xs
xsm
sm
md
lg

“มะเขือเทศ” ผลไม้ยอดนิยมอันดับ ๑ ของโลก กินทุกวันได้ยิ่งดี ผิวสวยและห่างไกลมะเร็ง...ช่วยป้องกันอัลไซเมอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



ก่อนอื่น ขอทำความเข้าใจกันก่อนว่า มะเขือเทศเป็นผลไม้ ไม่ใช่ผัก เพราะตามคำนิยามทางพฤกษศาสตร์ถือว่า ผลคือส่วนของรังไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้วเจริญเติบโตมาเป็นผล ผลบางชนิดอาจจะมีส่วนต่างๆของดอกหรือช่อดอกเจริญติดมาด้วยก็ได้ เช่นมังคุด

ส่วนผักคือ พืชที่นำมารับประทานได้ทั้งหมด รวมถึงดอก ผล ลำต้น ใบ ราก และเมล็ด

แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็สับสนพอควร แม้แต่ระเบียบศุลกากรของสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ.๑๘๙๓ ก็เคยระบุว่ามะเขือเทศเป็นผัก เช่นเดียวกับที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่ฟักทอง แตงกวา พริกไทย มะเขือ ถั่ว ถ้าถือตามคำนิยามทางพฤกษศาสตร์ก็ต้องเป็นผลไม้

ฉะนั้น อย่าไปสนใจแซ่ ตระกูล มันเลย ถ้าขวางหน้าก็กินเข้าไปเถอะ แต่อย่ากินซ้ำซาก กินให้หลากหลาย จำข้อนี้ไว้ให้ขึ้นใจ

มะเขือเทศยังถูกจัดอันดับให้เป็นผลไม้ยอดนิยมอันดับ ๑ ของโลก เหนือกว่ากล้วย แอปเปิล และส้ม ทั้งคะแนนนิยมยังทิ้งอันดับ ๒ ห่าง

ทั้งนี้ก็เพราะมะเขือเทศมีคุณค่าทางโภชนาการมหาศาล ป้องกันโรคได้สารพัด รวมทั้งโรคที่น่ากลัวอย่างมะเร็งและอัลไซเมอร์ อีกทั้งยังไม่เกี่ยงที่จะกินมากก็ไม่มี “ดีล้น” กินทุกวันได้ยิ่งดี แต่ก็ยังมีข้อแม้สำหรับคนบางคน

วิตามินและแร่ธาตุที่เด่นๆของมะเขือเทศก็อย่างเช่น วิตามินซีที่มีมากกว่าส้ม มะเขือเทศขนาดปานกลางแค่ ๒ ลูกก็มีวิตามินซีเท่ากับส้มโอลูกโตๆแล้ว มะเขือเทศ ๑ ลูกก็มีวิตามินเอ ๑ ใน ๓ ที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ซึ่งคุณสมบัติของวิตามินเอก็คือ ช่วยให้มองเห็นในที่แสงสว่างน้อย ช่วยสร้างกระดูกและฟัน ช่วยให้การทำงานของระบบสืบพันธุ์เป็นปกติ ช่วยเสริมสร้างให้ร่างกายเติบโตและแข็งแรง เสริมสร้างการต้านทานจากการอักเสบและเชื้อรากับไวรัสต่างๆ และยังมีวิตามินและธาตุต่างๆอีกเพียบ ซึ่งธาตุเหล่านั้นมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมาก เช่น

ไลโคปิน ซึ่งในบทความเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ของคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ความรู้ว่า ไลโคปินเป็นสารประกอบในกลุ่มแคโรทีนอยด์ พบว่ามะเขือเทศ ๑๐๐ กรัมมีไลโคปิน ๐.๙-๙.๓๐ กรัม สารตัวนี้มีฤทธิ์ลดความเสี่ยงจากการเกิดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ ที่ชัดเจนที่สุดก็คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังลดความเสี่ยงจากมะเร็งตับอ่อน ลำไส้ใหญ่ ทวารหนัก คอหอย ช่องปาก เต้านม เป็นต้น

มีผลงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า ไลโคปินยังช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง เพราะสามารถยับยั้งการเกิดลิ่มเลือดที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน และสารฟลาโวนอยด์ในมะเขือเทศ ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระเช่นกัน ก็ช่วยขยายเส้นเลือดและลดความดันโลหิตลงได้

ไลโคปินยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ จึงมีฤทธิ์ปกป้องเซลล์ผิวหนังจากรังสียูวี ลดความรุนแรงที่อาจทำให้ผิวไหม้จากแสงแดด ช่วยชะลอความเสื่อมของผิวได้

มะเขือเทศเป็นผลไม้ที่จัดอยู่ในตระกูลเบอรี เช่นเดียวกับ บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ สตรอเบอร์รี่ องุ่น หม่อน ฯลฯ ซึ่งผลไม้ในตระกูลนี้จะช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจวายได้ถึง ๓๒ เปอร์เซ็นต์

มะเขือเทศยังมีวิตามินซีกับวิตามินอีสูง ในวารสารสมาคมแพทย์แห่งสหรัฐอเมริการะบุไว้ว่า วิตามินซี เป็นวิตามินต่อต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง และมีบทบาทในการช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ส่วนวิตามินอี จะช่วยชะลอการสูญเสียความทรงจำของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่มีอาการในระดับปานกลางได้ ส่วนนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ พบว่า ผู้ที่รับประทานซอสมะเขือเทศประมาณ ๓ ใน ๔ ถ้วยต่อวัน จะช่วยเสริมสร้างความสามารถของร่างกายในการต่อสู้กับโรคหืดหอบได้ถึงร้อยละ ๔๕

มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคยศึกษาพบว่า การป้องกันมะเร็งให้ได้ผล ควรกินไลโคฟินในปริมาณอย่างน้อย ๖.๕ มก.ต่อวัน คือกินมะเขือเทศเป็นส่วนผสมหลักประมาณ ๑๐ ครั้งต่อสัปดาห์

ตามปกติแล้ว การรับประทานผักผลไม้สดๆจะมีคุณค่ากว่าผักผลไม้ที่ผ่านความร้อน แต่เรื่องนี้เป็นข้อยกเว้นสำหรับมะเขือเทศ มะเขือเทศที่ผ่านความร้อนจะทำให้การจับตัวของไลโคฟินกับเนื้อเยื่อมะเขือเทศอ่อนตัวลง ทำให้ร่างกายดึงไปใช้ได้โดยง่าย อีกทั้งไลโคปินยังละลายได้ในน้ำมัน การปรุงอาหารที่ใช้ความร้อนและมีน้ำมันจึงได้รับไลโคปินจากมะเขือเทศสูงสุด แม้วิตามินซีจะลดลงไปบ้าง

ส่วนข้อแม้ในการกินมะเขือเทศสำหรับคนบางคนก็คือ คนที่เป็นโรคไต เพราะมะเขือเทศมีโพแทสเซียมค่อนข้างสูง สารตัวนี้เกี่ยวกับการการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ผู้เป็นโรคไตไม่สามารถขับสารตัวนี้ออกได้มาก ทำให้มีโพแทสเซียมคั่งในเลือด ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดปกติ และอาจจะหยุดเต้นได้

เรื่องสำคัญในการกินมะเขือเทศอีกเรื่องหนึ่งก็คือ อย่าได้กินมะเขือเทศดิบเป็นอันขาด ดิบในที่นี้ก็คือมะเขือเทศที่มีสีเขียว ยังไม่เปลี่ยนเป็นสีเหลืองหรือแดง เพราะมะเขือเทศในช่วงนี้จะมีสารโซลานินซึ่งเป็นสารพิษอยู่มาก ธรรมชาติสร้างขึ้นมาก็เพื่อให้ปกป้องจากศัตรูพืช และมีอยู่ในลูกกับส่วนต่างๆของต้นที่มีสีเขียว ทั้งยังเป็นสารทนความร้อนด้วย หากกินเข้าไปมากก็จะส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ หายใจลำบาก ประสาทส่วนกลางเป็นอัมพาต หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่เมื่อมะเขือเทศแก่จัดเปลี่ยนสีแสดงว่าสุกแล้ว สารนี้ก็จะสลายหายไปเอง เปลี่ยนเป็นรสหวานขึ้น

ฉะนั้นหลักการในการบริโภคมะเขือเทศให้ได้ประโยชน์สูงสุดก็คือ เลือกใช้แต่มะเขือเทศแก่จนผิวเปลี่ยนสีไม่มีสีเขียวแล้วเท่านั้น จากนั้นควรนำไปผ่านความร้อน เพื่อให้สารไลโคปินหลุดจากเนื้อเยื่อออกมาให้มาก และควรมีน้ำมันหรือเนยในการปรุง เพราะน้ำมันจะช่วยละลายไลโคปินออกมา ทั้งนี้ไม่ว่าจะปิ้ง ย่าง ต้ม ผัด ได้ทั้งนั้นตามเมนูที่ถูกรสนิยม หากรับประทานเป็นประจำก็จะทำให้ห่างโรคมะเร็ง อัลไซเมอร์ และสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ต้านได้ทุกโรค
กำลังโหลดความคิดเห็น