปนเปื้อนสารพิษหลายจุด และต้องพบสภาพน้ำเน่าเสีย มีกลิ่นเหม็นสารเคมี แม้จะพยายามยื่นหนังสือร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน แต่ไม่ได้รับการแก้ไข
ปัญหาเริ่มหนักขึ้น มีน้ำท่วมขังพื้นที่เกษตรหลายสิบไร่ ต้นยางพารายืนต้นตายเป็นจำนวนมาก
ยิ่งไปกว่านั้นใน เดือนพฤษภาคม 2563 เมื่อชาวบ้านร้องเรียนไปยัง กลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน จ.ระยอง พบโรงงานต้องสงสัย ใช้เครื่องจักรกลขุดลอกดินภายในโรงงาน และยังพบน้ำสีขุ่นเหลืองไหลออกจากรั้วโรงงานลงลำรางสาธารณะเข้าสู่พื้นที่สวนยางและนาข้าวของชาวบ้าน ทำให้ต้นยางในสวนยางพารายืนต้นตาย พืชผลเสียหายจำนวนมาก อีกทั้งปลาช่อนและปลายี่สกที่เลี้ยงไว้ในบ่อ รวมทั้งปลาไหลตาย
วงจรอุบาท์ของการทำธุรกิจของ “โอภาส วิน โพรเสส-เอกอุทัย”
จากผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนว่า นายโอภาส บุญจันทร์ และพวก นั้นทำมาหากินแบบง่าย ๆ ชุ่ย ๆ และชั่วร้ายสุด ๆ โดย
-ดำเนินการ เช่าหรือซื้อโกดัง เพื่อจะได้นำเอากากอุตสาหกรรม และสารพิษมาทิ้ง หรือ ฝังกลบโดยไม่นำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
-จาก การเก็บค่าใช้จ่ายในการกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตราย ตันละ 5,000 บาท นายโอภาส บ.วิน โพรเสส ก็ตัดราคาลงครึ่งหนึ่งเหลือ ตันละ 2,500 บาท ทำให้บริษัทต่าง ๆ ในจังหวัดระยองและจังหวัดใกล้เคียง เมื่อเห็น บ.วิน โพรเสส รับกำจัดกากอุตสาหกรรมอันตรายในราคาถูกก็แห่กันนำมาให้กำจัด (แต่ก่อนนายโอภาส วินโพรเสส เคยถูกร้องเรียนจนเป็นข่าวใหญ่โตว่านำกากอุตสาหกรรมมาเททิ้งไว้ข้างถนน แต่ไม่นานข่าวก็เงียบไป)
-ด้วยวิธีการทำธุรกิจแบบชั่ว ๆ เช่นนี้ “โอภาส วินโพรเสส” จึงมีต้นทุนเพียงแค่การจ่ายแค่ค่าเช่า หรือ ซื้อโกดังเก่าแต่เพียงอย่างเดียว เพราะไม่เคยได้กำจัดกากอุตสาหกรรมจำนวนหลายพันตันที่โรงงานต่าง ๆ นำมาให้กำจัดแต่อย่างใด
-เมื่อทำธุรกิจชั่ว ๆ เช่นนี้แล้วสามารถสร้างได้รายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ นายโอภาส วิน โพรเสส ก็สยายปีกใช้ พรรคพวก และนอมินี ไปตั้งบริษัทใหม่ ที่ชื่อ บริษัท เอกอุทัย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในกิจการรับบำบัดและกำจัดของเสีย และขยายกิจการไปยังจังหวัดอื่น ๆ โดยมีที่ตั้ง 3 สาขา คือ
1.สำนักงานใหญ่ ตั้งอยู่เลขที่ 99 หมู่ 4 ทางหลวงชนบท อย.2012 ตำบลสามบัณฑิต อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
2.สาขากลางดง จ.นครราชสีมาตั้งอยู่เลขที่ 499 หมู่ 1 ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา และ
3.สาขาศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ตั้งอยู่เลขที่ 39 บ้านม่วงชุม หมู่ 4 ตำบลคลองกระจัง อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ห่างจาก “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” ไปเพียง 15 กิโลเมตร
“อย่าหาว่าผมขู่เลยครับ แต่ทุกที่ที่ผมเอ่ยถึงทั้ง บริษัทวิน โพรเสส ที่ จ.ระยอง รวมไปถึง บ.เอกอุทัย อีก 3 สาขาใน 3 จังหวัด ในช่วงที่ผ่านมา ผมได้ส่งทีมงานของรายการลงไปเก็บข้อมูลแบบละเอียดยิบไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งถ่ายภาพ ถ่ายวีดิโอ พูดคุยกับชาวบ้าน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไว้ทั้งหมด” นายสนธิ กล่าว
ไม่นับรวมกับข้อมูลเชิงลึกที่ได้จากหน่วยงานราชการ นักข่าวท้องที่ องค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ด้วย แต่จะไม่ลงรายละเอียดทั้งหมดในตอนนี้
เมื่อเกิดเหตุการณ์ชาวบ้านที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ร้องเรียนหนักเข้า มีการตรวจสอบ มีการรวมตัวกัน นำเรื่องฟ้องร้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ปี 2564 โดยศาลมีคำตัดสินตั้งแต่ปี 2565 ให้มีการชดใช้ให้ชาวบ้าน 15 ราย เป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท และให้ บ.วิน โพรเสส และนายโอภาส กับพวก ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ
แต่หลังคำพิพากษาออกมา ฝ่ายนายโอภาสกลับไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ หรือเรียกว่าไม่มีการบังคับคดีใด ๆ ทั้งสิ้น จนเวลาผ่านมาเป็นปีแล้ว !?!
สุดท้ายใน เดือนเมษายน และ ต้นเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมาจึงเกิดเหตุการณ์เผาและระเบิดทำลายหลักฐาน โกดังเก็บสารพิษทั้ง 2 แห่งของ บ.วิน โพรเสสและบ.เอกอุทัยดังที่ผมกล่าวไปในตอนต้น ก็คือ
-โกดังเก็บสารพิษ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ที่ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เมื่อ วันที่ 22 เมษายน 2567
-โกดังเก็บสารพิษจำนวน 5 หลังกว่า 4 พันตัน ที่ตำบลภาชี อำเภอภาชี จังหวัดอยุธยา เมื่อ วันที่ 1 พฤษภาคม 2567
“มันเหี้ยขนาดไหนท่านผู้ชม !?! ในเมื่อค่าใช้จ่ายที่จะนำมาใช้ในการทำลายการสารพิษตามคำสั่งศาล มันสูงมากนัก ไอ้ผู้บริหารบริษัทระยำนี่ เลยวางแผน วางเพลิงทำลายหลักฐาน ให้มันรู้แล้วรู้รอดไปเลย คุณโอภาส คุณเหี้ยจริงๆ
“แล้วท่านผู้ชมลองดูสิ่งที่ส่งผลกระทบตามมาในขณะนี้นะครับ ผมส่งทีมงานลงไปสำรวจเรียบร้อย รอบ ๆ โกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ ติดกับถนนใหญ่ ติดคลองหนองโพธิ์ ตั้งอยู่กลางชุมชน และมัสยิด ท่านผู้ชมคิดว่าสารพิษ จะยังคงอยู่ตามห้วย หนอง คลอง บึง แหล่งน้ำ ในดิน และลอยอยู่ในอากาศนานไปถึงเมื่อไหร่ เอาเป็นว่าล่าสุดตอนนี้เทศบาลตำบลภาชี อ.ภาชี ที่อยุธยา ติดประกาศพื้นที่โกดังแห่งนี้เป็นพื้นที่ห้ามเข้า เพราะเต็มไปด้วยสารพิษอันตราย ไปเสียแล้ว” นายสนธิกล่าว
คำถาม ที่น่าสนใจต่อมาก็คือ นายโอภาส กับพรรคพวก ซึ่งมี “เครือข่ายเมียน้อย” ของนายโอภาส เป็นคน อ.อุทัย จ.อยุธยา เป็นตัวจัดการอยู่เบื้องหลัง สามารถกระทำการที่อุกอาจ และชั่วช้า เช่นนี้ได้อย่างไรเป็นเวลาสิบกว่าปี ?!?
คำตอบ แบบรวบรัดตัดความ และสั้น ๆ แบบได้ใจความก็คือ
หนึ่ง ตัวนายโอภาส บุญจันทร์ นั้นเคยดำรงตำแหน่งเป็น สมาชิกสภาจังหวัด (ส.จ.) ระยองถึง 2 สมัย มีคอนเนกชันตั้งแต่การเมืองระดับท้องถิ่น ขึ้นไปถึงระดับประเทศ แม้ว่าจะเป็นคนโนเนมในสายตาของสื่อมวลชนทั่วไป แต่ชาวบ้านในพื้นที่นั้นรู้จัก“เสี่ยโอภาส”เป็นอย่างดี
นอกจากนี้“เสี่ยโอภาส”ก็ยังเคยต้องคดีอาญาอุกฉกรรจ์(จ้างวานฆ่า)เมื่อหลายปีก่อน แต่ศาลยกฟ้องพิสูจน์ให้เห็นว่าเขาโชกโชนในแวดวงยุทธจักรทั้งการเมือง และธุรกิจไม่น้อย
สอง เจ้าหน้าที่รัฐทั้งหลายในจังหวัดระยองไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่ตำรวจ, อบต., อบจ., อุตสาหกรรมจังหวัด รวมไปถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ก็น่าจะรู้จักนายโอภาสไม่มากก็น้อย โดยหลายคนน่าจะอิ่มหมีพีมัน กับธุรกิจรับซื้อกากพิษอุตสาหกรรมมาทิ้งของนายโอภาสมาหลายต่อหลายปี
สาม เจ้าหน้าที่และผู้บริหารส่วนกลางของกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีใครบ้างที่มีส่วนรับผิดชอบในการควบคุมดูแล และออกใบอนุญาตให้กับบ.วิน โพรเสสและบ.เอกอุทัยและปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นได้ ได้ข่าวว่ามีอดีตรองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นคนจัดการเรื่องใบอนุญาตให้ บ.เอกอุทัย จริงหรือไม่?
สี่ นักการเมืองท้องถิ่น ไม่แน่ใจว่านักการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดระยอง ซึ่งตลอดหลายปีที่ผ่านมาเป็นสายพรรคประชาธิปัตย์ ในตระกูลปิตุเตชะ รู้สึกรู้สาอะไรกับเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า และรู้จัก นายโอภาส บุญจันทร์ คนนี้มากน้อยแค่ไหน ไม่ว่าจะเป็น“นายกฯ ช้าง” คุณปิยะ ปิตุเตชะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง นายสาธิต ปิตุเตชะอดีต รมช.สาธารณสุข และ ส.ส.ระยอง 4 สมัย
“เพราะมีข่าวลือว่า ที่ดินของ บ.วิน โพรเสส บางแห่ง เดิมทีนั้นก็เป็นของคนในตระกูลปิตุเตชะ ขายให้กับนายโอภาส ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจริง แต่ถ้าจริง คุณสองคนพี่น้องก็ต้องออกมาผลักดัน และเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ให้เต็มที่ และกำจัด ขุดรากถอนโคนธุรกิจชั่ว ๆ นี้ออกจาก จ.ระยอง บ้านเกิดของพวกคุณให้ได้” นายสนธิกล่าว
ห้า เมื่อกล่าวถึง ข้าราชการระดับสูงกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว แล้วจะไม่แตะระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งปัจจุบันเป็นสุภาพสตรีอย่าง น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล คงไม่ได้
น.ส.พิมพ์ภัทรา ชื่อเล่นชื่อ “ปุ้ย”(ลูกสาวนายมาโนชญ์ วิชัยกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์) นักการเมืองคนใต้ คนสิชล จ.นครศรีธรรมราช และรัฐมนตรีว่าการที่อายุยังถือว่าน้อยมาก ปัจจุบันอายุแค่ 44 ปี
ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 นั้น น.ส.พิมพ์ภัทราสังกัดอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติที่มีหัวหน้าพรรคคือ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ชนะการเลือกตั้งในเขต 10 จ.นครศรีธรรมราช โดยเป็น ส.ส.พรรครวมไทยสร้างชาติเพียงหนึ่งเดียวใน จ.นครศรีธรรมราช และได้รับการปูนบำเหน็จเป็นถึง รมว.อุตสาหกรรม
ก่อนหน้าที่จะมาอยู่กับ พรรครวมไทยสร้างชาติ น.ส.พิมพ์ภัทรา ก็เคยอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์มาก่อนหลายสมัย โดยมีความสนิทสนมกับกลุ่ม กปปส. โดยเฉพาะ แกนนำ กปปส. “ลูกหมี” นายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์
“ผมทราบข่าวจากคนวงในมาว่า พอเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่โกดังเก็บสารพิษของ“บ.วินโพรเสส”และ“บ.เอกอุทัย”ทั้งสองแห่ง คุณก็เรียก อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม คุณจุลพงษ์ ทวีศรี เข้าไปด่า โดยไม่ถามรายละเอียดเลยว่าเขาทำอะไรบ้าง? จนมีข่าวว่าเขาประกาศจะลาออก ทั้ง ๆ ที่กำลังจะเกษียณอายุในเดือนกันยายนนี้แล้ว
“เพราะเขาทนไม่ได้ที่แทนที่เจ้ากระทรวงอย่างคุณแทนที่จะหนุนข้าราชการน้ำดี ที่ทำงานอย่างตรงไปตรงมา กลับเรียกเขาเข้าไปตำหนิติเตียนอย่างรุนแรง โดยไม่ให้กำลังใจเขาเลยแม้แต่นิดเดียว” นายสนธิ กล่าว
ทั้ง ๆ ที่ตั้งแต่นายจุลพงษ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เข้ารับตำแหน่งช่วงปลายปี 2565 เรื่อยมาจนปี 2566, 2567 ก็ไล่บี้สั่งปิด สั่งหยุดประกอบกิจการ สั่งถอนใบอนุญาต บ.วิน โพรเสส, บ.เอกอุทัย และไล่จัดการ นายโอภาส กับพรรคพวก ที่ถูกปล่อยปละละเลยมาหลายปีอย่างไม่ลดละ
“คุณพิมพ์ภัทรา อย่าหาว่าผมสอนเลย ผมไม่รู้ว่า คุณ หรือ ลูกหมี นายชุมพล จะสนิทชิดเชื้อ หรือ รู้จักกับนักธุรกิจหรือนายทุนใหญ่คนไหน แต่กรณีนี้คุณต้องจัดการให้เด็ดขาด ลากเอาข้าราชการชั่ว กับ ไอ้โม่งที่อยู่เบื้องหลังนายโอภาส บุญจันทร์ กับนอมินีที่กระทำระยำตำบอน กับประเทศชาติ และประชาชนออกมาให้ได้
“แม้ว่าคุณจะยังเด็กมากอายุ 44-45 ปี แต่คุณเป็นรัฐมนตรีอุตสาหกรรมนะ คุณต้องส่งเสริมคนดี กำจัดคนชั่ว ไม่ใช่ กำจัดคนดี หนุนหลังคนชั่ว” นายสนธิ กล่าว