xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิล มีชื่อในบัญชีภัยคุกคาม ก่อนนายกฯ ลงพื้นที่ราชบุรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

ธนู งามยิ่งยวด คือ อดีตเจ้าของสวนลำไยกว่า 100 ไร่ ที่ปัจจุบันต้องดำรงชีวิตด้วยขายสมบัติในบ้านไปทีละชิ้น เพราะสวนลำไยของเขาเริ่มตายตั้งแต่ปี 2543 หลังมีโรงงาน บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด มาตั้งอยู่ใกล้ๆ และพบว่า ทั้งน้ำและดินค่อยๆ ได้รับสารพิษ

จำเนียร จินดาโชติ คือ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.น้ำพุ อ.เมืองฯ จ.ราชบุรี ที่ยืนหยัดเคียงข้างชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานรีไซเคิลแห่งเดียวกัน และเป็นหนึ่งในผู้นำของชาว ต.น้ำพุ ร่วมกันฟ้องร้อง แวกซ์ กาเบ็จ จนชาวบ้านชนะคดีทั้งตำบล

*****

ธนู งามยิ่งยวด
แต่ ... ชื่อของธนู และผู้ใหญ่จำเนียร ที่ต่อสู้เพียงเพื่อเรียกร้องสิทธิในที่จะชีวิตปกติธรรมดาที่เสียไปกว่า 23 ปี กลับคืนมา ... กลายเป็นหนึ่งใน รายชื่อที่อยู่ในบัญชีของหน่วยงานด้านความมั่นคง ในฐานะ "ภัยคุกคาม" ก่อนนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน จะลงพื้นที่ทัวร์นกขมิ้นที่ จ.ราชบุรี ในวันที่ 12-13 พฤษภาคม 2567

เอกสารนี้ถูกส่งต่อกันในกลุ่มเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะตำรวจในพื้นที่ หน้าปกเขียนว่า "ประเมินภัยคุกคาม ภาจกิจรักษาความปลอดภัย นายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการพื้นที่ จ.ราชบุรี 12-13 พฤษภาคม 2567"

ในเอกสารมีรายชื่อของผู้ได้รับผลกระทบหลายกลุ่ม รวมถึง "กลุ่มคนรักษ์ต้นน้ำ" ที่มีนายชื่อของนายธนู และนายจำเนียร ถูกระบุไว้ พร้อมหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน และเลขที่บ้าน โดยมีข้อความกำกับไว้ด้วยว่า "เรียกร้องแก้ไขปัญหาการกำจัดสารเคมีและเยียวยาผู้เดือดร้อนจาก บริษัท แวกซ์ กาเบ็จ รีไซเคิล เซ็นเตอร์ จำกัด ... (ปัญหาได้รับการช่วยเหลือ แต่ยังไม่เป็นที่พอใจ)"

*****




การระบุชื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย ซึ่งเกิดขึ้นเพราะหน่วยงานของรัฐปล่อยปละละเลย ไม่บังคับใช้กฎหมาย ให้กลายเป็นภัยคุกคามต่อนายกรัฐมนตรี พร้อมระบุข้อมูลส่วนบุคคลทั้งหมายเลขบัตรประชาชน และเลขที่บ้าน ก็เป็นปัญหาที่ต้องถกกันอย่าหนักเกี่ยวกับมุมมองเรื่องสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลอยู่แล้ว แต่นี่ยังสะท้อนด้วยว่า รัฐบาลมีท่าทีอย่างไรต่อปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบ

แต่ที่ยิ่งทำให้เกิดคำถามอย่างมาก คือ ข้อความในวงเล็บ "ปัญหาได้รับความช่วยเหลือแต่ยังไม่เป็นที่พอใจ" เพราะนี่เป็นข้อความที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ... หน่วยงานของรัฐทั้งส่วนกลางและในท้องถิ่น ได้พยายามช่วยแก้ปัญหานี้เป็นอย่างดีแล้ว ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่ว่า ชาว ต.น้ำพุ รวมทั้งนายธนูและนายจำเนียร ต่างต้องทนทุกข์ในการใช้ชีวิตอยู่กับดิน น้ำ อากาศ ที่ปนเปื้อนสารเคมีอันตรายจำนวนมาหศาลมานานกว่า 23 ปีแล้ว พยายามร้องเรียนและยื่นหนังสือไปถึงทุกหน่วยงานแล้ว แต่ไม่เคยได้รับการแก้ไข จนกระทั่งต้องร่วมมือกับมูลนิธิบูรณะนิเวศ เก็บหลักฐาน และรวมตัวกันฟ้องคดีแบบกลุ่มด้วยตัวเอง จนชนะคดีแพ่งทั้ง 3 ศาล

ชนะคดีทุกศาลแล้ว แต่ชาวบ้านทั้งตำบล ยังไม่มีใครได้รับเงินเยียวยาแม้แต่บาทเดียว การปนเปื้อนยังคงอยู่เหมือนเดิม และยังเกิดเพลิงไหม้ของเสียอันตรายที่นี่หลายต่อหลายครั้ง


เฉพาะของ ธนู งามยิ่งยวด เขาเรียกค่าเสียหายต่อสวนลำไยกว่า 100 ไร่ ไปเป็นเงินประมาณ 16 ล้านบาท ชนะคดี แต่ศาลพิพากษาให้ แวกซ์ กาเบ็จ ต้องชดเชยพียง 6 แสนบาท โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกับผลกระทบจากภัยแล้ง ... และเพียงแค่ 6 แสนบาท ก็ยังไม่ได้เงินชดเชยแม้แต่บาทเดียว

ส่วนกากของเสียอันตรายที่ตกค้างอยู่ในโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม ต้องไปของบประมาณจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปลายปี 2566 มาเป็นเงินประมาณ 59 ล้านบาท เพื่อนำถังสารเคมีที่อยู่บนดินออกไปจำกัดก่อน มีปริมาณอย่างน้อย 13,000 ตัน เป็นถังขนาด 200 ลิตร กว่า 58,000 ถัง / ถัง 1,000 ลิตร กว่า 900 ถัง รวมถึงปิ๊ปและถุงบิ๊กแบ็กอีกจำนวนหนึ่ง

แต่งบประมาณ 59 ล้านบาทที่ใช้ไปแล้ว ยังไม่สามารถบรรเทาผลกระทบกับชาว ต.น้ำพุได้เลย เพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังต้องสำรวจปริมาณกากของเสียอันตรายที่ถูกฝังอยู่ใต้ดินอีกเป็นจำนวนมาก เพราะโรงเรือนเกือบทั้งหมดในโรงงานแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นมาเพียงเพื่อปิดบังไม่ให้เห็นร่องรอยการฝังกลบของเสียไว้ใต้ดิน

จากข้อมูลทั้งหมดนี้ ... จึงมีคำถามจากคนในพื้นที่ต่อข้อความที่ระบุว่า ... "ปัญหาได้รับความช่วยเหลือแต่ยังไม่เป็นที่พอใจ" ... เป็นข้อความที่ถูกต้องแล้วจริงหรือ เหตุใดหน่วยงานของรัฐ จึงโยนปัญหามาให้ผู้ได้รับผลกระทบ ว่าที่ยังเป็นปัญหา เพราะผู้ได้รับผลกระทบไม่พอใจ

และแทนที่จะเปิดพื้นที่ให้ผู้ได้รับผลกระทบ ได้มีโอกาสนำเสนอข้อเท็จจริงต่อหน้านายกรัฐมนตรี ... กลับมองพวกเขาเป็นภัยคุกคามที่ต้องถูกกัดกันออกไป

*****


ดูเหมือนว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากการลักลอบทิ้งกากของเสียอีนตราย จะยังไม่ใช่เรื่องที่ถูกจัดไว้ในลำดับความสำคัญจากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน

ก่อนหน้านี้ นายกฯ เศรษฐา ลงพื้นที่เกิดเหตุไฟไหม้ โรงงาน วิน โพรเสส ที่ชุมชนหนองพะวา ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ 30 นาที รับฟังรายงานจากหน่วยราชการเท่านั้น โดยไม่ได้พบกับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแม้แต่คนเดียว ท่ามกลางข้อสงสัยของประชาชนในพื้นที่ว่า นายกรัฐมนตรี จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น ถูกละเลยจากหน่วยราชการมาอย่างยาวนาน จึงบานปลายกลายเป็นผลกระทบใหญ่

และเมื่อเราต่างก็เห็นกันแล้วว่า ผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ต่างก็มีชื่อปรากฎอยู่ในบัญชีภัยคุกคามในการรักษาความปลอดภัยนายกรัฐมนตรี ... จึงเป็นคำอธิบายว่า ทำไมชาวหนองพะวา ซึ่งกำลังทนทุกข์กับไฟไหม้โรงงาน วิน โพรเสส จึงไม่มีโอกาสได้สะท้อนปัญหาต่อหน้าผู้นำประเทศที่ลงไปถึงหน้าบ้านของเขาแล้ว

... ที่ราชบุรี ก็เช่นกัน

และหากยังเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ สิ่งที่น่าสงสัยที่สุดก็คือ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย จะมีโอกาสได้รีบข้อมูลตรงจากผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้เมื่อไหร่ หากฟังแต่หน่วยงานรัฐจะแก้ปัญหาได้ถูกจุดจริงหรือ

นายกฯ เศรษฐา รู้แล้วหรือไม่ว่าปัญหาการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายเกือบทุกที่ สุดท้ายแล้วจะต้องใช้งบประมาณของรัฐ หรือเรียกได้ว่าเป็นเงินภาษีของประชาชน มานำของเสียไปกำจัดก่อน แต่ละแห่งถูกประเมินราคาค่ากำจัดในหลักมากกว่าร้อยล้านบาททั้งสิ้น และยังไม่มีพื้นที่ใดเลยที่สามารถฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมได้จริง

ที่สำคัญ คือ การที่หน่วยงานรัฐบอกว่าจะต้องไปฟ้องร้องเพื่อเรียกเงินคืนมาจากเอกชนผู้ก่อมลพิษในภายหลัง ก็เป็นเพียงหลักการที่ไม่เคยเรียกเงินคืนมาได้จริง

หรือที่ต้องกีดกัน เพราะหน่วยงานเหล่านั้น กลัวว่านายกรัฐมนตรี จะได้ข้อมูลที่ต่างออกไปมาก หากได้คุยกับผู้ได้รับผลกระทบตัวจริง.


กำลังโหลดความคิดเห็น