xs
xsm
sm
md
lg

สนามบินโกตาบารูเปิดอาคารใหม่แล้ว เล็งถกบินตรงสู่สิงคโปร์-ไทย-อินโดฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ท่าอากาศยานสุลต่านอิสมาอิล เปตรา เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน มาเลเซีย ใกล้ชายแดนไทยเพียง 50 กิโลเมตร เปิดอาคารใหม่วันแรก สร้างด้วยงบประมาณ 440 ล้านริงกิต รองรับเที่ยวบินและผู้โดยสาร 4 ล้านคนต่อปี เล็งถกเพิ่มเส้นทางไปยังสิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย

วันนี้ (1 พ.ค.) เฟซบุ๊ก Malaysia Airports ของบริษัท มาเลเซีย แอร์พอร์ต โฮลดิ้ง (Malaysia Airports Holdings Berhad) ผู้บริหารท่าอากาศยาน 39 แห่งในประเทศมาเลเซีย เผยโฉมด้านในเคาน์เตอร์เช็กอิน อาคารหลังใหม่ของท่าอากาศยานสุลต่านอิสมาอิล เปตรา เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย ระบุว่า การขยายสนามบินโกตาบารู (KBR) เฟส 1 เสร็จสมบูรณ์แล้ว เดินทางอย่างง่ายดายด้วยป้ายบอกทางแบบใหม่ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและภูมิทัศน์ที่ได้รับการเปลี่ยนแปลง


ก่อนหน้านี้ สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ ประกาศเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป การให้บริการของสายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ในเมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน จะปฏิบัติการบินจากอาคารผู้โดยสารที่สร้างขึ้นมาใหม่ ที่สนามบินสุลต่านอิสมาอิล เปตรา (KBR) เคาน์เตอร์เช็กอินของมาเลเซียแอร์ไลน์ ตั้งแต่เคาน์เตอร์ 1 ถึง 4 ตั้งอยู่ที่ชั้นล่าง แนะนำให้ผู้โดยสารตรวจสอบหน้าจอแสดงข้อมูลเที่ยวบิน (FIDS) เพื่อดูรายละเอียดการเช็กอินแบบเฉพาะเจาะจง

ทั้งนี้ การให้บริการดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเวลาทำการของเคาน์เตอร์เช็กอิน ซึ่งจะเปิด 2 ชั่วโมงก่อนเวลาออกเดินทาง และจะปิดให้บริการ 60 นาทีก่อนเวลาออกเดินทาง ขอแนะนำให้ผู้โดยสารเช็กอินออนไลน์ผ่านแอปมือถือหรือเว็บไซต์ของสายการบิน เพื่อประหยัดเวลาที่สนามบิน นอกจากนี้ ยังเตือนผู้โดยสารให้อัปเดตรายละเอียดการติดต่อผ่าน 'การจองของฉัน' บนเว็บไซต์ของสายการบิน เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้รับข้อมูลอัปเดตทันเวลาทางอีเมลและ SMS

สำหรับท่าอากาศยานสุลต่านอิสมาอิล เปตรา มาจากชื่อของสุลต่านแห่งรัฐกลันตันคนที่ 28 เดิมคือสนามบินทหาร สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง กระทั่งหลังสงครามสงบลงกลายเป็นสนามบินพลเรือน โดยก่อสร้างอาคารผู้โดยสารขึ้น เรียกว่า ท่าอากาศยานเปงกาลัน เชปา (Pengkalan Chepa) แต่ภายหลังได้ย้ายไปยังอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ในปี 2545 เรียกว่า ท่าอากาศยานสุลต่านอิสมาอิล เปตรามาถึงปัจจุบัน ส่วนอาคารหลังเก่ากลายเป็นโรงเรียนการบิน


รัฐบาลมาเลเซียจัดสรรงบประมาณ 440 ล้านริงกิต หรือประมาณ 3,430 ล้านบาท ในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกและเพิ่มความจุอาคารผู้โดยสารจาก 1.5 ล้านคนต่อปี เป็น 4 ล้านคนต่อปี โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2570 นอกจากนี้ บริษัท มาเลเซีย แอร์พอร์ต โฮลดิ้ง กำลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการเพิ่มเส้นทางบินไปยังประเทศสิงคโปร์ ไทย และอินโดนีเซีย เนื่องจากไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ซึ่งต้องมีข้อกำหนดหลายประการ

ปัจจุบันมีเที่ยวบินให้บริการวันละประมาณ 30 เที่ยวบิน มีสายการบินให้บริการ ได้แก่ มาเลเซียแอร์ไลน์ ไฟร์ฟลาย บาติกแอร์ แอร์เอเชีย ไปยังปลายทางท่าอากาศยานนานาชาติกัวลาลัมเปอร์ (KUL) ท่าอากาศยานสุลต่าน อับดุล อาซิซ ชาห์ (SZB) กรุงกัวลาลัมเปอร์ และท่าอากาศยานนานาชาติปีนัง (PEN) รัฐปีนัง เป็นต้น อยู่ใกล้ชายแดนไทย-มาเลเซีย ได้แก่ ด่านเป็งกาลันกูโบ ตรงข้าม อ.ตากใบ จ.นราธิวาส 37 กิโลเมตร และด่านรันเตาปันจัน ตรงข้าม อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส 50 กิโลเมตร
กำลังโหลดความคิดเห็น