xs
xsm
sm
md
lg

“หมออารักษ์” เตือน! อายุน้อยก็เสี่ยงเป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลือง-มะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เผยเคสคนไข้อายุเพียง 27 ปี มีไข้หนาวๆ ร้อนๆ ไม่มีน้ำมูก ไม่มีเสมหะ อ่อนเพลีย ไอบ่อยจนคนข้างๆ รู้สึกรำคาญ ตรวจพบก้อนเนื้อในทรวงอก วัณโรคต่อมน้ำเหลือง ชี้อายุน้อยก็เสี่ยงเป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลือง-มะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้

วันนี้ (9 มิ.ย.) เฟซบุ๊ก "Arak Wongworachat" หรือ นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้โพสต์ให้ความรู้โดยระบุข้อความว่า “ก้อนเนื้อที่ขั้วปอด ในทรวงอก แม้คนอายุน้อย ก็เป็นวัณโรคต่อมน้ำเหลืองได้ รวมถึงมะเร็งต่อมน้ำเหลืองก็พบได้เช่นกัน เป็นกรณีตัวอย่างผู้ป่วยอยู่ต่างจังหวัด อายุเพียง 27 ปีเศษ

มาด้วยเรื่อง เมื่อสองเดือนก่อนรู้สึกมีไข้หนาวๆ ร้อนๆ ไม่มีน้ำมูก ไม่มีเสมหะ อ่อนเพลีย ไอบ่อยจนคนข้างๆ รู้สึกรำคาญ ไปหาซื้อยามากินเอง ไม่รู้สึกว่าดีขึ้น จึงไปโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เอกซเรย์ปอด พบความผิดปกติเหมือนมีก้อนเนื้อที่ขั้วปอด ข้างขวา เพื่อความแน่ใจจึงส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ทรวงอก

แต่คิวเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ค่อนข้างนาน ญาติจึงพามาโรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จึงให้เข้าช่องทางด่วน พบศัลยแพทย์ทรวงอก ได้คิวเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ไม่ช้า ภาพจากเอกซเรย์คอมพิวเตอร์จะเห็นก้อนเนื้อที่ขั้วปอดชัดเจน แต่ไม่พบความผิดปกติอย่างอื่นในปอด ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรค

จึงวางแผนผ่าตัดเพื่อเอาก้อนออกและตรวจชิ้นเนื้อไปพร้อมๆ กัน โดยใช้เทคนิคการผ่าตัดแผลเล็ก ผ่านกล้องเอนโดสโคป แล้วใช้เครื่องมือผ่าตัดสอดใส่ทางกล้อง ศัลยแพทย์จะดูภาพทางหน้าจอแล้วตัดเอาชิ้นเนื้อออกมา นำชิ้นเนื้อไปส่งตรวจทางพยาธิวิทยา และย้อมด้วยเทคนิคพิเศษ ผลอ่านชิ้นเนื้อเข้ากับวัณโรคต่อมน้ำเหลือง แม้ว่าจะตัดก้อนเนื้อออกมาแล้ว เชื้อวัณโรคยังอาจหลงเหลืออยู่ตามอวัยวะต่างๆ รวมถึงในปอด แม้ภาพจากเอกซเรย์ปอดจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติในเนื้อปอดก็ตาม

การรักษาที่ถูกต้อง จึงต้องให้ยาวัณโรคตามสูตรมาตรฐาน และกินยาต่อเนื่องอย่างน้อยหกเดือน หลังได้ยาไปรับประทาน ติดตามผู้ป่วย อาการโดยรวมดีขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างเห็นได้ชัด

ก้อนเนื้อในทรวงอก นอกจากวัณโรคต่อมน้ำเหลืองแล้ว ที่พบบ่อยคือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ที่แพทย์ผู้ให้การรักษาจะต้องวินิจฉัยโรคให้ถูกต้อง เพื่อการรักษาถูกวิธี
อาการไอเรื้อรัง ไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย หรือมีน้ำหนักลด เบื่ออาหารเกินกว่า 2-3 สัปดาห์ อย่านิ่งนอนใจ ควรไปพบแพทย์ อาจมีโรคร้ายซ่อนอยู่ ยิ่งปล่อยทิ้งไว้เชื้อโรคลุกลาม ร่างกายทรุดโทรม และสามารถติดต่อกับคนใกล้ชิดได้

โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช
*วิทยาทาน สาระสุขภาพยามเช้า*




กำลังโหลดความคิดเห็น