รู้จักกับสภาวะเครื่องบินตกหลุมอากาศ เกิดขึ้นได้อย่างไร รุนแรงได้แค่ไหนและมีวิธีรับมืออย่างไรให้ปลอดภัย หลังสายการบินสิงคโปร์ แอร์ไลน์ขอลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินสุวรรณภูมิจากเหตุตกหลุมอากาศ
จากกรณีเครื่องบินสายการบิน Singapore airlines ที่เดินทางจากกรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ สู่ปลายทางที่ประเทศสิงคโปร์ ทำการลงจอดฉุกเฉินที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ เนื่องจากเกิดเหตุเครื่องบินตกหลุมอากาศ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บนับ 10 ราย
อย่างไรก็ตาม สำหรับการตกหลุมอากาศ หรือ Clear Air Turbulence คือการที่เครื่องบินขณะที่บินอยู่บนท้องฟ้าต้องเจอกับมวลของก้อนเมฆและเกิดการแปรปรวนของอากาศทำให้เครื่องสั่น ในบางครั้งเราอาจจะไม่สามารถระบุช่วงเวลาของการที่จะเกิดขึ้นได้เลย พร้อมทั้งยังมีหลายระดับของความรุนแรง โดยผู้ควบคุมเครื่องบินจะเป็นผู้ประเมินค่าความรุนแรงตามชนิดของหลุมอากาศที่เจอ พร้อมทั้งเครื่องบินที่กำลังลอยอยู่บนอากาศ
โดยตามหลักแล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นทางกัปตันจะประกาศให้ทุกคนนั่งอยู่กับที่ รัดเข็มขัดให้เรียบร้อย พร้อมทั้งงดใช้ห้องน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อป้องกันอันตรายหากเกิดแรงกระแทกขึ้นระหว่างนั้น โดยผู้โดยสารจะต้องเชื่อฟังคำสั่งของกัปตันอย่างเคร่งครัด และอย่าตื่นตกใจจนเกินไป พร้อมทั้งมีสติอยู่ตลอดเวลา
เพราะในบางกรณีที่อากาศน้อย หน้ากากออกซิเจนบนเครื่องบินจะตกลงมาเพื่อให้เราได้ใช้ ซึ่งเมื่อกัปตันสามารถบินผ่านหลุมอากาศไปได้ทุกอย่างก็จะปกติเหมือนเดิม แต่ก็อาจเกิดความเสียหายของข้าวของภายในเครื่องได้
อย่างไรก็ตาม การตกหลุมอากาศไม่สามารถทำให้เครื่องบินตก เพราะในความสูงระดับหนึ่ง เครื่องบินจะมีแรงยก นั่นคือลมช่วยพยุงไว้ แต่พอไต่ระดับลงมา อาจเจอกระแสลมอลวน ฉุดกระชากให้เครื่องบินกระดอนขึ้นแล้วกระแทกลง แต่มีโอกาสน้อยมากที่จะทำให้เครื่องบินตก เพราะเมื่อผ่านกระแสลมอลวนมาได้ เครื่องบินก็กลับมาอยู่ในสภาพปกติ กัปตันก็สามารถควบคุมเครื่องได้เหมือนเดิม
เมื่อเครื่องบินตกหลุมอากาศ ผู้โดยสารจะเหมือนตกลงไปจากระดับการบินเดิมเล็กน้อย บางครั้งเครื่องจะสั่น และหากรุนแรงมากก็อาจเกิดความเสียหายของข้าวของภายในเครื่องได้ เวลาเครื่องบินบินอยู่กลางอากาศนั้น ต้องใช้แรงยกจากอากาศที่เคลื่อนที่ผ่านปีกไป ซึ่งโดยปกติแล้ว อากาศจะมีความหนาแน่นเท่ากัน และเคลื่อนที่สม่ำเสมอไปพร้อมกัน
แต่บางครั้ง เมื่ออากาศส่วนบน และส่วนล่างมีความเร็วในการเคลื่อนที่แตกต่างกัน หรือมีความหนาแน่นต่างกันมากๆ บริเวณรอยต่อจึงเกิดการปั่นป่วน และเคลื่อนที่คล้ายๆ กับระลอกคลื่น เมื่อเครื่องบินบินผ่านเข้าไปในบริเวณนี้จึงเกิดการสั่นสะเทือน เหมือนตกหลุมนั่นเอง
หลุมอากาศเกิดขึ้นได้อย่างไร?
1. เกิดขึ้นเมื่อเครื่องบินบินเข้าไปใกล้กับรอยต่อระหว่างขอบนอกของกระแสลมกรดกับบริเวณสภาพอากาศปกติ ซึ่งสาเหตุข้อนี้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าได้ กระแสลมกรด (Jet Stream) คือแถบกระแสลมแรงที่เคลื่อนที่ในเขตโทรโพพอส (แนวแบ่งเขตระหว่างชั้นโทรโพสเฟียร์กับชั้นสตราโตสเฟียร์) โดยพัดจากด้านตะวันตกไปตะวันออกตามแนวการหมุนของโลก และพัดโค้งไปมาคล้ายแม่น้ำจากละติจูดสูงไปละติจูดต่ำ หรือจากละติจูดต่ำไปละติจูดสูง และปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยและมักจะเกิดร่วมกับกระแสลมกรด เรียกว่า "บริเวณความปั่นป่วนในอากาศแจ่มใส" (Clear air turbulence: CAT)
2. เกิดขึ้นเมื่อมีลมพัดปะทะภูเขา ทำให้อากาศอีกด้านปั่นป่วน เกิดเป็นหลุมอากาศ สาเหตุข้อนี้สามารถคาดการณ์ได้ และโดยส่วนใหญ่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ นักบินจะเตือนผู้โดยสารให้ทราบ
3. พายุ ฝนฟ้าคะนอง สาเหตุข้อนี้สามารถตรวจพบได้ นักบินจึงหลีกเลี่ยงไม่บินไปใกล้ได้
สภาพอากาศแปรปรวนทำให้เครื่องบินเกิดการตกหลุมอากาศ เครื่องบินเกิดการตกหลุมอากาศเกิดขึ้นในทุกระดับชั้นความสูง อาจทำให้เครื่องบินเสียการควบคุมร่วงหล่นจากเพดานบินปกติ และอาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่บนเครื่องบินได้ โดยสภาพอากาศแปรปรวนถือว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อการบิน ได้แก่ Clear Air Turbulance - CAT หรือหลุมอากาศที่เกิดจากกระแสลมปั่นป่วนอย่างรุนแรงที่ระดับความสูงเดียวกับเพดานบินของเครื่องบินโดยสาร ลักษณะของหลุมอากาศชนิดนี้ เรดาร์บนเครื่องบินไม่สามารถตรวจจับได้ อากาศจะมีสภาพแจ่มใส แต่อาจเกิดความปั่นป่วนของกระแสลมได้ตลอดเวลา หากจะติดตั้งเรดาร์แบบตรวจจับ จะมีราคาแพงและน้ำหนักมาก ซึ่งเป็นอุปสรรคของเครื่องบิน จึงไม่ค่อยนิยมใช้ ความรุนแรงของหลุมอากาศที่เกิดจากกระแสลมแปรปรวน หรือ Clear Air Turbulance - CAT นั้น สำนักอุตุนิยมวิทยาได้แบ่งเป็น 4 ระดับ
ระดับความรุนแรงของการตกหลุมอากาศ
1. ความรุนแรงเล็กน้อย (Light) : ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด นั่งอยู่กับที่นั่ง สิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินต้องเก็บให้เรียบร้อย ความรุนแรงในระดับนี้ ผู้โดยสารอาจจะไม่รู้สึกถึงการสั่น
2. ความรุนแรงปานกลาง (Moderate) : ทำให้ผู้โดยสารต้องรัดเข็มขัด และผู้โดยสารอาจถูกโยนตัวขึ้นเป็นครั้งคราว แม้จะรัดเข็มขัดแล้ว และสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจเคลื่อนที่ได้
3. ความรุนแรงมาก (Severe) : สภาพปั่นป่วนทำให้นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ขณะหนึ่ง ผู้โดยสารถูกโยนตัวขึ้นลงอย่างรุนแรงขณะรัดเข็มขัด และสิ่งของต่างๆ ในเครื่องบินอาจถูกโยนลอยขึ้นในอากาศได้
4. ความรุนแรงมากที่สุด (Extreme) สภาพความปั่นป่วนระดับนี้พบน้อยมาก ตัวเครื่องบินถูกโยนขึ้นลงอย่างรุนแรงมาก นักบินไม่สามารถควบคุมเครื่องบินได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อเครื่องบิน