กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์จัดอบรม “โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ผลิตสื่อ (บ่มเพาะ) ปีที่ 2” โดยผู้เข้าอบรมประกอบด้วย นักจัดรายการวิทยุ ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียน ช่างภาพ content creator และอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในเขตภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ณ โรงแรม TK Palace กรุงเทพมหานคร โดยก่อนหน้านี้ได้มีการจัดอบรมขึ้นที่ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครพนม และภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งภายในงานมีการมอบประกาศนียบัตรแบบออนไลน์แก่ผู้ผ่านการอบรมทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 143 คน
ภายในงาน ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ เป็นวิทยากรร่วมกับทีมนักวิชาการด้านสื่อและการสื่อสาร ได้แก่ อ.ดร.ภัทธิรา ธีรสวัสดิ์, ผศ.ดร.ศศิธร ยุวโกศล และคุณภานุพันธ์ สุภาพันธ์ Executive Creative Director คอยให้คำแนะนำผู้เข้าอบรมในการเขียนโครงการให้สามารถสร้างผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้เข้าร่วมการอบรมยังได้รับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ที่เคยได้รับทุนจากกองทุนพัฒนาสื่อฯ และช่วงท้ายของกิจกรรมยังได้มีการนำเสนอโครงการพร้อมรับคำแนะนำ เพื่อปรับปรุงข้อเสนอโครงการ (Pitching Project) อีกด้วย
ทั้งนี้ ภายหลังจากการจัดกิจกรรมในพื้นที่ภาคกลางและกรุงเทพมหานคร ดร.ชำนาญ งามมณีอุดม รองผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ได้กล่าวปิดโครงการว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการบ่มเพาะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคการเขียนโครงการเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้อย่างตรงตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของ “จรรยาบรรณ” และ “ความรับผิดชอบ” ในผลกระทบต่อสังคมจากการผลิตสื่อที่จะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ ซึ่งผู้เข้าอบรมจะได้รับประโยชน์และมองเห็นแนวทางในการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม สร้างรายได้ให้แก่ประเทศ และเกิดเครือข่ายความร่วมมือขับเคลื่อนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งในพิธีปิดโครงการได้มีผู้เข้าร่วมโครงการจากทุกภูมิภาคเข้าร่วมงานผ่านระบบประชุมออนไลน์ โดยมีตัวแทนผู้เข้าอบรมในแต่ละภาคแสดงความรู้สึกเกี่ยวกับประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรมในโครงการนี้อีกด้วย
“สิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ คือ เราจะช่วยพัฒนาแนวคิดให้ผู้ผลิตสื่อมองเห็นทางเลือกในการพัฒนาสื่อ สร้างสรรค์สื่อที่ดีออกมาในสังคม เสริมสร้างศักยภาพของพลเมือง เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม ผลักดันให้เกิดการแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆ หวังว่าผู้ที่ผ่านการอบรมสามารถไปเขียนขอรับทุนเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาผลงานสื่อ ให้ออกมาเป็นผลงานที่สามารถเผยแพร่ให้คนในสังคมทั้งประเทศไปจนถึงระดับนานาชาติ ซึ่งในปีหน้าอาจจะมุ่งเน้นเพิ่มเติมในเรื่องเทคโนโลยี การผลิตสื่อที่ใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมหัวใจสำคัญสำหรับการผลิตสื่อ คือ อุดมการณ์ ที่เราได้สร้างผู้ผลิตสื่อที่คำนึงถึงสังคม ผู้ชม ผู้ฟัง ที่เป็นพลเมืองของสังคม และร่วมสร้างสรรค์สังคมไปด้วยกัน” รองผู้จัดการกองทุนสื่อฯ กล่าว