xs
xsm
sm
md
lg

ทิศทางราคาหมูโลกพุ่ง หลังผลผลิตหลายประเทศลดลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โดย ลักขณา นิราวัลย์

สำนักข่าว VTV ของเวียดนามรายงานว่า ราคาขายส่งและขายปลีกเนื้อหมูในประเทศเวียดนามปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว สูงกว่าช่วงต้นปีถึง 25% และเป็นช่วงที่พ่อค้า-แม่ค้าต้องปรับราคาขายเนื้อหมูขึ้นเป็นรายวัน ซึ่งสืบเนื่องมาจากราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มของเวียดนามขยับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 70,000 ด่ง/กก. (หรือคิดเป็นเงินไทย 100 บาท/กก.) นับเป็นราคาหน้าฟาร์มที่สูงที่สุดในรอบหนึ่งปี ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูชาวเวียดนามมีกำไรจากการเลี้ยงหมูตัวละ 1.2-1.5 ล้านด่ง (หรือราว 1,800-2,100 บาท) โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรของเวียดนามต้องออกมาย้ำเตือนสมาชิกผู้เลี้ยงหมูให้ขายหมูออกตามปกติ อย่าให้เนื้อหมูในประเทศขาดแคลน

ตัดภาพไปที่ประเทศจีน ซึ่งมีรายงานข่าวว่าไตรมาสแรกของปีนี้แม่พันธุ์สุกรลดลงจากปลายปีที่แล้วถึง 1.5 ล้านแม่ เหลือเพียง 39.92 ล้านแม่ คาดจะส่งผลให้ปลายปีนี้ปริมาณสุกรขุนจะลดลงอย่างมากและเชื่อว่าภายในปีนี้ราคาหน้าฟาร์มของสุกรจีนจะทะลุ 18 หยวน/กก. (หรือทะลุ 90 บาท/กก.) แน่นอน

กระแสข่าวทั้งสองประเทศตอกย้ำระดับราคาหมูของโลกจะสูงขึ้น เป็นทิศทางราคาที่ทุกประเทศผู้ผลิตหมูจับตามอง แม้ทั้งจีนและเวียดนามจะหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้ปริมาณผลผลิตหมูน้อยลง แต่กูรูในแวดวงผู้ผลิตหมูล้วนมองออกว่า “โรคระบาด ASF” น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปริมาณแม่พันธุ์สุกรหายไป ซึ่งทุกประเทศล้วนต้องหามาตรการจัดการ และควบคุมสถานการณ์โรค ASF ในประเทศของตนให้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนช่วงปี 2564-2565 ที่กระทบปริมาณหมูเสียหายไปทั้งเอเชีย

กลับมาที่หมูหน้าฟาร์มของไทย ราคาหมู ณ วันพระที่ 22 พฤษภาคม 2567 อยู่ที่ 72-78 บาท/กก. ยังไม่ถึงต้นทุนการผลิตที่ 80 บาท/กก. ที่สำคัญ ราคาในปัจจุบันยังต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2565 ที่ราคาเฉลี่ยสูงถึง 98.75 บาท/กก. เพราะเป็นปีที่ ASF ระบาดจนผลผลิตหมูหายไปจากระบบกว่า 50%

เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยได้ชื่อว่ามีความสามารถในการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการเลี้ยงที่ติดอันดับแถวหน้าของโลก ประสบการณ์การพบโรคระบาด ASF เพียงครั้งเดียว ประเทศไทยก็สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีการป้องกันโรคระบาดสัตว์ที่รุนแรงอย่าง ASF มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเชื่อเถอะว่าทุกคนจะร่วมมือกันไม่ให้โรคร้ายนี้เข้ามาทำร้ายหมูไทยได้อีก

ระบบการป้องกันโรคเป็นต้นทุนการเลี้ยงหมูที่ใช้งบประมาณไม่น้อย แต่เป็นมาตรฐานสำคัญที่ทุกๆ ฟาร์มจะขาดไปไม่ได้ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ว่าผลผลิตหมูของประเทศไทยจะมีอย่างเพียงพอ ไม่ขาดแคลน ขณะที่ต้นทุนการผลิตหมูไทยสูงขึ้นมากจากระบบป้องกันโรค เมื่อผนวกกับต้นทุนอื่นๆ แล้ว กลับยังต้องขายหมูเป็นหน้าฟาร์มในระดับที่ต่ำกว่าทุน ซ้ำร้ายยังถูกขบวนการหมูเถื่อนลักลอบเข้ามาตีตลาดจนต้องขาดทุนสะสมต่อเนื่องมาเป็นปี นับว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยนั้นน่าเห็นใจอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อทิศทางราคาหมูโลกเป็นไปในขาขึ้นเช่นนี้ ก็มีแนวโน้มที่หมูไทยจะลืมตาอ้าปากได้บ้างเช่นกันภายใต้ความเชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของรัฐและเกษตรกร ประเทศไทยจะสามารถป้องกันโรคระบาดสัตว์และรักษาผลผลิตโปรตีนเนื้อหมูปลอดภัยเพื่อผู้บริโภคไทยได้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น