ไผ่ เป็นหญ้าตระกูลหนึ่ง แต่เป็นหญ้าที่มีความสูงที่สุด ที่ใดหญ้าขึ้นได้ ไผ่ก็ขึ้นได้ ถือได้ว่าเป็นพืชมหัศจรรย์ และอเนกประสงค์ เป็นพืชเศรษฐกิจของไทยมาแต่โบราณ มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันตลอดมา เป็นทั้งอาหาร เครื่องใช้สอย ปัจจุบันเทคโนโลยีสมัยใหม่ยังค้นพบประโยชน์ของไผ่เพิ่มขึ้นอีกมาก เช่น เป็นยา เป็นเครื่องสำอาง เป็นชาสำหรับดื่ม ไผ่บางชนิดมีโปรตีนสูง ใช้ทั้งใบและผงไผ่เป็นอาหารสัตว์ได้ดี ไผ่อยู่ในบัญชีพืชชนิดหนึ่งที่ขายคาร์บอนได้ และยังปลดปล่อยก๊าซออกซิเจนในอัตราที่สูงกว่าป่าธรรมชาติ ๓๐-๓๕% อุ้มน้ำและความชื้นไว้ได้มากกว่าป่าทั่วไปถึง ๒ เท่า และยังสามารถพลิกฟื้นผืนป่าที่ทรุดโทรมให้กลับมาสู่ความเขียวชอุ่มได้เร็วที่สุด เพราะไผ่เป็นพืชที่โตเร็ว มีช่วงตัดฟันเร็วกว่าไม้ป่าทุกชนิด
เมื่อครั้งที่คนอังกฤษเข้าปกครองพม่า เห็นการเติบโตของไผ่ยักษ์ที่คนพม่าเรียกว่า “ วาโป” มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “Giant Timber bamboo of Burma” แล้วตื่นเต้นกันมาก ในคืนพักผ่อนที่มีการเล่นไผ่บริดจ์กันตลอดคืน ก่อนเปิดเกมได้มีการไปวัดหน่อไม้ของไผ่ชนิดนี้ที่กำลังโผล่ขึ้นมาจากดิน และเมื่อจบเกมในตอนเช้าก็ไปวัดอีกครั้ง ปรากฏว่าคืนเดียวไผ่ยักษ์สามารถเติบโตกว่า ๑ ฟุต และยังเติบโตต่อไปในเวลากลางวัน วันหนึ่งจึงเติบโตได้มากว่า ๒ ฟุต ซึ่งไม่มีพืชชนิดไหนทำได้
มีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยโบราณที่มีการสำเร็จโทษนักโทษประหารอย่างโหดร้ายทารุณให้สาสมกับความผิด ได้มีการจับนักโทษไปนอนคว่ำหน้าให้อกทับอยู่บนหน่อไม้ที่กำลังงอก ตรึงแขนขาไว้ไม่ให้ขยับ พอเช้าก็จะเห็นหน่อไม้แทงอกของนักโทษประหารทะลุโผ่หลังขึ้นมา
ไผ่ยักษ์ของพม่านี้มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Dendrocalamus Giganteus” มีขึ้นอยู่ใน อินเดีย พม่า ยูนานของจีน รวมทั้งไทยเราด้วย ที่เรียกกันว่า “ไผ่ยักษ์เมืองน่าน”
สมัยก่อนคนไทยเรามีชีวิตเกี่ยวพันกับไผ่ตั้งแต่โผล่ออกมาจากท้องแม่ โดยใช้ความคมของผิวไผ่ตัดสายสะดือเด็กเมื่อแรกเกิด อีกทั้งสิ่งของรอบตัวตั้งแต่เล็กจนโตก็เกี่ยวพันกับไผ่ทั้งนั้น ตั้งแต่บ้านเรือน ของใช้ และเครื่องมือทำมาหากิน ปัจจุบันมีการใช้เทคโนโลยีค้นหาคุณค่าของไผ่ ได้พบประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกมากมาย อย่างเช่น
หน่อไม้ เป็นอาหารยอดนิยมอย่างหนึ่งของคนไทย นอกจากจะมีความอร่อยและทำอาหารได้หลายชนิดแล้ว ยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหารทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และกรดอมิโนถึง ๑๗ ชนิด รวมทั้งไฟเบอร์ สารต้านอนุมูลอิสระ ต้านแบคทีเรียและไวรัส ป้องกันการเกิดมะเร็ง
ใบไผ่ถ้าปล่อยให้ร่วงลงดินย่อยสลายกลายเป็นดินขุยไผ่ที่มีคุณค่าทางการเกษตรนั้น ถ้าเก็บใบสดจากต้นมา ๑ กำมือ ใส่น้ำ ๒ ลิตรต้ม ๑๐ นาที ก็จะได้เป็นน้ำชาใบไผ่
ในใบไผ่มีสารซิลิกาถึง ๗๐ เปอร์เซ็นต์ สารตัวนี้มีความสำคัญต่อการสร้างคอลลาเยนของร่างกาย ช่วยแก้ปัญหาผิวหนังเหี่ยวย่น เกิดริ้วรอยและจุดด่างดำ หรือแพ้ง่ายต่อมลภาวะและแสงแดด เนื่องจากคอลลาเยนลดลงเนื่องจากอายุมากขึ้น ซิลิกายังช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก เล็บ ฟัน และเส้นผม เพราะสิ่งต่างๆเหล่านี้มีซิลิกาเป็นตัวประกอบหลักทั้งสิ้น จึงป้องกันกระดูกพรุน ฟันผุ เส้นผมร่วง และส่งเสริมการเติบโตของเล็บ
ซิลิกาในใบไผ่ยังช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ด้วย เพราะซิลิกาสามารถป้องกันการดูดซับสารประกอบอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำลายสมอง โดยขับสารนี้ออกจากร่างกายด้วยระบขับถ่าย ทั้งยังดูดซับสารพิษอื่นๆออกไปด้วย ทำให้ร่างกายสดชื่นกระปรี้กระเป่า
ซิลิกายังมีคุณสมบัติดูดซับคอเลสเตอรอลที่เป็นตะกรันจับเกาะผนังหลอดเลือด ทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตหมุนเวียนได้เป็นปกติ ป้องกันการเกิดลิ่มเลือด และไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำ
ในใบไผ่ยังมีสารโพลิฟีนอลและมีมากพอควร สารตัวนี้เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันมะเร็ง และยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเต้านม
โพลีฟีนอลยังช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินที่ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลในเลือดไปใช้เป็นพลังงาน ทำให้ลดการเสี่ยงจากโรคเบาหวาน
ดื่มชาใบไผ่ก่อนอาหาร จะได้เยื่อใยอาหารที่ช่วยให้กระเพาะทำงานได้ดีขึ้น รู้สึกสบายท้อง โดยเฉพาะคนที่มีปัญหาแผลอักเสบในกระเพาะหรือลำไส้ ทั้งยังแก้อาการท้องอืดได้ด้วย
ในใบไผ่มีสารต้านแบคทีเรีย หากบดใบไผ่ ๒-๓ ใบให้ละเอียดแล้วพอกแผล ทำให้ลดการอักเสบลง และซิลิกาในใบไผ่ยังช่วยกระตุ้นคอลลาเจน ทำให้เนื้อเยื่อรอบแผลสมานแผลได้เร็วขึ้น
มีงานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Medicinal Plants Research ในปี ๒๐๑๖ว่า ทั้งใบไผ่และหน่อไม้ ประกอบด้วยสารออกฤทธิ์หลายอย่าง เช่น แทนนิน อัลคาลอยด์ และซาโปนิน ซึ่งมีผลต่อระบบสืบพันธุ์ชาย เพิ่มความแข็งแรงให้เชื้ออสุจิ คนแอฟริกาได้ใช้ใบไผ่เป็นยาพื้นบ้านรักษาชายที่เป็นหมัน และชายจีนก็นิยมกินหน่อไม้เป็นอาหารบำรุงสมรรถนะทางเพศ
ใบไผ่บางชนิดมีโปรตีนสูงมาก อย่างใบไผ่ซางหม่น มีโปรตีนสูงถึง ๒๒.๕ เปอร์เซ็นต์ จึงมีการนำไปทำชาดื่ม และใช้ใบผงไผ่หมักเป็นอาหารสัตว์ โดยผงไผ่หมักทำให้ไข่ไก่มีเปลือกหนาขึ้น ฟองใหญ่ขึ้น ไข่แดงมีสีแดงขึ้น และการใช้ผงใบไผ่หมักเป็นอาหารไก่เนื้อ ทำให้ไก่สุขภาพดีขึ้น เนื้อไก่รสชาติดีขึ้น ทั้งยังกล่าวกันว่าจะทำให้ไก่โตเร็วขึ้นถึง ๔ เท่า ส่วนในสุกรพบว่า น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นในการเติบโตต่อวัน แม่สุกรมีแนวโน้มให้จำนวนลูกสุกรเพิ่มขึ้น ทั้งหมดเกิดจากอิทธิพลของจุลินทรีย์และกรดอินทรีย์ในผงไผ่หมัก มีฤทธิ์การต่อต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มการทนต่อความเครียดต่างๆ
สำหรับลำไผ่หรือต้นไผ่ ใช้ในการก่อสร้าง เป็นเครื่องมือทางการเกษตร การประมง และเครื่องใช้ต่างๆนั้น หากเอามาเผาเป็นถ่านด้วยอุณหภูมิสูงกว่า ๑,๐๐๐ องศาเซนติเกรดขึ้นไป เรียกว่า ถ่านกัมมันต์ (Activated carbon) เป็นวัสดุคาร์บอนที่มีรูพรุนจำนวนมหาศาลกว่าไม้ทุกชนิด มีความสามารถในการดูดซับ ใช้ในเครื่องฟอกอากาศ เครื่องกรองน้ำ ช่วยปลดปล่อยประจุลบและอินฟราเรดคลื่นยาว ช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดีขึ้น มีผลให้จิตใจแจ่มใสเบิกบาน ใช้ทำผลิตภัณฑ์สุขภาพนานาชนิด และใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสีย ดูดซับสารพิษในลำไส้ ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ในชื่อ “ยาถ่าน”
อีกทั้งเส้นใยจากไผ่เป็นวัตถุดิบที่มีความต้องการสูงในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษที่เหมาะกับการนำมาถักทอเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มระดับคุณภาพ มีความนุ่มเหมือนไหม ทนทาน ยืดหยุ่น โปร่ง และซึมซับความชื้นได้มากกว่าผ้าฝ้าย ทำให้สวมใส่สบาย สามารถดูดซับรังสีอุลตร้าไวโอเล็ต ป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้ดี ที่สำคัญมีสารกำจัดกลิ่นอยู่ในตัว ทำให้เสื้อผ้าที่ทำจากเส้นใยไผ่ไม่ค่อยมีกลิ่นเหม็น
ลำไผ่มีความแข็งแกร่งเหมือนไม้เนื้อแข็งหรืออาจเหนือกว่า โดยเฉพาะเมื่อนำมาแปรรูปเป็นไม้ประสานแล้ว จะมีความแข็งแกร่งใกล้เคียงกับเหล็กอ่อน นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติพิเศษที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และไม้พื้น คือไม่บวมหรือหดตัวมากเหมือนไม้เนื้อแข็งทั่วไป ทั้งยังมีความสามารถในการสร้างผลผลิตลำใหม่ทดแทนลำที่ถูกตัดออกได้อย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว และยั่งยืน ทำให้ไม้ไผ่มีความเหมาะสมที่จะใช้เป็นวัสดุทดแทนไม้จากป่าธรรมชาติ
ไผ่ยังเป็นพืชที่มีศักยภาพสูงในด้านพลังงาน ชิ้นส่วนหยาบจากลำไผ่ สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงที่มีค่าพลังงานความร้อนสูง ใช้เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตไฟฟ้าชีวมวล ทดแทนการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันเตาที่แพงกว่ามาก ส่วน Chip ชิ้นเล็กของลำไผ่ เป็นวัสดุรองพื้นคอกไก่แทนแกลบซึ่งหายากขึ้น ขี้เลื่อยไม้ไผ่ ใช้เป็นส่วนผสมหลักในการอัดก้อนอิฐ
คนไทยเราใช้ไม้ไผ่ผูกแทนเหล็กเส้นเป็นแกนของคอนกรีตพื้นถนนแทนเหล็กเส้นที่มีราคาแพง ปัจจุบันไม้ไผ่เป็นสินค้าส่งออกไปยุโรป ใช้เป็นไม้ค้ำยันของสวนผลไม้ อีกทั้งทางยุโรปยังสั่งลำไผ่รวกหรือไผ่เลี้ยงจากไทยที่ยาวถึง ๘ เมตรและผึ่งให้แห้ง ไปใช้เป็นแกนในของเสาไฟฟ้าคอนกรีต โดยเสาไฟฟ้าต้นหนึ่งจะใช้ไผ่ ๑๐ ลำ
อีกทั้ง “ผงไผ่หมัก Bamboo Powder” “ไผ่สับหมัก Bamboo Chipper” อุดมไปด้วยสารไบโอซิลิกาและมีจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อการเติมโต ทั้งกำจัดโรคพืชได้ ทำให้ไผ่ซางหม่นเป็นวัสดุดิบชั้นดีในการเป็นสารปรับปรุงดิน ช่วยให้ดินโปร่ง ร่วนซุย และช่วยสร้างฮอร์โมนให้กับพืชได้อีกด้วย
ในตอนกลางคืน ไผ่จะดูดซับน้ำจากดินมาเก็บไว้ในปล้อง เพื่อนำไปเลี้ยงลำต้นในเวลากลางวัน จึงมีการดูดน้ำในปล้องไผ่นี้มาทำเป็นน้ำดื่ม มีผลการวิจัยในประเทศญี่ปุ่นว่า น้ำซับจากเยื่อไผ่มีวิตามินและเกลือที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่นเดียวกับน้ำมะพร้าว มีสรรพตุณเป็นยาระบาย จึงนิยมดื่มน้ำจากเยื่อไผ่นี้มากในญี่ปุ่น ตอนนี้ในเมืองไทยก็มีน้ำจากไผ่ใส่ขวดขายกันแล้ว ที่สำคัญควรจะทำพาสเจอร์ไรซ์เสียก่อน เพราะน้ำซับจากเยื่อไผ่เป็นน้ำบริสุทธิ์ก็จริง แต่ในปล้องไผ่ก็อาจจะมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปได้ อย่างหนอนเยื่อไผ่ยังไปเติบโตในปล้องไม้ไผ่
ส่วนหนอนเยื่อไผ่ หรือเรียกว่า “รถด่วน” เพราะมีลักษณะเป็นปล้องคล้ายขบวนรถไฟ เป็นอาหารยอดนิยมอย่างหนึ่งของคนภาคเหนือ เป็นหนอนของผีเสื้อชนิดหนึ่งเจาะเข้าไปวางไข่ไว้ในปล้องไม้ไผ่ จากข้อมูลทางโภชนาการ หนอนรถด่วนมีโปรตีนสูง ไขมันต่ำ มีกรดอมิโนและเกลือแร่อีกลายชนิด ให้พลังงานสูง จัดเป็นแมลงเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง จึงมีการส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม
นี่เป็นคุณสมบัติของไผ่ยักษ์และไผ่ขนาดกลาง แต่ไผ่ขนาดเล็กมาก อย่าง “ไผ่หลอด” ซึ่งเป็นไผ่ลำเล็ก เนื้อบาง ปล้องยาวราว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ดูแล้วไม่น่าจะใช้ประโยชน์ทำอะไรได้ กลับเป็นไผ่ที่ทำให้มีราคาสูงได้ในขณะนี้
แต่ก่อนไทยเราใช้ไผ่หลอดเป็นหลอดดูดอุและกระแช่ ก่อนที่จะมีหลอดกาแฟทำจากกระดาษ ต่อมามีการทำหลอดจากพลาสติก หลอดดูดจากไม้ไผ่ก็หมดความสำคัญลง แต่ปัจจุบันเมื่อมีกระแสปกป้องสิ่งแวดล้อมและหันไปสู่ธรรมชาติ หลอดดูดจากไผ่หลอดจึงกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง โดยเฉพาะในโรงแรมและรีสอร์ทหรูที่สู้ราคาหลอดคุณภาพดี มีการขัดเกลาและอบรมควันหรือประดับลวดลาย ในราคาหลอดละประมาณ ๑๐ บาท
พันธุ์ไผ่ในเมืองไทยปัจจุบันมีมากมายหลายพันธุ์ ทั้งไผ่พื้นเมืองและไผ่ที่มาจากต่างประเทศ ทางวิชาการพบว่า พันธุ์ไผ่จากเขตอบอุ่นมาเจริญเติบโตในเขตร้อนได้ดีกว่าแหล่งกำเนิดเดิม แต่เปลี่ยนพฤติกรรมจากการเติบโตในเวลากลางวันมาเป็นกลางคืน อาจเป็นเพราะได้รับความชุ่มชื้นมากกว่ากลางวัน
เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๖๗ ณ ห้องรับรอง ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยภายหลังหารือกับนาย Fumitaka Machida ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและนักวิชาการด้านการให้บริการทางการแพทย์ สถาบันวิจัยทางเศรษฐกิจเพื่ออาเซียนและเอเชียตะวันออก
ว่าได้หารือถึงความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างไทยกับนักธุรกิจญี่ปุ่นในหลายด้าน รวมทั้งด้านการเกษตรที่สามารถทำความร่วมมือกับประเทศไทยได้ และตนได้หารือกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผลักดันให้ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งสามารถใช้เป็นไม้แปรรูปได้หลากหลาย ทั้งเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ และเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวล รวมถึงมีการแปรรูปไผ่เสมือนท่อพีวีซี นำไปทำเป็นตัวถังรถไฟฟ้า และจะเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น หารือและผลักดันให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นมาลงทุนอุตสาหกรรมไผ่ในประเทศไทย เพื่อช่วยเกษตรกรไม่ต้องปลูกพืชล้มลุก เพื่อเกษตรกรจะไม่ล้มต้องอีกต่อไป
จึงคาดได้ว่า ไผ่จะได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งในด้านพิทักษ์และพลิกฟื้นผืนป่า รักษาชั้นบรรยากาศของโลก และเป็นวัตถุดิบของผลิตผลทางอุตสาหกรรมอีกหลายชนิด ไผ่จะเป็นพืชทองของไทยอีกอย่างต่อไป