xs
xsm
sm
md
lg

หวั่นเดอะแบกครัวเรือนแซนด์วิช รับผิดชอบตั้งแต่เด็กยันสูงวัย เปราะบางการเงิน-สุขภาพ-เครียด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สภาพัฒน์เผยสถานการณ์ "แซนด์วิช เจเนอเรชัน" คนที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งเด็กถึงผู้สูงอายุ พบมีมากถึง 3.4 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ หวั่นขาดรายได้มั่นคงยามเกษียณ เสี่ยงเปราะบางทางการเงินและสุขภาพ โดยเฉพาะโรคเรื้อรัง ไม่นับรวมความเครียดและสุขภาพจิต

วันนี้ (28 พ.ค.) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยลักษณะครัวเรือนไทย ที่มีคนกลางซึ่งต้องรับผิดชอบดูแลคนหลายรุ่น ทั้งพ่อแม่สูงอายุ และลูกของตนเอง หรือเรียกว่า แซนด์วิช เจเนอเรชัน (Sandwich Generation) ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากประชากรสูงวัยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีจำนวนลดลงหรือเท่าเดิม ทำให้ประชากรของหลายประเทศกลายเป็นคนแซนด์วิช เจเนอเรชัน

สำหรับประเทศไทย การศึกษาถึงคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันยังจำกัด โดยครัวเรือนขยายที่ประกอบด้วยสมาชิก 3 รุ่นขึ้นไป อาจมีความใกล้เคียงกับครัวเรือนแซนด์วิช ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบลักษณะที่น่าสนใจของครัวเรือนดังกล่าว คือ 1. ครัวเรือนไทยที่มีลักษณะเป็นแซนด์วิชมีจำนวนทั้งสิ้น 3.4 ล้านครัวเรือน ในปี 2566 คิดเป็น 14.0% ของครัวเรือนทั้งหมด ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2560 โดยส่วนใหญ่เป็นครัวเรือน 3 รุ่น

2. ครัวเรือนแซนด์วิช แม้สมาชิกส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงาน แต่มีอัตราการพึ่งพิงสูงกว่าครัวเรือนประเภทอื่น เนื่องจากวัยสูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่วัยแรงงานมีสัดส่วนลดลง 3. สมาชิกครัวเรือนแซนด์วิช ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ โดย 47.2% ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและเป็นแรงงานทั่วไป ขณะที่หัวหน้าครัวเรือน 31.9% ทำงานส่วนตัว ทำให้กว่า 80% ขาดหลักประกันรายได้ที่มั่นคงในยามเกษียณ อีกทั้งยังเป็นกลุ่มที่มีทรัพย์สินทางการเงินเพื่อการออมน้อย และ 4. ครัวเรือนแซนด์วิชมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้เพื่อการอุปโภคบริโภคสูงกว่าคนกลุ่มอื่น โดยส่วนใหญ่มีรายได้ไม่สูงนัก เกิดจากระดับการศึกษาต่ำ

สถานการณ์ข้างต้น แม้ว่าแนวโน้มครัวเรือนแซนด์วิชจะลดลง แต่คนที่เป็นแซนด์วิช เจเนอเรชันยังมีภาระที่ต้องแบกรับที่สำคัญ คือ 1. ความเปราะบางทางการเงิน โดย 49.1% ของครัวเรือนแซนด์วิชมีรายได้สุทธิคงเหลือน้อยกว่า 10% และ 69.8% ยังมีภาระหนี้สิน อีกทั้งภาระหนี้สินต่อรายได้ต่อเดือนยังสูงกว่าภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศ ส่งผลต่อความสามารถทางการเงินในระยะยาว และ 2. ผลกระทบต่อสุขภาพ กลุ่มคนแซนด์วิชมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรัง และมีสัดส่วนการเป็นหรือเคยเป็นโรค NCDs สูงกว่าค่าเฉลี่ยของหัวหน้าครัวเรือนทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยังประสบปัญหาความเครียดและปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการต้องจัดสรรเวลาการทำงานและดูแลสมาชิกในครัวเรือนไปพร้อมกัน

ทั้งนี้ มีแนวทางในการลดภาระที่จะเกิดขึ้นกับครัวเรือนแซนด์วิช คือ 1. การส่งเสริมทักษะทางการเงินตั้งแต่ก่อนวัยเกษียณ 2. การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีงานทำ สำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการทำงาน เช่น การส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะแรงงานผู้สูงอายุร่วมกับการจับคู่งานเชิงรุก การเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ 3. การใช้บริการผู้ช่วยดูแล (Care Assistant) และเทคโนโลยีในการดูแลสมาชิกในครัวเรือน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวก และช่วยสร้างสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงานให้กับวัยแรงงาน และ 4. การสนับสนุนศูนย์ดูแลเด็กและผู้สูงอายุ โดยปรับปรุงศูนย์พัฒนาเด็กและศูนย์บริการผู้สูงอายุของภาครัฐ หรือสนับสนุนภาคธุรกิจให้ดำเนินกิจการ โดยอาจให้สิทธิประโยชน์ทางกฎหมาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดขยายตัวของธุรกิจรับดูแลในพื้นที่เดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น