มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้เผยรายงานสถานการณ์ป่าไม้ไทย ปี 2566-2567 พบลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ
วันนี้ (2 พ.ค.) เพจ “มูลนิธิสืบนาคะเสถียร” ได้เผยรายงาน “สถานการณ์ป่าไม้ไทย ปี 2566-2567 ป่าไม้ กล่าวคือ สังคมของพืชทุกชนิดและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่อาศัยและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่า เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา แมลง สัตว์ป่าชนิดต่างๆ รวมถึงสิ่งไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ดิน แม่น้ำ ภูเขา ซากพืช ซากสัตว์ ซึ่งพื้นที่ป่าไม้ถือว่าเป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้เกิดการหมุนเวียนและแลกเปลี่ยนของระบบนิเวศ หรือกล่าวอีกนัย สังคมของพืชและสิ่งมีชีวิตในป่ามีลักษณะคล้ายกับสังคมของมนุษย์ ที่มีทั้งการแก่งแย่งแข่งขัน (Competition) เพื่อให้มีชีวิตอยู่รอด มีการเกิดใหม่และทดแทน (Succession) เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ของตน มีการพึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้ได้ประโยชน์เอื้ออำนวยต่อกัน จนก่อให้เกิดเป็นระบบนิเวศหนึ่งๆ ได้
ประโยชน์ของป่าไม้ แบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ประโยชน์ทางตรง และประโยชน์ทางอ้อม ประโยชน์ทางตรง เช่น เนื้อไม้ เชื้อเพลิง วัตถุทางเคมี อาหาร ยารักษาโรค เส้นใยจากเปลือกไม้หรือเถาวัลย์ ชันน้ำมันและยางไม้ อาหารสัตว์ ฝาดฟอกหนัง และสีธรรมชาติ รวมทั้งการกักเก็บคาร์บอนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ
ประโยชน์ทางอ้อม เช่น ป่าไม้ทำให้น้ำไหลอย่างสม่ำเสมอตลอดปี ช่วยบรรเทาความรุนแรงของลมพายุ ป้องกันการพังทลายของดิน ช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ให้ความชุ่มชื้น เป็นแหล่งรวบรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยรักษาคุณภาพของอากาศ รวมถึงช่วยรักษาอุณหภูมิของโลกได้
จากปี 2566 ถึงปี 2567 พบว่าผืนป่าของไทยลดลงมากที่สุดในรอบ 10 ปี มีการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 317,819.20 ไร่ จากปี 2565 ที่มีพื้นที่ป่าไม้เหลือ 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.57% ของพื้นที่ประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้ “101,818,155.76 ไร่ หรือคิดเป็น 31.47%” ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งมีพื้นที่ป่าไม้ที่ยังคงสภาพไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งหมด 101,627,819.86 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นพื้นที่ป่าไม้อีก 190,335.90 ไร่
สัดส่วนพื้นที่ป่าไม้แบ่งตามรายภูมิภาค มีดังนี้
ภาคกลาง มีพื้นที่ป่าไม้ 12,263,466.16 ไร่ หรือ 21.55% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 15,608,130.07 ไร่ หรือ 14.89% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 87,575.79 ไร่
ภาคตะวันออก มีพื้นที่ป่าไม้ 4,703,353.52 ไร่ หรือ 21.82% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 7,874.77 ไร่
ภาคตะวันตก มีพื้นที่ป่าไม้ 20,033,806.37 ไร่ หรือ 58.86% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 49,667.70 ไร่
ภาคใต้ พื้นที่ป่าไม้ 11,232,880.27 ไร่ หรือ 24.34% ของพื้นที่ภูมิภาค เพิ่มขึ้นจากปี 2565 เท่ากับ 8,395.32 ไร่
ภาคเหนือ มีพื้นที่ป่าไม้ 37,976,519.37 ไร่ หรือ 63.24% ของพื้นที่ภูมิภาค ลดลงจากปี 2565 เท่ากับ 171,143.04 ไร่
ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ ได้มีการนำเทคนิคการซ้อนทับข้อมูลในระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) เข้ามาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมแต่ละปี โดยทำให้สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าไม้ได้ 3 รูปแบบ คือ 1. พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น 2. พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง และ 3. พื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
พื้นที่ป่าไม้ที่เพิ่มขึ้น สาเหตุหลัก ได้แก่ การขยายตัวของพื้นที่ป่าไม้ตามธรรมชาติ (Natural Forest Expansion) การปลูกป่าเพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ เช่น สวนป่า (Plantation) หรือการปลูกป่าเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายของต้นไม้และสิ่งมีชีวิต
พื้นที่ป่าไม้ที่ลดลง สาเหตุหลัก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land Use Change) จากพื้นที่ที่มีสภาพเป็นป่าไปเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือเกิดจากปัญหาไฟป่าที่มีความรุนแรงขึ้น (Forest Fire)
นอกจากนี้ ยังมีสถานการณ์ความร้อนในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่ของป่าผลัดใบและสวนป่าเกิดการร่วงหล่นของใบเป็นอย่างมาก ถือเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าไม้
คลิกอ่านโพสต์ต้นฉบับ