xs
xsm
sm
md
lg

ธนาคารลาวสแกนจ่ายได้แล้วที่ไทย ส่วนไทยสแกนจ่ายตรงที่ลาวรอ มิ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลูกค้าธนาคารลาว 6 แห่ง สามารถสแกนจ่ายผ่าน QR Code ในประเทศไทยได้แล้ววันนี้ 4 ธนาคาร ผ่านเครื่องรูดบัตรและแพลตฟอร์มรับเงินสำหรับร้านค้า ผ่านแอปฯ กับป้าย QR Code ส่วนธนาคารไทยสแกนจ่ายตรงใน สปป.ลาว รอ มิ.ย.นี้ ประเดิม KMA ของกรุงศรีฯ และ Krungthai NEXT ของกรุงไทย

วันนี้ (5 เม.ย.) รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers' and Central Bank Governors' Meeting) ครั้งที่ 11 ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เปิดตัวการให้บริการชำระเงินข้ามพรมแดนผ่าน QR Code (Cross-Border QR Payment) ระหว่างไทยกับ สปป.ลาว

โดยระยะแรก ลูกค้าธนาคารใน สปป.ลาว สามารถใช้แอปพลิเคชันธนาคารพาณิชย์ลาวที่เข้าร่วมโครงการ สแกนจ่ายผ่าน Thai QR Payment เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าในไทยที่เข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2567 เป็นต้นไป ส่วนระยะที่สอง ลูกค้าธนาคารไทย จะสามารถใช้แอปพลิเคชันธนาคารพาณิชย์ไทยที่เข้าร่วมโครงการ สแกน LAO QR บนเครือข่าย LAP NET เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าใน สปป. ลาวที่เข้าร่วมโครงการ โดยจะเริ่มภายในเดือน มิ.ย. 2567

โครงการนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารกลางแห่ง สปป.ลาว ผู้ให้บริการระบบการชำระเงิน ได้แก่ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ จำกัด และ Lao National Payment Network (LAP NET) และผู้ให้บริการชำระดุลระหว่างประเทศ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) รวมทั้งผู้ให้บริการที่เข้าร่วมให้บริการแอปพลิเคชัน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ของไทย 2 แห่ง ธนาคารพาณิชย์ของ สปป. ลาว 6 แห่ง และผู้ให้บริการชำระเงินที่ให้บริการ QR แก่ร้านค้าของทั้งสองประเทศ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า สปป.ลาว เป็นประเทศที่ 6 ในกลุ่มอาเซียน ที่ไทยประสบความสำเร็จในการเชื่อมโยงระบบชำระเงินระหว่างประเทศ เพิ่มเติมจากกัมพูชา มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นไปตามแผน ASEAN Payment Connectivity เชื่อมั่นว่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการชำระเงินของประชาชนทั้งสองประเทศ ผ่านการทำธุรกรรมที่รวดเร็วขึ้นและต้นทุนที่เหมาะสม อันจะช่วยส่งเสริมให้เศรษฐกิจของอาเซียนเติบโตร่วมกันและสนับสนุนการก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัล

สำหรับธนาคารลาวที่สามารถสแกนจ่ายที่ประเทศไทย ได้แก่

- ธนาคารเอซีลีดา (ACLEDA BANK) ผ่านแอปฯ ACLEDA MOBILE

- ธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (AGRICULTURAL PROMOTION BANK) ผ่านแอปฯ MEPOM (มีพร้อม)

- ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) ผ่านแอปฯ BCEL ONE

- ธนาคารร่วมพัฒนา (Joint Development Bank) ผ่านแอปฯ JDB YES

- ธนาคารร่วมธุรกิจลาว-เวียด (LAO VIET BANK) ผ่านแอปฯ LVB DigiBank

- ธนาคารเอสที (ST Bank) ผ่านแอปฯ ST HUB

โดยธนาคารไทยที่สามารถใช้สแกนจ่ายผ่าน QR Code ได้ทั้งเครื่องรูดบัตร (EDC) และแพลตฟอร์มรับเงินสำหรับร้านค้า ทั้งในรูปแบบแอปพลิเคชัน และป้าย QR Code ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (Bangkok Bank) ผ่านบริการ BeMerchant NextGen, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (Krungsri) ผ่านบริการกรุงศรี มั่งมี ช้อป, ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ผ่านบริการ K SHOP และธนาคารกรุงไทย (Krungthai Bank) ผ่านบริการถุงเงินกรุงไทย เป็นต้น

ส่วนเดือน มิ.ย. 2567 แอปพลิเคชันธนาคารไทยที่สามารถสแกนจ่ายใน สปป.ลาว ได้แก่ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ผ่านแอปฯ KMA และธนาคารกรุงไทย ผ่านแอปฯ Krungthai NEXT โดยสามารถสแกนจ่ายผ่าน QR Code ของธนาคารดังต่อไปนี้

- ACLEDA BANK LAOS ของธนาคารเอซีลีดา (ACLEDA BANK)

- Agricultural Promotion Bank ของธนาคารส่งเสริมกสิกรรม (AGRICULTURAL PROMOTION BANK)

- BCEL One Pay ของธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL)

- YesPay Lao QR ของธนาคารร่วมพัฒนา (Joint Development Bank)

- QR KBank Shop ธนาคารกสิกรไทย สปป.ลาว

- LDB Trust ธนาคารพัฒนาลาว (Lao Development Bank)

- LaoViet Bank QR Pay ธนาคารร่วมธุรกิจลาว-เวียด (LAO VIET BANK)

- ST HUB QR PAYMENT ธนาคารเอสที (ST Bank)

ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2567

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า ก่อนหน้านี้ธนาคารการค้าต่างประเทศลาว (BCEL) เปิดให้บริการชำระเงินข้ามประเทศด้วย QR Code มาตั้งแต่ปี 2562 ที่ทำให้ธนาคารของไทย 5 แห่งสามารถสแกนจ่ายได้ที่ สปป.ลาว แต่เป็นการสแกนจ่ายผ่านเครือข่าย Unionpay สัญชาติจีน โดยคิวอาร์โค้ด BCEL One Pay ที่รองรับจะต้องมีโลโก้ Unionpay จึงสามารถสแกนจ่ายได้ ซึ่งมีร้านค้าไม่มากนัก แต่ครั้งนี้เป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ็กซ์ ของไทย กับ LAP NET ของ สปป.ลาว โดยตรง
กำลังโหลดความคิดเห็น