1."ทักษิณ" ทำบุญสงกรานต์เชียงใหม่ แย้ม "ยิ่งลักษณ์" กลับไทย ต.ค.นี้ ด้าน "เศรษฐา" เข้ารดน้ำขอพร "ทักษิณ" ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า ยกเป็นผู้ใหญ่ที่เคารพ!
ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณ ชินวัตร นักโทษเด็ดขาดคดีทุจริต ซึ่งหนีคดีอยู่เมืองนอก 17 ปี เมื่อกลับไทย ก็ไม่ได้นอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว โดยอ้างว่าป่วย และอยู่ รพ.ตำรวจนานถึง 6 เดือน ก่อนได้รับการพักโทษ และขณะนี้อยู่ระหว่างพักโทษ ได้เดินทางไป จ.เชียงใหม่ ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยเมื่อวันที่ 14 เม.ย. ได้เดินทางไปที่วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ เพื่อไหว้พระธาตุและทำบุญสรงน้ำพระ
ทั้งนี้ นายทักษิณได้พบปะสนทนาธรรมกับพระธรรม เสนาบดี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพฯ โดยเจ้าอาวาสได้กล่าวกับนายทักษิณว่า “ขอให้ใจเย็นๆ นั่งพักผ่อนให้สบายๆ มาครั้งที่แล้วมีเวลาไม่นาน ครั้งนี้อยากให้นั่งพักนานๆ ซึ่งเงินที่นายทักษิณเคยถวายไว้ครั้งก่อน ได้เอาไปทำบุญบูรณะบริเวณวัดแล้ว หลังจากมีพายุเข้าหลังจากที่นายทักษิณกลับไป ถือว่าเงินทำบุญครั้งนั้น จะทำให้ครอบครัวของนายทักษิณมีความเจริญรุ่งเรือง”
จากนั้น นายทักษิณได้ถวายปัจจัยให้วัดอีกครั้ง และถวายปัจจัยเพื่อบูรณะพระวิหาร ซึ่งเจ้าอาวาสได้ให้พรกับนายทักษิณ ก่อนที่นายทักษิณจะลงมาผูกผ้าสามสีไม้ง่ามค้ำต้นโพธิ์และตีฆ้อง โดยบรรยากาศระหว่างที่นายทักษิณมาทำบุญที่วัดพระธาตุดอยสุเทพฯ ได้มีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาขอถ่ายรูป
ต่อมา นายทักษิณได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่า วันนี้มีพรรคพวกชวนตนไปดูคอนเสิร์ต ตนก็จะไปดูว่าชีวิตของคนเชียงใหม่กับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างไร เวลามาเที่ยวสงกรานต์แล้วสนุกสนานแบบไหน ตนจะได้เข้าใจเขามากขึ้น ซึ่งตนห่างประเทศไทยไปนาน ก็ขอไปทำความเข้าใจให้มากขึ้น
นายทักษิณ กล่าวด้วยว่า “ขณะนี้อาการป่วยของผมดีขึ้นมาก ได้กลับมาอยู่บ้านภาวะจิตใจก็ดี ความพร้อมในการออกกำลังให้ร่างกายฟื้นตัวก็มีมากขึ้น อยู่ที่โรงพยาบาลไม่มีจิตใจที่จะทำอะไร”
เมื่อถามว่า ภาพที่ออกมามักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ นายทักษิณ กล่าวว่า “ไม่เป็นไร ป่วยก็อยากจะหาย หวังว่าคนที่วิจารณ์ผม เวลาเจ็บป่วยเขาก็คงอยากหายเหมือนผม หายแล้วก็ควรจะดีใจ อย่าไปซ้ำเติมเขา”
เมื่อถามถึง กรณีได้กลับมาเล่นสงกรานต์ที่ จ.เชียงใหม่ในรอบหลายปี นายทักษิณ กล่าวว่า หายไป 18 ปี ก็รู้สึกม่วนอกม่วนใจ๋ จิตใจสบาย สงบ เพราะกลับมาแล้วก็อยากสงบ อยากใช้ชีวิตเรียบง่าย และการขอพรในวันนี้คือเมื่อไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตนก็สักการะด้วยความเคารพบูชาจะไม่ค่อยเรียกร้องอะไร เพราะเมื่อเราเกิดมาแล้ว พระเจ้าลิขิตไว้แล้วว่าจะมีอะไร
เมื่อถามว่า วันนี้เป็นวันครอบครัวเมื่อได้กลับมาอยู่กับครอบครัวรู้สึกอย่างไร นายทักษิณกล่าวว่า อบอุ่น เจอคนไทย ประเพณีวัฒนธรรมไทย อาหารไทย พี่น้องเพื่อนฝูง สื่อมวลชนคนไทย ก็มีความสุข ดีกว่าอยู่เมืองนอกเยอะ
ถามต่อว่า ได้มาสงกรานต์ที่เชียงใหม่เช่นนี้ คิดถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ เพราะปกติในเทศกาลสงกรานต์จะอยู่ด้วยกัน นายทักษิณ กล่าวว่า “นายกฯ ปู อวยพรสงกรานต์ก่อนที่ผมจะเดินทางมาเชียงใหม่ ก็เลยบอกเดี๋ยวปีหน้า เรามาทำบุญด้วยกัน สงกรานต์ปีหน้า นายกฯ ปูคงได้มีโอกาสมาทำบุญ”
เมื่อถามย้ำว่า เป็นข่าวดีใช่หรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ไม่ทราบ แต่ตอนที่ตนจะเดินทางกลับ ก็มีความมุ่งมั่นว่าอยากกลับบ้าน แต่ไม่รู้ว่ากลับอย่างไร เมื่อไหร่ ซึ่งก็คิดแต่วันแรกที่ออกไปว่าจะต้องกลับให้ได้ ไม่รู้แต่จะอย่างไรก็ไม่รู้ เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยากกลับอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีบ่นว่าเหงาบ้างหรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ก็มีบ้างแหละ แต่ต่างคนต่างมีภารกิจ เกี่ยวกับบ้านเมือง น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ห่วงบ้านเมืองเช่นเดียวกัน ก็ช่วยกันคิดช่วยกันทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่พวกเราเป็นรัฐบาล ก็ให้ความเห็น ส่วนจะกลับมาช่องทางไหนนั้นยังไม่ทราบ เอาความตั้งใจก่อน และในส่วนของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ค่อยซับซ้อนเหมือนของตน ของตนเขายัดให้เยอะ ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีแค่อันเดียว
เมื่อถามย้ำว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับมาภายในปีนี้หรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ก็ตั้งใจอย่างนั้น แต่ยังไม่รู้จะอย่างไร เดี๋ยวดูเหตุการณ์ก่อน ถามต่อว่า จะเป็นเดือนตุลาคม ปี 67 ใช่หรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ไม่รู้ แต่ตั้งใจ เมื่อถามว่า หากกลับมา 2 คนกังวลว่าจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือไม่ นายทักษิณ กล่าวว่า ทุกอย่างมีเหตุผล คุณอยากวิจารณ์ เขาก็วิจารณ์ไป แต่เราต้องมีเหตุผลของเราตอบสังคมส่วนใหญ่ได้ สังคมส่วนน้อยก็มีบ้างเป็นธรรมดา ไม่มีใครพอใจ แม้กระทั่งบางคนอยู่บ้านเดียวกันพ่อแม่ลูก บางทีลูกทำอะไรพ่อแม่อาจไม่พอใจ เป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่มีข้อยุติร่วมกันทั้งหมด
ด้าน พ.ต.ท.มนตรี บุณยโยธิน รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ นักโทษเด็ดขาดซึ่งอยู่ระหว่างพักโทษ เดินทางไป จ.เชียงใหม่ ช่วงวันสงกรานต์ และให้สัมภาษณ์ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางกลับประเทศไทย เดือน ต.ค.นี้ เข้าข่ายยุ่งเกี่ยวทางการเมืองและผิดเงื่อนไขคุมประพฤติหรือไม่ว่า ตามหลักการ ผู้ถูกคุมประพฤติจะผิดเงื่อนไขหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการพิจารณาพักโทษ จะมีข้อกำหนด 7 ห้าม และ 6 ให้ ยกตัวอย่าง การสั่งห้ามพูดทางการเมืองต้องพิจารณาว่าผู้ถูกคุมประพฤติถูกดำเนินคดีข้อหาเกี่ยวกับความมั่นคงหรือทางการเมืองหรือไม่ ก็จะถูกสั่งห้ามพูดทางการเมือง แต่ถ้าไม่ผิดในข้อหาดังกล่าว ผู้ถูกคุมประพฤติสามารถพบปะบุคคลทางการเมืองหรือพูดคุยทางการเมืองได้ หรือแสดงความคิดเห็นได้ปกติ แต่ไม่สามารถเข้าเยี่ยมบุคคลทางการเมืองในเรือนจำได้ รวมทั้งต้องไม่ผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ตามมาตรา 56 ที่มี 10 เงื่อนไข
ส่วนนายทักษิณขออนุญาตเดินทางออกนอกพื้นที่หรือต่างจังหวัดนั้น สามารถกระทำได้ แต่ต้องแจ้งสถานที่ ระบุวันเวลาไป-กลับให้ชัดเจน ตามหลักการไม่ได้จำกัดจำนวนครั้ง ขออนุญาตได้ตลอดตามปกติ และขณะนี้ยังไม่พบการประพฤติผิดเงื่อนไข สำหรับการรายงานตัวของนายทักษิณกับกรมคุมประพฤติแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งครั้งที่ 2 เจ้าตัวมารายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติในพื้นที่เอง อย่างไรก็ตาม เมื่อครบกำหนดพักโทษ กรมราชทัณฑ์จะออกใบบริสุทธิ์ พร้อมประสานคุมประพฤติ แจ้งปล่อยตัวได้ทันที
เป็นที่น่าสังเกตว่า เมื่อวันที่ 16 เม.ย. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ได้เดินทางด้วยรถประจำตำแหน่งไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้า เพื่อพบนายทักษิณ เข้ารดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ 2567 โดยทันทีที่ถึงบ้านจันทร์ส่องหล้า นายเศรษฐาได้ลดกระจกลง ยกมือไหว้และทักทายสื่อมวลชน ที่มารอเกาะติดบรรยากาศหน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
ซึ่งต่อมา นายเศรษฐาได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ระบุว่า มากราบขอพรและสวัสดีปีใหม่ไทยท่านนายกฯ ทักษิณผู้ใหญ่ที่เคารพครับ
2."บิ๊กต่าย" เซ็นคำสั่งให้ "บิ๊กโจ๊ก" กับพวกรวม 5 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน พร้อมตั้ง กก.สอบวินัย หลังพบพฤติการณ์ทำผิดอาญาจริง ยัน ไม่หวั่นไหวหากถูกฟ้องกลับ!
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่า มีการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ออกจากราชการ และได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบวินัยว่า "ได้รับรายงานอย่างเป็นทางการถึงพฤติการณ์แห่งคดี (ที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวก ต้องคดี) กับความร้ายแรงของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการพิจารณาในรายงานของคณะพนักงานสอบสวน ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ได้ตั้งขึ้นมา และ บช.น.ได้รายงานมาด้วยว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ และข้าราชการตำรวจอีก 4 คน รวมเป็น 5 คน ได้กระทำผิดอาญาจริง จึงได้มีการเสนอความเห็นให้ผมปฏิบัติตามกฎหมายตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในมาตรา 131 ซึ่งเป็นกรณีที่ข้าราชการตำรวจต้องหาคดีอาญา ประกอบกับมาตรา 112 ในรายละเอียดแห่งการพิจารณาว่า จะกระทำผิดวินัยร้ายแรงหรือไม่ประกอบกัน"
ซึ่งพิจารณาแล้วพบว่า มีความร้ายแรงของข้อเท็จจริงเกิดขึ้นจากการกระทำผิด ซึ่งขณะนี้ถือว่าเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาจากการที่ศาลได้ออกหมายจับทั้ง 5 ราย จึงจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนพิจารณาทางวินัยตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเห็นแล้วว่า พฤติกรรมต่างๆ และการสอบสวนของคณะกรรมการจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว จึงให้ออกจากราชการไว้ก่อน โดยเป็นไปตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักและออกจากราชการไว้ก่อน
สำหรับการลงนาม ในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตนมีอำนาจตามมาตรา 105 และ 108 ซึ่งถือเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งรักษาราชการแทนมีอำนาจเช่นเดียวกับ ผบ.ตร. เมื่อกองวินัยเสนอขึ้นมา ตนจึงเป็นผู้ลงนาม ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามในคำสั่ง 2 คำสั่งนี้ ซึ่งขั้นตอนจะต้องรายงานนายกรัฐมนตรี เนื่องจากนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ออกคำสั่งให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไปปฏิบัติราชการที่สำนักนายกฯ และทางปลัดสำนักนายกฯ ได้มอบหมายหน้าที่การงานให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จึงต้องรายงานให้นายกรัฐมนตรีทราบ และสำนักงานปลัดสำนักงานนายกฯ ได้มีหนังสือส่งตัวกลับโดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนาม ซึ่งหนังสือดังกล่าวได้ส่งมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามขั้นตอนแล้ว
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ได้เซ็นคำสั่งตั้งกรรมการและคำสั่งให้ออกจากราชการกับตำรวจทั้ง 5 นาย เรียบร้อยแล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 18 เม.ย.67 ซึ่งมีกรอบระยะเวลาตั้งแต่เริ่มกระบวนการและขอขยายเวลาภายใน 270 วัน หากไม่แล้วเสร็จ เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาที่ต้องเร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนด
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ เผยด้วยว่า ได้ตั้งให้ พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช รอง ผบ.ตร. เป็นประธานในการดำเนินการสอบวินัย อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ ซึ่งทาง พล.ต.อ.สราวุฒิ จะต้องให้โอกาส พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมายและกฎ ก.ตร. ขณะเดียวกันทาง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จะใช้สิทธิในการร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการพิทักษ์คุณธรรมตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 ได้ด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการร้องไปยังศาลปกครอง เอาผิดคณะกรรมการและอาจมาถึงตัว รรท.ผบ.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า เราพิจารณาไปตามกรอบของกฎหมายและกฎ ก.ตร. ทุกประการ หากจะมีการฟ้องร้องหรือดำเนินการอะไรกลับมา ถือว่าเป็นสิทธิของท่านที่จะทำได้ หากถามว่าหวั่นไหวหรือไม่ ตนขอบอกว่า ไม่มีความหวั่นวิตกหรือหวั่นไหวใดๆ เพราะถือว่าในฐานะรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต้องทำทุกอย่างให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ คำสั่ง กฎก.ตร.ที่เกี่ยวข้อง ทุกประการ
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ย้ำด้วยว่า ตนเองทำงานตามขั้นตอน และพร้อมรับทุกสิ่งทุกอย่าง ยืนยันว่า เรื่องความขัดแย้งเป็นมุมมองของแต่ละคนซึ่งเกิดมานานแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า ตนเองอาจจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ หรือหากผู้ถูกกล่าวหามองว่า ตนเองเป็นคู่ขัดแย้งก็คงปฏิเสธไม่ได้ เป็นเรื่องที่ต้องให้ข้อเท็จจริงไป แต่ยืนยันว่า ตนเองไม่ขอโต้ตอบกลับไป และขอทำงานตามบทบาทหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย และอยากให้องค์กรเดินหน้าต่อไปให้ประชาชนเชื่อถือและศรัทธา
ทั้งนี้ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ยืนยันว่า "ผมไม่ได้รับใบสั่งจากใคร ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งคดีและความร้ายแรงที่เกิดขึ้น ผมไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ส่วนความเป็นธรรมมีอยู่แล้ว เป็นสิทธิที่ พล.ต.อ.สุเชษฐ์ สามารถร้องทุกข์หรืออุทธรณ์ได้อยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กัน แต่จะดึงผมเป็นคู่ขัดแย้งนั้น มองว่าถ้าเกิดขึ้นจริงก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถูกมอบหมายให้เป็นรักษาการ ผบ.ตร.ต้องอยู่ในจุดที่ต้องพร้อมรับทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่กลัวการถูกเช็กบิลหรือเอาคืนหลังจากนี้ เพราะผมทำทุกอย่างตามอำนาจหน้าที่ด้วยความสุจริตใจและให้เกิดความเป็นธรรมกับองค์กรนี้ พร้อมย้ำว่า ส่วนตัวไม่ได้คาดหวังเรื่องเป็นตัวจริง ผบ.ตร.คนต่อไป แต่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด"
ส่วนกรณีของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ตอนนี้เป็นคดีอยู่ที่ สน.เตาปูน ก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอน ซึ่งคดีของ ผบ.ตร. นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมาย เพราะเป็นตำแหน่ง ผบ.ตร.
มีรายงานว่า ตำรวจ 5 นายที่ถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน ประกอบด้วย 1.พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2.พ.ต.อ.กิตติชัย สังขถาวร รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา 3.พ.ต.ท.คริษฐ์ ปริยะเกตุ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ 4.ส.ต.อ.ณัฐวุฒิ หวัดแวว ผู้บังคับหมู่ (ทำหน้าที่จราจร) งานปฏิบัติการจราจรตามโครงการพระราชดำริ 1 กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจจราจร 5.ส.ต.อ.ณัฐนันท์ ชูจักร ผู้บังคับหมู่ งานสายตรวจ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร
ซึ่งสืบเนื่องจากกรณีถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจนถูกตั้งกรรมการสอบสวน กรณีมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับเว็บพนันออนไลน์ BNKMASTER จนถูกดำเนินคดีอาญาและถูกศาลอาญาออกหมายจับในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและได้มีการทำผิดฐานฟอกเงิน เพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันฟอกเงิน และมีเหตุผลให้พักราชการได้ตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยการสั่งพักราชการและการสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน พ.ศ.2547 ข้อ 3(1) คือถูกตั้งกรรมการสอบสวน หรือต้องหาว่ากระทำผิดอาญา โดยผู้กระทำความผิดเป็นข้าราชการตำรวจ มีหน้าที่และอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา แต่กลับต้องหาว่ากระทำผิดทางอาญาเสียเอง ซึ่งเป็นคดีสำคัญ ย่อมส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นศรัทธาของประชาชนและภาพลักษณ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง ถ้าให้คงอยู่ในหน้าที่ราชการอาจเกิดความเสียหายแก่ราชการได้ ประกอบกับได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การสอบสวนพิจารณาที่เป็นเหตุให้สั่งพักราชการนั้นจะไม่แล้วเสร็จโดยเร็ว จึงให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กับพวกรวม 5 นาย ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย ทั้งนี้ ตั้งแต่ 18 เม.ย.67 เป็นต้นไป
3. ลูกชาย "สันติ" รมช.สธ.เมาแล้วขับ แถมไม่ยอมเป่า ศาลสั่งจำคุก 2 เดือน แต่รอลงอาญา เหตุเจ้าตัวสารภาพ ด้าน "สคล." แนะเพิ่มโทษคนเมาแล้วขับ ควรติดคุก!
เมื่อวันที่ 17 เม.ย.เวลาประมาณ 03.30 น. มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.5 บก.จร.ได้ตั้งด่านกวดขันวินัยจราจร บริเวณปากซอยรัชดาภิเษก 31 ถ.รัชดาภิเษก แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กทม. พบรถยนต์หรู บีเอ็มดับบลิว ลักษณะมีพิรุธ เจ้าหน้าที่จึงเรียกให้หยุดเพื่อตรวจสอบ แต่คนขับไม่หยุดรถ และขับรถฝ่าด่าน จนเจ้าหน้าที่ต้องใช้แผงเหล็กเข้าขวาง รถไม่สามารถเคลื่อนที่ได้
หลังจากนั้นจึงเข้าจับกุมคนขับรถคันดังกล่าวลงมา เพื่อตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ แต่คนขับรถพยายามขัดขืนไม่ยินยอมให้ตรวจ ด.ต.พัชรพล จึงใช้เครื่องตรวจวัดเบื้องต้น แบบไม่สัมผัสจ่อใกล้ปากและจมูกของผู้ต้องหาเพื่อวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ผลวัดได้ 183 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาขับรถในขณะเมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่น และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจร ที่สั่งให้มีการทดสอบว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุรา หรือเมาอย่างอื่น
จากนั้นได้นำตัวส่งพนักงาสอบสวน สน.ประชาชื่น เพื่อดำเนินคดี ทราบต่อมาว่า เป็นลูกชายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหนึ่ง จากการสอบสวนเบื้องต้น ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ และมีอาการเมา โวยวาย ซ้ำยังโต้เถียงเจ้าหน้าที่ว่า ไม่มีสิทธิ์จับกุมตน และกล่าวหาตำรวจลักเอาทรัพย์สินของตนไป เจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่าไม่สามารถพูดคุยกันได้ จึงคุมตัวเข้าห้องขัง สน.ประชาชื่น เพื่อสงบสติอารมณ์ ต่อมา ผู้ต้องหาได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา จึงมีการนำตัวส่งให้อัยการเพื่อฟ้องต่อศาล
ด้านนายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยว่า เมื่อวันที่ 18 เม.ย.พนักงานอัยการสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลเเขวง 1 ได้ยื่นฟ้องนายพานิช พร้อมพัฒน์ ขับรถในขณะเมาสุรา หรือของเมาอย่างอื่น และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจร ที่สั่งให้มีการทดสอบว่าผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุรา หรือเมาอย่างอื่น ด้วยวาจาต่อศาลเเขวงพระนครเหนือ ซึ่งจำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 4 เดือน ปรับ 8,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ คงจำคุก 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงการลงโทษ 2 ปี เเละให้รายงานตัวคุมประพฤติ 1 ปี พักใบอนุญาตขับขี่ 6 เดือน
ด้านนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีลูกชายเมาแล้วขับว่า ตนยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะไม่ได้อยู่ด้วยกัน เขาโตแล้ว และแยกครอบครัวไปแล้ว แต่จะโทรฯ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น จริงๆ เขาเป็นเด็กดี แต่ตนก็ไม่ทราบรายละเอียด หลายวันนี้งานเยอะ ตนอยู่ต่างจังหวัด ยังไม่มีใครบอกเรื่องนี้ เราต้องเคารพกฎหมาย และบอกว่า เมาแล้วขับ แต่ตำรวจบอกว่าให้หยุด ก็ต้องขอบคุณเขาแล้ว
ขณะที่นายธีระ วัชรปราณี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงกรณีลูกชายรัฐมนตรีเมาแล้วขับว่า เรื่องนี้ต้องแยกประเด็น คือ พฤติกรรมที่เกิดขึ้น ไม่เกี่ยวกับใครเป็นตำแหน่งอะไร หรือเกี่ยวข้องกับใคร เป็นพฤติกรรมที่พบได้โดยทั่วไปในสังคม แม้จะมีการรณรงค์ มีการใช้กฎหมายต่างๆ อย่างต่อเนื่องเป็นสิบๆ ปี เหตุเพราะไม่เกรงกลัวผลกระทบที่จะเกิดขึ้น พร้อมแนะหนึ่งในทางแก้ปัญหาว่า ควรมีการปรับกฎหมาย เพื่อเพิ่มบทลงโทษผู้ที่เมาแล้วขับให้มากขึ้น โดยไม่ต้องรอลงอาญาอีกต่อไป
“จริงๆ อยากเรียกร้องประเด็นบทลงโทษ ดื่มแล้วขับ เหมือนกรณีเคสนี้ ยังไม่เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งโทษเหลือรอลงอาญา แต่จะดีกว่าหรือไม่ หากมีการปรับบทลงโทษให้ติดคุก เนื่องจากมีเจตนาเล็งเห็นผล เพราะดื่มแล้วขับ ย่อมมีโอกาสไปทำร้ายคนอื่น แบบนี้ไม่ใช่ประมาท เพราะคุณเจตนาแล้วว่าจะขับ ทั้งที่เมา ดังนั้น เมื่อตรวจจับเจอว่า เมาแล้วขับ ต้องไม่ลงโทษลักษณะประมาท”
4. อนุ กมธ.ชงนิรโทษฯ 25 ความผิดจากแรงจูงใจทางการเมือง ไม่ตอบรวมคดี "ยิ่งลักษณ์" หรือไม่ ด้าน "ธนกร" ขออย่ารวมความผิดต่อสถาบัน ม.110-ม.112 ลั่นคนไทยไม่ยอมแน่!
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถลงความคืบหน้าการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า อนุ กมธ.ได้ประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เสร็จเรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พิจารณาในวันที่ 18 เม.ย.
สำหรับสาระสำคัญที่อนุ กมธ.ได้ข้อสรุปคือ นิยามแรงจูงใจทางการเมือง ให้หมายถึง การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือความไม่สงบทางการเมือง โดยอนุ กมธ.ได้รวบรวมข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จากสำนักงานศาลยุติธรรมที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบเป็นข้อมูลสถิติในการนำเสนอ
เบื้องต้น ฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนิรโทษกรรม มีทั้งหมด 25 ฐานความผิด นำมาจากบัญชีท้ายร่าง พ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ฐานคดีความผิดทางการเมือง ปี 2557-2567 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง จะใช้ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2548-2567
ส่วนฐานความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง ประกอบด้วย 1.การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มพันธมิตรฯ) ปี 2548-2551 2.การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี2550-2553 3.การชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ปี 2556-2557 4.การชุมนุมกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ปี 2563 ถึงปัจจุบัน
ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 และมาตรา 112 นั้น อนุ กมธ.ไม่มีการชี้ชัดว่า จะอยู่ใน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการศึกษาเกี่ยวกับการปรองดอง สมานฉันท์และนิรโทษกรรมในหลายคณะ แต่คณะกรรมการเหล่านั้นไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับความผิดมาตรา 110 และ 112 เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว และเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ ดังนั้นความผิดทั้ง 2 มาตรา ยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่ อนุ กมธ.ยังไม่มีความเห็นในประเด็นดังกล่าว
นายนิกร กล่าวว่า อนุ กมธ.มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรพิจารณาสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ โดยอาศัยมาตรา 21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่ให้อำนาจพิจารณาสามารถส่งเรี่องให้อัยการสูงสุดพิจารณายุติคดีหรือถอนฟ้องคดีเหล่านี้ได้ เพื่อกรองคดีออกไปก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม อาทิ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2548 ที่มีอยู่ 73,009 คดี ในช่วงสถานการณ์โควิด หรือคดีความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก ปี 2522 ที่มี 2.6 ล้านคดี
ทั้งนี้ อนุ กมธ.จะเสนอรายงานเหล่านี้ต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พิจารณาจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมส่งรายงานให้คณะอนุกรรมาธิการจำแนกการกระทำ เพื่อประกอบการพิจารณาแนวทางตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะประธานอนุ กมธ. ไปพิจารณาแนวทางจำแนกฐานความผิดต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป คาดว่า จะเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ในช่วงเปิดประชุมสภาฯ สมัยหน้า
ผู้สื่อข่าวถามว่า การนิรโทษกรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายนิกร ตอบว่า อนุ กมธ.ไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เพราะไม่สามารถพิจารณาเป็นรายบุคคลได้ ประเด็นที่อนุ กมธ.พิจารณาคือ 1.อยู่ในระยะเวลาปี 2548 ถึงปัจจุบันหรือไม่ 2.ฐานความผิด 25 ฐาน กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้อยู่ใน 25 ฐานความผิดนี้ 3.เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะอยู่ในการพิจารณาของคณะอนุ กมธ.ที่มีนายยุทธพรเป็นประธานจะพิจารณากำหนดรายละเอียด จำแนกความผิดในการนิรโทษกรรมอีกครั้ง
เมื่อถามย้ำว่า คดีจำนำข้าวนี้ไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่จะพิจารณาได้ใช่หรือไม่ นายนิกร ตอบว่า ไม่ได้พิจารณาเป็นรายบุคคล หรือรายเคส แต่พิจารณาเป็นฐานความผิด ทุกเคสทุกคดีพิจารณาจาก 3 ประเด็นที่ว่ามา ส่วนตัวไม่มีความเห็นคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในเงื่อนไขของอนุ กมธ.หรือไม่ ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ยืนยันไม่มีใครส่งสัญญาณอะไรมา
มีรายงานว่า สำหรับ 25 ฐานความผิดที่อนุ กมธ.พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง อาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท มาตรา 107-112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ มาตรา113-129 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มาตรา 211-214 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มาตรา 215-216 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดเพลิงไหม้ มาตรา 217-220 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา 295-300 ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา 309-321 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358-361 ความผิดฐานบุกรุก มาตรา 362-366 ความผิดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 ความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกปี 2522 ความผิด พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ความผิด พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองปี 2535
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นประธาน สรุปให้ชัดเจนเกี่ยวกับคำนิยามเรื่อง “แรงจูงใจทางการเมือง” และความผิด 25 ฐานที่มีมูลเหตุจากแรงจูงใจทางการเมืองใดว่าเข้าข่ายได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง โดยตนขอให้พิจารณาไม่รวมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวกับการประทุษร้ายหมิ่นประมาทฯ สถาบันพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท ขอให้ กมธ.อนุ กมธ.พิจารณาให้รอบคอบ เพราะความผิดทั้ง 2 มาตรา เป็นความผิดร้ายแรง กระทบต่อความมั่นคงของรัฐซึ่งประมุขของประเทศ ซึ่งไม่สามารถยอมรับได้
ทั้งนี้ แม้ว่าบางพรรคการเมืองได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รวมความผิดเกี่ยวกับมาตราดังกล่าวให้ได้รับการนิรโทษกรรมต่อสภามาแล้วก็ตาม แต่ตนขอย้ำในหลักการกฎหมายว่า ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และขอคัดค้านจนถึงที่สุด เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้
“ขอเรียกร้องไปยัง กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม พิจารณาตามหลักกฎหมายให้ดี ให้ถูกต้อง รอบคอบ เพื่อสรุปกำหนดนิยาม เรื่อง แรงจูงใจทางการเมือง ต้องไม่เหมารวมผู้กระทำความผิดร้ายแรงตามมาตรา 110 และ 112 ให้ได้รับการนิรโทษกรรม แต่หากกลับกัน มีการเหมารวมยกเข่ง เชื่อว่าเรื่องนี้จะทำให้คนทั้งประเทศที่รักเทิดทูนและปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ออกมาคัดค้านในเรื่องดังกล่าวอย่างแน่นอนรวมทั้งผมด้วย“
5. "เสี่ยเจษ" อ่วม เจอ 4 ข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย เจ้าตัวรับ แบ่งขายกากแคดเมียมให้นายทุนจีน อ้างเพราะเงินหมุนไม่ทัน แถมยัน กากแคดเมียมไม่อันตราย!
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. พล.ต.ต.วัชรินทร์ พูสิทธิ์ ผบก.ปทส.เผยถึงกรณีที่นายเจษฎา เก่งรุ่งเรืองชัย กรรมการบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ซึ่งได้เข้าพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกครั้งที่ 2 ว่า จากการพูดคุยนอกรอบ นายเจษฎา เผยว่า การซื้อขายกากแคดเมียมนั้นมีการทำสัญญากับบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด ซึ่งขายให้กิโลกรัมละ 1.25 บาท โดยในสัญญา บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด เป็นผู้ซื้อที่จะรับไปกำจัด ซึ่งตอนแรกพยายามส่งออกไปหลอมที่ลาวโดยมีคนจีนรอรับซื้อ ซึ่งที่ลาวมีบริษัทที่สามารถแยกแคดเมียม ทองแดง และสังกะสีได้ แต่ปรากฏว่า ก่อนหน้ามีนายจาง นายทุนชาวจีน ติดต่อเข้ามาซื้อกากแคดเมียม 5 พันตัน จึงขายให้กิโลกรัม 8.25 บาท ซึ่งนายจางได้ส่งรถมารับเพื่อนำไปเก็บไว้ที่โกดังใน จ.ชลบุรี ทั้งนี้ ยังพบว่า นายจางยังพยายามขายต่อให้คนอื่นอีกที แต่ไม่ให้นายเจษฎารู้ว่าขายให้ใคร ส่วนล็อตที่จะส่งไปลาวยังไม่มีการตกลงที่แน่ชัด และประเมินราคาไม่น่าจะต่ำกว่ากิโลกรัมละ 8.25 บาทแน่นอน
พล.ต.ต.วัชรินทร์ กล่าวอีกว่า การที่บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล นำไปขายต่อ ถือว่าผิดวัตถุประสงค์ในสัญญาซื้อขาย เพราะบริษัทมีใบอนุญาตกำจัด และสัญญาซื้อขายก็ระบุว่าซื้อมากำจัด โดยนายเจษฎาให้ดูรูปยืนยันว่ามีเครื่องมือในการกำจัด โดยซื้อมาจากประเทศอังกฤษ แต่ตอนนี้เครื่องมืออยู่ระหว่างซ่อมแซม ทำให้ไม่สามารถกำจัดได้ ซึ่งพนักงานสอบสวนต้องไปดูเครื่องจักรดังกล่าว แต่เชื่อว่าวัตถุประสงที่ซื้อมาจากบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด นั้น จะซื้อมาเพื่อขายต่อมากกว่ากำจัดแน่ ส่วนที่บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล ต้องนำกากแร่ไปฝากโกดังอื่นๆ ที่ไปพบก่อนหน้านี้ นายเจษฎาให้การว่า ที่จัดเก็บไม่เพียงพอ จึงต้องนำไปจัดเก็บที่อื่น ทั้งนี้ จะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ จำเป็นที่ต้องสอบในทางลึกอีกที
ผู้สื่อข่าวถามว่า การขออนุญาตให้ขนกากแคดเมียมจากตาก 13,800 ตันทั้งที่ปลายทางไม่มีพื้นที่จัดเก็บเพียงพอ หน่วยงานไหนต้องตรวจสอบ ระหว่างอุตสาหกรรมตากต้นทางหรืออุตสาหกรรมปลายทาง พล.ต.ต.วัชรินทร์ ตอบว่า ต้องเป็นปลายทาง โดยเมื่อแรกขนย้ายมาถึงจังหวัดสมุทรสาครแล้วก็เป็นหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครที่ต้องเข้าไปตรวจสอบ
พล.ต.ต.วัชรินทร์ กล่าวด้วยว่า นายเจษฎายืนยันว่าการขนกากแคดเมียมไม่ได้จ่ายเงินใต้โต๊ะให้เจ้าหน้าที่รัฐ ส่วนกระแสข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐระดับรองอธิบดีเกี่ยวข้อง ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูล
เมื่อถามว่า จากการตรวจสอบบริษัทต้นทางบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด พบความผิดอะไรบ้างหรือไม่ พล.ต.ต.วัชรินทร์ เผยว่า บริษัทต้นทางต้องรับผิดชอบตามประกาศกระทรวง ปี 66 และผู้ก่อมลพิษก็ต้องรับผิดชอบหากก่อมลพิษ ส่วนการขนย้ายยังไม่พบว่า บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ มีความผิดในตอนนี้ เพราะในสัญญาซื้อขายระบุชัดว่า ให้ เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด รับผิดชอบทั้งหมด ทั้งเรื่องการประสานงานเจ้าหน้าที่ การขนย้าย การขอ EIA ผู้ขายจะไม่รับผิดชอบ โดยให้วางเงินมัดจำไว้ประมาณ 10 ล้านบาท หากมีความเสียหาย
ส่วนกรณีกระทรวงการคลังถือหุ้นในบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ แต่บริษัทไม่มีความผิดนั้น จะเกิดข้อครหาหรือไม่ พล.ต.ต.วัชรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ มีหนังสือไปถึงอุตสาหกรรมจังหวัดตากให้พิจารณาว่า เบาด์ แอนด์ บียอนด์ มีความผิดอะไรบ้าง หากพบความผิดก็ให้อุตสาหกรรมจังหวัดตากเป็นผู้ร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวน บก.ปทส. เนื่องจากตอนนี้ เบาด์ แอนด์ บียอนด์ ยังไม่มีความผิดทางอาญา ทำให้พนักงานสอบสวนยังไม่สามารถดำเนินการได้
เมื่อถามว่า จะต้องเชิญ สก.ก้าวไกลมาหรือไม่ พล.ต.ต.วัชรินทร์ บอกว่า แม้จะเป็นญาติจริง แต่ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ และนายเจษฎาบอกว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและห่างกันมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ในวันนี้พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหานายเจษฎา 4 ข้อหา คือ ที่ตั้งบริษัท เจแอนด์บี 132 หมู่ 2. ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทใหญ่ จะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.โรงงาน ที่ตั้งบริษัท เจแอนด์บี 136/2 หมู่ 2 ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมืองสมุทรสาคร มีความผิดข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย เนื่องจากสถานที่แห่งนี้ไม่ได้อยู่ในใบอนุญาตเป็นปลายทางของกากแคดเมียม มีความผิดข้อหาร่วมกันครอบครองวัตถุอันตราย กรณีที่ได้ทำสัญญากับโกดังเลขที่ 70/2 ม.7 ต.คลองมะเดื่อ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ของนายหนุ่ม ในการเก็บเช่าโกดังเก็บกากแคดเมียม และความผิดข้อหาครอบครองวัตถุอันตราย กรณีเป็นกรรมการบริษัท ล้อโลหะไทย เมททอล จำกัด ย่านบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ที่นำกากแคดเมียมมาฝากไว้
ด้านนายเจษฎา ยืนยันว่า ตนเองทำถูกต้องทุกขั้นตอน ตั้งแต่ต้นทางมาถึงปลายทาง และบริษัทเจแอนด์บี เป็นโรงหลอมโรงหล่อ ก็ไปประมูลกากอุตสาหกรรมมา เพื่อนำมาขาย และตนเองต้องการสังกะสีกับทองแดง แต่แคดเมียมเป็นองประกอบที่ไม่ได้อันตรายมาก ส่วนที่ต้องนำไปฝากตามจุดต่างๆ เพราะมีจำนวนมากจึงต้องไปเช่าโกดัง และตนเองเป็นพ่อค้า นอกจากเอามากำจัดแล้ว แต่เมื่อหมุนเงินไม่ทัน จึงแบ่งเอาไปขายบ้าง ก็คือการขายให้นายจาง
"ผมยอมรับผิดว่า เป็นการนำไปขายต่อโดยไม่ถูกต้อง เพราะยังไม่ได้รับอนุญาตให้ขายต่อ และยอมรับว่า เตรียมนำไปขายต่อที่ประเทศลาวด้วย อยู่ระหว่างการขออนุญาตตามสัญญาบาเซล และกากอุตสหกรรมที่เจอทั้งหมดนั้น เจอครบทั้งหมดแล้ว การทำธุรกิจของผม ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง เพราะทำธุรกิจนี้มากว่า 40 ปีแล้ว และไม่มีการเมืองใดๆ มาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น"
นายเจษฎา กล่าวด้วยว่า กากแร่แคดเมียมไม่ได้อันตรายตามที่สื่อบางสื่อลง และมีความปลอดภัย เพราะกากแร่แคดเมียม มีผสมอยู่ในถ่านรีโมทของทุกบ้าน หรือแบตเตอรี่รถยนต์ ขออย่าไปตกใจ ลองไปเสิร์ช Google ดูได้ว่ากากแร่แคดเมียมไม่ได้อันตรายอย่างที่คิด