xs
xsm
sm
md
lg

พบความเชื่อมโยง 2 โกดังเก็บสารเคมีไฟไหม้ เอกอุทัย ภาชี – วิน โพรเสส ระยอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

1 พ.ค. 2567 ไฟไหม้โกดังเก็บถังสารเคมี อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งถูกอายัดไว้เป็นของกลางในคดีครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต ... โดยที่นี่มีผู้เช่า 5 โกดัง ทั้งหมดถูกใช้เพื่อลักลอบเก็บ (หรือทิ้ง) ถังสารเคมีรวมประมาณ 4,000 ตัน และถูกไฟไหม้ไป 2 โกดัง


Keyword : เอกอุทัย

มีข้อมูลสำคัญ คือ โกดังภาชี ถูกเช่าโดยเอกชนรายหนึ่ง โดยไม่ได้แจ้งเจ้าของโกดังว่าจะนำมาใช้เก็บถังสารเคมีอันตราย ... แต่ต่อมาถูกจับได้ว่า มีถังสารเคมีซึ่งเป็นกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมจำนวนมากถูกขนย้ายมาเก็บไว้ที่นี่ ในระหว่างการตรวจสอบ มีรายงานยืนยันจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2566 ด้วยว่า รถบรรทุกขนส่งของเสียอันตรายที่ถูกยึดไว้เป็นของ “บริษัท เอกอุทัย จำกัด” ซึ่งเป็นผู้ประกอบการในกิจการรับบำบัดและกำจัดของเสีย มีที่ตั้ง 3 สาขา คือ สาขาอุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา, สาขากลางดง จ.นครราชสีมา และสาขาศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
















ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุเพิ่มเติมว่า รถบรรทุกดังกล่าว ยังนำของเสียจากโกดังภาชีไปลักลอบทิ้งที่ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ด้วย และเมื่อสอบสวนขยายผลแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของโกดัง ผู้เช่า ในข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต เพราะโกดังนี้ไม่มีสภาพเป็นโรงงาน รวมทั้งแจ้งดำเนินคดีกับ บริษัท เอกอุทัย ในในนามของนิติบุคคล และในนามของกรรมการบริษัทด้วย


Keyword : วิน โพรเสส - โอภาส

22 เมษายน 2567 ไฟไหม้โกดังที่มีสถานภาพเป็นโรงงาน บริษัท วิน โพรเสส จำกัด อ.บ้านค่าย จ.ระยอง หลังโรงงานแห่งนี้ถูกตรวจพบว่าเป็นสถานที่สำคัญของการนำกากของเสียอันตรายหลากหลายชนิดมาลักลอบทิ้งไว้จำนวนมหาศาล และถูกประชาชนในพื้นที่ต่อต้านและตรวจสอบมาตั้งแต่กลางปี 2563 กระทั่งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 มีผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของ วิน โพรเสส ณ ขณะนั้น ชื่อ “โอภาส บุญจันทร์” พาสื่อมวลชนเข้าไปดูในโรงงาน และให้สัมภาณ์ประกาศ “เลิกกิจการ” ไปเอง ก่อนที่จะถูกสั่งปิด
 
เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าบุคคลนี้ มีความเกี่ยวข้องกับ วิน โพรรเสส จริง ... จึงไปตรวจสอบ ...

รายการเปลี่ยนแปลงกรรมการ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด

29 ตุลาคม 2550 – จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กรรมการ 2 คน นามสกุลบุญจันทร์

18 กุมภาพันธ์ 2551 – โอภาส บุญจันทร์ เข้าเป็นกรรมการ

18 ธันวาคม 2551 – โอภาส บุญจันทร์ ออกจากกรรมการ

17 กุมภาพันธ์ 2552 - โอภาส บุญจันทร์ เข้าเป็นกรรมการ

2 กรกฎาคม 2563 – โอภาส บุญจันทร์ ออกจากกรรมการ – วันเดียวกับที่ประกาศเลิกกิจการ

ปัจจุบัน - โอภาส บุญจันทร์ กลับเข้าเป็นกรรมการ

Keyword : เอกอุทัย ศรีเทพ - วิน โพรเสส – โอภาส

หลังเกิดเหตุไฟไหม้โกดังเก็บถังกากของเสียอันตราย 2 แห่ง อย่างรุนแรงในช่วงเวลาต่อเนื่องกัน จากโรงงานวิน โพรเสส จ.ระยอง มาถึง โกดังของกลางที่ถูกอายัด อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ทำให้มีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้กับโรงงานงานกลุ่มนี้ ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความเชื่อมโยงกันระหว่าง 2 บริษัท คือ เอกอุทัย และ วิน โพรเสส ผ่านหลักฐานหลายชิ้น

หลักฐาน 1 – ที่มาของโรงงานเอกอุทัย สาขาศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์


อย่างที่ให้ข้อมูลไปแล้วว่า โรงงานในกลุ่มบำบัดและกำจัดของเสีย บริษัท เอกอุทัย มีทั้งหมด 3 สาขา คือ อุทัย กลางดง และศรีเทพ ...


มาโฟกัสไปที่ “ศรีเทพ” โรงงานลำดับที่ 105 – หลุมฝังกลบ “ของเสียไม่อันตราย” ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่ระหว่างทางเข้าสู่พื้นที่มรดกโลกแห่งใหม่ อุทยานศรีเทพ และถูกร้องเรียนถึงกลิ่นเหม็นรุนแรงทุกวัน ถูกร้องเรียนว่ามีควันสีเหลืองลอยขึ้นมาจากหลุมฝังกลบ จนในที่สุดถูกตรวจพบว่า แอบลักลอบฝังกลบ “ของเสียอันตราย” เป็นอีกแห่งที่ต้องหยุดและติดป้ายขายกิจการ


เมื่อตรวจสอบเอกสารย้อนหลัง จะพบว่า ที่ตั้งของโรงงานนี้ เดิมได้รับการออกใบอนุญาตเป็น โรงงานลำดับที่ 105 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2545 ให้กับ บริษัท โช้วกิมฮวด ดิซโพส เวซท์ 1999 จำกัด ประกอบกิจการคัดแยกหรือฝังกลบสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว เฉพาะที่มีลักษณะตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม


และเมื่อไปดูเอกสารแนบท้าย ก็จะพบว่า โรงงานแห่งนี้ ถูกเปลี่ยนมือไปอีก 2 ครั้ง คือ ...

28 ตุลาคม 2558 บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ขอรับโอนใบอนุญาตจากบริษัท โช้วกิมฮวด ดิซโพส เวซท์ 1999 จำกัด

อีก 3 เดือนต่อมา ... 27 มกราคม 2559 บริษัท เอกอุทัย จำกัด ขอรับโอนใบอนุญาตจาก บริษัท วิน โพรเสส จำกัด

จาก ... วิน โพรเสส ไปที่ เอกอุทัย !!


หลักฐาน 2 - โอภาส เข้าร่วมประชุมไตรภาคีในฐานะตัวแทน เอกอุทัย ศรีเทพ


ยังไม่จบแค่นั้น เมื่อบริษัม เอกอุทัย สาขาศรีเทพ ถูกประชาชนในพื้นที่ร้องเรียนจนหน่วยงานรัฐในพื้นที่ต้องตั้ง “คณะกรรมการไตรภาคี” ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานรัฐ โรงงาน และประชาชนผู้ได้รับผลกระทบขึ้นมาแก้ปัญหา


ในการประชุม คณะกรรมการไตรภาคีเพื่อติดตามตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการประกอบกิจการของ บริษัท เอกอุทัย จำกัด ลงวันที่ 22 กันยายน 2563 ในรายงานการประชุม พบชื่อ “โอภาส บุญจันทร์” เข้าร่วมประชุม ในสถานะ “เจ้าหน้าที่บริษัทเอกอุทัย”

น่าสนใจ เมื่อเจ้าของกิจการ วิน โพรเสส ระยอง ... มาเข้าร่วมประชุม ในฐานะเจ้าหน้าที่ เอกอุทัย ศรีเทพ

หลักฐาน 3 - เอกอุทัย และ วิน โพรเสส ใช้ทนายความทีมเดียวกัน


หลักฐานนี้เป็นคำยืนยันของ ชำนัญ ศิริรักษ์ ซึ่งเป็นทนายความให้กับผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานวิน โพรเสส จ.ระยอง และผู้ได้รับผลกระทบจากโรงงานเอกอุทัย จ.เพรชบูรณ์

ทนายชำนัญ เป็นหนึ่งในคนที่ช่วยยืนยันได้ว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อแก้ปัญหาที่ศรีเทพ มีนายโอภาส บุญจันทร์ เข้าร่วมการประชุมด้วยบางครั้งในนามตัวแทนของบริษัทเอกอุทัย

และยังยืนยันได้ด้วยว่า ในการต่อสู้คดีกับทั้งบริษัท วิน โพรเสส และบริษัทเอกอุทัยอีกหลายคดี ทั้งสองบริษัทใช้ทีมทนายความเป็นชุดเดียวกัน

หลักฐาน 4 - รถเอกอุทัย ถูกใช้ขนย้ายของเสียที่ วิน โพรเสส


นับตั้งแต่ถูกติดตามตรวจสอบจากชาวบ้าน มูลนิธิบูรณะนิเวศ และสื่อมวลชน จนบริษัท วิน โพรเสส ต้องประกาศเลิกกิจการไป ... ก็มีความพยายามหลายครั้ง ที่จะขนย้ายกากของเสียอันตรายออกไปเอง โดยที่ยังไม่มีการทำสัญญากับบริษัทรับกำจัดของเสียอันตราย ซึ่งทุกครั้งก็จะถูกปยับยั้งจากชาวชุมชนหนองพะวา เพราะชาวบ้านไม่ต้องการให้โรงงานนำของเสียเหล่านี้ไปลักลอบทิ้งที่อื่นได้อีก






และเช่นเดียวกัน มีหลายครั้งที่ชาวหนองพะวา สามารถบันทึกภาพรถที่จะถูกนำมาขนของออกไปไว้ได้ และบนรถก็มักจะมีชื่อ เอกอุทัย หรือบางคันมีอักษร AEK ปรากฎอยู่

ยิ่งน่าสนใจเมื่อมีข้อเท็จจริงที่ว่า รถขนส่งของเสียอันตรายทุกคัน รวมทั้งรถเหล่านี้ จะต้องขึ้นทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม และต้องติดตั้ง GPS ระบุตำแหน่งทุกคัน

แต่ทำไม ของเสียอันตรายเหล่านี้ ถูกขนย้ายโดยใช้รถที่ขึ้นทะเบียนแล้ว นำของผิดกฎหมายมาที่วิน โพรเสส นำของไปที่โกดังภาชีได้อย่างไร โดยที่เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ล่วงรู้ ??

แน่นอนว่า การเกิดเพลิงไหม้โกดังเก็บถังสารเคมีซึ่งล้านแต่เป็นของกลางในคดีที่ถูกอายัดไว้ถึง 2 แห่ง ใน 2 สัปดาห์ต่อเนื่องกัน เป็นเรื่องที่ต้องคิ้นหาความจริงไปถึงส้เหตุของการเกิดเพลิงให้เร็วที่สุด

แต่ยังมีสิ่งที่หน่วยงานของรัฐ และฝ่ายบริหารในรัฐบาลควรต้องให้ความสำคัญมากกว่าการกดดันอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมต้องลาออก และรับผิดชอบไปแต่เพียงผู้เดียว ... นั่นคือ ต้องค้นหาเชิงลึกเข้าไปให้ถึงเครือข่ายโยงใยของ “ขบวนการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตราย” ที่ใช้ช่องทางของอำนาจรัฐ ละเว้น ละเลย ลดต้นทุนค่ากำจัดของเสีย จนมีนร่ำรวยอยู่บนความเดือดร้อนของชาวบ้านหลายพื้นที่ และกำลังจะตามมาในอีกหลายพื้นที่

เอกสารเชื่อมโยงความสัมพันธ์เหล่านี้ ... องค์กรพัฒนาเอกชน ชาวบ้าน สื่อมวลชน ยังหาเจอและนำมาตีแผ่ได้

เจ้าของข้อมูลที่มีเอกสารทุกแผ่นครบถ้วนอยู่ในระบบ ทำไมถึงหาไม่เจอ ทำไมถึงไม่นำมาใช้ทำลายขบวนการเลวร้ายพวกนี้ให้สิ้นซากไป
กำลังโหลดความคิดเห็น