xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 19-25 พ.ค.2567

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



1.ศาล รธน.มีมติรับวินิจฉัยสถานะ "นายกฯ" ปมทูลเกล้าฯ "พิชิต" ทนายถุงขนม 2 ล้าน เป็น รมต. ให้เวลาชี้แจง 15 วัน ไม่รับวินิจฉัยสถานะ "พิชิต" เหตุเจ้าตัวลาออกแล้ว!

จากกรณี สว.40 คน ได้เข้าชื่อยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ของนายพิชิต ชื่นบาน ว่าสิ้นสุดลงหรือไม่ เนื่องจากมีพฤติกรรมเข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากเคยถูกศาลสั่งจำคุก 6 เดือน ฐานละเมิดอำนาจศาล คดีติดสินบนหรือถุงขนม 2 ล้าน และนายกฯ ยังเสนอชื่อทูลเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรี ทั้งที่เคยมีประเด็นทักท้วงการตั้งนายพิชิตให้ดำรงตำแหน่ง

ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. มีข่าวสะพัดว่า นายพิชิตเตรียมลาออกจากตำแหน่ง รมต.ประจำสำนักนายกฯ คาดว่า เพื่อตัดปัญหา ไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีทั้งของตนเองและของนายกฯ ซึ่งอาจส่งผลกระทบบานปลายตามมา อย่างไรก็ตาม นายพิชิตไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธข่าวเตรียมลาออกในวันดังกล่าว แค่บอกว่า “ไม่เป็นไรครับ ทำงานแล้วกัน เน้นงานเป็นตัวตั้ง”

วันเดียวกัน นายเศรษฐา นายกฯ ซึ่งอยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี กล่าวถึงข่าวนายพิชิตเตรียมลาออกว่า ยังไม่ได้คุยกัน และจะโทรศัพท์คุยกับนายพิชิตในช่วงบ่าย พร้อมบอก ต้องให้เกียรติกับทุกฝ่ายเช่นเดียวกัน ก็ไม่อยากไปกดดันใครทั้งสิ้น

กระทั่งวันต่อมา (21 พ.ค.) นายพิชิตได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ โดยจดหมายลาออกที่ส่งถึงนายกฯ ยืนยันว่า ชีวิตยึดมั่นในความบริสุทธิ์ทั้งในอดีดและปัจจุบัน ประกอบวิชาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเรียบร้อย ฯลฯ “แต่เมื่อมีการยื่นคำร้องเกี่ยวกับข้าพเจ้า ถึงแม้ว่าข้าพเจ้าได้ตรวจสอบและเชื่อมั่นโดยสุจริตแล้วว่า ข้าพเจ้ามีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายทุกประการก็ตาม แต่เรื่องนี้ได้มีการพาดพิงไปถึงท่านนายกรัฐมนตรี หัวหน้าผู้บริหารราชการแผ่นดินต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และไม่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีที่มีความจำเป็นต้องเดินหน้าด้วยความต่อเนื่อง ข้าพเจ้าจึงไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ในลักษณะยึดถือประโยชน์ส่วนตนยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนรวม

ดังนั้น โดยหนังสือฉบับนี้ให้ถือเป็นเจตนาของข้าพเจ้าที่มีต่อนายกรัฐมนตรี “ข้าพเจ้า ขอลาออกจากการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” เพื่อให้นายกรัฐมนตรีเดินหน้าบริหารประเทศต่อไปได้ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป..."

ด้านนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลาออกของนายพิชิตว่า เข้าใจว่า นายพิชิตอยากให้รัฐบาลเดินไปข้างหน้าได้ โดยไม่ต้องเป็นห่วงเป็นใย ต้องขอขอบคุณใน Spirit ที่แสดงออกมา

ทั้งนี้ วันเดียวกัน (21 พ.ค.) นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่นายพิชิต ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ว่า เรื่องนี้ไม่ได้ทำให้นายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี พ้นจากความผิด กรณีนี้เป็นคนละเรื่องกับคดีของนายนครชัย ขุนณรงค์ สส.ระยอง เขต 3 ของพรรคก้าวไกล ที่ได้ลาออก เนื่องจากขาดคุณสมบัติในการเป็น สส.เพราะเคยเป็นนักโทษ ต้องคดีลักทรัพย์ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี เมื่อลาออกจาก สส.แล้ว ศาลจึงไม่รับคำร้องไว้พิจารณาอีก ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัวต่อบุคคลนั้น

นายสามารถ กล่าวต่อว่า เรื่องการแต่งตั้งนายพิชิต คือเรื่องความชอบธรรมของนายกรัฐมนตรี ว่าฝ่าฝืนกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ วันนี้ประชาชนให้ความสนใจว่ารัฐธรรมนูญจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ในเรื่องของคุณสมบัติของคนจะเป็นรัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ วันนี้นายพิชิตคิดว่า จะลาออกเพื่อรักษานายเศรษฐาเอาไว้ แต่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ข้อเท็จจริง ตนเชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องรับคำร้องและสั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฎิบัติหน้าที่ นอกจากมีการครอบงำเป็นประเด็นอื่น เพราะถ้าจะนำมาเทียบเคียง ต้องเทียบกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายสมัคร สุนทรเวช หรือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

“จากจดหมายที่นายพิชิตยื่นลาออกก็ได้ยืนยันว่า ตัวเองไม่ผิด และเชื่อมั่นว่าตัวเองอยากทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน แต่ผมไม่เข้าใจว่าทำไมนายพิชิตไม่ยืนหยัดต่อสู้ เอาข้อเท็จจริงชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือว่ามีใครชี้ช่องว่า ถ้านายพิชิตลาออกแล้วนายกฯ จะรอด ผมคิดว่าถ้าใช้ทักษะศรีธนญชัยแบบนี้ ประเทศจะเดินไปได้ลำบาก ผมจึงเรียกร้องให้นายเศรษฐาตัดช่องน้อยแต่พอตัว ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเหมือนนายพิชิต ทุกอย่างจะได้จบ แล้วเปิดทางให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้นมา“

สองวันต่อมา (23 พ.ค.) ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ สว.40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160(4) และ (5) หรือไม่ จากกรณีนายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า นายพิชิต ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากนายพิชิตเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจริต และมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากศาลพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้วเห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ป. ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 7(4) และให้นายกรัฐมนตรียื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 54

ทั้งนี้ เสียงข้างน้อย 3 เสียงในประเด็นนี้ ได้แก่ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ นายอุดม รัฐอมฤต และนายสุเมธ รอยกุลเจริญ

ส่วนกรณีของนายพิชิต ผู้ถูกร้องที่ 2 เนื่องจากได้มีคำร้องของนายพิชิต ลงวันที่ 23 พ.ค.67 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ค.67 นายพิชิต ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายพิชิตสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) จึงไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไป ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ 2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของนายพิชิตไว้พิจารณาวินิจฉัย โดย 1 เสียงข้างน้อย ได้แก่ นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังได้พิจารณากรณีขอให้นายเศรษฐา ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง แล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยตุลาการเสียงข้างน้อย ได้แก่ นายปัญญา อุดชาชน นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม นายวิรุฬห์ แสงเทียน และนายจิรนิติ หะวานนท์

ทั้งนี้ หนึ่งในตุลาการเสียงข้างน้อยอธิบายเหตุผลที่เห็นว่าควรสั่งให้นายเศรษฐา หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะสอบถามกฤษฎีกาถึงคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีแล้ว แต่ไม่ได้ถามครอบคลุมทั้งมาตรา 160 สอบถามเพียงบางอนุมาตราเท่านั้น และนายกรัฐมนตรีต้องรับทราบข้อเท็จจริงอยู่แล้วว่า นายพิชิตได้กระทำความผิดตามคำสั่งศาลฎีกา มีโทษสั่งจำคุกไม่รอลงอาญา รวมถึงสภาทนายความมีมติลงโทษให้ลบชื่อนายพิชิตออกจากทะเบียนทนายความ

ด้านผู้สื่อข่าวได้ถามนายเศรษฐาว่า มีการประเมินว่าการรับวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอาจจะกระทบถึงตำแหน่งของนายกฯ ได้เตรียมแผนไว้หรือไม่ นายเศรษฐา กล่าวว่า “ที่บอกว่าผมเตรียมแผนไว้อย่างไรผมไม่ได้เตรียม ผมได้เตรียมตอบเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญมีข้อกังวลหรือข้อสงสัยมากกว่า และคู่ขนานก็ต้องบริหารบ้านเมืองต่อไป ต้องทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป มีงานอะไรก็ทำเหมือนเดิมทุกอย่าง"

2.สมัคร สว.ทั่ว ปท.คึกคัก ยอดรวมเกือบครึ่งแสน "สมชาย" น้องเขยทักษิณสมัครด้วย คาด พท.หวังคุมทั้งสภาล่าง-สภาสูง ส่อ "เผด็จการรัฐสภา" ซ้ำรอยยุคทักษิณ!


เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ซึ่งเป็นวันแรกที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดเปิดรับสมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ปรากฏว่า บรรยากาศการรับสมัครในจังหวัดต่างๆ เป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี น้องเขยของนายทักษิณ ชินวัตร ลงสมัครด้วย

ขณะที่หลายฝ่ายวิเคราะห์การลงสมัคร สว.ของนายสมชายว่า นายทักษิณได้วางตัวและจะผลักดันให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สว. เพื่อคุมฐานเสียงและอำนาจในวุฒิสภา จึงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่คืออีกย่างก้าวหนึ่งของพรรคเพื่อไทยที่กำลังรุกคืบเข้าชิงพื้นที่สภาสูง หลังจากที่สามารถเข้ากุมอำนาจในสภาล่าง หรือสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงอำนาจฝ่ายบริหารในฐานะรัฐบาลได้เรียบร้อยแล้ว ทำให้หลายฝ่ายมองว่า การลงสมัคร สว.ของนายสมชายครั้งนี้อาจนำไปสู่ “เผด็จการรัฐสภา” ซ้ำรอยสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา มองว่า เป็นไปได้ที่การส่งนายสมชาย ลงสมัคร สว. จะทำให้พรรคเพื่อไทยสามารถยึดทั้งสภาสูงและสภาล่าง เนื่องจากนายสมชายเคยเป็นนายกรัฐมนตรี เคยเป็นผู้นำในพรรคเพื่อไทย ในทางการเมืองน่าจะมีผู้สนับสนุนอันเนื่องมาจากความผูกพันและความเคารพนับถือกัน
อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งทำให้น่าจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็น สว. และอาจมีโอกาสได้เป็นประธานวุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม นายเสรี ชี้ว่า “ถ้าการเมืองคุม ส.ว. หรือสภาสูงได้ จะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งต้องการให้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรเป็นอิสระต่อกัน ซึ่งต้องรอดูว่าหลังจากการเลือก สว.จะมีใครได้เข้ามาบ้าง เป็นคนจากกลุ่มการเมืองหรือไม่ บางคนตอนแรกที่เข้ามาเป็น สว.โดยอิสระ แต่พอได้เป็น สว.แล้วกลับไปอยู่กับกลุ่มการเมืองก็มี ทั้งนี้ต้องดูพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นหลัก”

ล่าสุด (25 พ.ค.) สำนักงาน กกต.ได้สรุปยอดผู้สมัคร สว.รวมทั้ง 5 วัน (20-24 พ.ค.) มีจำนวนทั้งสิ้น 48,226 คน แต่พบขาดคุณสมบัติ 109 คน คงเหลือมีคุณสมบัติ 48,117 คน แบ่งเป็น วันแรกมีผู้สมัคร 4,642 คน วันที่สองมีผู้สมัคร 6,607 คน วันที่สามมีผู้สมัคร 9,434 คน วันที่สี่มีผู้สมัคร 13,486 คน และวันที่ห้ามีผู้สมัคร 13,948 คน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาเพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว.2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย.67-15 พ.ค.67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้มีผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ

ซึ่งคำพิพากษาดังกล่าวสืบเนื่องจากที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และพวกรวม 6 ราย ยื่นฟ้อง กกต. และประธาน กกต.ร้องขอให้เพิกถอนระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก สว.2567 เนื่องจากเห็นว่า ระเบียบดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้

โดยศาลระบุเหตุผลที่สั่งเพิกถอนระเบียบ กกต.ดังกล่าวว่า รัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้ สว.เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย มีหน้าที่สำคัญหลายประการ และมีหน้าที่ให้ความเห็นชอบกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ และมีผลบังคับใช้กับทุกคนในราชอาณาจักรไทย ดังนั้นการทำหน้าที่ของ สว.ย่อมมีผลกระทบต่อประชาชนชาวไทย จึงควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

แม้ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.2561 กำหนดให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง ไม่ได้ให้ประชาชนมีสิทธิเลือก สว. แต่รัฐธรรมนูญได้มีการรับรองเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเห็น การคิด การเขียน การโฆษณา การสื่อความหมายอื่นๆ การที่ กกต.ออกระเบียบดังกล่าวด้วยการจำกัดข้อมูลประวัติและประสบการณ์ของผู้สมัคร รวมถึงกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้สมัคร สว.สามารถแนะนำตัวเฉพาะกับผู้สมัคร สว.ด้วยกันเท่านั้น และการห้ามผู้สมัครในสายอาชีพสื่อมวลชน และศิลปินนักแสดง ใช้ความสามารถในวิชาชีพของตัวเองเพื่อประโยชน์ในการแนะนำนั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้สมัคร สว.เกินกว่าเหตุ และถือว่าไม่เป็นการรักษาความมั่นคงของรัฐ หรือความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล หรือเพื่อรักษาศีลธรรมอันดีของประชาชน ระเบียบพิพาทนี้จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ส่วนระเบียบข้อ 11 (5) ที่กำหนดห้ามผู้สมัครแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนนั้น ศาลเห็นว่า ระเบียบข้อนี้เป็นการห้ามเฉพาะผู้สมัคร สว. ไม่ได้เป็นการห้ามสื่อมวลชน จึงไม่อาจมองว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข่าวสารแต่อย่างใด จึงพิพากษาให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือก ส.ว.2567 ในส่วนข้อ 3 ข้อ 7 ทั้งฉบับแรก และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 8 เฉพาะฉบับแรกที่บังคับใช้ในช่วง 27 เม.ย.67-15 พ.ค.67 และข้อ 11 (2) และ (3) โดยให้ผลย้อนหลังนับตั้งแต่ระเบียบดังกล่าวมีผลบังคับใช้ทั้งสองฉบับ

ทั้งนี้ ระเบียบ กกต.ข้อ 7 กำหนดให้ผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยใช้เอกสารมีข้อมูลยาวไม่เกินสองหน้ากระดาษเอสี่ โดยสิ่งที่ผู้สมัครจะสามารถระบุในเอกสารแนะนำตัวได้ คือ ข้อมูลส่วนตัว, รูปถ่าย, กลุ่มที่ลงสมัคร, หมายเลขของผู้สมัคร, ประวัติการศึกษา, ประวัติการทำงาน หรือประสบการณ์ในการทำงาน ส่วนข้อ 7 ของระเบียบฉบับที่ 2 ยังให้เเนะนำตัวแค่ 2 หน้า

สำหรับข้อ 8 กำหนดว่า การแนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครสามารถทำได้ “ด้วยตนเอง” ซึ่งหมายความว่า หากจะแนะนำตัวผ่านโซเขียลมีเดียต่างๆ การส่ง การเผยแพร่ข้อความ จะต้องทำผ่านบัญชีส่วนตัวของผู้สมัครรายนั้น โดยการแนะนำตัวผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สมัครต้องใช้ข้อความเหมือนในเอกสารแนะนำตัวที่เป็นกระดาษตามกรณีแรก และเผยแพร่แก่ “ผู้สมัครอื่น” ในการเลือกเท่านั้น หากผู้สมัครจะแนะนำตัวผ่านทางช่องทางออนไลน์ เช่น การส่งข้อความทางไลน์ เฟซบุ๊ก หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ก็ต้องจำกัดส่งให้เฉพาะ “ผู้สมัครอื่น” หรือตั้งค่าให้เฉพาะผู้ที่สมัคร สว. เท่านั้นที่จะเห็นข้อความการแนะนำตัว ขณะที่สาธารณชน จะไม่สามารถเห็นได้เลยว่าผู้สมัคร สว. แต่ละคน แนะนำตัวกันอย่างไร หรือพูดอีกอย่างคือ ระเบียบ กกต. การแนะนำตัวฯ เดิมถูกออกแบบมาให้เฉพาะ “ผู้สมัคร สว.” พูดคุยกันเอง แนะนำตัวเองเท่านั้น

ข้อ 8 ฉบับที่สอง กำหนดว่าผู้สมัครสามารถแนะนำตัวโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้ใช้ข้อความตามเอกสารแนะนำตัวของผู้สมัครตามข้อ 7 (เอกสารแนะนำตัวแบบกระดาษ) ซึ่งประชาชนอาจเข้าถึงข้อมูลนั้นด้วยก็ได้

ข้อ 11 ห้ามผู้สมัครหรือผู้ช่วยเหลือผู้สมัคร แนะนำตัวในกรณีดังต่อไปนี้ (2) ผู้ที่ประกอบอาชีพสื่อ-สายบันเทิง ห้ามใช้ความสามารถหรืออาชีพตัวเองเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว (3) ห้ามแจกเอกสารแนะนำตัวด้วยการวาง โปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ

3. ศาลอาญาทุจริตฯ พิพากษาจำคุก "สกุลธร" น้องชายธนาธร 6 เดือน ไม่รอลงอาญา คดีติดสินบน 20 ล้าน เพื่อให้ได้สิทธิเช่าที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ฯ!



เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีที่อัยการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 3 เป็นโจทก์ฟ้องนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานบริหารบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด ซึ่งเป็นน้องชายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นจำเลย ในความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่น ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อจูงใจให้กระทำการ และประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่น ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ ทรัพยสินหรือประโยชน์อื่นใดแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อจูงใจให้กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่ และได้กระทำไปในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคล และเพื่อประโยชน์ของนิติบุคคล กรณีนายสกุลธรมีพฤติการณ์กระทำผิดติดสินบนเจ้าพนักงาน และนายหน้าเป็นเงินจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อเช่าที่ดินของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ 2 แปลงใน ซ.ร่วมฤดี และย่านชิดลม

โดยศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 ประกอบมาตรา 84 พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 123/5 ประกอบประมวลกฎหมายยามาตรา 84 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 144 ประกอบ 84 เพียงบทเดียว จำคุก 8 เดือน ในทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์เเก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 4 คงจำคุก 6 เดือน

หลังฟังคำพิพากษา นายสกุลธร จำเลย ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัว ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ โดยใช้หลักประกันเดิมเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท

สำหรับจุดเริ่มต้นของคดีติดสินบนเช่าที่ดิน 20 ล้านบาท เริ่มด้วยเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2562 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้พิพากษาจำคุกนายประสิทธิ์ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และนายสุรกิจ ตั้งวิทูวณิช พนักงานบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กรณีที่เรียกรับสินบน 20 ล้านบาท เพื่อต้องการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ย่านชิดลม จากการตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่า นายสกุลธร มีพฤติกรรมการกระทำผิดจริง จากการสั่งจ่ายเช็คเงินสดให้กับเจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ราย

ทั้งนี้ ในคำวินิจฉัยของศาล ชี้ถึงพฤติกรรมของจำเลยว่า ระหว่างกลางเดือนมีนาคม 2560 ถึงวันที่ 18 กันยายน 2560 นายประสิทธิ์ (จำเลยที่ 1) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ระดับ บ.4 ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) และนายสุรกิจ (จำเลยที่ 2) ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงาน ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน

โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันนำข้อมูลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ไปแจ้งต่อนายสกุลธรว่า ที่ดินดังกล่าวกำลังจะหมดสัญญาเช่าและจะเปิดให้ผู้สนใจมาลงทุนพัฒนาที่ดิน โดยจะมีการทำสัญญาเช่ากับสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ระยะยาว นายสกุลธร จึงเชื่อว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวให้เช่าจริง จึงให้นายสุรกิจ จำเลยที่ 2 ดำเนินการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกให้บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีค่าตอบแทน 500 ล้านบาท

คำพิพากษายังระบุว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันแบ่งหน้าที่กันทำ โดยนายประสิทธิ์ จำเลยที่ 1 แนะนำให้นายสกุลธร ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอเช่าที่ดินแปลงดังกล่าวต่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ตามช่องทางปกติ นายประสิทธิ์ และนายสุรกิจได้ร่วมกันเรียกรับเงินงวดแรก จำนวน 5 ล้านบาท จากนายสกุลธร และร่วมกันใช้เอกสารราชการที่ทั้งสองทำปลอมขึ้น 2 ฉบับ อ้างต่อนายสกุลธร ที่หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารจริง

เมื่อนายสกุลธรได้หนังสือทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงจ่ายเงินงวดที่สอง จำนวน 5 ล้านบาท และงวดที่ 3 อีก 10 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 20 ล้านบาทให้กับจำเลยทั้งสอง เพื่อเป็นการตอบแทนที่ไปร่วมกันดำเนินการประสานงานให้ และนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รองผู้อำนวยการ สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่เป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐ เพื่อจูงใจรอง ผอ.สนง.ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ให้จัดสรรที่ดินแปลงดังกล่าวให้บริษัท เรียลแอสเสทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ระยะยาว โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติ


ต่อมา นายอัษฎางค์ ยมนาค นักวิชาการอิสระ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2563 เผยข้อมูลการปลอมแปลงเอกสารสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ชื่อเดิม) ของเจ้าหน้าที่รัฐ และบุคคคลภายนอก พร้อมมีการตั้งข้อสังเกตุเกี่ยวกับการจ่ายเงินของบริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่มีนายสกุลธร ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เพื่อให้ได้สิทธิเช่าพัฒนาที่ดิน บริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) จนเกิดกระแสวิพากวิจารณ์จากสังคมเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น

จากนั้น กองบังคับการปราบปรามได้แจ้งข้อหานายสกุลธร ต่อมา พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้น สรุปสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องนายสกุลธร ใน 2 ข้อหา ให้พนักงานอัยการพิจารณาส่งฟ้องศาล กระทั่งล่าสุด ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้มีคำพิพากษาว่า นายสกุลธรกระทำผิดจริง ลงโทษจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

4. "อ.อ๊อด" ยุติตรวจสอบข้าว 10 ปีรมยา หลังถูกผู้ใหญ่เตือน ด้านกรมวิทย์ฯ เผยผลตรวจข้าว 10 ปี ไม่พบสารพิษตกค้าง แต่มีซากแมลง-มอดเยอะมาก ไม่ผ่านมาตรฐาน!



จากกรณีที่ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ หรืออาจารย์อ๊อด อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาเผยผลการตรวจตัวอย่างข้าว 10 ปีจากโกดังในโครงการรับจำนำข้าว ใน จ.สุรินทร์ ที่มีสื่อมวลชนส่งไปให้ตรวจ โดยพบสารอะฟลาทอกซิน หรือสารก่อมะเร็งที่มีอันตรายมาก อยู่ในระดับ 20 pbb ซึ่งสะท้อนว่าอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย ไม่ควรนำมารับประทาน นอกจากนี้ อาจารย์อ๊อดยังได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 พ.ค. โดยเป็นภาพถ่ายหน้าโกดังเก็บข้าว 10 ปี ซึ่งมีรูปหัวกะโหลกไขว้และข้อความว่า "อันตรายห้ามเข้า สถานที่นี้ซีลแล้วมิดชิดอยู่ภายใต้การรมยา" โดย รศ.ดร.วีรชัย ระบุข้อความด้วยว่า “ข้าวดองยา 10 ปีนี้ อาจารย์อ๊อดจะตรวจด้านเคมีอาทิตย์หน้า”

ปรากฏว่า ยังไม่ทันที่อาจารย์อ๊อดจะได้ตรวจด้านเคมีข้าวเก่าเก็บ 10 ปี อาจารย์ก็ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 19 พ.ค. แจ้งว่า ไม่ตรวจสอบข้าวแล้ว โดยระบุว่า “สวัสดีครับ อาจารย์อ๊อดเองครับ สืบเนื่องจากกรณีข้าว 1 ทศวรรษที่เป็นประเด็นทางสังคมและตอนนี้เริ่มลุกลามเป็นประเด็นการเมือง ห้องปฏิบัติการของทีมงานอาจารย์อ๊อดได้รับคำแนะนำจากผู้หลักผู้ใหญ่หลายฝ่าย รวมถึงทีมงานเองก็ไม่อยากให้เกิดประเด็นทางการเมืองที่ลุกลามไปมากกว่านี้ จึงขอประกาศ ณ ที่นี้ว่าเราได้ยุติการตรวจสอบข้าว 1 ถุง ตามภาพนี้ ในทุกกรณีแล้ว

ในส่วนของผลการตรวจสอบจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางแห่งประเทศไทย ที่มีนักข่าวอีกช่องนำไปมอบให้นั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับตัวอย่างและผลการทดสอบของทีมงานอาจารย์อ๊อด รวมถึงผลแล็บที่กำลังจะแถลงข่าวโดยอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในวันพรุ่งนี้ด้วย

ทีมงานอาจารย์อ๊อดขอกราบเรียนว่า ทุกอย่างที่ดำเนินการมาโดยตลอดนั้นก็เพื่อประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และไม่อยากให้เป็นประเด็นการเมืองต่อเนื่อง ในส่วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลทั้ง 2 หน่วยข้างต้น ได้ออกมา Take Action แล้วก็เป็นเรื่องที่ดี หากข้าว 1 ทศวรรษนี้สามารถสร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติได้ไม่ว่าจะวิธีการใดก็ตาม ทีมงานอาจารย์อ๊อดก็ขอแสดงความยินดีมาล่วงหน้า"


วันต่อมา (20 พ.ค.) นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงผลการตรวจข้าวที่ได้รับจากกระทรวงพาณิชย์ ทางด้านสารเคมีตกค้าง การปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อรา และคุณภาพของข้าวด้านสารอาหารและอื่นๆ ด้วยระบบคุณภาพมาตรฐาน ISO/IEC 17025 โดยยืนยันว่า กรมวิทย์ฯ เป็นตัวแทนของคนไทยทุกคน เป็นห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ที่ได้มาตรฐาน ทั้งยังเป็นแล็บอ้างอิงที่ได้รับมาตรฐาน อันดับที่ 5 ของโลก และที่ 3 ของเอเชีย ดังนั้น ถ้าต้องตรวจชันสูตรสิ่งใดตามมาตรฐานเพื่อความละเอียดรอบคอบ เช่น ข้าว ก็จะใช้ห้องแล็บมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เพราะมีความละเอียดแม่นยำสูงมาก

นพ.ยงยศ กล่าวว่า กรณีข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ได้มีการส่งมาตรวจนั้น มีจำนวน 2 ตัวอย่าง คือ ข้าวปริมาณ 3 กิโลกรัม และ 5 กิโลกรัม โดยส่งมาเมื่อวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา และทางกรมวิทย์มีความเห็นว่า เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมาก จึงได้ทำการตรวจทันทีแม้ว่าจะติดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ โดยใช้นักวิทยาศาสตร์เป็น 10 ท่านในการตรวจ แต่ละท่านต่างเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพและมีการตรวจด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุด ผลออกมาสรุปเบ็ดเสร็จกลางดึกคืนวันศุกร์ รายงานผลเมื่อวันเสาร์จึงได้มาแถลงข่าววันนี้ ยืนยันว่า กรมวิทย์ไม่ได้ดึงหรือชะลอผลแต่อย่างใด

นพ.ยงยศ กล่าวอีกว่า การตรวจข้าวจะมีการตรวจด้วยตาเปล่า ด้วยการดม ด้วยกล้องจุลทรรศน์กำลังขยาย 30 และ 50 เท่า เพื่อตรวจสอบคุณภาพ 3 ด้าน คือ 1.ด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม คือการดูลักษณะทั่วไป ดูลักษณะสี กลิ่นของเมล็ดข้าว และดูสิ่งแปลกปลอม เช่น แมลง ซากแมลง ชิ้นส่วนแมลง หิน กรวด เป็นต้น 2.ด้านความปลอดภัย จะตรวจสารพิษจากเชื้อรา เช่น สารอะฟลาท็อกซิน ทั้ง 5 สายพันธุ์ สารตกค้างที่เหลือจากการรมข้าว สารเคมีที่มีข้อกำหนดต้องตรวจตามมาตรฐานการเกษตร 250 ชนิด การตรวจโลหะหนัก และ 3.ด้านคุณค่าทางโภชนาการ ที่ประกอบด้วยสารอาหารและแร่ธาตุ นอกจากนั้น ยังได้ตรวจหาสารพิษที่พบในอาหารประเภทบะหมี่ ตามที่มีรายงานข่าวในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวันด้วย

"ทางกรมวิทย์มีการตรวจข้าวรวม 4 ตัวอย่าง ประกอบด้วยข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ 2 ตัวอย่างดังกล่าว และข้าวที่กรมวิทย์ได้ซื้อจากร้านค้ารอบกระทรวงฯ อีก 2 ตัวอย่าง เพื่อเป็นตัวอย่างควบคุมในการเปรียบเทียบกับข้าวที่ประชาชนบริโภคอยู่ทุกวัน"

นพ.ยงยศกล่าวต่อว่า ผลการตรวจ 4 ตัวอย่าง พบว่า มีตัวอย่างที่ไม่พบสิ่งมีชีวิตอยู่ตัวอย่างเดียว คือ ข้าวสารใหม่ที่เป็นตัวอย่างควบคุม ส่วนอีก 1 ตัวอย่างเป็นข้าวเก่าที่ซื้อจากร้านค้าก็มีมอดปนอยู่แต่ไม่มาก แต่ตัวอย่างข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมา พบว่า มีเศษขาแมลงและมีมอดอยู่จำนวนเยอะกว่ามาก ทั้งนี้ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ระบุไว้ว่า ข้าวหอมมะลิไทยต้องปราศจากแมลงและไรที่มีชีวิต ดังนั้น ถ้าเอามาตรฐานสินค้าเกษตรมาเทียบ ก็จะไม่ผ่าน 3 ตัวอย่าง คือ ข้าวจากกระทรวงพาณิชย์ และข้าวเก่าในร้านค้า

ด้านที่ 2 ด้านความปลอดภัย จะตรวจสารอะฟลาท็อกซิน (B1+B2+G1+G2) และเชื้อราอีก 7 ตัว พบว่า การตรวจครั้งแรก ไม่พบสารตกค้างดังกล่าว ซึ่งมีการตรวจซ้ำอีก 1 รอบ ก็ไม่พบสารตกค้างเช่นกัน ส่วนการตรวจหาสารตกค้างของสารรมควันได้ตรวจครบ 3 ตัว และเพิ่มการตรวจสารกำจัดศัตรูพืช 250 ชนิด ตามที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้ตรวจในกองด่านอาหารและยา ผลปรากฏว่า ไม่พบเลย ส่วนการตรวจโลหะหนัก อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตราย มีความปลอดภัย แม้จะพบสารตะกั่วที่ 0.009 ในทั้ง 4 ตัวอย่าง แต่ก็พบน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.2 อยู่ถึง 200 เท่า เช่นเดียวกับตรวจหาสารหนู ที่พบว่า ตัวอย่างข้าวจากกระทรวงพาณิชย์พบที่ 0.126 และ 0.146 และข้าวตัวอย่างควบคุม 2 ตัวอย่าง พบที่ 0.151 และ 0.122 ซึ่งน้อยกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ 0.2 ดังนั้น ด้านโลหะปนเปื้อนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

"ส่วนเรื่องสำคัญที่สุดคือคุณค่าทางโภชนาการ ผมคิดว่าจะเป็นอาหารได้หรือไม่ได้ ต้องดูตรงนี้ จึงมีการดูเรื่องนี้อย่างละเอียด เพราะเรามองเห็นประโยชน์จากผลการตรวจครั้งนี้ ตัวชี้วัดอยู่ที่คุณค่าทางโภชนาการ จะสังเกตเห็นว่า ทั้ง 2 ตัวอย่างที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมา และ 2 ตัวอย่างที่ซื้อมาจากรอบกระทรวงฯ มีคุณค่าทางโภชนการไม่แตกต่างกัน เราจึงเชื่อว่า ถ้าถามว่าข้าวตรงนี้ ยังสามารถให้คุณค่าทางอาหารหรือไม่ ถ้าดูตรงนี้ ทั้ง 4 ตัวอย่างไม่แตกต่างกัน แต่ต้องไปดูเรื่องแรกคือ มาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.4000-2560 ที่ไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนมานั้นประกอบด้วย"

"ในการตรวจหาวิตามิน และแร่ธาตุที่คาดว่าจะเสื่อมสลายไป แต่ปรากฏว่า ข้าว 4 ตัวอย่างมีวิตามินและแร่ธาตุไม่แตกต่างกัน นี่คือสิ่งที่กรมวิทย์ได้ตรวจมาตลอด 10 วันที่ผ่านมา โดยยืนยันว่า การตรวจในครั้งนี้เป็นผลตรวจอย่างตรงไปตรงมา โดยบุคลากรที่เชียวชาญและมีความเป็นอิสระ โดยตนในฐานะอธิบดีไม่เคยไปบอกหรือสั่งให้มีการตรวจ หรือกดดันแต่อย่างใด พร้อมได้ยืนยันกับผู้บริหารของกรมวิทย์ว่า การแถลงข่าวจะต้องเป็นไปตามที่นักวิทย
าศาสตร์ในห้องแล็บส่งผลมา จะไม่มีการแถลงที่บิดพลิ้วจากผลตรวจแม้แต่รายการเดียว"

5. กลุ่มผู้เสียหายหุ้นกู้สตาร์ค ยื่นหนังสือถาม รมว.ยุติธรรม "วนรัชต์" ผู้ต้องหา จงใจเลี่ยงถูกคุมขังหรือไม่ หลังอ้างป่วย นอน รพ.กว่า 3 เดือน ล่าสุด อยู่ชั้น 14 รพ.ตำรวจครบเดือนแล้ว!



เมื่อวันที่ 21 พ.ค.กลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้สตาร์คกว่า 50 คน ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม หลังทราบว่านายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตผู้บริหารและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาในคดีหุ้นกู้สตาร์ค ถูกส่งตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 ห้องพิเศษ โรงพยาบาลตำรวจ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา เพื่อรักษาอาการป่วย ซึ่งจะครบ 1 เดือน ในวันที่ 23 พ.ค.

ทั้งนี้ กลุ่มผู้เสียหายตั้งข้อสงสัยว่านายวนรัชต์ได้ใช้สิทธิพิเศษ หรือจงใจหลีกเลี่ยงการถูกคุมขังในเรือนจำหรือไม่ เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา โดยอ้างอาการเจ็บป่วยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 3 เดือน

ด้านนายสมบูรณ์ ม่วงก่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วยตัวแทนกรมราชทัณฑ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้เปิดแถลงข่าวกรณีนายวนรัชต์ จำเลยคดีทุจริตหุ้น STARK ออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. และส่งรักษาตัวโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ห้อง VIP

โดยนายพงศ์ภัค อารียาภินันท์ รักษาการผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า ตั้งแต่ผู้ต้องหาถูกส่งเข้าเรือนจำเมื่อวันที่ 12 ก.พ.ทางกรมราชทัณฑ์ได้ส่งตัวเข้ารักษาเมื่อวันที่ 13 ก.พ. หลังตรวจพบว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง 608 เมื่อตรวจสอบพบว่า เคยมีประวัติการฉีดสีตรวจหาโรคหัวใจจากโรงพยาบาลเอกชน และประวัติการรักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ที่เชื่อได้ว่ามีอาการป่วยจริง จึงรับเข้ารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ผู้ต้องหาได้ปรึกษาอาการเกี่ยวกับปัญหาทางเดินปัสสาวะ ก่อนตรวจพบก้อนเนื้อขนาด 5 เซนติเมตร คาดว่ามีอาการติดเชื้อ จึงให้กินยาฆ่าเชื้อจนผู้ต้องหามีอาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ภายหลังแพทย์ยืนยันว่า ผลการตรวจสอบพบว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นโรคมะเร็ง แพทย์จึงเห็นควรให้ได้รับการผ่าตัดอัณฑะข้างซ้ายทันที ทางกรมราชทัณฑ์ จึงประสานส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ไม่มีคิวผ่าตัดในระยะเวลา 1 เดือน จึงประสานกับทางโรงพยาบาลตำรวจ ก่อนได้คิวการรักษา และได้ส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา

ส่วนกรณีการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเกือบ 1 เดือน ซึ่งครบกำหนดตามสิทธิการรักษาภายใน 30 วัน คือวันที่ 23 พ.ค. ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม เผยว่า การส่งตัวผู้ต้องหากลับ เป็นดุลยพินิจของแพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์จะทำหนังสือสอบถามไปยังโรงพยาบาลตำรวจ ให้รายการผลการรักษา และกำหนดวันส่งตัวกลับ แต่ยังไม่สามารถระบุวันได้ ซึ่งล่าสุดทราบว่า ได้รับการผ่าตัดเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา

เป็นที่น่าสังเกตว่า บรรยากาศการชี้แจงภายในห้องประชุม ทางกลุ่มผู้เสียหายพยายามซักถามเกี่ยวกับสิทธิการรักษานายวนรัชต์ว่าเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ หรือได้รับสิทธิพิเศษเหนือผู้ต้องขังโดยทั่วไป อีกทั้งการชี้แจงของกรมราชทัณฑ์ถูกผลักความรับผิดชอบไปที่โรงพยาบาลตำรวจ ที่อ้างว่าเป็นดุลยพินิจของแพทย์ที่ให้การรักษา ทั้งที่ข้อกำหนดของกรมราชทัณฑ์ระบุไว้ชัดเจนว่า สามารถรักษาจากโรงพยาบาลภายนอกได้เพียง 30 วัน ทั้งที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์มีเครื่องมือที่จะรักษาผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวได้

หลังจากนี้ ทางกลุ่มผู้เสียหายจะติดตามผลการดำเนินการของกรมราชทัณฑ์ว่า จะสามารถติดตามผู้ต้องหากลับเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้หรือไม่ หากยังไม่คืบหน้า จะรวมตัวไปร้องเรียนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป

ส่วนความคืบหน้าทางคดี ตัวจากแทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รายงานว่า ล่าสุด สามารถยึดทรัพย์ในคดีนี้ได้เพิ่มเติมมากกว่า 100 ล้านบาท และได้ประสานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยตลอดเวลา เพื่อเฉลี่ยทรัพย์คืนให้กับผู้เสียหายทุกคน ส่วนบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด (PDITL) บริษัทย่อยของบริษัทสตาร์คฯ ที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ ก็มีความพยายามนำทรัพย์สินมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ต้องหาบางส่วนเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น