xs
xsm
sm
md
lg

สภากาชาดไทยโพสต์แนะทำโซเชียลดีท็อกซ์ หนีความวุ่นวายจากโลกออนไลน์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อาจารย์จิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แนะ 6 วิธีทำโซเชียลดีท็อกซ์ล้างสารพิษจากสื่อสังคมออนไลน์ ฟื้นฟูสภาพจิตใจ แนะช่วงพักปิดแจ้งเตือน ลดใช้มือถือ ทำโซเชียลดีท็อกซ์ทุกวันหยุด หันไปซึมชับบรรยากาศแบบออฟไลน์ จัดการเนื้อหาของข้อมูลที่ได้รับ และงดเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน

วันนี้ (15 เม.ย.) เฟซบุ๊ก "สภากาชาดไทย Thai Red Cross Society" โพสต์ข้อความระบุว่า "การทำโซเชียลดีท็อกซ์ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งในการเยียวยา เพื่อลดการรับข้อมูลข่าวสาร ล้างสารพิษจากสื่อสังคมออนไลน์ และเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้นได้" โดยวิธีทำโซเชียลดีท็อกซ์ด้วยตนเอง ได้แก่ 1. ปิดแจ้งเตือนในช่วงพัก 2. กำหนดเวลาใช้งานโทรศัพท์ 3. ทำโซเชียลดีท็อกซ์ทุกวันหยุด 4. ซึมชับบรรยากาศแบบออฟไลน์ 5. จัดการเนื้อหาของข้อมูลที่ได้รับ และ 6. งดเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน


อ.นพ.ชาวิท ตันวีระชัยสกุล ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก แต่ในบางครั้งก็อาจทำให้ร่างกายและจิตใจได้รับผลกระทบเช่นกัน การทำโซเชียลดีท็อกซ์ก็ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเยียวยา เพื่อลดการรับข้อมูลข่าวสาร ล้างสารพิษจากสื่อสังคมออนไลน์ และเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจให้ดีขึ้นได้ วิธีทำโซเชียลดีท็อกซ์ด้วยตนเอง ได้แก่

1. ปิดแจ้งเตือนในช่วงพัก สมองจะเกิดการตอบสนองต่อเสียงและการสั่นแจ้งเตือน ทำให้ร่างกายต้องตรวจเช็กการแจ้งเตือนของโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งอาจกระตุ้นความกังวลและเพิ่มความกลัวการอยู่คนเดียว

2. กำหนดเวลาการใช้โทรศัพท์และโลกโซเชียล เพื่อไม่ให้จมอยู่กับสิ่งต่างๆ ที่อาจบั่นทอนจิตใจจนมากเกินไป

3. ทำโซเชียลดีท็อกซ์ทุกวันหยุด วันหยุดเป็นช่วงเวลาพักผ่อน เหมาะกับการไม่ท่องโลกโซเชียล หรือใช้งานให้น้อยที่สุด เพื่อให้ร่างกายและสมองได้ผ่อนคลาย

4. ซึมชับบรรยากาศแบบออฟไลน์ การใช้ชีวิตแบบออฟไลน์ ไม่ลงภาพหรืออัปโหลดสิ่งต่างๆ ลงบนสื่อโซเชียล และหันไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น อ่านหนังสือ ท่องเที่ยว ใช้เวลาร่วมกับคนใกล้ตัว จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ที่อาจไม่เคยได้สัมผัสได้

5. จัดการเนื้อหาของข้อมูลที่ได้รับ เลือกรับข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ ลดการติดตามผู้มีอิทธิพลบนสื่อสังคมออนไลน์ (Influencer) ที่ไม่ได้ประโยชน์ และเลือกติดตามเฉพาะคนที่ทำให้เรารู้สึกดีและมีความสุข

6. งดเล่นโทรศัพท์ก่อนนอน แสงไฟจากหน้าจออุปกรณ์ หรือโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนจะกระตุ้นให้สมองทำงานมากขึ้นและลดการทำงานของสารเมลาโทนินที่ช่วยในการนอนหลับ ทำให้นอนหลับได้ยากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น