xs
xsm
sm
md
lg

เผยทักษะทางการเงินคนไทยปี 65 ดีขึ้น แต่ยังมีความสุขกับการใช้เงิน ละเลยเก็บออมเผื่อฉุกเฉิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผลสำรวจแบงก์ชาติ พบทักษะทางการเงินของคนไทยปี 65 ดีขึ้น เข้าใจเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ ความเสี่ยงและผลตอบแทนมากที่สุด รู้จักคิดก่อนซื้อ และเลือกวิธีการออมได้อย่างเหมาะสม แต่ทัศนคติทางการเงินแย่ลงเล็กน้อย มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ ไม่คิดวางแผนอนาคต มีความสุขในการใช้เงินมากกว่า พบมีส่วนน้อยที่ออมเงินเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินและชีวิตหลังเกษียณ

วันนี้ (5 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยผลสำรวจทักษะทางการเงินของคนไทย ปี 2565 เป็นการสำรวจความรู้ พฤติกรรม และทัศนคติของคนไทยในการบริหารจัดการเงินในชีวิตประจำวัน สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้ค่าเฉลี่ยของหน่วยงานที่ชื่อว่า OECD หรือ The Organization for Economic Co-operation and Development ที่สำรวจทักษะทางการเงิน 26 ประเทศรวมทั้งประเทศไทย

ผลสำรวจพบว่าคนไทยมีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 71.4% ดีขึ้นกว่าปี 2563 ที่ 67.4% และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 60.5% โดยคนไทยมีความรู้ทางการเงินดีขึ้นต่อเนื่อง โดยภาพรวมคนไทยมีความเข้าใจเรื่องการคำนวณดอกเบี้ยสินเชื่อ และความเสี่ยงและผลตอบแทนมากที่สุด ส่วนพฤติกรรมทางการเงินของคนไทยปรับตัวดีขึ้น โดยภาพรวมคนไทยมีพฤติกรรมที่ดีด้านการตัดสินใจทางการเงิน การคิดก่อนซื้อ และเลือกวิธีการออมได้อย่างเหมาะสม แต่ว่ายังมีจุดอ่อนเรื่องการเปรียบเทียบข้อมูลผลิตภัณฑ์ทางการเงิน การวางแผนและการจัดสรรเงิน

ด้านทัศนคติทางการเงิน คนไทยมีทัศนคติทางการเงินแย่ลงเล็กน้อย โดยคนตอบเห็นด้วยมากขึ้นกับคำถามในหัวข้อ “มีชีวิตอยู่เพื่อวันนี้ ไม่คิดวางแผนสำหรับอนาคต” และ “มีความสุขในการใช้เงินมากกว่าเก็บออม” สะท้อนให้เห็นว่า คนที่ไม่ได้วางแผนและเก็บออมเพื่ออนาคตมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งอาจเกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของคนไทย

สำหรับการออม คนไทยมีเงินเก็บออมลดลงเล็กน้อยจากปี 2563 แม้ระดับทักษะทางการเงินของคนไทยดีขึ้นต่อเนื่อง แต่สัดส่วนคนไทยที่เก็บออมในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ 87.5% ลดลง 2.7% จากในปี 2563 โดยส่วนใหญ่เก็บออมอยู่ในรูปเงินสด (75.4%) และบัญชีเพื่อการออม (53.3%) ขณะที่มีเพียง 2.6% ที่นำเงินไปลงทุน นอกจากนี้ยังมีคนไทยส่วนน้อยที่ออมเงินเพื่อรองรับเหตุฉุกเฉินและชีวิตหลังเกษียณได้อย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจความเสี่ยงในการแชร์ข้อมูลบนโซเชียลมีเดีย ส่วนใหญ่ (73.3%) มีความเข้าใจเรื่องความเสี่ยงในการแชร์ข้อมูลส่วนบุคคลบนสื่อโซเชียล แต่มีส่วนน้อย (34.8%) ที่รับรู้ความเสี่ยงของการใช้ Wi-Fi สาธารณะในการซื้อของออนไลน์ และความจำเป็นในการเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำ

อีกด้านหนึ่ง คนวัยทำงาน (Gen Y และ Gen X) เป็นกลุ่มที่เจอปัญหาภัยการเงินมากที่สุด โดย 5.4% ของคนไทยเคยถูกหลอกให้ลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เป็นการหลอกลวง, 4.6% ของคนไทยเคยให้ข้อมูลทางการเงินแก่มิจฉาชีพผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ เช่น อีเมล โทรศัพท์ แอปพลิเคชันสื่อสาร และ 2.4% ของคนไทยเคยถูกหลอกให้เสียทรัพย์โดยมิจฉาชีพผ่านช่องทางออนไลน์












กำลังโหลดความคิดเห็น