“การได้สัมผัส Texture ของกระดาษ การได้อ่านตัวหนังสือที่ถูกพิมพ์ออกมา ได้ดูการออกแบบ Layout นั่นคือเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์ที่โลกออนไลน์ทำไม่ได้”
“สำหรับเรา คิดว่าเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์คือการที่เราได้จับต้อง…ได้จับกระดาษ ได้กลิ่นกระดาษ ได้สัมผัส”
“ศิลปินที่ทำสิ่งพิมพ์อิสระเป็นเล่มขึ้นมา เราเชื่อว่าหลายๆ คน คงไม่ได้คิดว่าทำออกมาแล้วจะร่ำรวยหรอก แต่เพราะเขาอยากเห็นงานของตัวเองถูกพิมพ์ออกมาเป็นงานที่จับต้องได้จริงๆ”
ความรักในการทำ ‘Zine’ หนังสือทำมือหรือสิ่งพิมพ์อิสระที่มีเอกลักษณ์ มีคาแรคเตอร์โดดเด่นเฉพาะตัว ในแต่ละผลงานของนักเขียน นักวาด ศิลปินและเหล่า Creator ที่นับวันความหลงใหลในการทำสิ่งพิมพ์อิสระ ได้นำพาให้ผู้คนเหล่านี้ เดินทางมาพบปะ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการสร้างสิ่งพิมพ์อิสระของตนเอง
ก่อเกิดเป็น Community แห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่เพียงเป็นกระแสความสนใจของคนทำซีนในมหานครกรุงเทพเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นหมุดหมาย ที่เชื้อชวนให้คนรักซีนจากต่างประเทศ เดินทางมายังสตูดิโอสิ่งพิมพ์อิสระในบ้านเราที่ผลิตงานได้อย่างมีคุณภาพและเป็นที่ชื่นชอบของทั้งนักสะสมและเหล่าคนทำซีนจากหลากหลายประเทศ
ความคึกคักในแวดวงคนรักซีน ความเป็นมาและเป็นไปของการก่อตั้ง ‘Spacebar Design Studio’ ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พร้อมต้อนรับ เปิดกว้าง ยินดีแบ่งปันองค์ความรู้และแชร์ไอเดียแก่ผู้สนใจทำซีน อยากมีซีนเป็นผลงานของตนเอง รวมถึงเหล่านักสะสมผู้เสาะแสวงหาซีนเจ๋งๆ… ณ ที่แห่งนี้ มีทุกสิ่งที่ว่านั้น
ทั้งยังมีซีนให้เลือกจับจองเป็นเจ้าของ หรือทอดเวลานั่งอ่านในโซน Zine Library ได้อย่างหนำใจ
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘วิมลพร วิสิทธิ์’ ผู้ก่อตั้ง Spacebar Design Studio ถึงจุดกำเนิดของการก่อตั้งสตูดิโอสำหรับคนรักซีน ความเป็นมา แรงบันดาลใจที่ทำให้หลงใหลศิลปะแขนงนี้
มนต์เสน่ห์ของการทำสิ่งพิมพ์อิสระที่หาไม่ได้จากโลกออนไลน์ คุณค่าที่อยู่พ้นกาลเวลา กระบวนการทำงานร่วมกับศิลปินเจ้าของเล่ม โปรเจ็กต์พิเศษสนุกๆ ที่ผลักดันศิลปินหน้าใหม่ให้มีผลงานซีนอันเปี่ยมด้วยสไตล์เฉพาะตัว
รวมถึงวิเคราะห์แนวโน้ม กระแสวงการซีนหรือสิ่งพิมพ์อิสระทั้งในบ้านเราและในต่างประเทศ ทั้งฉายภาพให้เห็นว่ากรุงเทพฯ กลายเป็นหนึ่งในหมุดหมายของชาวต่างชาติที่ชื่นชอบซีนได้อย่างไร
ทั้งหมดทั้งปวง ถูกบอกเล่าผ่านถ้อยความนับจากนี้
แรกเริ่มรู้จักและรักซีน
เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงความเป็นมา แรงบันดาลใจ อะไรทำให้คุณสนใจการทำ Zine หนังสือทำมือหรือสิ่งพิมพ์อิสระ
วิมลพรตอบว่า “เราโตมากับหนังสือ เป็นคนชอบอ่านชอบเขียนอยู่แล้ว รวมทั้งมีโอกาสได้ทำงานกับสำนักพิมพ์ a book ในเครือของ นิตยสาร a day (บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด) เมื่อเราโตมากับบรรยากาศการทำงานในสำนักพิมพ์ ก็ทำให้เกิดความรักในหนังสือ และในช่วงนั้น ฝั่งของ นิตยสาร a day เขาจัดงาน a day Make a Zine ขึ้นมาพอดี ทำให้เรารู้จักกับสิ่งทีเรียกว่าซีน (Zine) ซึ่งจริงๆ แล้ว ‘ซีน’ ก็คือหนังสือทำมือ”
วิมลพร เล่าว่าในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องทำด้วยมือในทุกขั้นตอนเสมอไปแล้ว เนื่องจากซีนได้กลายเป็นสิ่งพิมพ์ที่ถูกนิยามว่า ‘สิ่งพิมพ์อิสระที่จัดทำได้เอง ทำขึ้นเองได้’
เกือบทศวรรษของการก่อตั้งสตูดิโอ
ถามว่า Spacebar Design Studio สตูดิโอที่มีพื้นที่ไว้ต้อนรับคนรักซีนแห่งนี้ เปิดมานานเพียงใดแล้ว
วิมลพรตอบว่า ปัจจุบัน Spacebar Design Studio มีอายุย่างเข้าขวบปีที่ 8
ก่อนเล่าย้อนกลับไป เมื่อครั้งที่เคยซึมซับบรรยากาศงาน a day Make a Zine ว่า งานดังกล่าวทำให้เธอตระหนักว่า เธอชอบสิ่งพิมพ์ประเภทนี้มาก
“เราชอบเพราะซีนให้แนวคิดที่ว่า แม้เราจะเป็นศิลปินเบอร์ที่เล็กที่สุด ไม่มีใครรู้จัก แต่ว่าเราทำซีนหรือสิ่งพิมพ์อิสระของเราขึ้นมาแล้วมันขายหมดได้ นั่นสะท้อนว่าสิ่งพิมพ์ประเภทนี้ มี Potential ที่จะเติบโต และเรามองว่ามันเป็นการเปลี่ยนวงการในระดับนึงเลยด้วยซ้ำ ด้วยความที่ใครก็สามารถมีหนังสือของตัวเองได้ แล้วเราก็ถามตัวเองว่า หากเราต้องการทำหนังสือของตัวเอง เราจะต้องรอให้มีคนจัดงานเรื่อยๆ เหรอ จึงเกิดเป็นไอเดียที่อยากจะเปิดสตูดิโอของตัวเอง ที่เป็น ‘พื้นที่’ ของการรองรับซีนหรือว่าสิ่งพิมพ์อิสระนี้”
ถามว่า แม้ Spacebar Design Studio จะมีทั้งการรับทำเว็บไซต์ ทำออนไลน์ต่างๆ แต่ก็ทำซีนด้วย เช่นนั้นแล้ว ระหว่างการทำซีนกับรับทำงานด้านออนไลน์ หัวใจสำคัญของสตูดิโอแห่งนี้คืออะไร
วิมลพรตอบว่า ในช่วงแรก สัดส่วนของงานทั้งสองแขนงคืองานด้านออนไลน์และซีนมีควบคู่กัน กระทั่งต่อมา เปอร์เซ็นต์ของการงานสิ่งพิมพ์จะเยอะกว่า อยู่ที่ประมาณ 60% คือสิ่งพิมพ์อิสระ และอีก 40% คืองานเว็บไซต์ งานด้านออนไลน์
และเนื่องจากเธอเคยทำงานอยู่ในแวดวงของสำนักพิมพ์ จึงมี connection เป็นนักวาด นักเขียนในเครือ ทั้งที่รู้จักกัน เป็นเพื่อนกันจำนวนไม่น้อย นี่อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สัดส่วนของงานซีนมีมากกว่า
“แล้ว skill ของเรา เมื่อครั้งทำงานที่สำนักพิมพ์ เรามีตำแหน่งเป็น Digital Media Manager แม้ในช่วงที่ a day ปรับไปเป็น THE STANDARD เราก็ยังเป็น Manager อยู่ โดยดูแลในส่วนของเว็บไซต์ ทำให้เรามี skill ด้านเว็บไซต์ และทำให้เราอยากเปิดสตูดิโอของตัวเองที่มีความเป็นลูกครึ่งระหว่างออนไลน์กับสิ่งพิมพ์”
วิมลพรระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า ไอเดียในช่วงแรก เธอต้องการทำเว็บไซต์ที่เป็น community ของนักเขียนนักวาดในไทยด้วย จึงเกิดเป็น Spacebar
“ใช้ชื่อ Spacebar เพราะเราอยากให้เป็นคำล้อกับคำว่า ‘พื้นที่’ บางอย่าง จึงเป็นเรื่องของสิ่งพิมพ์กับพื้นที่ออนไลน์มาคู่กัน”
ปรุง ‘ซีน’ ให้อ่านอร่อย
ถามว่า ในยุคสมัยนี้ที่เป็นโลกยุคดิจิตอล ยุคโซเชียลมีเดีย เช่นนั้นแล้ว การทำงานของ Spacebar Design Studio ในส่วนของการทำเว็บไซต์ ทำออนไลน์ ช่วยหนุนเสริม ส่งเสริมการทำซีนอย่างไร
วิมลพรตอบว่า “ Culture ของซีน มีความเป็หนังสือศิลปะ คนอาจจะยังเข้าไม่ถึง ทั้งด้วย Visual และการออกแบบต่างๆ ที่มีความเป็นศิลปะสูง ในช่วงแรก บางคนจึงอาจมองว่าซีนเข้าถึงยาก แต่ว่า ด้วยความที่ Spacebar มีสายตาของสำนักพิมพ์และมีท่าทีของคนจัดการงานพิมพ์มาก่อน จึงทำให้เรานำเอาซีนมา ‘ปรุง’ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
“เนื่องจากเรามี skill ทางด้านออนไลน์ด้วย มันจึงทำให้เราสามารถโปรโมท และช่วยทำให้ภาพและความหมายของซีนในปัจจุบัน เข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น เหมือนเรานำเอาศิลปะยากๆ มาให้คนได้อ่านบ่อยๆ รวมทั้งหาช่องทางออนไลน์ ทำให้คนกล้าที่จะทำความรู้จักกับซีนมากขึ้น”
เคียงข้างคนรักซีน
ถามว่า หากมีผู้สนใจอยากเรียนรู้การทำซีนมาที่ร้านของคุณ ต้องทำอย่างไรบ้าง
วิมลพรตอบว่า ที่ Spacebar Design Studio มีการเปิด Private Workshop สำหรับทำซีน
โดยแนะนำสิ่งสำคัญที่ต้องรู้คือ 1. ซีนที่คุณอยากมี คุณอยากเล่าเรื่องอะไร
2. คือเรื่องของ Format อยากให้ซีนอยู่ในรูปเล่มแบบไหน มีจำนวนกี่หน้า
“นั่นคือสิ่งที่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เราคุยกันได้ง่ายขึ้น แล้วก็มีเรื่องของ Layout
สิ่งเหล่านี้ เราสามารถแนะนำคุณได้ทั้งหมด แต่ถ้าหากคุณมีไอเดียเบื้องต้นมาประมาณนึง เราจะช่วยให้ทำซีนออกมาได้เร็วขึ้น
“เพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องเตรียมคือรู้ว่าจะเล่าอะไร อาจจะไม่ต้องถึงขั้นรู้ว่าจะทำไซส์อะไร เพราะเราแนะนำได้ แต่ว่าลองเอา Source เหล่านั้น Content เหล่านั้น มาให้เราช่วยดูได้ว่าจะปรุงออกมาเป็นแบบไหน”
พื้นที่แห่งการเสพซีนหลากหลายปก
อดถามไม่ได้ว่าที่สตูดิโอของคุณ มีซีนวางจำหน่ายทั้งสิ้นกี่ปก เป็นแนวไหนบ้าง และมีทั้งผลงานของศิลปิน นักเขียน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเลยใช่หรือไม่
‘ใช่ค่ะ’ วิมลพรตอบทันที ทั้งเชื่อมโยงโลกกว้างของ Art Book กับพื้นที่ทำซีนของเธอได้อย่างน่าสนใจว่า
“จริงๆ แล้ว ภารกิจของเราในทุกปี ที่นับว่าเป็น Culture เป็นวัฒนธรรมของคนทำซีนเลย ก็คือการไปออกบูธ Art Book Fair หรือพวกเทศกาลงานหนังสือศิลปะในแต่ละประเทศ ส่วนใหญ่ เราก็จะไปโตเกียว เกาหลี ไทเป ขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นๆ เราได้ไปหลายที่ไหม เนื่องจากบูธในงานเหล่านั้น ต้องสมัครและมีการคัดเลือกเมื่อเรายื่นใบสมัครไป
“ดังนั้น นอกจากการที่เรานำเล่มที่เราผลิตเองไปด้วย อีกส่วนหนึ่งก็คือ เราไปซื้อมาด้วย เรานำเข้าสิ่งพิมพ์อิสระเหล่านี้มาด้วย ไม่ใช่แค่ซีน แต่รวมถึง Photo book, Art book ทำให้ที่สตูดิโอของเรา มีสิ่งพิมพ์อิสระค่อนข้างหลากหลาย รวมแล้วก็ ประมาณ 200 ปกค่ะ แต่เราไม่ได้ขายทั้งหมดนะคะ เพราะในสตูดิโอของเรา จะมี Section ที่เรียกว่า Zine Library คือเป็นโซนที่เรา Select ซีนที่น่าสนใจมาไว้ โดยที่เราไม่ได้จำหน่าย เราไม่ได้ซื้อซีนมา 10 เล่ม 20 เล่ม 30 เล่มมาเพื่อมาขาย แต่เรานำเข้ามาเพื่อให้อยู่ในพื้นที่ที่เป็นห้องสมุด เพื่อไว้ให้คนที่สนใจการทำสิ่งพิมพ์ของตัวเอง ได้มาเห็นตัวเล่ม ได้จับดูกระดาษ ดูวิธีคิด ดูการเล่าเรื่อง”
สะท้อนแวดวงซีน ผ่าน Art Book Fair
ถามว่าการมีโอกาสไป Art Book Fair ในหลายประเทศ คุณช่วยสะท้อนได้หรือไม่ว่า
ในแวดวงซีนของต่างประเทศรวมถึงไทย มีพัฒนาการ หรือมีแนวโน้มไปในทิศทางใดบ้าง
วิมลพรสะท้อนว่า “เทรนด์ของสิ่งพิมพ์ ที่เรามองว่ามี Potential ที่น่าสนใจก็คือการจากไปของนิตยสารหลายๆ หัว ด้วยความที่นิตยสารล้มหายตายจาก แล้วทุกอย่างเกิดขึ้นบนสื่อออนไลน์ ก็อาจจะทำให้คนตั้งคำถามว่าสิ่งพิมพ์ตายไปหรือยัง ซึ่งสำหรับเราแล้ว สิ่งพิมพ์ไม่ได้ตาย แต่ถูกปรับเปลี่ยน
กลายมาเป็นเทรนด์สิ่งพิมพ์อิสระนี่แหละ
“ไม่ว่าเหล่านักเขียน นักวาด คนทำ Content ทุกคนสามารถเป็น Content Creator ในโลกออนไลน์ได้ ในขณะเดียวกัน การทำสิ่งพิมพ์อิสระก็คือ ทุกคนสามารถมีสิ่งพิมพ์ของตัวเองได้ โดยที่หลายๆ อย่างก็เอื้ออำนวย”
วิมลพรยกตัวอย่างที่ช่วยให้เห็นภาพได้ชัดถึงเทรนด์ของสิ่งพิมพ์ โดยเล่มที่จะอยู่ได้คือเล่มที่เป็นสิ่งสะสมได้ อ่านได้นานขึ้น
มีการออกแบบที่น่าสนใจมากขึ้น เพื่อให้คุ้มค่าแก่การสะสมมากขึ้น เมื่อสิ่งพิมพ์ถูกมองเป็นสิ่งสะสม เมื่อได้อยู่กับคนที่ชอบแล้ว สิ่งพิมพ์นั้นๆ ก็จะมีคุณค่าขึ้นมา คนก็จะอยากซื้อเพื่อเก็บสะสม สิ่งพิมพ์อิสระนี้ จึงตอบโจทย์ด้วยมีทั้ง Visual การออกแบบ การเล่าเรื่องที่ทันสมัยขึ้น มีความเป็นศิลปะมากขึ้น ทำให้คนสนใจรวมทั้ง Creator เอง คนสร้างงาน นักเขียน นักวาด ก็เริ่มหันมาทำเล่มของตัวเองโดยไม่พึ่งพาสำนักพิมพ์ใหญ่ หรือสื่อกระแสหลักมากขึ้น แต่ก็ยังเอื้อกันอยู่กับสำนักพิมพ์ โดยสำนักพิมพ์เอง ก็เริ่มให้ความเป็นอิสระกับนักเขียน นักวาด เจ้าของคอนเทนต์อิสระมากขึ้นเช่นกัน
ทำให้วิมลพรมองว่า ปัจจัยและองค์ประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้ซีนเป็นที่นิยมมากขึ้น เช่น มีศิลปินที่พิมพ์เล่มของตัวเองออกขายและได้รับเสียงตอบรับอย่างดี
นอกจากนี้ เธอยังสะท้อนภาพงานซีนในต่างประเทศว่า
“เมื่อเราไปเทศกาลหนังสือศิลปะหลายๆ ที่ เราไม่ได้ไปเพื่อขาย เพื่อให้ได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่เป็นเรื่องของการไปเปิดบูธเพื่อแลกเปลี่ยน Culture บางอย่างมากกว่า
“เช่น เมื่อเราไปโตเกียว โตเกียวคือที่ๆ ศิลปะขึ้นชื่ออยู่แล้ว เพราะเขารักงานพิมพ์ รักกระดาษกันมานาน ดังนั้น เมื่อเราไปออกบูธที่โตเกียว เราจึงไม่ได้สนใจยอดขายมากนัก แต่เราจะเห็น Culture บางอย่าง เช่น วิธีที่เขาดูเล่มของเรา วิธีการจับ การดู ความสนใจของคนญี่ปุ่นที่เราได้เห็นคือ ถ้าเขาจับกระดาษแล้วเขาชอบ กระดาษดี ภาพสวย แล้วเขาซื้อได้ง่ายเลย ในขณะที่ หากเราไปเกาหลี เราจะรู้ว่าบ้านเขาชอบผลิตของกุ๊กกิ๊ก
"ดังนั้น ซีนที่เราเอาไปเกาหลีจึงเป็นซีนที่มีของกุ๊กกิ๊กแนบไปด้วย เพราะความเป็นซีน มันสามารถใส่ของเล่น ใส่ Element บางอย่างได้ด้วย เช่น ซีนที่เล่าเรื่องน้ำหอม ก็สามารถมีของแถมเป็นน้ำหอมขวดเล็กๆ แนบไปด้วย หรือซีนที่เป็นเรื่องของกิน บางทีก็มีของกินเล็กๆ แนบไปด้วยได้ บางคนทำซีนเป็นกล่องข้าวก็มี เพราะซีนไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอไป”
วิมลพรระบุ และบอกเล่าถึงซีนที่มีความแปลกใหม่ แปลกตา ซึ่ง Spacebar Design Studio ทำร่วมกับศิลปินคนหนึ่งของไทย นั่นคือ ‘ป๊อด-ธนชัย อุชชิน’ หรือ ป๊อด Moderndog
ความน่าสนใจของงานดังกล่าวคือ เนื่องจากป๊อดเป็นคนที่ชอบวาดรูปบนสลิปใบเสร็จ แล้วเขาไม่รู้ว่าจะนำเอาใบเสร็จเหล่านั้นมาพิมพ์เป็นเล่มได้อย่างไร แต่เขาอยากให้เป็นผลงานออกมาเพื่อให้คนได้จับจอง ได้อ่านผลงานเขา
“เราก็เลยออกไอเดียว่า ‘ถ้าอย่างนั้นพี่ป๊อดทำเป็นซีนไหม’ ก็คือปรินท์ใบเสร็จออกมาเป็นใบๆ นี่แหละ ซึ่งมันก็สามารถออกมาเป็นชิ้นงานได้เลย ขณะที่ขายในราคาแค่ 500 กว่าบาท แต่คุณได้ผลงานของพี่ป๊อดไปสะสม ถึง 17 รูป ผลงานนี้ก็วางขายตั้งแต่ปีที่แล้วค่ะ”
ทิศทางวงการซีนเมืองไทย
ถามว่า ในปัจจุบัน สามารถกล่าวได้ไหมว่าวงการซีนในเมืองไทย แข็งแรงแล้ว
วิมลพรตอบว่า “เรียกว่าแข็งแรงในเชิงวัฒนธรรมและการ Support ดีกว่าค่ะ แต่ถ้าถามว่า จะขึ้นมาเป็นอาชีพที่มั่นคงโดดๆ โดยที่ทำแต่ซีนอย่างเดียวเลยได้ไหม ก็เรียกได้ว่าอาจจะค่อนข้างยาก
“อย่างเราเอง เราเรียกตัวเองว่าเป็น ‘Zine Producer ’ เราไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็นสำนักพิมพ์นะ เพราะเราไม่ได้ทำกระบวนการบรรณาธิกรกับนักเขียน แต่ว่า เมื่อเราเป็น Zine Producer ทำให้เรามีซีนหลายหัวและจำหน่ายได้เยอะ และส่วนใหญ่แล้ว Creator และคนสร้างงาน มักจะ Support กันและกัน
เช่น ลูกค้าเราตอนนี้ ไม่ใช่แค่นักอ่านอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มคนทำซีน คนทำ Art book, Photo book จากต่างประเทศด้วย ตอนนี้เรามีลูกค้าต่างประเทศเยอะมากค่ะ
“ช่วงนี้ยังมีเทรนด์ที่น่าสนใจและน่าพูดถึงคือ กลายเป็นว่ากรุงเทพฯ บ้านเรา มีสตูดิโอสิ่งพิมพ์อิสระเยอะมาก บางคนอาจไม่รู้ บางคนอาจจะมองว่ากรุงเทพฯ มีร้านหนังสือน้อยเกินไปหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ ฮ่องกง ในตอนนี้ จากที่เราได้ไปสำรวจมา แล้วก็มีคนที่มาที่ร้านแล้วได้พูดคุยกัน เราพบว่ากรุงเทพฯ มีร้านสิ่งพิมพ์อิสระและมีสตูดิโอที่ทำสิ่งพิมพ์เหล่านี้เยอะมาก เยอะจนคนบ้านเขาสนใจและเดินทางมาดู ซึ่งในกรุงเทพฯ ถ้าเป็นร้านสิ่งพิมพ์อิสระอย่างเดียว น่าจะมีอยู่ที่ประมาณเกือบสิบร้านค่ะ”
ถามว่าคุณและเพื่อนๆ ร้านสิ่งพิมพ์อิสระเหล่านี้ เคยรวมตัวกันจัดงานสิ่งพิมพ์อิสระหรือไม่
วิมลพรตอบว่า Spacebar เป็น Partner กับ Bangkok Art Book Fair ในบางปี
“ Bangkok Art Book Fair ก็คืองานซีน งาน Art book สิ่งพิมพ์อิสระที่ใหญ่ที่สุดของบ้านเรา เป็นงาน Art Book Fair ของไทยนั่นเอง ซึ่งในแต่ละปี Bangkok Art Book Fair จะจัดช่วงพฤศจิกายนถึงธันวาคม โดยเจ้าของ Bangkok Art Book Fair ก็คือ BANGKOK CITYCITY GALLERY ร่วมกับ STUDIO150
“นอกจากนั้น Creator หน้าใหม่ไฟแรง ก็มักจะจัดงานซีนของตัวเองตามแกลเลอรีเล็กๆ หรือตามคาเฟ่ที่น่าสนใจ กระแสแบบนี้ก็เริ่มมีขึ้นบ้างแล้ว รวมทั้งยังมีงาน
Bangkok Illustration Fair (BKKIF) ที่รวมงานวาดของศิลปินนักวาดภาพด้วย งานเหล่านี้ก็จะเอื้อกัน เพราะว่าศิลปินนักวาดภาพพวกนี้เขาก็จะทำงานซีนของตัวเองด้วย”
ถามว่า พอจะวิเคราะห์ได้ไหม ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้มีร้านสิ่งพิมพ์อิสระในกรุงเทพฯ เยอะ กระทั่งชาวต่างประเทศ ยังเดินทางมาทำซีนที่ไทย
วิมลพรตอบว่า ในความเห็นของเธอ อาจเนื่องมาจาก บางคนเขาไม่ได้มี Source มากพอที่จะทำออกมาเป็นเล่ม ซึ่งในกรุงเทพฯ มีสตูดิโอที่รับพิมพ์งานอิสระแบบนี้ที่เป็นภาพปรินท์
“หรือในขณะนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในกรุงเทพฯ คือ สตูดิโอริโซกราฟ (Risograph) ซึ่งเป็นเทคนิคอย่างนึงที่มีสีพิเศษ เช่น สีฟลูออเรสเซนต์ ( Fluorescent ) สดๆ สวยๆ ที่ต้องใช้กระบวนการพิมพ์พิเศษ โดยในกรุงเทพฯตอนนี้ มีต่างชาติเข้ามาใช้บริการที่สตูดิโอเหล่านี้เยอะมาก
“สตูดิโอริโซกราฟ (Risograph) ในกรุงเทพฯ มีถึง 3-4 แห่ง ถือว่าเยอะนะคะ ในขณะที่สิงคโปร์อาจจะมีเหลืออยู่เพียง 2 แห่ง”
วิมลพรมองว่า สาเหตุที่มีสตูดิโอสิ่งพิมพ์อิสระเยอะขึ้น ส่วนสำคัญเป็นเพราะการเกิดขึ้นของ Bangkok Art Book Fair นั่นเอง เมื่อคนได้เห็นสิ่งพิมพ์อิสระเยอะขึ้น เขาก็ยิ่งกล้าทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ รวมถึงการเกิดขึ้นของ Bangkok Illustration Fair ด้วย
โปรเจ็กต์ ‘Girl Power Zine’ สนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่
ถามว่า ในปีนี้ สตูดิโอของคุณมีโปรเจ็กต์อะไรเกี่ยวกับซีนที่น่าสนใจบ้าง
วิมลพรบอกเล่าด้วยน้ำเสียงอารมณ์ดีว่า “ปีนี้ มีโปรเจ็กต์คือ ‘Girl Power Zine’ ค่ะ ที่มาของโปรเจ็กต์นี้คือเราพบว่ามีศิลปินหญิงทำงานซีนในร้านเราเยอะมากเลย แล้วส่วนใหญ่เป็น Rookie ด้วย เป็นหน้าใหม่ มีงานที่น่าสนใจ
ล่าสุดเราก็ออกซีนชื่อ ‘สมัยนั้น สมัยนี้’ ค่ะ
“ส่วนใหญ่ Spacebar จะทำตัวเป็น Zine Producer ที่ไปจีบเด็กๆ ซึ่งเด็กๆ ที่เราจีบงานเค้ามา ส่วนใหญ่จะมาจากงาน Thesis, งาน Illustration Fair หรือเจอผลงานที่น่าสนใจที่ไหนก็จะตามไปจีบเค้า ซึ่ง ‘สมัยนั้น สมัยนี้’ ในโปรเจ็กต์ Girl Power Zine เป็นเล่มที่ขายดี ( หมายเหตุ : ผลงานของ 'แพร-ณิชาพร จิรพงศานานุรักษ์' นามปากกา พิแน )
โดย Thesis เล่มนี้ เรานำมาปรุงใหม่ Reproduce แล้วก็ทำเป็นซีนในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น เช่น หากเป็นงาน Thesis บางครั้งเขาอาจจะพิมพ์เล่มใหญ่ เล่มหนา ราคา 2,000 กว่าบาท เราก็เอามาทำให้ซื้อง่ายขายคล่อง มีความเป็นหนังสือมากขึ้น ขายในราคา 800 กว่าบาท
“สำหรับรายละเอียดของโปรเจ็กต์ Girl Power Zine คือเราชวนศิลปินหญิง 8 คน นอกจากน้องแพรที่เขียน ‘สมัยนั้น สมัยนี้’ ก็ยังมีอีก 7 คนที่เราจะมาทำซีนร่วมกัน โดยที่เนื้อหาของซีนแต่ละเล่มก็ขึ้นอยู่กับศิลปินอิสระแต่ละคนเลยค่ะ”
ถามว่า สำหรับคนที่มีซีนอยู่แล้ว ทำหนังสือทำมือของตัวเองอยู่แล้ว อยากนำไปวางที่ร้านคุณได้หรือไม่
วิมลพรตอบว่า “เราตั้งใจอยากให้พื้นที่นี้ เป็น Hub เป็นที่รวบรวมงานของคนไทยอยู่แล้วค่ะ เราไม่ได้มีการคัดหรือ curated งานจริงจังขนาดนั้น แต่เป็นเรื่องของการพูดคุยกันมากกว่า สามารถส่งรายละเอียดซีนของตัวเอง ภาพถ่าย รายละเอียดจำนวนหน้า เนื้อหา เข้ามาทางอีเมล์ของสตูดิโอเราได้ค่ะ แล้วเรามาพูดคุยกันอีกที นอกจากนั้น ในส่วนของหน้าร้านเราตอนนี้ก็มีรับฝากขายด้วย มีคนมาฝากงานเยอะเลยค่ะ”
คือมนต์เสน่ห์...ไม่เสื่อมคลาย
คำถามทิ้งท้ายก่อนจบบทสนทนา อะไรคือมนต์เสน่ห์ของงานซีนหรือสิ่งพิมพ์อิสระที่คุณชื่นชอบ อะไรทำให้งานเหล่านี้คงอยู่พ้นกาลเวลา แม้ในยุคดิจิตอล ยุคแห่งการสื่อสารออนไลน์ที่เชื่อมโยงกันได้ข้ามซีกโลก อีกทั้งการอ่านในรูปแบบ E-book ก็แพร่หลายอย่างยิ่ง
วิมลพรตอบว่า “สำหรับเรา คิดว่าเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์คือการที่เราได้จับต้อง ได้เป็นเจ้าของในทาง Physical โดยการได้จับกระดาษ ได้กลิ่นกระดาษ ได้สัมผัส ได้ทำออกมาเป็นเล่มจริงจัง ก็คล้ายกับการปฏิสัมพันธ์ของผู้คน ที่การเจอกันบนโลกออนไลน์ ไม่เพียงพอเท่ากับการได้เจอหน้ากันจริงๆ เรามองว่าสิ่งพิมพ์ ก็เป็น Mood Feeling แบบนั้นเหมือนกัน
“อย่างเช่น ศิลปินที่เขาทำสิ่งพิมพ์อิสระเป็นเล่มขึ้นมา เราเชื่อว่าหลายๆ คน คงไม่ได้คิดว่าทำออกมาแล้วจะร่ำรวยหรอก แต่คนที่ทำเล่ม ทำหนังสือของตัวเอง เพราะเขาอยากเห็นงานของตัวเองถูกพิมพ์ออกมาเป็นงานที่จับต้องได้จริงๆ”
“การได้สัมผัส Texture ของกระดาษ การได้อ่านตัวหนังสือที่ถูกพิมพ์ออกมา ได้ดูการออกแบบ Layout นั่นคือเสน่ห์ของสิ่งพิมพ์ที่โลกออนไลน์ทำไม่ได้
“รวมไปถึงกระบวนการผลิตที่มีเสน่ห์ คือถ้าเราทำออนไลน์ เราอาจจะลบ แก้ใหม่ Reset ได้ง่าย แต่เรื่องของการพิมพ์ สิ่งพิมพ์ ถ้า error ก็คือ error เพราะฉะนั้น เสน่ห์ของงานพิมพ์ สิ่งพิมพ์ จึงเป็นการที่ได้ทดลอง ได้อ่านดูหน้างานจริงๆ ทำให้เราได้เรียนรู้ Process การทำงานที่โลกออนไลน์ให้ไม่ได้ เหล่านี้คือในมุมของ Creator นะคะ สำหรับคนอ่านก็คือการได้สะสมนั่นเองค่ะ”
เป็นคำตอบที่ยืนยันได้อย่างชัดเจนถึงความรัก ความใส่ใจ ความพิถีพิถันที่เธอคนนี้มีต่อซีนซึ่งนับเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่อยู่พ้นกาลเวลา
……………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : วิมลพร วิสิทธิ์, Facebook : Spacebar Design Studio