ผู้เชี่ยวชาญเผย “ขุดกากแร่ขึ้นมาจากหลุมฝังกลบ” ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในไทย แต่ยืนยัน “อุตสาหกรรมจังหวัด” ต้องรับรู้ผ่านขั้นตอนการอนุญาต
รายงานพิเศษ
ดูเหมือนว่า ความสนใจต่อกรณีการพบ “ตะกรันจากการหลอมแร่สังกะสีปนเปื้อนแคดเมี่ยม” ที่ไปปรากฎอีกแห่งหนึ่งในโรงงานทุนจีนเถื่อน จ.คลองกิ่ว อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี จะได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรงงานทุนจีน บนเนื้อที่ 88 ไร่ ถูกเรียกว่า “รัฐอิสระคลองกิ่ว” เพราะสามารถเปิดทำกิจการอันตรายต่างๆซึค่งรวมไปถึงการหลอมซากอิเล็กทรอนิกส์มาได้ ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต และไม่เคยแจ้งขอประกอบการ แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับไม่สามารถจัดการได้
แต่ประเด็นที่อาจจะถูกพูดถึงน้อยเกินไปหลังความสนใจมุ่งไปที่โรงงานทุนจีน นั่นคือ การที่ บริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนต์ จำกัด (ชื่อเดิมคือ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน)) ขุดนำกากแร่ปนเปื้อนแคดเมี่ยมซึ่งเป็นของเสียอันตรายเกิดขึ้นได้อย่างไร ทำได้หรือไม่ เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจในการอนุญาตให้ขุดหรือไม่
เมื่อนำคำถามเหล่านี้ไปสอบถามกับผู้เชี่ยวชาญในวงการกำจัดของเสียอันตราย ได้รับคำยืนยันว่า แม้ในหลักการจะสามารถขุดกากแร่กลับขึ้นมาจากหลุมฝังกลบได้ โดยต้องผ่านการทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ขึ้นมาอีกรอบหนึ่งก่อนขุด แต่ในประเทศไทย ยังไม่เคยขุดกากแร่กลับขึ้นมาจากหลุมฝังกลบมาก่อน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดของเสียอันตราย ระบุไว้ดังนี้
1. ยืนยันไม่เคยมีการขุดกากแร่กลับขึ้นมาจากหลุมฝังกลบของเสียอันตรายในประเทศไทยมาก่อน หรือถ้ามีก็เป็นเพียงการขออนุญาตซ่อมแซมหลุมฝังกลบที่อาจมีความเสี่ยงเกิดปัญหารั่วไหล
2. การทำหลุมฝังกลบของเสียอันตราย ต้องผ่านการทำ EIA ก่อน ดังนั้นการจะอนุญาตให้ขุดขึ้นมาก็ต้องผ่านการทำ EIA ใหม่
3. มองไม่เห็นเหตุผลที่เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัด จะอนุญาตให้ขุดกากแร่ขึ้นมาจากหลุมฝังกลบของเสียอันตราย เพราะเสี่ยงต่อการปนเปื้อน
4. แต่หากจะอ้างว่า เอกชนขุดกากแร่ขึ้นมาจากหลุมฝังกลบของเสียอันตรายโดยไม่ได้ขออนุญาต ก็ยังมีขั้นตอนในกระบวนการตามกฎหมายที่อุตสาหกรรมจังหวัดต้องเห็นความผิดปกติ
5. จากกรณีการส่งตะกรันสังกะสีปนเปื้อนแคดเมี่ยมออกมาจากบริษัท เบาด์ แอนด์ บียอนต์ ที่ จ.ตาก ไปยังโรงงาน เจแอนด์บี เมททอล สมุทรสาคร จะต้องแจ้งต่อเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดตาก ว่าของเสียที่จะส่งไปคืออะไร
6. ปลายทางรับได้ตามกฎหมายหรือไม่เป็นอีกประเด็นหนึ่ง แต่สิ่งที่อุตสาหกรรมจังหวัดตาก จะต้องเห็นและต้องตั้งคำถามก่อน คือ ของเสีย “ตะกรันจากการหลอมสังกะสี” ที่จะถูกส่งออกไป มีที่มาจากกระบวนการใด จึงทำใกห้เกิดของเสีย
7. ในแบบฟอร์มการเคลื่อนย้านของเสียอันตราย โรงงานต้นทางจะต้องระบุ “กระบวนการก่อให้เกิดของเสีย” ที่จะส่งออกไปด้วย โดยต้องเขียนเป็นรูปแบบ “ผัง” ให้ชัดเจน ว่าของเสียได้มาจากไหน หรือกระบวนการได้มาเป็นอย่างไร
8. ดังนั้น หากทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้องทุกประการ เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดตาก จะต้องรับรู้ว่า “แคดเมี่ยม” ถูกขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากแร่ที่ปิดไปแล้ว โดยอาจรับรู้ตั้งแต่ต้น หรือหากไม่รู้ตั้งแต่ต้นทาง ก็ต้องรับรู้ในขั้นตอนที่ตามมา ในฐานะเป็นผู้อนุญษตให้เคลื่อนย้ายขนส่งของเสีย