xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักฐานใหม่ เปลี่ยนโรงงานรีไซเคิลสมุทรสาคร “รับหลอมแคดเมียมได้” ก่อนมีคำขอขนย้ายมาจาก จ.ตาก เพียง 12 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

กลายเป็นข้อสังสัยมาตลอดเกือบ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า โรงงานถลุงแร่สังกะสี บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) จ.ตาก ส่งตะกรันจากการหลอมสังกะสีที่ปนเปื้อนแคดเมียม ที่ขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากแร่ ไปให้กับโรงงานรีไซเคิล บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด จ.สมุทรสาคร ได้อย่างไร เพราะโรงงานปลายทาง มีสถานะเป็นโรงงานลำดับที่ 106 (รีไซเคิล) ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการหลอมอลูมิเนียม ซึ่ง “ไม่ใช่” สังกะสี หรือ แคดเมียม

แต่จากการตรวจสอบในเชิงลึกล่าสุด มีหลักฐานใหม่ที่พบว่า บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล ที่สมุทรสาคร มีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ทั้งหมด 3 ใบ เป็นใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 60 (หล่อหลอมโลหะ) จำนวน 2 ใบ และเป็นใบอนุญาต 106 รีไซเคิลอลูมิเนียมอีก 1 ใบ ซึ่งพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงบางอย่างเมื่อไม่นานมานี้


1 ใน 3 ของใบอนุญาต มีที่มาที่น่าสนใจ คือ ใบอนุญาตโรงงานลำดับที่ 60 (จ3-60-6/66สค) มีลักษณะประกอบการ คือ หลอมสังสะสีและแคดเมียม ผลิตโลหะสังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอยและโลหะแคดเมียม เครื่องจักร 480.00HP เงินทุน 22,500,000 บาท

ถ้าดูจากรหัสโรงงาน จะเห็นตัวเลขและตัวอักษร 66สค ... มีความหมายว่า สค คือ จังหวัดสมุทสาคร ส่วน 66 คือ ปีพุทธศักราชที่ได้รับอนุญาต นั่นคือ ปี 2566

ส่วนใบอนุญาตลำดับที่ 60 (จ3-60-5/37สค) อีก 1 ใบ เขียนไว้อย่างกว้างๆว่า หล่อหลอมโลหะ ซึ่งไม่ระบุชนิดของโลหะ หมายความว่า ได้มาตั้งแต่ปี 2537 ถือเป็นโรงงานเก่าแก่

ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ใบอนุญาตลำดับที่ 106 (3-106-45/57สค) หรือ กิจการรีไซเคิล ระบุรายละเอียดว่า หลอมหล่ออลูมิเนียมแท่ง อลูมิเนียมเม็ดจากเศษอลูมิเนียมและตะกรันอลูมิเนียม มีรหัสลงท้าย 57สค คือ ได้มาในปี 2557 มีที่ตั้งของโรงงานอยู่ที่เลขที่เดียวกันกับใบแรก แต่จะเห็นว่า ใบอนุญาตใบนี้ ถือเป็นหัวใจของบริษัท เพราะมีกำลังเครื่องจักรถึง 821.65 แรงม้า มีคนงาน 46 คน และมีเงินทุนสูงถึง 200 ล้านบาท

และในที่สุดแล้ว ใบอนุญาตลำดับที่ 60 หลอมสังกะสีและแคดเมียม ที่ระบุว่าออกมาในปี 2566 กลับไม่ถูกใช้ในการซื้อขายกากแคดเมียมและสังกะสีในครั้งนี้เลย

ใช้เพียง ใบอนุญาตรีไซเคิล ลำดับที่ 106 แต่เป็นการใช้โดยมีความพยายาม “เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของโรงงาน”


เราจะไปให้ความสำคัญกับใบอนุญาตลำดับที่ 106 ซึ่งได้มาในปี 2557 เท่านั้น ... เพราะเราพบว่า มีความพยายามเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางอย่างในปี 2566

เมื่อค้นต่อไปว่า การอนุญาตให้บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล หลอมสังกะสีและแคดเมียมมีที่มาอย่างไร ก็ไปพบเอกสารที่ใช้หัวเรื่องว่า “บันทึกการเปลี่ยนแปลงต่างๆ” ซึ่งระบุให้เห็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติม ซึ่งเอกสารมาจาก ใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานลำดับที่ 106 ไม่เกี่ยวกับใบอนุญาตหลอมสังกะและแคดเมียมที่มีอยู่แล้วแต่ไม่ใช้

เมื่อดูเอกสารนี้จะเห็นว่า มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ ซึ่งตรงกับที่ตั้งในใบอนุญาตของ เจ แอนด์ บี เมททอล และเมื่อมาดูในหน้าที่เขียนว่า “ลำดับที่ 7” หน้า 7/1 ก็จะพบข้อความที่แสดงช่วงเวลาสำคัญ ดังนี้

แจ้งเพิ่มเครื่องจักร จากเดิม 771.65 แรงม้า เครื่องบดย่อยโลหะ 50 แรงม้า เพื่อเตรียมวัตถุดิบบดย่อย กาก ตะกรัน สังกะสี แคดเมียม ทองแดง ทองเหลือง หรือผลิตภัณฑ์โลหะอื่นๆ รวมกำลังเครื่องจักรทั้งสิ้น 821.65 แรงม้า โดยใช้คนงานเดิม .... พิจารณาแล้วไม่เข้าข่ายขยายโรงงาน ตามคำขอทั่วไปฯ เลขรับที่ 3275 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566


ข้อความนี้ มีชื่อ “อุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร” ที่ดำรงตำแหน่ง ณ ขณะนั้น เป็นผู้ลงนามรับรอง

หมายความว่า มีคำขอเพื่อเปลี่ยนแปลงโรงงานให้ โรงงานรีไซเคิล (106) ที่เคยทำได้เพียงการหลอมอลูมืเนียม สามารถรองรับสังกะสีและแคดเมียมได้ด้วย โดยไม่ต้องขยายโรงงาน และผ่านการพิจารณา มีอุตสาหกรรม จ.สมุทรสาคร ในเวลานั้น ลงนามรับรองเมื่อ 16 มิถุนายน 2566

ทดวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ไว้ในใจ แล้วไปดูเอกสารประกอบฉบับที่ 3


เอกสารแผ่นที่ 3 เป็นเอกสารจากบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบกิจการถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม ผลิตโลหะสังกะสีแท่ง สังกะสีอัลลอยและโลหะแคดเมียม อยู่ที่ ต.หนองบัวใต้ อ.เมืองตาก จ.ตาก ... ระบุว่าเป็น รายละเอียดคำขออนุญาตเพื่อส่ง “กากแคดเมียม และ กากสังกะสี” ออกไปในปริมาณ 5,000 ตัน

ข้อความสำคัญในเอกสารนี้ มีความหมายมาก เพราะเชื่อมโยงให้เห็นกระบวนการทั้งหมด คือ

- ชนิดของของเสีย ระบุชัดเจนว่าเป็น “กากแคดเมียม และ กากสังกะสี” ซึ่งหมายความว่า อุตสาหกรรม จ.ตาก ต้องรับรู้ว่า “แคดเมียม” ถูกขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบ

- วิธีกำจัด ระบุว่าเป็น รหัส 049 มีความหมายว่า ใช้วิธีการ “รีไซเคิล”

- ผู้รับดำเนินการ หรือ โรงงานปลายทาง มีรหัส 3-106-45/57สค ซึ่งเป็นรหัสของ เจ แอนด์ บี เมททอล สมุทรสาคร เฉพาะโรงงานรีไซเคิล (106) ที่เพิ่งทำเรื่องเปลี่ยนแปลงโรงงานไปเมื่อ 16 มิถุนายน 2566

- วันที่ขออนุญาต คือ 28 มิถุนายน 2566 หรือ 12 วัน หลังการพิจารณาขอเปลี่ยนแปลงโรงงาน

- ขออนุญาตระหว่างวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 หรือ 24 วัน หลังวันที่ 16 มิถุนายน 2566 และจะหมดอายุการอนุญาตครบ 1 ปี วันที่ 9 กรกฎาคม 2567

- แต่น่าสนใจว่า เบาด์ แอนด์ บียอนด์ เลือกคีย์ข้อมูลส่งไปที่โรงงาน 106 หรือ โรงงานรีไซเคิลของ เจ แอนด์ บี ที่เพิ่งขอขยายเปลี่ยนแปลงโรงงานให้รับสังกะสีและแคดเมียมได้ ... แต่ไม่เลือกส่งไปที่ โรงงานลำดับที่ 60 ซึ่งได้ใบอนุญาตในปี 2566 ทั้งที่มีใบอนุญาตหลอมแคดเมียมอยู่แล้ว

- ยิ่งน่าสนใจว่า ใบอนุญาตหลอมแคดเมียม (60) ของ เจ แอนด์ บี มีปัญหาอะไร


จากข้อมูลทางเอกสารทั้งหมดนี้ มีผู้เชี่ยวชาญในวงการรับกำจัดของเสียอันตรายวิเคราะห์ว่า มีความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อทำให้โรงงานเจ แอนด์ บี เมททอล สมุทรสาคร สามารถรับหลอมแคดเมียมและสังกะสีได้ ก่อนที่จะส่งกากแคดเมียมและกากสังกะสีที่ขุดขึ้นจากจากหลุมฝังกลบ ออกมาจาก จ.ตาก ... น่าจะมีสาเหตุบางประการที่ทำให้ โรงงานต้นทาง จ.ตาก คีย์ข้อมูลการส่งกากแคดเมียมและกากสังกะสี ไปยังใบอนุญาตรีไซเคิลลำดับที่ 106 ของ เจ แอนด์ บี เมททอล ซึ่งเพิ่งทำเรื่องขอเปลี่ยนแปลงโรงงาน แทนที่จะคีย์ส่งไปที่ใบอนุญาตหลอมแคดเมียมเดิมที่มีอยู่แล้ว

ผู้เชี่ยวชาญ ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงความสามารถของโรงงานตามกฎหมาย เช่น การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้โรงงานที่มีเครื่องจักรหลอมอลูมิเนียม สามารถไปหลอมแคดเมียมหรือสังกะสีได้ จะต้องผ่านการตรวจสอบเครื่องจักรทั้งหมดก่อน โดยผู้ตรวจและผู้ที่มีอำนาจลงนามรับรองการเปลี่ยนแปลงนี้ คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ไม่ใช่อุตสาหกรรมจังหวัดที่ขึ้นอยู่กับสำนักงานปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม

และเมื่อพบแคดเมียมอยู่ในโรงงานเจ แอนด์ บี เมททอล ก็ไม่ปรากฎว่ามีความพยายามจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่จะยืนยันว่า โรงงานนี้มีศักยภาพในการหลอมแคดเมียมได้จริง ทั้งในส่วนใบอนุญาต 106 ที่มีบันทึกเปลี่ยนแปลงให้ประกอบกิจการเกี่ยวกับแคดเมียมและสังกะสีได้ และยังไม่เปิดเผยว่า เจ แอนด์ บี เมททอล มีใบอนุญาตอีก 1 ใบ ที่สามารถหลอมแคดเมียมได้อยู่ในระบบของกรมโรงงานฯ ด้วย


ทั้งหมดจึงกลายเป็นคำถามสำคัญว่า ... การเปลี่ยนแปลงให้ใบอนุญาตโรงงานรีไซเคิล ลำดับที่ 106 ของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จ.สมุทรสาคร กลายเป็นโรงงานที่รองรับสังกะสีและแคดเมียมได้ มีที่มาที่ไปอย่างไร มีเครื่องจักรที่หลอมแคดเมียมได้จริงหรือไม่ เหตุใดจึงเปลี่ยนแปลงก่อนมีการขอเคลื่อนย้ายแคดเมียมเพียง 12 วัน และเหตุใดกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงไม่เปิดเผยว่ามีการเปลี่ยนแปลงใบอนุญาตไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2566 สู่สาธารณะ

รวมทั้งยังมีคำถามว่า ใบอนุญาตลำดับที่ 60 หลอมสังกะสีและแคดเมียม ของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จ.สมุทรสาคร ที่ได้มาในปี 2566 มาจากไหน ได้มาอย่างไร เข้าสู่ระบบตั้งแต่วันที่เท่าไหร่ ใครเป็นผู้ลงนามรับรอง และเหตุใดไม่ถูกนำมาใช้ในกรณีนี้


กระทรวงอุตสาหกรรม คงต้องตอบคำถามเหล่านี้ เหตุใด 2 ใบอนุญาต ของบริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด ที่เกี่ยวข้องกับการหลอมสังกะสีและแคดเมียมที่มีอยู่จริงในระบบของกรมโรงงานฯ กลับไม่ถูกใช้ในการแจ้งขอขนส่งแคดเมียม ไม่ถูกกล่าวอ้างเพื่อยืนยันความถูกต้องของการเคลื่อนย้ายแคดเมียม และไม่ถูกเปิดเผยให้สาธารณชนรับรู้เลยตลอดช่วงเวลาหลายวันที่มีข่าวนี้


ไม่ถูกเปิดเผยเลยว่า มีทั้งการออกใบอนุญาต และมีทั้งการเปลี่ยนแปลงโรงงานรีไซเคิลเดิมให้มีสถานะทางกฎหมายที่รับกากแคดเมียมมาหลอมได้ อยู่ในระบบของหน่วยงานรัฐเอง ??


จนกระทั่งกากแคดเมียมหลายพันตัน กระจายออกไปถึงโรงงานทุนจีนเถื่อนที่ชลบุรี ??
กำลังโหลดความคิดเห็น