นโยบายหาเสียงเลือกตั้งยกเลิกค่าผ่านทางของทางด่วนเหนือ-ใต้ในมาเลเซียทำไม่ได้ รมช.โยธาธิการของมาเลเซียระบุต้องชดเชยราว 4.5 แสนล้านริงกิตให้ผู้รับสัมปทาน ก่อนหน้านี้ช่วงเทศกาลให้ขึ้นฟรี รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยวันละ 20 ล้านริงกิต
วันนี้ (26 มี.ค.) เว็บไซต์ BERNAMA สื่อของมาเลเซียรายงานว่า นายอาห์หมัด มาสลาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการมาเลเซีย กล่าวเมื่อวันที่ 21 มี.ค.ว่า นโยบายยกเลิกเก็บค่าผ่านทางบนทางหลวงในประเทศมาเลเซียจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อสถานะทางการเงินของประเทศ เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับบริษัทที่ได้รับสัมปทานทางหลวงมากกว่า 4.5 แสนล้านริงกิต หรือประมาณ 3.46 ล้านล้านบาท โดยยกตัวเลขในปี 2562 ที่หากยกเลิกค่าผ่านทาง รัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้รับสัมปทานทางหลวงกว่า 4 แสนล้านริงกิต หรือประมาณ 3 ล้านล้านบาท หากนับถึงตอนนี้ค่าชดเชยดังกล่าวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน
นายอาห์หมัดอธิบายว่า ตนทราบว่างบประมาณของประเทศมาเลเซียอยู่ที่ประมาณ 3.88 แสนล้านริงกิตต่อปี หรือประมาณ 2.98 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลต้องยกเลิกค่าผ่านทางที่จะได้รับ 4.5 แสนล้านริงกิตภายในระยะเวลา 1 ปี รัฐบาลจะไม่มีงบประมาณรายจ่ายเพื่อวัตถุประสงค์อื่น และไม่เห็นว่าค่าผ่านทางจะถูกยกเลิกแต่อย่างใด ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียจ่ายค่าชดเชยให้ผู้รับสัมปทานทางหลวง 20 ล้านริงกิตต่อวัน หรือประมาณ 153.80 ล้านบาท เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้ใช้ทางหลวงฟรีในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ
รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า เมื่อเดือนที่แล้ว นายอันวา อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า สัมปทานค่าผ่านทางสำหรับทางหลวงรอบกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซียสามารถเจรจาใหม่ได้เมื่อสถานการณ์การเงินของประเทศดีขึ้น และเห็นด้วยกับเสียงวิจารณ์ที่ว่าทางหลวงรอบเมืองหลวงของประเทศมีด่านเก็บค่าผ่านทางมากเกินไป
สำหรับการตรวจสอบสัมปทานทางหลวง และยกเลิกเก็บค่าผ่านทาง เป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงเลือกตั้งของแนวร่วมทางการเมืองที่ชื่อว่า ปากาตัน ฮาราปัน (Pakatan Harapan) หรือ PH ซึ่งมีนายอันวาร์ อิบราฮิม (Anwar Ibrahim) ประธานพรรคยุติธรรมประชาชน หรือ PKR เป็นแกนนำในการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซียครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งกลุ่ม PH ประกาศว่าจะตรวจสอบสัมปทานทางหลวง และยกเลิกเก็บค่าผ่านทางสำหรับทางด่วนเหนือ-ใต้ (E1 และ E2) ของผู้ให้บริการ PLUS แต่นายวี กาเชียง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขณะนั้น เห็นว่าไม่สามารถทำได้จริง
ทั้งนี้ ระบบทางหลวงในประเทศมาเลเซีย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. ทางด่วน (Expressway) มีระยะทางรวมกันกว่า 2,000 กิโลเมตร โดยมีเอกชนสร้างและให้บริการ ภายใต้การกำกับดูแลของการทางหลวงมาเลเซีย (Malaysian Highway Authority) หรือ LLM ส่วนใหญ่เป็นทางหลวงระบบปิด ขนาดตั้งแต่ 4 ช่องจราจรขึ้นไป ควบคุมการเข้าออกโดยการเก็บค่าผ่านทาง 2. ทางหลวงสหพันธ์มาเลเซีย (Federal Highway) ส่วนใหญ่เป็นถนนเล็กๆ ขนาด 2 ช่องจราจร เชื่อมระหว่างรัฐกับเมืองต่างๆ มีระยะทางรวมกันประมาณ 80,000 กิโลเมตร และ 3. ทางหลวงของรัฐต่างๆ เหมือนทางหลวงท้องถิ่นในไทย
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีชาวมาเลเซียที่อยู่ทางตอนเหนือใช้ทางหลวงในประเทศไทยสัญจรไปมาระหว่างรัฐฝั่งตะวันตกกับรัฐฝั่งตะวันออก ผ่านด่านพรมแดนและจุดผ่านแดนไทย-มาเลเซีย เนื่องจากคุณภาพถนนในประเทศไทย เหมือนทางหลวงมาเลเซียแบบเสียเงิน แต่สัญจรได้ฟรี ใช้เวลาเดินทางเร็วกว่าเส้นทางปกติในมาเลเซียที่ต้องขึ้นภูเขาหลายลูก และการจราจรติดขัด กระทั่งเคยมีไวรัลที่สื่อมวลชนในมาเลเซียและไทยนำไปเผยแพร่กลายเป็นที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซียมาแล้ว