xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก ‘แคดเมียม’ คืออะไร สามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากการพบกากแร่แคดเมียมในจังหวัดสมุทรสาคร กว่า 15,000 ตัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากกากแร่ปนเปื้อนแคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งนั้น โดยจะพามาทำความรู้จักแคดเมียมคืออะไรสามารถเข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน

จากกรณีตามที่มีข่าวว่ามีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตากขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบในพื้นที่จังหวัดตาก ให้กับบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร กว่า 15,000 ตัน ซึ่งเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากกากแร่ปนเปื้อนแคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็ง ในกรณีได้สัมผัส สูดดม หรือปนเปื้อนไหลไปยังแหล่งน้ำ ถ้าประชาชนดื่มกินจะเป็นอันตราย รวมถึงสัตว์น้ำในบริเวณดังกล่าวด้วย ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จะประกาศพื้นที่ภัยพิบัติไม่ให้บุคคลเข้าไปในอาคารที่จัดเก็บ และไม่ให้มีการหลอมกากแร่แคดเมียม ตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั่น

ทั้งนี้ แคดเมียม (Cadmium) มีสูตรทางเคมีคือ Cd เป็นโลหะสีเงินขาว แวววาวเป็นสีน้ำเงินจางๆ ไม่มีกลิ่น มีลักษณะเนื้ออ่อน สามารถบิดโค้งงอได้และถูกตัดได้ง่ายด้วยมีด มักอยู่ในรูปแท่ง แผ่น เส้น ลวด หรือเป็นผงเม็ดเล็กๆ สามารถทำปฏิกิริยาเคมีอย่างรุนแรงกว่าสารที่ให้ออกซิเจน เนื่องจากแคดเมียมทนทานต่อการสึกกร่อนได้เป็นอย่างดี จึงนำไปฉาบผิวโลหะต่างๆ ในทางอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก เหล็กกล้า ทองแดง โดยทั่วไปนำไปใช้ในการชุบโลหะ นอกจากนี้ยังใช้ผสมกับทองแดง นิกเกิล ทองคำ บิสมัท รวมถึงยังใช้เป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่ชนิดที่เติมประจุใหม่ได้อีกด้วย

โดยแคดเมียมที่เข้าสู่ร่างกาย โดยผ่านทางระบบหายใจ และระบบทางเดินอาหาร จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนโลหิตจับกับโปรตีน albumin ถูกส่งไปที่ตับ ทำให้มีอาการอักเสบที่ตับ บางส่วนของแคดเมียมจะจับตัวกับโปรตีนอีกชนิดหนึ่ง (metallothionein) เข้าไปสะสมในตับและไต และถูกขับออกทางปัสสาวะ โดยกระบวนการขับแคดเมียมออกจากไตเกิดขึ้นช้ามาก ใช้เวลาถึงประมาณ 20 ปี ถึงสามารถขับแคดเมียมออกได้ครึ่งหนึ่งของแคดเมียมที่มีการสะสมอยู่ในไตออกได้ ทำให้มีอาการกรวยไตอักเสบ ผู้ที่ได้รับแคดเมียมเรื้อรัง มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งปอด ไต ต่อมลูกหมาก และตับอ่อน มีรายงานผู้ป่วยที่กินข้าวที่เพาะปลูกจากแหล่งที่ดินมีการปนเปื้อนแคดเมียม จะมีอาการของโรคกระดูกพรุน และกระดูกมีการเจริญที่ผิดปกติ รวมถึงโรคอิไต-อิไต (Itai-Itai disease) อีกด้วย

อาการและความอันตราย
ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ระคายเคืองหลอดลม จมูก และลำคอ เกิดถุงลมโป่งพอง เป็นพิษต่อไต

การปฐมพยาบาล
1. หากสูดดม: ให้รีบออกจากพื้นที่ รับอากาศบริสุทธิ์นำส่งแพทย์ทันที
2. หากสัมผัสกับผิวหนัง: ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนออกหมดทันที ล้างด้วยน้ำไหลผ่าน รีบพบแพทย์
3. หากเข้าตา: ล้างออกด้วยน้ำปริมาณมาก รีบพบจักษุแพทย์
4. หากกลืนกิน /ดื่ม ให้รีบดื่มน้ำตามทันทีอย่างน้อย 2 แก้ว รีบพบแพทย์
5. งดเข้าพื้นที่เกิดเหตุ ติดตามสถานการณ์ สังเกตอาการตนเอง ผิดปกติรีบพบแพทย์ทันที




กำลังโหลดความคิดเห็น