xs
xsm
sm
md
lg

“นพ.วีระศักดิ์” ตอบคำถาม? มนุษย์สามารถอดอาหารได้นาน 30-60 วัน โดยไม่ต้องได้รับอาหารใดๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช ให้ความรู้ถึงกรณีการอดอาหาร ชี้มนุษย์สามารถอดอาหารได้นานถึง 30-60 วันโดยไม่ต้องได้รับอาหารใดๆ ระยะเวลาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย

จากกรณี น.ส.เนติพร หรือบุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ผู้ต้องขังคดีละเมิดอำนาจศาลและกระทำผิดมาตรา 112 ล้มฟุบและหัวใจหยุดเต้น จนแพทย์ต้องปั๊มหัวใจยื้อชีวิต ขณะย้ายตัวจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และได้เสียชีวิตแล้ว เมื่อเวลา 11.22 น. ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

โดย นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยอาการของบุ้งว่า บุ้งมีอาการไม่รู้สึกตัว หัวใจหยุดเต้น ต้องทำการปั๊มหัวใจ และยังบอกอีกว่าก่อนหน้านี้ช่วงสัปดาห์ที่แล้วไปเยี่ยมบุ้ง บุ้งร่างกายซูบผอมจนเห็นได้ชัด น้ำหนักลดลงไป 10 กว่ากิโลฯ บ่นปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย ท้องเสีย ตัว ขาและเท้าบวม ซึ่งเป็นผลจากการอดอาหารเป็นเวลานาน และช่วงหลังทางครอบครัวได้ขอให้ยาพวกแคลเซียมให้กับบุ้ง แต่ทางแพทย์บอกว่าถ้าอดอาหารเป็นเวลานานแล้วกลับมารับยาอาจจะมีผลข้างเคียง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผลข้างเคียงเป็นอย่างไร ต้องรอให้แพทย์ออกมาชี้แจง ตามที่รายงานข่าวไปนั้น

วันนี้ (15 พ.ค.) เพจ "หมอหมู วีระศักดิ์" หรือ รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงกรณีการอดอาหาร โดยระบุว่า ”มนุษย์อดอาหารได้นานเท่าไหร่ โดยทั่วไปมนุษย์สามารถอดอาหารได้นานถึง 30-60 วัน โดยไม่ต้องได้รับอาหารใดๆ ระยะเวลาที่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น

1. น้ำหนักตัว: คนที่มีไขมันสะสมในร่างกายมาก จะสามารถอดอาหารได้นานกว่า เพราะร่างกายเผาผลาญไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงาน

2. อายุ: เด็กและผู้สูงอายุมีระบบเผาผลาญที่อ่อนแอกว่า และมีระบบภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่า

3. สุขภาพโดยรวม: คนที่มีโรคประจำตัว จะมีโอกาสเสียชีวิตจากการอดอาหารเร็วกว่าคนทั่วไป

4. การเข้าถึงน้ำ: การขาดน้ำเป็นอันตรายต่อร่างกายมากกว่าการอดอาหาร ร่างกายจะทนอยู่ได้โดยไม่ต้องดื่มน้ำเพียง 3-5 วัน

สาเหตุหลักของการเสียชีวิตเนื่องจากการอดอาหาร

1. มักเกิดจากการติดเชื้อหรือเป็นผลมาจากการสลายตัวของเนื้อเยื่อ: สิ่งนี้เกิดขึ้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตพลังงานได้เพียงพอที่จะต่อสู้กับแบคทีเรียและไวรัส เมื่ออาการดำเนินไป ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะอ่อนแอลง และไม่สามารถป้องกันเชื้อโรคทั่วไปที่อาจไม่สามารถต่อสู้ได้อีกต่อไป

2. ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ: การอดอาหารอาจทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายเกิดความตึงเครียด เพิ่มความเสี่ยงต่อการ
เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น:

- อวัยวะล้มเหลว: ไต ตับ และหัวใจมีความเสี่ยงเป็นพิเศษ

- ความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์: การรบกวนแร่ธาตุที่จำเป็นสามารถขัดขวางการทำงานของร่างกายที่สำคัญได้

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น