xs
xsm
sm
md
lg

กรมอุทยานฯ แจ้งข้อกล่าวหานักท่องเที่ยวต่างชาติ จับหางฉลามวาฬ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งข้อกล่าวหาเหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาดำน้ำที่กองหินริเชริว และได้สัมผัสปลายหางฉลามวาฬ

จากกรณีเหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาดำน้ำที่กองหินริเชริว และได้สัมผัสปลายหางฉลามวาฬ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ซึ่งมีข้อสงสัยว่านักดำน้ำสามารถสัมผัสปลายหางฉลามวาฬได้หรือไม่ และเป็นการทำให้เกิดอันตรายกับสัตว์ทะเลโดยตรงและทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตในท้องทะเลหรือไม่

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับรายงานจากนายอาทิตย์ ขยันกิจ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ว่า จากเหตุการณ์นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาดำน้ำที่กองหินริเชริว และได้สัมผัสปลายหางฉลามวาฬ เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 67 อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ได้ดำเนินการดังนี้

1. อุทยานฯ ได้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐาน คลิปวิดีโอ ภาพถ่าย เพื่อดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาการกระทำผิดทางพินัยต่อผู้กระทำผิด

2. อุทยานฯ ได้ประสานงานกับผู้ควบคุมดำน้ำลึก เพื่อขอทราบข้อมูลการกระทำผิด

3. อุทยานฯ ได้แจ้งข้อกล่าวหาการกระทำผิดทางพินัย ให้ผู้กระทำผิดทราบ และผู้กระทำผิด ผู้ควบคุมดำน้ำลึกรับสารภาพ

4. อุทยานฯ ได้นำส่งบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาการกระทำผิดทางพินัย (พน.อส.1) และ บันทึกการให้การรับสารภาพ (พน.อส.2) ส่งสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 เพื่อดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้ยกระดับให้ฉลามวาฬเป็นสัตว์ป่าสงวน ซึ่งฉลามวาฬ (Whale Shark) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันเป็นปลากระดูกอ่อนเหมือนปลาฉลามชนิดอื่น มักอาศัยในทะเลที่น้ำมีอุณหภูมิ 18-30 องศาเซลเซียส ลำตัวของมันมีสีเทา มีลายจุดสีขาวและสีเหลืองอ่อนตามตัว ความยาวของวัยตัวโตเต็มวัยอยู่ที่ 5.5-10 เมตร แต่อาจยาวได้ถึง 12 เมตร และอาจหนักได้ถึง 20 ตัน กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซึ่งฉลามวาฬไม่เป็นภัยต่อมนุษย์ แต่กำลังประสบปัญหาคุกคามจากมนุษย์ ทั้งการลดจำนวนลงของแพลงก์ตอน และมลพิษกับอุบัติเหตุจากเรือยนต์เช่นเดียวกัน แต่ฉลามวาฬจะพบการคุกคามที่รุนแรงกว่า คือการล่าเพื่อตัดครีบที่เรียกว่า “หูฉลาม”


กำลังโหลดความคิดเห็น