xs
xsm
sm
md
lg

“เยลเลน-บลิงเคน” โอหังเยือนจีน โดน “สี” สอนมวย ต้องกลับบ้านมือเปล่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สหรัฐฯ ส่ง นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลัง และ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศ มาเยือนประเทศจีน เมื่อช่วงเดือนทีผ่านมา แต่ทั้งคู่ต้อง “แบกหน้า” กลับบ้านไปมือเปล่า เพราะฝ่ายจีนไม่ได้ใส่ใจกับข้อเสนอแบบ “เอาแต่ได้ฝ่ายเดียว” ของสหรัฐฯ ที่ยังคงยึดติดกับท่าทียะโสโอหัง หลงคิดว่าตัวเองเป็น “มหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลก” อยู่



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงการเยือนจีนของบุคคลสำคัญของสหรัฐอเมริกา 2 คน ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา คือนางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ช่วงวันที่ 4-8 และนายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ระหว่าง วันที่ 24-26


ทั้ง 2 คน เทียวไล้เทียวขื่อ มาประเทศจีน 2 ครั้งแล้วในช่วงเวลาไม่ถึง 1 ปีที่ผ่านมา โดยที่เดินทางมาบ่อยก็อ้างว่า “มาเจรจา เพื่อหลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ผิดพลาด” แต่ว่า พฤติกรรมของทั้งคู่ต้องเรียกว่า “ตบหัวกลางศาลา ขอขมาที่บ้าน” หรือ “ตบหัวแล้วลูบหลัง” ก็ได้

ทำไมถึงเปรียบเทียบอย่างนั้น?


เพราะว่าก่อนหน้าที่จะมาถึงประเทศจีน บรรดาสหรัฐฯ ได้ปั้นเรื่องกล่าวหาจีนต่าง ๆ นา ๆ นอกจากนี้ยังใช้มาตรการปิดล้อม-กีดกันจีน ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเรื่องหัวเว่ย จนถึงล่าสุดคือ ความพยายามแบน TikTok ออกจากสหรัฐฯ โดยยื่นคำขาด พยายามบังคับให้บริษัท Bytedance ขายกิจการ TikTok ให้กับบริษัทในสหรัฐฯ หรือ เลิกให้บริการในสหรัฐฯ ไปเลย ทั้ง ๆ ที่ TikTok เป็นแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียยอดนิยมในสหรัฐฯ และมีบัญชีผู้ใช้งานมากถึง 170 ล้านบัญชี หรือประมาณครึ่งหนึ่งของประชากรสหรัฐฯ ที่มีราว 340 ล้านคนเลยทีเดียว


บรรดานายทุนของอเมริกาที่อยากจะมาเป็นเจ้าของ TikTok จนน้ำลายไหล มองว่าจีนไม่มีทางเลือก ByteDance ไม่มีทางเลือก ต้องขายทิ้ง เพราะว่ายังได้เงินได้ทองคืนมา แต่เขาไม่รู้ถึงศักดิ์ศรี ศักดิ์ศรีของเจ้าของแพลตฟอร์ม TikTok เมื่อเขาเห็นว่าถูกบีบให้ขาย เขายอมถูกปิดไปดีกว่า เพราะจริงๆ แล้ว TikTok มีคนใช้รายการอยู่ประมาณ 1,700 กว่าล้านคนทั่วโลก อเมริกาแค่ 10% เอง เขาไม่รู้สึกรู้หนาวเลย เพราะฉะนั้นแล้ว เขาไม่ยอมขาย เพราะว่าอาวุธลับของเขาใน TikTok ก็คือระบบอัลกอริทึม ที่เขาพัฒนาด้วยตัวเขาเอง เขาไม่อยากให้สิ่งนี้ตกไปอยู่ในมือของอเมริกา และ ByteDance ยังเป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม โต่วอิน (Douyin) ในจีนด้วย เขายอมหัก ไม่ยอมงอ เไม่ได้เห็นแก่เงิน ไม่ใช่หน้าเงินเหมือนนักลงทุนคนอเมริกา


ท่าทีต่าง ๆ เช่นนี้ ทำให้คนทั่วทั้งโลกมองการมาเยือนจีนครั้งนี้ของ นางเยลเลน และ บลิงเคน ว่าไม่ได้พยายามทำตัวเป็น “แขกผู้มาเยือนทั่ว ๆ ไป” แต่เป็นพฤติกรรม “นักเลงหลงยุค” คิดว่าตัวเอง “เจ้าอาณานิคม” ที่ยังยึดติดกับแนวคิด “ข้าคือผู้ชนะเพียงหนึ่งเดียว” คิดทุกอย่างว่าเป็น “ซีโร่ซัมเกม” เหมือนสมัยยุคสงครามเย็น

ทัง้นี้ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ สร้างวาทกรรมว่า จีนใช้นโยบายที่ไม่เป็นธรรม และไม่เป็นไปตามกลไกตลาด เพื่อสร้างความได้เปรียบให้ผู้ผลิตของจีน จนทำให้มี “กําลังการผลิตล้นเกิน” หรือ Overcapacity ที่บิดเบือนเศรษฐกิจโลก โดยมุ่งเป้าไปที่ 3 อุตสาหกรรมใหม่ของจีน คือรถยนต์ไฟฟ้า, แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์


วาทกรรม“กําลังการผลิตล้นเกิน”สะท้อนความวิตกกังวลของชาติตะวันตกว่า จะไม่สามารถแข่งขันกับจีนได้ในอุตสาหกรรมใหม่เหล่านี้ จึงต้องป้ายสีจีน เพื่อขัดขวางความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมของจีน และเปิดทางให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมกับจีน ภายใต้ข้ออ้างว่า“รัฐบาลจีนอุดหนุนการผลิตอย่างไม่เป็นธรรม”

ทั้ง ๆ ที่ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา จีนวางยุทธศาสตร์ในการใช้ อุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นตัวพลิกเกม หรือ Game Changer เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ปลดล็อกการพึ่งพา เชื้อเพลิงฟอสซิล และเปโตรดอลลาร์ ซึ่งเป็นฐานอำนาจสำคัญของสหรัฐฯ


ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังต้องการ“ผลิตภัณฑ์สีเขียว”อย่างมาก จึงไม่สมเหตุสมผลที่จะอ้างว่ามี“กําลังการผลิตล้นเกิน” กับ สินค้าจีนที่มีราคาถูกกว่า ก็เพราะมีศักยภาพในการแข่งขันมากกว่า ทั้งที่“การค้าเสรี และ การเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน” นี้ก็เป็นหลักการพื้นฐานของทุนนิยมที่ชาติตะวันตกยึดถือ และบีบบังคับให้ทุกประเทศบนโลกนี้ใช้

ด้วยเหตุนี้แทนที่จะ สร้างวาทกรรมเพื่อกีดกันจีน สหรัฐฯ และชาติตะวันตก ต่างหากที่สมควรจะพิจารณาตัวเองว่า เหตุใดจึงไม่สามารถที่จะสร้างการแข่งขัน ที่ตอบรับกับความต้องการทั้งภายในประเทศและทั่วโลกได้ ?

ถ้าสหรัฐฯ แข่งขันกับจีนอย่างแฟร์ ๆ และใช้ห่วงประโยชน์จากโซ่อุปทานของจีน เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งสองชาติสามารถชนะไปด้วยกันได้ และความร่วมมือของทั้ง 2 ชาติ ก็จะเป็นประโยชน์กับทั้งโลกด้วย

บลิงเคนพูดทุกเรื่อง ที่จีนไม่อยากฟัง


สำหรับ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ที่เดินทางมาประเทศจีนหลังจากนางเยลเลนประมาณ 2 สัปดาห์ ก็เริ่มต้นด้วยการแสดงความปลิ้นปล้อน ด้วยการกล่าวหาจีนในเวที G-7 ที่อิตาลี ที่เขาไปร่วมประชุมก่อนหน้าว่า จีนสนับสนุนรัสเซียให้รุกรานยูเครน และยังกล่าวถึงเรื่องของสิทธิมนุษยชนในซินเจียงด้วย

ในช่วงเวลาเดียวกัน ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังได้ลงนามในกฎหมายมาตรการช่วยเหลือต่างชาติชุดใหม่ ซึ่งรวมถึงความช่วยเหลือให้แก่ไต้หวัน รวมทั้งกฎหมายที่บังคับให้บริษัท Bytedance ของจีน ต้องขายหุ้นทั้งหมดใน TikTok ภายในระยะเวลาหนึ่งปี ไม่เช่นนั้นแอปพลิเคชัน TikTok จะถูกแบนห้ามใช้ในสหรัฐฯ อย่างถาวร นอกจากนี้ ไบเดนยังประกาศจะเก็บภาษีเพิ่มเติมกับเหล็กและอลูมิเนียมจากประเทศจีนด้วย

นอกจากนี้ ก่อนจะออกเดินทางมาจีน นายบลิงเคนยังกระพือประเด็นที่ว่า จีนให้การสนับสนุนรัสเซียทางการค้า ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย และยังขู่ว่า สหรัฐฯ กำลังพิจารณาที่จะขับจีนออกจากระบบชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ S.W.I.F.T. อีกด้วย

แต่พอเดินทางมาถึงจีน จริง ๆ ระหว่างการแถลงข่าว บลิงเคนกลับแสดงความกลับกลอก ด้วยการพูดแค่ว่าสหรัฐฯ และยุโรป กังวลเรื่องความสัมพันธ์ของจีนกับรัสเซียและบอกว่า “สหรัฐเตรียมพร้อมที่จะใช้มาตรการคว่ำบาตร” แต่ไม่กล้าพูดถึงเรื่อง S.W.I.F.T. และ ไม่เปิดเผยด้วยว่า “มาตรการคว่ำบาตร” ที่เขากล่าวถึงก่อนหน้านี้คืออะไร?

เหตุผลที่นายบลิงเคนไม่กล้าพูดเรื่องคว่ำบาตรจีน ก็เพราะฝ่ายจีนทำตามที่ยืนยันมาตลอดว่าไม่สนับสนุนทั้งรัสเซีย และยูเครน, จีนไม่เคยส่งอาวุธให้ทั้ง 2 ฝ่าย และยังได้ทั้งยังเสนอแผนสันติภาพเพื่อหาทางออกให้กับความขัดแย้งอีกด้วย และแม้แต่ทางฝั่งยูเครนเองก็ไม่ปฏิเสธที่จะคุยกับจีน

ถอดรหัสคำพูด “สี จิ้นผิง” กับ “บลิงเคน”


ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังเปิดโอกาสพบปะกับ นายแอนโทนี บลิงเคน ใน วันศุกร์ที่ 26 เมษายน 2567 ทั้ง ๆ ที่ไม่จำเป็นต้องพบก็ได้แค่ให้คุยกับ นายหวัง อี้ รมว.ต่างประเทศจีน และ นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ก็พอ โดยระหว่างการพบปะ สี จิ้นผิง ได้กล่าวกับนายบลิงเคนในหลาย ๆ ประเด็นที่มีนัยยะสำคัญอย่างยิ่ง คือ

หนึ่ง สีจิ้นผิงบอกว่า“จีนยินดีที่จะได้เห็นสหรัฐฯ เชื่อมั่นในการเปิดกว้าง และพัฒนาความเจริญรุ่งเรือง ขณะเดียวกันคาดหวังว่าสหรัฐฯ จะมองการพัฒนาของจีนในเชิงบวกเช่นกัน”

นัย ของคำกล่าวนี้ คือสีจิ้นผิงต้องการสื่อว่า สหรัฐฯ ควรจะยึดมั่นในเรื่องการเปิดกว้าง และความร่วมมือสร้างความรุ่งเรือง ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญของระบบทุนนิยมประชาธิปไตย แต่สิ่งที่สหรัฐฯ ทำอยู่ในตอนนี้ คือ ใช้มาตรการกีดกัน-ปิดล้อมจีน, สร้างกลุ่มพันธมิตรของตัวเอง เพื่อจำกัดความเจริญรุ่งเรืองเอาไว้เฉพาะในกลุ่มของตน

สอง สี จิ้นผิงบอกว่า “จะต้อง ติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง เพื่อความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ที่มีเสถียรภาพ มีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้น และสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างแท้จริง”


นัยของคำกล่าวนี้ คือสหรัฐฯ จะต้อง“ปรับทัศนคติ”ที่มีต่อจีน การเติบใหญ่ของจีนนั้นไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ สหรัฐฯ จึงไม่ควรจะใช้ทัศนคติสมัยสงครามเย็นกับประเทศจีน ทัศนคติที่เท่าเทียมและถูกต้องที่มีต่อกันก็คือ“กระดุมเม็ดแรก”ที่ต้องกลัดให้ถูกเสียก่อน จึงจะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้


สาม สีจิ้นผิงกล่าวว่า“จีนยินดีที่จะร่วมมือ แต่ว่าความร่วมมือกันก็ต้องเกิดขึ้นจากทั้งสองฝ่าย จีนไม่ได้กลัวการแข่งขัน แต่ว่าจะต้องแข่งกันอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่การกำจัดคู่แข่งให้สิ้นไป หรือ ซีโร่ซัมเกม จีนยืนยันหลักการ ว่าจะต้องไม่รวมกลุ่มกันเพื่อสกัดกั้นชาติใดชาติหนึ่ง เพราะทุกประเทศสามารถที่จะมีเพื่อน และพันธมิตร แต่ว่าไม่ใช่เพื่อที่จะกีดกันและทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง”

นัยของคำกล่าวนี้ คือจีนและสหรัฐฯ ควรเป็นหุ้นส่วนมากกว่าคู่แข่ง ช่วยเหลือกันมากกว่าทำร้ายอีกฝ่าย แสวงจุดร่วมสงวนจุดต่าง พิสูจน์ว่ายึดมั่นตามคำพูด ไม่ใช่พูดอย่างทำอย่างโดยสีจิ้นผิงเสนอ 3 หลักการ ได้แก่

1.การเคารพซึ่งกันและกัน
2.การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และ
3.ความร่วมมือที่ทุกฝ่ายได้ประโยชน์

สี่ ประธานาธิบดี สีจิ้ นผิงเน้นย้ำว่า “โลกกว้างใหญ่เพียงพอสำหรับการพัฒนาร่วมกัน และความเจริญรุ่งเรืองของแต่ละฝ่าย พร้อมกล่าวถึงการพบปะกับประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในนครซานฟรานซิสโกเมื่อปีก่อน”


นัยของคำกล่าวนี้ คือการทวงสัญญา ที่ไบเดนเคยให้ไว้กับสีจิ้นผิงในการพบกันที่การประชุมเอเปคซัมมิท ณ นครซานฟรานซิสโก เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งไบเดนรับปากว่า
-สหรัฐฯ จะยึดมั่นในนโยบายจีนเดียว
-ไม่ได้มีทัศนะที่เห็นว่าจีนเป็นปฏิปักษ์ และ
- ไม่มีเจตนาขัดขวางการพัฒนาของจีน

แต่พอลับหลังการประชุม APEC สหรัฐฯ กลับทำตรงข้ามกับที่พูดทุกอย่างเลย

นอกจากนี้ สี จิ้นผิง ยังกล่าวทิ้งท้ายในการพบปะกับนายบลิงเคนด้วยว่า ยังคงมีหลายประเด็นที่ต้องจัดการแก้ไขด้วยความพยายามเพิ่มเติม โดยการเยือนจีนครั้งนี้ของ บลิงเคนเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดีไบเดนกับเขาในการสนทนาทางโทรศัพท์เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน....และหวังว่าการเดินทางมาครั้งนี้ของนายบลิงเคนจะ “ไม่เสียเที่ยว”


สรุป :การเยือนประเทศจีนของ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ และ นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ จะ“ไม่เสียเที่ยว”อย่างที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวเอาไว้เป็นนัยหรือไม่ ?

ทั้งนี้นางเยลเลน และ นายบลิงเคน อาจจะใคร่ครวญจากประสบการณ์ในการการเดินทางมาประเทศจีนครั้งล่าสุด ซึ่งทั้งคู่ไม่ได้บินตรงมายังกรุงปักกิ่ง โดยนางเยลเลนลงเครื่องที่เมืองกว่างโจวส่วนนายบลิงเคน ลงเครื่องที่นครเซี่ยงไฮ้

ท่านผู้ชมคงทราบแล้วว่า ทั้งเซี่ยงไฮ้ และกว่างโจว แม้ไม่ใช่เมืองหลวงหรือศูนย์กลางการปกครองของประเทศจีน แต่ทั้ง 2 เมือง คือตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จสูงสุดจากนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศของจีน


เซี่ยงไฮ้เปลี่ยนจากเมืองที่เคยเป็นเสมือน “เขตเช่า-กึ่งเมืองขึ้น” ของชาติตะวันตก ถึงขนาดที่ในอดีตเมื่อเกือบร้อยปีที่แล้วมีป้ายหน้าสวนสาธารณะแห่งหนึ่งในว่า “ห้ามสุนัข และคนจีนเข้า” กลายมาเป็นมหานครนานาชาติแถวหน้าของโลกได้ในทุกวันนี้


ส่วนกว่างโจวก็เป็นเมืองสำคัญจากเติบโตขึ้นจากการค้าขายกับต่างประเทศ จนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในประเทศจีน

จีนที่ปกครองด้วยระบอบสังคมนิยม แต่ว่ากลับสร้างความสำเร็จจากการเปิดกว้าง และพัฒนาความเจริญรุ่งเรือง ย้อนแย้งกับสหรัฐฯ ในทุกวันนี้ ที่ปิดกั้น กีดกัน คว่ำบาตร ประเทศอื่น ไม่ให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นมา

นายบลิงเคนยังได้ไปชมการแข่งขันบาสเกตบอลอาชีพของจีน หรือ CBA ระหว่างทีม เซี่ยงไฮ้ ชาร์ก (Shanghai Sharks) และ เจ้อเจียง โกลเด้น บูลส์ (Zhejiang Golden Bulls) , ไปเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก วิทยาเขตเซี่ยงไฮ้ และก่อนจะเดินทางกลับยังได้แวะไปซื้อแผ่นเสียง ที่ร้านแผ่นเสียงในกรุงปักกิ่งด้วย


ทั้งนี้ บาสเกตบอล นั้นเป็นเสมือนกีฬาประจำชาติของสหรัฐฯ แต่กลับได้รับความนิยมในประเทศจีนอย่างมาก, ส่วนการไปเยือน มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก วิทยาเขตเซี่ยงไฮ้ ก็แสดงว่าจีนอนุญาตให้มหาวิทยาลัยของสหรัฐฯ มาเปิดวิทยาเขตในเมืองจีนได้ , ขณะที่ตัวแผ่นเสียงคิดค้นขึ้นในสหรัฐฯ แต่ก็มีวางขายในประเทศจีนจนถึงทุกวันนี้

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า จีนไม่ได้ปฏิเสธ หรือ กีดกัน วัฒนธรรม, ความรู้, ภูมิปัญญา หรือ เทคโนโลยี ของชาติตะวันตก แต่จีนเปิดรับสิ่งที่คิดแล้วว่ามีประโยชน์ สร้างการพัฒนาประเทศและประชาชนได้ ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่สหรัฐฯ ทำอยู่ในทุกวันนี้

นอกจากนี้คล้อยหลังจากที่นายบลิงเคนมาเยือนจีนได้เพียง 1-2 วัน นายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของเทสลา บริษัทรถ EV ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ และของโลก ก็ยังมาเยือนประเทศจีนแบบไม่แจ้งกำหนดการล่วงหน้า ทั้งยังมีโอกาสได้เข้าพบกับนายหลี่ เฉียง นายกฯ จีนในวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายนที่ผ่านมาด้วย


“รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้พบกับนายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง เรารู้จักกันมานานหลายปีแล้ว ตั้งแต่ตอนที่เทสลาเปิดโรงงานในเซี่ยงไฮ้ช่วงแรกๆ” มัสก์ โพสต์ข้อความผ่าน X พร้อมกับแนบภาพถ่ายขณะเข้าพบนายกฯ จีน

โดยก่อนหน้านี้ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเทสลาเคยระบุว่า โรงงานในจีนของเทสลาไม่เพียงเป็นโรงงานที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลก แต่ยังมีคุณภาพดีที่สุดอีกด้วย


จากคำเปรียบเปรยของ นายสี จิ้นผิง และประสบการณ์ในการมาเยือนจีนรอบนี้ของทั้งนางเยลเลน และนายบลิงเคน ถ้าผู้แทนสหรัฐฯ ทั้งสองคน ที่เดินทางมาเมืองจีนหลายครั้งหลายหนแล้ว ยังคิดไม่ได้ ก็คงจะต้องบอกว่า การเดินทางมาจีนรอบนี้ อีกรอบ ก็คงจะเป็นเรื่องที่“มาเสียเที่ยว”จริง ๆ


กำลังโหลดความคิดเห็น