xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อสัตวแพทย์ สุนัขโดเบอร์แมนตายทั้งกลมรวม 18 ชีวิต เหตุประมาทเลินเล่อ-ทำขาดโอกาสรักษา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมน (DOBERMAN) เพศเมีย อายุ 2 ปี ตายพร้อมกับลูกในท้องอีก 17 ตัว หลังนำไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง แต่สัตวแพทย์กลับประมาทเลินเล่อ ทำให้สุนัขขาดโอกาสในการรักษา และเมื่อถามถึงสาเหตุที่แท้จริงกลับได้รับการบ่ายเบี่ยง

รายงาน

เมื่อกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทีมข่าว MGR Online ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้เสียหายรายหนึ่งร้องเรียนว่า สุนัขพันธุ์โดเบอร์แมน (DOBERMAN) เพศเมีย อายุ 2 ปี ที่ซื้อมาจากต่างประเทศ ตายพร้อมกับลูกในท้องอีก 17 ตัว หลังนำไปรักษาที่โรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง แต่สัตวแพทย์กลับประมาทเลินเล่อ ทำให้สุนัขขาดโอกาสในการรักษา และเมื่อถามถึงสาเหตุที่แท้จริงกลับได้รับการบ่ายเบี่ยง

แม้ว่าโอกาสที่จะต่อสู้คดีไม่อาจเทียบได้กับชีวิตที่เสียไป แต่ผู้เสียหายต้องการที่จะให้การตายของสุนัขตัวนี้เป็นจุดเปลี่ยนในวงการสัตวแพทย์ของไทย เพราะยังมีผู้เสียหายอีกมากที่ต้องสูญเสียสัตว์เลี้ยง ด้วยสาเหตุที่แท้จริงเกิดจากความประมาทเลินเล่อของสัตวแพทย์ แต่กลับมีความพยายามในการปกป้องจากผู้คนในวงการสัตวแพทย์ด้วยกันเอง เพื่อให้ตัวเองพ้นผิดและไม่ต้องรับผิดชอบ


เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา สุนัขพันธุ์โดเบอร์แมน เพศเมีย ที่ซื้อมาจากต่างประเทศ กำลังตั้งท้อง มีลูกอยู่ในท้อง 17 ตัว เกิดอาการไม่กินข้าว จึงไปที่โรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นคนละแห่งกับที่เกิดเรื่อง ปรากฏว่าตรวจค่าเลือดปกติ ขณะนั้นยังไม่มีอาการใดๆ

8 มี.ค. สุนัขเกิดอาการหัวสั่นเล็กน้อย เข้าใจว่าหนาว แต่พอช่วงบ่ายเกิดอาการหัวสั่นหนักขึ้น ช่วงเย็นจึงพาสุนัขไปที่โรงพยาบาลสัตว์ดังกล่าว ย่านบางนา ปรากฏว่าใช้เวลารอผลตรวจเลือดนาน ทั้งที่เป็นเพียงแค่ตรวจเลือดขั้นต้นเท่านั้น 

โดยปกติใช้เวลาไม่เกิน 15 นาที ไม่ได้ตรวจเลือดชุดใหญ่ (Blood Gas) อีกทั้งเมื่อต้องการตรวจแคลเซียมยังต้องร้องขอ เวลาผ่านไป 8 นาทีค่าแคลเซียมเพิ่งออกมา




พอผลเลือดออกมาปรากฏว่า ค่าโพแทสเซียม (K) สูงถึง 6.2 จากปกติอยู่ที่ 3.5-5.8 ถือว่าอยู่ในระดับวิกฤต ซึ่งหากสูงถึง 9 หมายถึงหัวใจวายตาย ส่วนค่าโซเดียม (Na) ค่อนข้างต่ำ เพียงแค่ 124 จากปกติอยู่ที่ 144-160 ซึ่งหากต่ำกว่านี้หมายถึงไตวาย ส่วนค่าคลอไรด์ (Cl) ปรากฏว่าวัดได้ 89 จากปกติ 109-122 ถือว่า "เข้าขั้นวิกฤต"

แต่ปัญหาก็คือว่า สัตวแพทย์อ่านผลเลือดให้ฟัง แต่ไม่ได้แปลผลลัพธ์ให้ฟังว่า "สุนัขอันตรายเพียงใด?"

เมื่อทำการอัลตราซาวนด์ ตรวจช่องท้อง ตรวจอุจจาระ ไม่พบสิ่งผิดปกติ สัตวแพทย์วินิจฉัยไว้ก่อนว่าเกิดจากปวดท้อง และท้องใหญ่ ทั้งที่ผลตรวจออกมาเกิดจากการขาดแคลเซียม ควรที่จะรักษาด้วยการให้น้ำเกลือเพื่อที่จะทำให้ค่าอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) เกิดความสมดุล แล้วหาสาเหตุให้เจอ แต่กลับไม่ทำเช่นนั้น

ทางโรงพยาบาลสัตว์เสนอว่า ให้ “ดูอาการที่นี่” ซึ่งในฐานะเจ้าของมีความเป็นห่วง เนื่องจากเคยได้รับประสบการณ์ที่ไม่ดีในการให้สุนัขแอดมิตกับทางโรงพยาบาล อีกทั้งสัตวแพทย์ไม่ได้บอกว่าอาการของสุนัขอันตรายขนาดไหน เมื่อปรึกษาแล้วจึงตัดสินใจพาสุนัขกลับบ้าน




ต่อมาเวลาประมาณ 23.00 น. (ห้าทุ่ม) สุนัขเกิดอาการหัวสั่นหนักขึ้นเรื่อยๆ โทรศัพท์ไปถามโรงพยาบาลสัตว์แห่งหนึ่ง พบว่าไม่พร้อมเพราะเป็นสุนัขตัวใหญ่ จึงโทรศัพท์ไปที่โรงพยาบาลสัตว์ที่เกิดเรื่อง ได้รับคำตอบว่าพร้อม จึงกลับมาที่นั่นอีกครั้ง

เวลา 23.30 น. ถึงโรงพยาบาล แต่กว่าจะได้พบสัตวแพทย์ก็เวลาประมาณเที่ยงคืน อ้างว่าติดเคสหนึ่งอยู่ และมีสัตวแพทย์อยู่เพียง 1 คน และกว่าจะได้เข้าห้องไอซียูก็เป็นเวลา 01.00 น. (ตีหนึ่ง) 

แสดงให้เห็นว่าบุคลากรไม่พร้อม และไม่ได้มองว่าสุนัขที่มีอาการวิกฤตนั้นเป็นเหตุฉุกเฉิน


อีกทั้งผลตรวจเลือด 15 นาที ควรออกมาได้แล้ว ปรากฏว่าผลเลือดออกมาเวลาประมาณ 02.16 น. (ตีสองสิบหกนาที) โดยพบว่า ค่าโพแทสเซียม (K) สูงถึง 7.7 สูงกว่าเมื่อเย็น ซึ่งถือว่าอันตรายมาก

ระหว่างนั้นได้คุยกับเจ้าของสุนัขเดิมที่เป็นชาวต่างชาติ เจ้าของสุนัขพยายามให้ฉีดแคลเซียมเข้าไป แต่ทางโรงพยาบาลอ้างว่าฉีดไม่ได้ สุดท้ายฉีดลงไป เวลาประมาณ 04.29 น. พบว่าค่าโพแทสเซียมลดลงเหลือ 7.5 แต่ไม่ทันแล้ว 

สุดท้ายสุนัขตายเมื่อเวลาประมาณ 05.00 น. วันที่ 9 มี.ค. 2567


เจ้าของสุนัขตั้งประเด็นความผิดปกติเอาไว้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ทางโรงพยาบาลสัตว์ไม่ได้ทำการตรวจเลือดชุดใหญ่ (Blood Gas) ทั้งที่สุนัขมีอาการผิดปกติ ส่งสัญญาณว่าวิกฤต แต่กลับตรวจเลือดชุดเล็ก

ซึ่งค่าบางตัว อย่างค่าแคลเซียม (Ca) เป็นค่าหลอก เพราะแม่สุนัขต้องแบ่งแคลเซียมไปให้ลูกสุนัขในท้อง จึงจำเป็นต้องตรวจเลือดชุดใหญ่เพื่อวิเคราะห์สาเหตุให้เจอ

แต่ทางโรงพยาบาลอ้างว่าเจ้าของสุนัขบางตัวปฏิเสธที่จะตรวจเลือดชุดใหญ่ ทั้งที่ขั้นตอนไม่ต่างกัน

ประเด็นที่ 2 ทางโรงพยาบาลสัตว์ไม่ได้รักษาสุนัขตัวดังกล่าวด้วยซ้ำ ทั้งที่สุนัขเกิดอาการหัวสั่น ส่งสัญญาณว่าจะวิกฤต อย่างน้อยควรปรับค่าอิเล็กโทรไลต์ (Electrolytes) ให้เกิดความสมดุล แล้วหาสาเหตุให้เจอ

ประเด็นที่ 3 ทางโรงพยาบาลไม่ได้บอกถึงความอันตรายของอาการสุนัขว่าวิกฤตแค่ไหน เพียงแต่แนะว่าให้แอดมิต (Admit) และเมื่อถามว่าจะทำอะไร ก็บอกเพียงแค่ให้อาหารและสังเกตอาการ รอแพทย์อีกคนหนึ่งทำการตรวจในวันรุ่งขึ้น

ประเด็นที่ 4 โรงพยาบาลสัตว์ควรมีแพทย์ที่รับมือกรณีฉุกเฉิน และมีเครื่องมือที่พร้อมช่วยชีวิตสัตว์ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าเวลาไหนก็ควรได้รับการรักษา แต่กรณีนี้ กว่าจะได้พบสัตวแพทย์กินเวลากว่าครึ่งชั่วโมง และเข้าห้องไอซียูก็ 1 ชั่วโมง

ประเด็นที่ 5 ทางโรงพยาบาลสัตว์บ่ายเบี่ยงและไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ นอกจากขอฟีดแบ็กเพื่อนำไปปรับปรุงบริการ ทั้งที่สุนัขตายทั้งชีวิตรวมกัน 18 ชีวิต


จุดที่ผิดพลาดของโรงพยาบาลสัตว์ที่เห็นได้ชัด คือ 

1. ทางโรงพยาบาลสัตว์บ่ายเบียงการให้เวชระเบียนและเหตุการตาย สุนัขตายวันที่ 9 มี.ค. กว่าจะได้เวชระเบียน ใช้เวลาถึง 2 สัปดาห์

2. มีการบ่ายเบี่ยงให้พบแพทย์ที่ร้องเรียนโดยตลอด

3. ต้องใช้ความพยายามเพื่อขอดูกล้องวงจรปิด ซึ่งผลที่ออกมาพบว่า ไม่มีการบอกใดๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับผลอันตรายหากไม่ได้รับการรักษา

4. ใบสรุปผลการรักษาไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในใบส่งตัวอ้างว่า ให้น้ำเกลือครั้งแรกเวลา 00.30 น. ซึ่ง ณ เวลานั้นยังไม่ได้พบสัตวแพทย์เลย

5. สัตวแพทย์ทั้งสองคนมีลักษณะการกระทำมาตรฐานการแพทย์เหมือนกัน แม้จะเป็นคนละคน และคนละช่วงเวลา คือ "อ่านผลเลือดให้ฟัง แต่ไม่ได้แปลผลลัพธ์ให้ฟังว่าสุนัขอันตรายเพียงใด” ทั้งสองคน

โดยสรุปก็คือ สุนัขพันธุ์โดเบอร์แมนตัวนี้ "ขาดโอกาสในการรักษา" และสัตวแพทย์ประมาทเลินเล่อ

อีกทั้งทางโรงพยาบาลไม่ได้รักษาตั้งแต่ต้นด้วยซ้ำ แต่เจ้าของสุนัขยังต้องเสียเงินค่ารักษาพยาบาลแก่โรงพยาบาลสุนัขดังกล่าว




แต่ที่น่าเศร้าก็คือ ที่ผ่านมามีเจ้าของสุนัขได้รับความเสียหายจากความประมาทของโรงพยาบาลสัตว์และสัตวแพทย์จำนวนมาก แต่กลับไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเมื่อสุนัขหรือแมวตาย ยังตีค่าที่มูลค่าสุนัขและแมวว่าได้มาราคาเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่ชีวิตสัตว์หรือสิ่งมีชีวิต ไม่ควรตีค่าด้วยราคาเหมือนสิ่งของ

ฝ่ายโรงพยาบาลสัตว์และสัตวแพทย์มีการสู้คดีโดยพยายามหาเหตุผลมาหักล้าง แต่ไม่ยอมรับว่าตนเองประมาทเลินเล่อ อาจเป็นเพราะหากผู้เสียหายชนะคดี นอกจากจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเยียวยาแล้ว โรงพยาบาลสัตว์ย่อมเสื่อมเสียชื่อเสียง

ที่น่าเศร้าอีกประการหนึ่งก็คือ มีความพยายามที่จะเกาะกลุ่มกันของกลุ่มสัตวแพทย์ในการรับมือกับการฟ้องร้อง มีการจัดเสวนาเคล็ดลับการรับมือการร้องเรียนและฟ้องร้อง และจิตวิทยาการสื่อสารเจ้าของสัตว์เลี้ยงอย่างมืออาชีพ ทั้งที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงพยายามหาคำตอบเพื่อแสวงหาความเป็นธรรม

รวมทั้งเคยมีเคสถึงระดับ "อาจารย์หมอ" ที่โรงพยาบาลสัตว์มหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ชนะคดีที่ทำสุนัขตาย โดยกล่าวอ้างว่าหลักวิชาการของตนมีน้ำหนักกว่าหลักฐานของผู้เสียหาย โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของผู้เสียหาย ที่สูญเสียสุนัขอันเป็นที่รักไปแล้วถูกซ้ำเติมเข้าไปอีก

ขณะที่ในวงการสัตวแพทย์ เมื่อสัตวแพทย์รุ่นน้องพบว่าผู้กระทำเป็นอาจารย์ ก็มักปฏิเสธ บอกว่า “อาจารย์เราเอง เรื่องนี้เราช่วยไม่ได้” เพราะต้องใส่ชื่อเป็นพยาน

และกล่าวว่า “บอกเลยในประเทศนี้ไม่มีใครกล้ามาเป็นพยานหรอก”

เพราะผู้มีอำนาจในวงการสัตวแพทย์ปกป้องกันเอง พวกพ้องมาก่อน ไม่สนความถูกต้อง คนที่ไม่เห็นด้วยออกมาช่วยไม่ได้ เพราะยังต้องต่อใบประกอบวิชาชีพกับกลุ่มคนเหล่านี้

ผู้เสียหายทราบดีว่าหากฟ้องโรงพยาบาลสัตว์ หรือสัตวแพทย์ไป สู้เท่าไหร่ก็แพ้ จึงมีแนวคิดนำผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากโรงพยาบาลสัตว์และสัตวแพทย์รวมตัวกันเพื่อสู้คดี

และเรียกร้องขอให้มีการตั้ง “องค์กรอิสระ” เพื่อตรวจสอบการทำงานของสัตวแพทย์ และคานอำนาจของสภาสัตวแพทย์ฯ ให้เกิดความโปร่งใส ไร้ซึ่งการปกป้องพวกพ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น