สภาพัฒน์รายงานสถานการณ์ทางสังคม เตือนเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิต ชี้ คนไทยอาจมีปัญหาสุขภาพจิตกว่า 10 ล้านคน แต่เข้ารับการรักษาเพียง 2.9 ล้าน ชี้เศรษฐกิจและสังคมกดดัน ผสมมลพิษทางอากาศ พบกรุงเทพฯ ติด 1 ใน 5 เมืองที่ผู้คนทำงานหนักเกินไป 7 ใน 10 หมดไฟทำงาน
วันนี้ (28 พ.ค.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ เรื่อง "Mental Health ปัญหาสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง" ระบุว่า ปัญหาสุขภาพจิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในสังคมไทย โดยข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตพบว่ามีผู้ป่วยจิตเวชเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นจาก 1.3 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 2.9 ล้านคน ในปี 2566 ซึ่งหากพิจารณาในรายละเอียดจะพบประเด็นที่มีความน่ากังวล ดังนี้
1. แม้ว่าประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 2.9 ล้านคน แต่ผู้มีปัญหาอาจมากถึง 10 ล้านคน ทำให้สัดส่วนผู้มีปัญหาสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลก และสะท้อนให้เห็นว่ายังมีผู้ที่ไม่ได้เข้ารับรักษาเป็นจำนวนมาก
2. ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตมีสัดส่วนสูงเช่นกัน โดยระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2566-22 เมษายน 2567 พบผู้มีความเครียดสูงถึง 15.48% เสี่ยงซึมเศร้า 17.20% และเสี่ยงฆ่าตัวตาย 10.63% ซึ่งแย่ลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา
3. ปัญหาสุขภาพจิตไม่เพียงกระทบต่อตนเอง แต่ยังส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดคิด องค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวลของประชากรทั่วโลก ทำให้วันทำงานหายไปประมาณ 12 พันล้านวัน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
4. เกือบ 1 ใน 5 ของผู้มีปัญหาสุขภาพจิตไม่สามารถดูแลตนเองได้ ทำให้ครัวเรือนต้องจัดหาผู้ดูแลและเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ไม่ถึง 1 ใน 4 ที่ได้รับการติดตามดูแลและเฝ้าระวังตามแนวทางที่กำหนด
5. สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความกดดัน ส่งผลให้คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลมากขึ้น ในปีงบประมาณ 2566 พบสัดส่วนผู้ป่วยกลุ่มโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้า สูงเป็น 2 อันดับแรก สูงกว่าผู้ป่วยติดยาบ้าและยาเสพติดอื่นๆ รวมกัน
6. การฆ่าตัวตายสูงใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ในปีงบประมาณ 2566 พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.94 ต่อประชากรแสนคน ใกล้เคียงช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง (8.59 ต่อประชากรแสนคน)
7. ปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยภายนอกที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตภายใน จากการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่ามลพิษทางอากาศส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าในเยาวชนเพิ่มขึ้น 20% ซึ่งไทยต้องเฝ้าระวังเนื่องจากกำลังประสบปัญหาฝุ่น PM 2.5 สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก
นอกจากนี้ หากพิจารณาตามช่วงวัย พบว่า
1. วัยเด็กและเยาวชนมีปัญหาสุขภาพจิตที่น่ากังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะความเครียด ซึ่งมีสาเหตุหลักจากการเรียนและความคาดหวังด้านการทำงานในอนาคต และสถานะทางการเงินของครอบครัว นอกจากนี้ การกลั่นแกล้งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
2. วัยทำงานความรับผิดชอบสูง และหลายปัญหารุมเร้า บริษัท Kisi พบว่าในปี 2565 กรุงเทพฯ อยู่ในอันดับ 5 จาก 100 เมืองทั่วโลกที่มีผู้คนทำงานหนักเกินไป สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่พบว่าคนกรุงเทพฯ 7 ใน 10 หมดไฟในการทำงาน อีกทั้งข้อมูลจากสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต พบว่าปี 2566 วัยแรงงานขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงานถึง 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย
3. ผู้สูงวัยต้องอยู่กับความเหงาและโดดเดี่ยว สูญเสียคุณค่าในตนเอง ในปี 2566 พบว่าผู้สูงอายุ 84.93% มีความสุขในระดับที่ดี แต่จะลดน้อยลงตามวัย ส่วนหนึ่งเกิดจากการขาดกิจกรรมและบทบาททางสังคม อีกทั้งยังพบผู้สูงอายุที่ต้องอยู่คนเดียวเพิ่มขึ้น และมีผู้สูงอายุอีก 8 แสนคน มีภาวะความจำเสื่อม ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพจิตด้านอื่นร่วมด้วย
สถานการณ์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพจิตต้องได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ดังนี้
1. การป้องกัน ต้องสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันทางสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว เน้นเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี เช่น การพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้สึก การเลี้ยงดูเชิงสร้างสรรค์ สถาบันการศึกษา ต้องเสริมสร้างความรู้ด้านสุขภาพจิต ผ่านการเรียนการสอน รวมถึงการเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงและให้ความช่วยเหลือเยียวยาแก่นักเรียน/นักศึกษา สถานที่ทำงาน ต้องสร้างสภาพแวดล้อมและระบบการทำงานที่ดีและลดความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต และสถาบันชุมชนต้องส่งเสริมการพัฒนาและจัดบริการสุขภาพจิตในชุมชน
2. การรักษา เร่งเพิ่มบุคลากรด้านสุขภาพจิตให้เพียงพอ รวมทั้งขยายบริการการรักษาผู้ป่วยจิตเวชในสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด อีกทั้งต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการบริการ
3. การติดตามและฟื้นฟูเยียวยา ต้องจัดทำฐานข้อมูลกลางด้านสุขภาพจิตที่ครอบคลุม เร่งติดตามผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงก่อความรุนแรงให้ได้รับการรักษาต่อเนื่อง รวมทั้งพัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนและสังคม ในการส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพจิตใจและขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพจิต