xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการการเกษตร” เผยสารที่ใช้รมข้าวมีความเป็นพิษสูง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายศักดา ศรีนิเวศน์ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร ออกมาโพสต์ข้อความเตือนเกี่ยวกับข้าวเก่า 10 ปี ที่กระทรวงพาณิชย์มีคิวจะจัดจำหน่ายนั้น ว่าสารที่ใช้รมข้าวสารกว่า 100 ครั้งนั้น มีสาร "เมทิลโบรไมด์" ซึ่งมีความเป็นพิษสูง

จากกรณี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พาสื่อมวลชน และผู้ส่งออกลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ตรวจสอบข้าวจากโครงการจำนำในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมหุง และชิมข้าว 10 ปี เพื่อการันตีความหอม ความนุ่มนวล และยังรับประทานได้ โดยเจ้าตัวบอกหลังรับประทานว่า ชิมแล้วไม่มีกลิ่นหืน ไม่มีความรู้สึกว่าจะกินไม่ได้ ความหอมอาจจะลดลงไม่เหมือนข้าวใหม่ แต่ความนุ่มนวลไม่มีปัญหาอะไร ดังนั้น หลังจากตรวจสอบผู้ประมูลก็สามารถไปหาโรงสีหรือปรับปรุงคุณภาพข้าวให้ดี

ล่าสุดวันนี้ (10 พ.ค.) นายศักดา ศรีนิเวศน์ นักวิชาการอิสระด้านการเกษตร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว หัวข้อ มาทำความรู้จักกับสารเมทิลโบรไมด์ ที่ใช้รมข้าวสารกันหน่อย โดยมีใจความว่า

“โบรโมมีเทน (Bromomethane) หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) เป็นสารประกอบออร์กาโนโบรมีน (organobromine) ที่มีสูตร CH₃Br ก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และไม่ติดไฟนี้ผลิตขึ้นทั้งทางอุตสาหกรรมและทางชีวภาพ เป็นสารเคมีที่ได้รับการยอมรับว่าทำลายชั้นโอโซน : วิกิพีเดีย

เมทิลโบรไมด์มีลักษณะเฉพาะอย่างไร?
เมทิลโบรไมด์เป็นก๊าซที่ไม่มีกลิ่นและไม่มีสี เป็นของเหลวที่อุณหภูมิต่ำกว่า 3.5 องศาเซลเซียส มันหนักกว่าอากาศถึงสามเท่า เมทิลโบรไมด์จะสลายตัวค่อนข้างเร็วโดยมีครึ่งชีวิตประมาณเจ็ดเดือน (ครึ่งชีวิตเจ็ดเดือนหมายความว่าครึ่งหนึ่งของปริมาตรของสารเคมีจะสลายตัวไปครึ่งหนึ่งของปริมาณเริ่มต้นที่ใช้ในช่วงเวลานั้น เช่นสมมุติว่าเราใช้สาร 200 มิลลิกรัม ภายในเจ็ดเดือนสารจะลดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 100 มิลลิกรัม และอีกเจ็ดเดือนจะลดลงเหลือ 50 มิลลิกรัม ไม่แน่ใจว่าการรมควันเดือนละครั้งถึง 10 ปี จะมีสารเมทิลโบรไมด์ตกค้างในข้าวสักเท่าใด เพราะยังไม่เคยมีงานศึกษาการรมควันแบบมหากาพย์เช่นนี้มาก่อน/ผู้เขียน) เมทิลโบรไมด์อาจรวมตัวกันในบริเวณที่มีการระบายอากาศไม่ดีและอยู่ต่ำ
เมทิลโบรไมด์มีความเป็นพิษสูง (#เมื่อสูดดมเข้าไป) การศึกษาในมนุษย์ระบุว่าปอดอาจได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการสูดดมเมทิลโบรไมด์แบบเฉียบพลัน (ระยะสั้น) การสูดดมเมทิลโบรไมด์แบบเฉียบพลันและเรื้อรัง (ระยะยาว) อาจส่งผลเสียต่อระบบประสาทในมนุษย์ มีรายงานผลกระทบทางระบบประสาทในสัตว์ด้วย การหายใจเมทิลโบรไมด์อาจทำให้ปอดระคายเคือง ทำให้เกิดอาการไอและ/หรือหายใจลำบาก การได้รับสารในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการสะสมของของเหลวในปอด (ปอดบวม) ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ และมีอาการหายใจลำบากอย่างรุนแรง เมทิลโบรไมด์อาจทำลายไตและส่งผลต่อตับ

มีการผลิตและใช้เมทิลโบรไมด์มากน้อยเพียงใดในโลก
จากข้อมูลปี 2558 การผลิตเมทิลโบรไมด์ทั้งหมดสำหรับการใช้งานกักกันและสุขอนามัยพืช (QPS) อยู่ที่ 8,450 ตัน โดย 47 ประเทศใช้ 6,546 ตันในปี 2558 เมทิลโบรไมด์ผลิตใน 5 ประเทศเพื่อใช้ในระดับสากลในฐานะรมยา

เมทิลโบรไมด์สลายตัวในสิ่งแวดล้อม โดยแสงแดด ปฏิกิริยาเคมีในอากาศ น้ำ และโดยจุลินทรีย์ เมทิลโบรไมด์มีครึ่งชีวิตประมาณเจ็ดเดือน เมทิลโบรไมด์จะไม่ปนเปื้อนกับน้ำใต้ดิน การปนเปื้อนของน้ำใต้ดินไม่น่าจะเกิดจากการรมควันภายใต้ผ้าใบกันน้ำ เนื่องจากเมทิลโบรไมด์จะเข้าสู่อากาศได้ง่ายที่สุดเมื่อระบายออกหลังจากการรมควัน

นอกจากนี้ยังมีสารเคมีอีกตัวหนึ่งที่นิยมใช้ในการรมควันข้าว คือฟอสฟิน (phosphine) เป็นสารประกอบไม่มีสี ติดไฟได้ และมีพิษสูง มีสูตรทางเคมี PH₃ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทไนโตรเจนไฮไดรด์ ฟอสฟีนบริสุทธิ์ไม่มีกลิ่น ใช้ในการรมควันข้าวเพื่อควบคุมศัตรูพืชในทุกช่วงชีวิตและป้องกันการต้านทานแมลง ความเข้มข้นของก๊าซฟอสฟีนจำเป็นต้องสูงถึง 300 ส่วนในล้านส่วน (ppm) เป็นเวลาเจ็ดวัน (เมื่อเมล็ดพืชมีอุณหภูมิสูงกว่า 25°)
กำลังโหลดความคิดเห็น