xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎาชี้ ก้อนหินประหลาดแค่ฟอสซิลสัตว์ทะเลโบราณ ไม่ใช่ข้าวสารกลายเป็นหิน ไม่ได้หายากอะไร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังชาวสุโขทัยพบก้อนหินประหลาดคล้ายฟอสซิลเมล็ดข้าวสารฝังอยู่ข้างใน ชาวบ้านแห่กราบไหว้ ด้าน อ.เจษฎา เผยแค่ฟอสซิลสัตว์ทะเลโบราณ ไม่ได้หายากอะไร

จากกรณีโลกโซเชียลได้มีการเผยแพร่ภาพก้อนหินประหลาด ลักษณะคล้ายมีฟอสซิลเมล็ดข้าวสารจำนวนมากฝังตัวอยู่ในหิน ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นหินศักดิ์สิทธิ์หายาก เชื่อเกิดจากอำนาจวาจาสิทธิ์ของ “พระร่วง” แห่งกรุงสุโขทัย ประชาชนแห่สาธุกันเพียบ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 24 พ.ค. เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant ของ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ชี้แค่ฟอสซิล ไม่ได้หายากอะไร โดยอาจารย์เจษฎาได้ระบุข้อความว่า

"มันไม่ใช่ข้าวสารกลายเป็นหิน .. แต่เป็นฟอสซิลของ "Fusulinid" สัตว์ทะเลโบราณ ซึ่งไม่ได้หายากอะไรครับ"

จำได้ว่าเคยเขียนอธิบายเรื่องนี้ไปนานแล้วนะ เจ้าพวกนี้ ไม่ใช่ฟอสซิลของ "ข้าวสารกลายเป็นหิน" อย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่เป็นของสัตว์เซลล์เดียว อยู่ในทะเล มีชื่อว่า “ฟิวซูลินิด (Fusulinids)” เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อน แล้วพอตายลงสู่ก้นทะเลไปก็เปลี่ยนสภาพมาเป็นฟอสซิลแบบนี้ อยู่ในชั้นหินปูนยุคเพอร์เมียน

แต่ด้วยความที่มีลักษณะยาว หัวท้ายแหลม รูปร่างและขนาดคล้ายเม็ดข้าวสาร เลยมีชื่อไทยว่า “คตข้าวสาร หรือข้าวสารหิน” และก็มีบางคนเอาไปกราบไหว้บูชา ปนกับตำนานพระร่วง สร้างศรัทธากันใหญ่ครับ

เอาคำอธิบายเรื่อง "ฟิวซูลินิด คตข้าวสาร" จากเพจ อุทยานธรณีเพชรบูรณ์ Phetchabun Geopark's albums มาให้อ่านกันครับ

"ฟิวซูลินิด หรือคตข้าวสาร ข้าวสารหิน" .. วัดถ้ำเทพบันดาล บ้านลำจังหัน ตำบลสามแยก อำเภอวิเชียรบุรี และสำนักสงฆ์เต็มสิบ บ้านใหม่โนนโก ต.บ้านโตก อ.เมืองเพชรบูรณ์

แหล่งคตข้าวสารหรือข้าวสารหิน เป็นภูเขาหินปูนที่มีซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลเซลล์เดียวที่มีชื่อว่า “ฟิวซูลินิด (Fusulinids)” พบอยู่ในเนื้อหินปูน มีลักษณะยาว หัวท้ายแหลม รูปร่างและขนาดคล้ายเม็ดข้าวสาร จึงทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเม็ดข้าวสารกลายเป็นหิน จึงมีชื่อเรียกทั่วไปว่า “คตข้าวสาร หรือข้าวสารหิน”

ฟิวซูลินิด (Fusulinids) เป็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ในทะเลน้ำตื้นเขตอบอุ่นในอดีตสมัย 280-240 ล้านปี เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในยุคเพอร์เมียน และได้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปลายยุคเพอร์เมียน

คตข้าวสารแบบนี้ยังสามารถพบได้อีกหลายแห่งที่เป็นภูเขาและถ้ำหินปูนโบราณ เช่น ถ้ำใหญ่น้ำหนาว บ้านยางจ่า ตำบลภูน้ำหยด อำเภอวิเชียรบุรี และบ้านซับชมภู ต.บ้านโภชน์ อ.หนองไผ่

การเดินทาง : สะดวกมาก รถยนต์สามารถวิ่งเข้าไปจอดชมแหล่งในวัดถ้ำเทพบันดาลได้เลย

และทางวัดยังมีการนำหินปูนที่มีคตข้าวสารนี้ ไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ทำให้สามารถเห็นตัวซากดึกดำบรรพ์คตข้าวสารในเนื้อพระพุทธรูปได้อย่างชัดเจน หรือจะเดินขึ้นเนินเขาตามทางเดินขึ้นไปอีกไม่ไกลนัก เพื่อชมแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติได้ด้วย

ส่วนที่ตำบลบ้านโตก สามารถชมได้อย่างชัดเจนตามก้อนหินธรรมชาติในบริเวณสำนักสงฆ์เต็มสิบ

อ่านโพสต์
กำลังโหลดความคิดเห็น