ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เผยภาพเปรียบเทียบหญ้าทะเล 810 ไร่ที่เกาะกระดาด จ.ตราด ระหว่างปี 2563 กับปี 2567 พบว่าในปี 2567 หญ้าทะเลตายหมดเกลี้ยง เผยหายนะโลกร้อนทะเลเดือดมาถึงเมืองไทยแล้ว
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" ของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ภาพเปรียบเทียบหญ้าทะเล 810 ไร่ที่เกาะกระดาด จ.ตราด ระหว่างปี 2563 กับปี 2567 พบว่าในปี 2567 หญ้าทะเลหายไปทั้งหมด โดยผู้โพสต์ระบุข้อความว่า "เมื่อ 3 วันก่อน ผมเขียนมินิซีรีส์ “จุดจบ” โดยทิ้งท้ายว่าจะมาเขียนบทอวสานเมื่อมาสำรวจพื้นที่
และบทอวสานก็มาถึงจริง แม้จะภาวนาไว้ แต่หญ้าทะเล 810 ไร่ที่เกาะกระดาด (ตราด) หายไปทั้งหมดเลย ทั้งหมดหมายความว่าหมดจริง ลองดูภาพเปรียบเทียบ ปี 2563 เห็นดงหญ้าสีดำกว้างใหญ่ กรมทะเลรายงานว่ามีหญ้า 6 ชนิด ความหนาแน่น 90% ของพื้นที่
วันนี้ คณะประมงมาสำรวจอีกครั้ง หญ้าไม่เหลือเลย
สีดำๆ ที่เห็นในภาพปี 67 คือเศษปะการังตายและสาหร่าย หญ้าทะเลเหลือเพียงไม่กี่ต้น กุดสั้น มองไม่เห็นจากโดรน ที่นี่ไม่มีพะยูน ไม่มีเต่ามากินหญ้า ไม่มีการขุดลอกร่องน้ำ ไม่มีการพัฒนาใดในระหว่างปี 63-67 จึงสรุปได้ว่าโลกร้อนทำให้ทะเลแปรปรวนถึงขีดสุด ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมามีหลายอย่างฆ่าหญ้าทะเล
สาเหตุหลักน่าจะมาจากน้ำลงต่ำผิดปรกติในช่วงปี 64-65 ทุกอย่างแห้งผาก ผิดจากวันนี้ที่แม้ในตารางน้ำบอกว่าลงเท่ากัน แต่ในความเป็นจริง น้ำปีนี้ไม่ลดต่ำเท่า 2-3 ปีก่อน แต่น้ำร้อนจี๋ ในบริเวณที่เคยมีหญ้า อุณหภูมิน้ำ 40 องศา ในทรายลึก 10 เซนติเมตร บริเวณที่รากหญ้าฝังอยู่ อุณหภูมิ 36 องศา ยังอาจเกี่ยวกับลมแรงมากในทิศทางผิดปรกติบางช่วง รวมถึงแนวปะการังที่เคยเป็นกำแพงกั้นคลื่น ทรุดโทรมจากปัญหาปะการังฟอกขาวซ้ำซ้อน ทำให้ไม่สามารถลดแรงคลื่นได้เหมือนเดิม
จะด้วยสาเหตุใดก็ตาม แหล่งหญ้าทะเล 810+ ไร่ ใหญ่สุดในแนวปะการังภาคตะวันออก เป็นที่อยู่ของปลาเกือบ 30 ชนิด ปูม้าเต็มไปหมด ตอนนี้แทบไม่เหลืออะไรสักตัว ปลาเอย ปูเอย หายหมด เหลือแต่ทรายโล้นๆ ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนของระบบนิเวศดีสุดในโลก ก็ไม่มีเหลือเช่นกัน สภาพกลับกลายเป็นพื้นทรายธรรมดา มันน่าเศร้าเมื่อคิดว่าหญ้าทะเลที่ช่วยเรากักเก็บคาร์บอนมาตลอด สุดท้ายก็สู้โลกร้อนไม่ไหว พ่ายแพ้ตายจนหมดสิ้น แล้วใครจะช่วยเราลดคาร์บอน โลกก็ยิ่งร้อนหนักขึ้นอีก
ผมไม่ทราบว่าอีกนานแค่ไหน หญ้าทะเลจะกลับมา แต่เราคงพยายาม ภารกิจนี้จึงไม่จบแค่สำรวจ ยังรวมถึงการทดลองหาพื้นที่พอฟื้นฟูได้ ทดลองปลูกเพื่อพัฒนาวิธีในอนาคต ฯลฯ เดี๋ยวจะมาเล่ารายละเอียดให้เพื่อนธรณ์ฟัง แต่ตอนนี้ขอไปตั้งสติก่อน เพื่อนธรณ์อยากรู้รายละเอียดมากขึ้น ย้อนไปอ่าน 3 วันก่อน ผมเขียนเรื่องจุดจบและจุดจบก็มาถึงจริงครับ นี่แหละครับคือหายนะโลกร้อนทะเลเดือดที่มาถึงเมืองไทยแล้ว ไม่ต้องรออีก 30-40 ปี มันเกิดขึ้นแล้วที่ตราด ที่ตรัง ที่กระบี่ และอีกบางที่ในทะเลไทย หญ้าทะเลของเราแย่มากแล้วครับ
หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ ช่วยให้เราตระหนักถึงความพินาศจากโลกร้อน ผลกระทบกับทะเล ภูมิอากาศ เศรษฐกิจปากท้อง และผู้คน อาจมีสักวันที่เราจะเอาจริงเรื่องโลกร้อนให้มากขึ้น เพื่อความหวังน้อยๆ ของเราและลูกเราครับ ขอบคุณ “บางจาก” และ “เครือข่ายอนุรักษ์เกาะหมาก” และเพื่อนธรณ์ ผู้ช่วยสนับสนุนมาตลอดครับ พี่สุวรรณ สำหรับภาพโดรนปี 63 ครับ"