xs
xsm
sm
md
lg

ราคาจัดการ “แคดเมียม” ส่งกลับ 2.4 ล้าน ส่งกำจัดอีกเกือบ 10 ล้าน แต่หายไปจากใบนำส่ง 1 หมื่นตัน!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รายงานพิเศษ

การพบ “ตะกรันจากการหลอมสังกะสี ที่มีการปนเปื้อนของแคดเมียม ถึง 38%” ที่ถูกจัดเก็บอยู่ที่โรงงานหลอมอลูมิเนียม บริษัท เจ แอนด์ บี เมททอล จำกัด หมู่ที่ 2 ต.บางน้ำจืด อ.เมืองฯ จ.สมุทรสาคร สร้างความกังวลเป็นอย่างมากกับคนในพื้นที่ เพราะถือเป็นกากอุตสาหกรรมที่มีความอันตรายสูง เพราะมีสารก่อมะเร็ง แม้ว่านายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จะประกาศเป็นเขตอันตราย ห้ามเข้าไปในอาคาร และห้ามหลอมตะกรันอย่างเด็ดขาด

ข้อสังเกตที่สำคัญจากเหตุการณ์นี้ คือ กากตะกรันที่ปนเปื้อนแคดเมียมจากต้นทางคือ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นโรงงานถลุงแร่สังกะสีที่ จ.ตาก ถูกส่งมาที่ จ.สมุทรสาครได้อย่างไร เพราะ โรงงานเจ แอนด์ บี เมททอล มีใบอนุญาตเป็นโรงงานรีไซเคิล (ลำดับที่ 106) ได้รับอนุญาตประกอบกิจการหลอมแท่งโลหะอลูมิเนียม จึงไม่สามารถรับตะกรันจากการหลอมสังกะสีได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ผู้เชี่ยวชาญในวงการกำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม จึงตั้งคำถามใหญ่ๆ ที่ควรจะต้องขอให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนดังนี้

ประเด็นแรก ... การเคลื่อนย้ายจาก จ.ตาก มาที่ จ.สมุทรสาคร

- เมื่อเปิดเผยใบอนุญาตขนส่งจากผาแดงอินดัสตรี มายัง เจ แอนด์ บี เมททอล กลับพบว่า มีบันทึกข้อมูลชนิดของของเสียที่นำส่งออกจากต้นทางมายังปลายทางปริมาณ 13,000 ตัน ไม่ใช่ 15,000 ตัน แต่มีคำถามใหญ่ว่า ทำไมจึงได้รับอนุญาตจากอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ให้นำออกมาได้ ทั้งที่โรงงานปลายทางไม่สามารถรับของชนิดนี้ได้ แม้จะมีคำสั่งย้ายอุตสาหกรรมจังหวัดตากแล้วก็ตาม

- ทั้งโรงงานต้นทางและโรงงานปลายทาง ไม่สามารถอ้างได้ว่า “ไม่รู้” ว่าตะกรันจากการหลอมสังกะสีที่ถูกตรวจพบมีการปนเปื้อนของแคดเมียม เพราะการซื้อ-ขาย กากของเสียจากอุตสาหกรรม จะต้องผ่านการตรวจพิสูจน์ชนิดของสารทุกครั้ง

- ที่สำคัญ หากแจ้งนำออก 13,000 ตัน ของทั้งหมดก็ต้องอยู่ที่ เจ แอนด์ บี เมททอล จ.สมุทรสาคร แต่เมื่อตรวจสอบอย่างละเอียด กลับพบว่า มีกากตะกรันปนเปื้อนแคดเมียมที่โรงงานเจแอนด์บีเพียง 2,440 ตัน

- หมายความว่า ตะกรันปนเปื้อนแคดเมียมที่พบ มีปริมาณน้อยกว่าในเอกสารนำออกจาก จ.ตาก หรืออาจเรียกได้ว่า “หายไป” ประมาณ 1 หมื่นตัน

ประเด็นที่สอง ... นำตะกรันจากการหลอมสังกะสีมาทำอะไร?

- สาเหตุที่ไม่ตั้งคำถามว่า นำแคดเมียมมาทำอะไร เพราะแคดเมียมที่ปนเปื้อนมา ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้

- สิ่งที่ใช้ประโยชน์ต่อได้ คือ การนำมาหลอมเพื่อสกัดแยกทองแดงออกมาหลอมเป็นแท่งส่งออกไปที่ประเทศจีน มีราคาประมาณตันละ 2,000-3,000 บาท

- ราคาทองแดงที่จีนรับซื้อมีขึ้นมีลง อาจเป็นสาเหตุที่เก็บกากของเสียไว้นาน

- มีคำถามที่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญยังสงสัยว่า การสกัดเป็นทองแดงออกไปขาย ไม่น่าจะคุ้มราคาที่รับซื้อตะกรันสังกะสีปนเปื้อนแคดเมียมมา

- เมื่อสกัดทองแดงออกไปแล้ว ก็จะเหลือเป็นฝุ่นจากการหลอมที่เรียกว่า SLAG ซึ่งจะยังปนเปื้อนแคดเมียมอยู่ดี

ประเด็นที่ 3 ... หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร หรือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะจัดการกับกากของเสีย 15,000 ตัน ที่ถูกพบว่ามีอันตรายจากการปนเปื้อนแคดเมียมอย่างไร ... ซึ่งจะมีผลอย่างมาก เพราะ “ค่าดำเนินการ” มีราคาแพง

- ถ้าทำตามหลักการ คือ การเคลื่อนย้ายมาไม่ถูกต้อง จะต้อง “ส่งกลับ” ไปยังโรงงานต้นทางที่ จ.ตาก จะมีค่าขนย้ายของเสียอันตรายกลุ่มนี้ในราคาประมาณ 20,000 บาท ต่อ 1 คันรถ แต่ละคันบรรทุกได้ 20 ตัน หมายความว่า การเคลื่อนย้ายแคดเมียม 2,440 ตัน กลับไปที่ อ.แม่สอด จ.ตาก จะต้องใช้ 122 คันรถ มีค่าขนย้ายประมาณ 2.4 ล้านบาท ... และต้องนำไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป

- วิธีการ “กำจัด” แคดเมียม จะต้องใช้วิธีการปรับลดค่าความอันตรายลงและนำไปฝังกลบแบบปลอดภัย จะมีค่ากำจัดอย่างน้อยที่สุดอยู่ที่ประมาณ 3,500 - 4,000 บาทต่อตัน ดังนั้นหากมีของเสีย 2,440 ตัน ก็จะต้องมี ค่ากำจัดประมาณ 8.5 ถึง 9.7 ล้านบาท

แน่นอนว่า ทั้งหมดนี้เป็นภาระที่โรงงานซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดฐานผู้ก่อมลพิษจะต้อง “จ่าย” แต่หากมองย้อนกลับไปดูเกือบทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐยังไม่เคยเรียกเก็บค่าก่อมลพิษจากโรงงานเหล่านี้ได้เลย ในหลายพื้นที่จึงยังคงมีซากของเสียอันตรายสร้างผลกระทบต่อไปอ่างต่อเนื่อง และในบางพื้นที่ก็ต้องใช้งบประมาณของรัฐ มาดำเนินการนำของเสียอันตรายออกไปกำจัดอย่างถูกต้อง ก่อนเพื่อลดผลกระทบ ...

โดยหวังว่า จะบังคับเรียกเก็บคืนจากโรงงานได้ในภายหลัง?
กำลังโหลดความคิดเห็น