เปรียบเทียบโทษกัญชาและบุหรี่ โดยกัญชาในอดีตทางการแพทย์นำกัญชาใช้รักษาในการฆ่าเซลล์มะเร็งและผู้ป่วยโรคเอดส์ นอกจากนี้ยังช่วยปรับสมดุลต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ผู้ใช้มีความสุข ใจเย็นลง ส่วนโทษบุหรี่สูบเข้าไปในร่างกายแล้วก็เข้าไปทำลายร่างกายแทบจะทุกส่วน
หลังจากกัญชาได้รับการปลดล็อกออกจากยาเสพติดมา 2 ปี แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อออกมา “ควบคุมกัญชาทั้งระบบอย่างเข้มข้น” เพราะด้วยปัญหาทางการเมืองมากกว่าปัญหาข้อเท็จจริง ล่าสุดมีรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีนโยบายที่จะนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการเป็นจำนวนมาก พร้อมมองว่าบุหรี่ยังอันตรายมากกว่ากัญชา
ล่าสุดวันนี้ (20 พ.ค.) ผู้สื่อข่าว MGROnline ได้ค้นหาข้อมูลเปรียบเทียบโทษของกัญชา-บุหรี่ โดยพบว่าสาร THC (Tetrahydrocannabinol) ในกัญชาสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ดังนี้
- ลดอาการคลื่นไส้จากยาเคมีบำบัดมะเร็ง
- ลดอาการปวดเรื้อรัง
- ลดอาการเบื่ออาหาร เฉพาะในผู้ป่วยบางกลุ่ม ภายใต้การดูแลของแพทย์
- ลดอาการเกร็ง ในผู้ป่วยโรคระบบประสาทจำเพาะบางชนิด (Multiple Sclerosis)
สำหรับประโยชน์ของกัญชา ในอดีตที่ผ่านมากัญชาถูกนำไปผสมกับอาหารเพื่อช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ทางการแพทย์จึงเลือกใช้สาร THC ที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีชื่อว่า Dronabinol นำมาประยุกต์ใช้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ป่วยโรคเอดส์ที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ซึ่งพบว่าสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้อาเจียนของผู้ป่วยกลุ่มนี้ และทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ดียิ่งขึ้น และในปัจจุบันมีการนำกัญชามาใช้เป็นยาลดความดันในนัยน์ตาของคนที่เป็นต้อหิน (glaucoma) แต่ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน และยังต้องรอการพิสูจน์อยู่ นอกจากนี้ยังมีการนำสารสำคัญในเรซินมาใช้เป็นยาระงับการอาเจียนที่เกิดขึ้นในคนที่เป็นโรคมะเร็ง ซึ่งได้รับการรักษาโดยวิธีเคมีบำบัด (chemotherapy)
การที่ร่างกายได้รับสาร Cannabinoids ในปริมาณที่เหมาะสม จะสามารถช่วยป้องกันการเกิดอาการซึมเศร้าที่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในผู้สูงอายุได้ จะช่วยปรับสมดุลต่างๆ ในร่างกาย ทำให้ผู้ใช้มีความสุข ใจเย็นลง และลดการแสดงพฤติกรรมรุนแรงในทางด้านอารมณ์ (หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม)
จากงานวิจัยพบว่าสาร THC สามารถยับยั้งเซลล์เอเบตาโปรตีนไม่ให้ผลิตสารพิษที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ได้
จากการศึกษาพบว่ากัญชามีสรรพคุณในการฆ่าเซลล์มะเร็งและทำให้เนื้อร้ายในสมองเหี่ยวลดลงได้ โดยจากการศึกษาของสำนักปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติอเมริกัน แสดงให้เห็นว่าสารสกัดของกัญชาสามารถช่วยให้คนไข้ตอบสนองการบำบัดด้วยการฉายรังสีดีขึ้น ส่วนการทดลองกับสัตว์ ก็พบว่าสารจากกัญชาสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ ทำให้เนื้อร้ายหดเหี่ยวลง โดยมีหลักฐานว่าสารสกัดจากกัญชาสามารถทำให้เนื้อร้ายในสมองชนิดที่ร้ายแรงที่สุดมีขนาดลดลง
จากการทดลองล่าสุดแสดงให้เห็นว่าสารสกัดจากกัญชาอาจสามารถรักษาโรคที่เกิดจากการอักเสบของสมองและไขสันหลัง หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบอื่นๆ หรือแม้แต่อาจช่วยทำลายเนื้องอกที่อาจกลายเป็นมะเร็งได้ จากการวิจัยพบว่า คนไข้ที่รับ THC หรือสารสกัดจากกัญชาอีกตัวที่เรียกว่า cannabidiol (CBD) สามารถช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อและอาการสั่น สามารถทำให้นอนหลับ และมีการเคลื่อนไหวที่ดีขึ้น อีกทั้ง CBD ยังออกฤทธิ์ได้นานกว่าการใช้สเตียรอยด์หรือยาแก้อักเสบอีกด้วย
และมีสาร cannabinoid ที่พบในกัญชาอาจมีความสัมพันธ์กับระบบการเผาผลาญของร่างกาย โดยพบว่าในผู้ที่สูบกัญชาจะเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานน้อยกว่าคนที่ไม่เคยสูบ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่สูบกัญชามีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่เคยสูบกัญชาร้อยละ 16 นอกจากนั้นยังพบว่ามีค่า HOMA-IR ต่ำกว่าร้อยละ 17 ระดับคอเลสเตอรอล HDL หรือไขมันชนิดดี สูงกว่า 1.63 mg/dL จึงสันนิษฐานได้ว่า ผลของกัญชาที่ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดจะมีผลเฉพาะในช่วงที่ใช้กัญชาเท่านั้น
ส่วนโทษของกัญชา
ผู้เสพมีอาการร่าเริง ช่างพูด ตื่นเต้น หัวเราะตลอดเวลา ต่อมาจะมีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ผู้เสพมีอาการคล้ายเมาเหล้าอย่างอ่อน เซื่องซึม และง่วงนอน หากเสพเข้าไปในปริมาณมากจะหลอนประสาททำให้เห็นภาพลวงตา หูแว่ว หวาดระแวง ความคิดสับสน และควบคุมตัวเองไม่ได้ และการเสพกัญชาแม้เพียงระยะสั้น ผู้เสพบางรายอาจสูญเสียความทรงจำได้ เพราะกัญชาจะทำให้สมองและความจำเสื่อม เกิดความสับสน วิตกกังวล และหากผู้เสพเป็นผู้ที่มีอาการทางจิตด้วยแล้ว ก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติทั่วไปด้วย โดยอาการทางจิตประสาทที่พบได้บ่อยๆ คือ สมาธิสั้น ความจำแย่ลง มีปัญหาในการตัดสินใจ และบางคนอาจมีปัญหาเรื่องการทรงตัว นอกจากนี้ยังส่งผลอื่นๆ ต่อร่างกายด้วย
กัญชามีฤทธิ์ทำลายสมรรถภาพทางกาย ผู้เสพในปริมาณมากเป็นระยะเวลานานจะทำให้ร่างกายเสื่อมโทรมจนไม่สามารถทำงานได้ โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิด การตัดสินใจ และแรงงาน สารในกัญชาจะทำลายระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายหลายส่วน ทำลายระบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงทำให้ร่างกายอ่อนแอ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย กัญชายังมีฤทธิ์ทำลายความรู้สึกทางเพศ ผู้เสพจึงมักมีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศในที่สุด
ทางเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ให้ข้อมูลโทษของบุหรี่ไว้ว่า "ในควันบุหรี่เต็มไปด้วยสารอันตรายต่างๆ ได้แก่ นิโคติน ซึ่งจัดเป็นสารเสพติด และยังมีสารเคมีอีกมากถึง 7,000 ชนิด สารพิษอีกมากกว่า 250 ชนิด และสารก่อมะเร็งอีกมากกว่า 70 ชนิด ซึ่งถ้าหากได้ข้อสรุปอย่างง่าย คือ การสูบบุหรี่ 1 มวน จะทำให้อายุสั้นลงถึง 7 นาที
เมื่อสูบบุหรี่เข้าไปในร่างกายแล้ว บุหรี่ก็เข้าไปทำลายร่างกายแทบจะทุกส่วน เริ่มตั้งแต่หลอดเลือดสมอง ปอด ทางเดินอาหาร หัวใจ กระดูกและกล้ามเนื้อ จนทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินปัสสาวะ รวมถึงเกิดการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ มีความเสี่ยงแท้งของหญิงตั้งครรภ์ และมีโอกาสตาบอดถาวร"
นอกจากนี้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าควันบุหรี่ยังถือเป็นภัยใกล้ตัวที่ทำให้เด็กป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคปอดเรื้อรัง
โดยควันบุหรี่ประกอบด้วยสารเคมีมากกว่า 7,000 ชนิด และมีมากกว่า 60 ชนิดที่ทางการแพทย์ระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง ทั้งนี้เด็กจะหายใจเอาอากาศปนเปื้อนควันบุหรี่ที่ลอยอยู่ในอากาศเข้าสู่ร่างกาย หากผู้ปกครองหรือบุคคลในบ้านสูบบุหรี่ ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยของเด็กเพิ่มขึ้น เช่น ปอดบวม หลอดลมอักเสบ โรคเกี่ยวกับหูชั้นกลาง เป็นหวัดบ่อยขึ้น และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กที่เป็นโรคหืดอยู่แล้วมีอาการรุนแรงมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคปอดเรื้อรัง โรคหูอักเสบ โรคภูมิแพ้ ภาวะการตายของทารกเฉียบพลัน (SIDS-Sudden Infant Death Syndrome) และควันบุหรี่ส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตและพัฒนา
นายแพทย์ ธนินทร์ เวชชาภินันท์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า วิธีป้องกันลูกจากควันบุหรี่ควรปฏิบัติ ดังนี้ บ้านควรเป็นที่ปลอดภัยสำหรับสมาชิกในครอบครัว เพื่อสุขภาพที่ดีไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่สูบบุหรี่โดยอยู่ใกล้เด็กหรือคนท้อง หลีกเลี่ยงพาเด็กไปในสถานที่ที่มีโอกาสเจอควันบุหรี่ เมื่อจำเป็นต้องออกไปข้างนอกพ่อแม่และผู้ปกครองควรเตรียมหน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดจมูกไปด้วยทุกครั้ง พ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เด็กโดยไม่สูบบุหรี่ ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 5 ขวบมักจะเจ็บป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจหากสมาชิกในบ้านสูบบุหรี่