ผลสอบสวนเหตุ “ร.ล.สุโขทัย” ล่ม จบแบบแฮปปี้เอ็นดิ้ง ให้เป็นความผิดของผู้บังคับการเรือเพียงคนเดียว รับโทษ “กัก” 15 วันแล้วลาออก ส่วนค่าเสียหายทางแพ่ง ชีวิตลูกเรือที่ตายไป 24 นายและสูญหายอีก 5 ไม่มีการพูดถึงว่าใครจะรับผิดชอบ งานนี้เป็นการฆ่าตัดตอนไม่ให้สาวไปถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองทัพเรือหรือไม่
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงโศกนาฏกรรมเรือรบหลวงสุโขทัยล่มเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 ในขณะที่ผู้บัญชาการทหารเรือคนปัจจุบัน คือ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
จากวันนั้นถึงวันนี้ กองทัพเรือใช้เวลาถึง 15 เดือน ในหาข้อสรุปเหตุการณ์โศกนาฏกรรมในครั้งนั้น เพราะเหตุดังกล่าวนอกจากทำให้เกิดความเสียหายมหาศาลแล้ว ยังเป็นเหตุให้กำลังพลกองทัพเรือเสียชีวิตมากมายถึง 24 นาย และ สูญหายหาไม่พบอีก 5 นาย ด้วยการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรือหลวงสุโขทัยอับปาง ที่มี พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร.(ปัจจุบัน ผู้ช่วย ผบ.ทร.)เป็นประธาน ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการ 2 คณะ โดยคณะอนุกรรมการ 2 คณะ เข้าสอบปากคำผู้รอดชีวิต 76 นาย หนึ่งในนั้น คือ "นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี" ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย
ส่วน พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.กร. เป็นประธานคณะกรรมการในการพิจารณากู้เรือหลวงสุโขทัย เปิดให้บริษัทเอกชนเข้ามาประมูล แต่สุดท้าย ได้เปลี่ยนจากการกู้เรือยกขึ้นมาทั้งลำ เป็นการกู้เฉพาะบางส่วน ภายใต้การปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายและปลดวัตถุอันตรายเรือหลวงสุโขทัยมาระหว่างกองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาใช้เวลา 19 วัน(ระหว่างวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ถึง 11 มีนาคม 2567)เพื่อเก็บกู้หลักฐาน เอกสาร ภาพถ่ายร่องรอยความเสียหายบนตัวเรือ จนนำไปสู่การเปิดเผยผลการสอบสวน
หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจการกู้เรือบางส่วนได้ราว 1 เดือน ในวันที่ 9 เมษายน 2567 พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้เปิดแถลงผลสอบสวนกรณี"เรือหลวงสุโขทัย"อับปางในทะเล จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่หอประชุมกองทัพเรือ โดยกองทัพเรือพยายามยกข้อมูล-หลักฐาน เพื่อชี้ให้สังคมเห็นว่า โศกนาฏกรรมดังกล่าวเกิดจากปัญหา สภาพดินฟ้าอากาศแปรปรวน และเรือก็ใกล้ปลดประจำการ เมื่อกระแทกวัตถุไม่ทราบชนิดในน้ำ เป็นปัจจัยสำคัญทำเรือล่ม นำไปสู่ความสูญเสีย
ทั้งนี้ กองทัพเรือก็ยืนยันว่าจำนวนชูชีพที่นำไปกับเรือนั้นมีเพียงพอโดยนำไปทั้งหมด 120 ตัว เกินกว่าจำนวนของผู้ที่โดยสารไปกับเรือเพียงแต่การประกาศให้กำลังพลที่โดยสารไปกับเรือมารับชูชีพหลายครั้งไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ทำให้เมื่อเกิดเหตุหลาย ๆ คนจึงไม่มีชูชีพใส่
พร้อมยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกับการซ่อมบำรุงเรือหลวงสุโขทัยซึ่งอยู่ในความดูแลของ "กองเรือยุทธการ" เพราะที่ผ่านมาได้รับการดูแลตามมาตรฐานครบถ้วน เรือมีความพร้อมออกปฏิบัติภารกิจในขณะนั้น และไม่มีการแทรกแซงการทำหน้าที่ของผู้การเรือหลวงสุโขทัยในช่วงเวลาเกิดเหตุ ตามที่มีข้อครหาก่อนหน้านั้นว่า “มีคำสั่งห้ามเรือจม”
กองทัพเรือยังมองว่า ความผิดพลาดที่สุดของผู้บังคับการเรือคือการตัดสินใจที่จะหันหัวเรือกลับอำเภอสัตหีบที่มีระยะทางไกลกว่า 300 กิโลเมตร ในภาวะที่เรือสูญเสียเครื่องจักรใหญ่หรือเครื่องยนต์ไปหนึ่งเครื่องเนื่องจากไม่ทำงาน และเริ่มมีน้ำเข้าเรือ นอกจากนั้นทะเลในช่วงที่มีการเดินทางยังมีความรุนแรงถึง Sea State 7 หรือคลื่น 6-7 เมตร ซึ่งเกินกว่าที่คุณสมบัติของเรือหลวงสุโขทัยจะรองรับได้ และทำให้เรือจมในที่สุด แทนเข้าเทียบท่าบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีระยะทางใกล้กว่าของผู้การเรือหลวงสุโขทัย เป็นการตัดสินใจผิดพลาด ไม่รอบคอบ เป็นสาเหตุให้เกิดความสูญเสีย โดยทัพเรือภาค 1 เสนอให้ลงทัณฑ์ นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี ผู้บังคับการเรือหลวงสุโขทัย ด้วยการ “กัก" เป็นเวลา 15 วัน พร้อมเสนอกองทัพเรือให้ลงโทษทางวินัย
ส่วนความผิดด้านการละเมิด พบว่าเรือหลวงสุโขทัยอับปางไม่ได้เกิดจากความจงใจ ประมาท เลินเล่อร้ายแรง แต่เป็นเหตุสุดวิสัย จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง ส่วนความผิดทางอาญาอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอบางสะพานที่จะดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ในการแถลงข่าวดังกล่าว นาวาโท พิชิตชัย เถื่อนนาดี อดีตผู้การเรือหลวงสุโขทัย ได้กล่าวขอโทษต่อครอบครัวของกำลังพลที่เสียชีวิต พร้อมยอมรับการลงโทษจากผู้บังคับบัญชา และเมื่อเหตุการณ์ทุกอย่างสิ้นสุดแล้ว ขอแสดงความจำนง ลาออกจากกองทัพเรือ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น
คำถามที่สำคัญ ที่คนในสังคมล้วนแล้วแต่สงสัยเกี่ยวกับแถลงข่าวดังกล่าว ก็คือ เหตุใดผู้การเรือหลวงสุโขทัย ต้องรับผิดอยู่คนเดียว การออกจากราชการเพียงแค่คนเดียว จะเพียงพอหรือไม่ ?
เพราะประเด็นก็คือ เนื้อหาโดยสรุปของการแถลงผลการสอบสวนในวันนั้น แทนที่จะสร้างความกระจ่างให้กับสังคมและครอบครัวของผู้เสียชีวิต กลับสร้างความกังขาให้แก่ผู้คนจำนวนมากขึ้นมาแทน โดยเฉพาะสื่อมวลชน ต่างตั้งข้อสงสัยไปในทิศทางเดียวกันว่า
1.ผลการสอบสวนน่าจะมีการตั้งธงไว้แล้วว่า ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบการทำให้เรือจมก็คือ ผู้บังคับการ รล.สุโขทัย ที่ชื่อ นาวาโท พิชิตชัย ดังจะเห็นได้จากเนื้อหา ที่ ผบ.ทร. ย้ำแล้วย้ำอีกทั้ง
-เรืออยู่ในสภาพสมบูรณ์
-กำลังพลสามารถปฏิบัติหน้าที่แทนกันได้
-เสื้อชูชีพมีเพียงพอแต่เนื่องจากกำลังพลจากนาวิกโยธินและหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานรักษาฝั่งไม่คุ้นเคยกับเรือ จึงมีบางคนที่ไม่ทราบแน่ชัดว่า จะไปรับชูชีพได้ ณ จุดใด และบางคนก็ไม่ได้ยินเสียงประกาศ
-ส่วนการตัดสินใจนำเรือตลอดเวลาที่เกิดสถานการณ์คับขันเป็นอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บังคับการเรือแต่เพียงผู้เดียว ดังนั้นในท้ายที่สุดเมื่อเรืออับปางก่อนถึงที่หมายจึงถือเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาดของผู้บังคับการเรือแต่เพียงผู้เดียว
2.อย่างไรก็ตาม แม้จะผิดพลาดอย่างร้ายแรง ฉกาจฉกรรจ์ ทำคนตายไป 24 นาย สูญหายอีก 5 นาย ได้รับบาดเจ็บอีกมาก เรือมีมูลค่าหลายพันล้านบาท แค่ค่ากู้เรือก็ 100-200 ล้านบาทเข้าไปแล้ว แต่ผู้บังคับการเรือ ไม่ต้องรับผิดชอบทางแพ่งหรือชดใช้ค่าเสียหาย ?
3.นอกจากจะไม่ต้องชดใช้ทางแพ่งแล้ว ยังมีการลงโทษแค่ทางวินัยแบบจิ๊บจ๊อย ด้วยการโดน “กัก” เป็นเวลา 15 วัน … และปิดท้ายด้วย นาวาโทพิชิตชัย ผู้บังคับการเรือขอลาออก ???
การแถลงข่าว สิ้นสุดลงในลักษณะ Happy Ending สำหรับกองทัพเรือ โดยเฉพาะเหล่านายพลชั้นผู้ใหญ่ เพราะกองทัพเรือได้พูดในสิ่งที่ตัวเองอยากพูด แต่ไม่พูดในสิ่งที่สังคมอยากรู้
โดยเฉพาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “สายการบังคับบัญชา” ระหว่าง เรือหลวงสุโขทัย กับ ทัพเรือภาคที่ 1 และ ศูนย์ปฎิบัติการกองทัพเรือ หรือ ศปก.ทร.ซึ่งเป็นที่รู้กันว่า มีอำนาจควบคุมสั่งการและกำกับดูแลการปฏิบัติของเรือในทุกมิติ แทนผู้บังคับการเรือ นับตั้งแต่แรกที่เกิดสถานการณ์"ไม่ปกติ"หรือสถานการณ์ร้ายแรงฉุกเฉินกับเรือของกองทัพเรือ
สังคมไทยทั้งสังคม จึงสงสัยว่า เหตุใดกองทัพเรือ ยังไม่พูดถึงเรื่องนี้เลย เช่น
-ทัพเรือภาค 1 สั่งการอย่างไร เมื่อเรือในสังกัดเกิดเหตุน้ำเข้าเรือ ?
-ศูนย์ปฎิบัติการกองทัพเรือ หรือ ศปก.ทร ซึ่งมีอำนาจควบคุมทุกหน่วยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สั่งการอย่างไร หรือมีการติดต่อสื่อสารกับเรือสุโขทัยอย่างไรและตั้งแต่เมื่อไหร่ ?
-จริงหรือไม่ ที่มีคำสั่งเด็ดขาดจากใครบางคนว่า"ห้ามเรือจม" ?
-จริงหรือไม่ ที่มีคำสั่งจากใครบางคนให้กลับสัตหีบ แทนการเข้าจอดที่บางสะพาน ซึ่งอยู่ใกล้กว่า แต่ในคำแถลงผลสรุปกลับระบุว่า รล.สุโขทัยมีขนาดเล็กจึงไม่เข้าจอดที่บางสะพาน ? เนื่องจากตอนเกิดเหตุใหม่ ๆ ยังมีการโทษกันไปโทษกันมาด้วยว่า เจ้าหน้าที่เจ้าท่าบางสะพานไม่อนุญาตให้นำเรือเข้าจอด จนอีกฝ่ายต้องออกมาตอบโต้และแสดงหลักฐานการติดต่อกับเรือว่า รล.สุโขทัย เป็นฝ่ายขอยกเลิกการเข้าจอดเอง
-นายทหารที่สั่งการในทั้งสองกรณี จึงยังคงเป็นบุคคลปริศนาที่ลอยนวลอยู่ใช่หรือไม่ ?
และ ที่สำคัญที่สุดคือ นาทีสุดท้ายก่อนมีการสละเรือ ศปก.ทร. รับรู้หรือไม่อย่างไร?
เหตุใดถึงไม่มีการเปิดเผย บันทึกเอกสารจากห้องติดตามสถานการณ์ใน ศปก.ทร.ว่า ผู้บังคับบัญชาวิเคราะห์และตัดสินใจอย่างไร ผิดพลาดหรือไม่ โดยเฉพาะการสั่งการช่วยเหลือการส่งอากาศยานไปยังจุดเกิดเหตุว่ามีการดำเนินการอย่างไร ?
หรือการที่ไม่แตะต้องเรื่องนี้ เป็นเพราะมีบางคนอยู่ในข่ายแคนดิเดต ผบ.ทร. คนใหม่ จึงต้องรักษาไว้มิให้แปดเปื้อน ?
อย่าลืมว่า ในช่วงที่เกิดเหตุใหม่ ๆ มีการนำร่างผู้เสียชีวิตมาประกอบพิธี ณ วัดหลวงพ่ออี๋ อำเภอสัตหีบ มีญาติมิตรของผู้เสียชีวิตคนหนึ่งร้องตะโกนออกมาดังๆ ด้วยความเจ็บแค้นต่อหน้านายทหารชั้นพลเรือเอก ที่มาร่วมในพิธีสวดพระอภิธรรม รวมทั้งสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวจำนวนมาก
ประโยคที่ชายคนนั้นตะโกนออกมาก็คือ “สดุดีทหารกล้า ท่านทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว คนบนเรือคือผู้บริสุทธิ์ ฆาตกรตัวจริงคือผู้ตัดสินใจ”
ภาพข่าวที่ปรากฏไปทั่วประเทศ ผ่านทางสื่อหลายช่องในคืนวันนั้น อาจถือได้ว่า เป็นดิจิทัลฟุตปรินต์ที่เกี่ยวข้องกับ “สาเหตุที่แท้จริง” ที่เรือสุโขทัยอับปาง แม้จะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ก็ถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่โศกนาฏกรรมครั้งประวัติศาสตร์ของกองทัพเรือไทย ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“เมื่อถึงนาทีนี้แล้ว คนที่เสียรังวัดมากที่สุดก็คือ พล.ร.อ.อะดุง ผู้บัญชาการทัพเรือ ซึ่งวันนี้ท่านเหลืออายุราชการเพียง 6 เดือน แต่ท่านมิอาจไขความกระจ่าง สาเหตุการโจมของเรือรบหลวงสุโขทัยไว้ได้อย่างหมดจด ทำให้เรื่องนี้จบแบบไม่จบ ยังมีปริศนาที่ลับ ดำมืด ซุกไว้ที่ใต้ท้องทะเลกับเรือรบหลวงลำนี้ กับชีวิตคนอีก 24 ชีวิต และหายไปอีก 5 ชีวิต ตลอดกาลนาน
“น่าเศร้ามาก ท่านผู้ชมครับ ผมขอแสดงความเห็นใจกับลูกหลาน พ่อแม่พี่น้อง ลูกเมียของทหารเรือที่เสียชีวิตไป 24 ราย รวมทั้งคนที่หายไปอีก 5 ราย มันเป็นความบัดซบของผู้บังคับบัญชาของพวกคุณที่ยศตั้งแต่นายพลขึ้นไป ช่วยกันปิดบังการตัดสินใจที่ผิดพลาด ผมยังเชื่อว่า น.ท.พิชิตชัย ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ แต่รับคำสั่งให้เอาเรือไปที่สัตหีบ แทนที่จะไปที่บางสะพาน” นายสนธิกล่าว