นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย แสดงปาฐกถาในงานสัมมนาของสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน หัวข้อ “ฟรีวีซ่าไทย-จีน สายสัมพันธ์ยั่งยืน เศรษฐกิจมั่งคั่ง” เมื่อวันเสาร์ที่ 23 มีนาคม 2567 ณ ห้องบอลรูม 1 ชั้น 3 โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ ความว่า
จีนและไทยเป็นเพื่อนบ้านที่ดีที่เชื่อมโยงกันด้วยภูเขาและสายน้ำ เป็นญาติที่ดีด้วยสายเลือด และเป็นหุ้นส่วนที่ดีที่มีอนาคตร่วมกัน เมื่อย้อนเวลากว่า 3 ปีของการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากความอบอุ่นที่ผู้นำไทยถ่ายทอดสู่ชาวจีนผ่านคลิปวิดีโอออนไลน์ “ประเทศจีนสู้ๆ” “อู่ฮั่นสู้ๆ” สู่วันที่วัคซีนโควิด-19 รอบแรกจำนวน 200,000 โดสถูกส่งให้กับชาวไทย ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้สร้างความประทับใจที่ทั้งชาวจีนและชาวไทยสามารถสัมผัสได้ถึงความหมายอันลึกซึ้งอยู่คำว่า “จีนไทยใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ความร่วมมือฉันมิตรที่ยั่งยืนระหว่างจีนและไทยเป็นผลมาจากความพยายามร่วมกันของทุกสาขาอาชีพในทั้งสองประเทศ คุณูปการของวงการสื่อก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ผมขอใช้โอกาสนี้แสดงความเคารพและขอบคุณอย่างสูงต่อเพื่อนๆ สื่อมวลชนของทั้งสองประเทศที่ห่วงใยและสนับสนุนการพัฒนาความสัมพันธ์จีน-ไทยมาอย่างยาวนาน
ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคมปีนี้ การยกเว้นการตรวจลงตราระหว่างจีนและไทยมีผลบังคับใช้ ทั้งสองประเทศได้เข้าสู่ยุคปลอดวีซ่า สิ่งนี้ไม่เพียงเอื้อต่อความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนบุคลากรระหว่างทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนอย่างครอบคลุมในทุกสาขาซึ่งมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์สำหรับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างจีนกับไทยและภูมิภาคนี้ด้วย ความสัมพันธ์จีน-ไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางที่ดี ประชาชนของทั้งสองประเทศล้วนยินดีกับสิ่งนี้ อย่างไรก็ตาม เรามักจะได้ยินเสียงที่แตกต่างออกไปด้วยข้อคำถามจากหลายแง่มุม เราต้องเสริมสร้างความเชื่อมั่น ก้าวไปข้างหน้าอย่างกล้าหาญตามเส้นทางของการร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน นอกจากนี้ เรายังต้องฟังเสียงและความเห็นจากทุกฝ่ายและตอบสนองอย่างทันท่วงที วันนี้ ผมอยากชวนทุกท่านร่วมกันวิเคราะห์แง่มุมของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศผ่านแว่นขยายอีกทั้งมองไปให้ถึงอนาคตที่ดียิ่งขึ้นสำหรับความสัมพันธ์ของเราทั้งสองประเทศ
1. ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างจีนและไทยนำความสุขมาสู่ประชาชนของทั้งสองประเทศ
จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย เป็นแหล่งเงินทุนต่างชาติหลักของไทย และเป็นตลาดแหล่งท่องเที่ยวหลักของไทย ในปี 2566 ยอดมูลค่าการค้ารวมระหว่างจีนและไทย อยู่ที่ 126,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจีนส่งออกให้ไทยคิดเป็นมูลค่า 75,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากไทยคิดเป็นมูลค่า 50,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จีนได้ดุลการค้า 25,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ บริษัทจีนลงทุนโดยตรงในไทยโดยมีมูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 109% นักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเยือนไทย 3.52 ล้านคน สร้างรายได้ 196,700 ล้านบาท (ประมาณ 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
การค้าจีน-ไทยเป็นประโยชน์ร่วมกัน สร้างความผาสุกแก่ประชาชนทั้งสอง และกระตุ้นการพัฒนาของทั้งสองประเทศ บางคนเห็นว่าไทยขาดดุลการค้าจีนก็ตั้งข้อสงสัยว่าไทยเสียเปรียบและจีนได้เปรียบ ซึ่งการมองเช่นนี้อาจไม่ถูกหลักวิทยาศาสตร์ ปัจจุบันชาวปักกิ่งนิยมนำทุเรียน มังคุด และผลไม้เมืองร้อนอื่นๆ ของไทยมาเป็นของฝากเวลาไปเยี่ยมญาติหรือเพื่อน เพราะผลไม้เหล่านี้นอกจากหาได้ยากแล้ว ยังอร่อยอีกด้วย นี่เป็นความสุขที่สินค้าเกษตรของไทยนำมาสู่ผู้บริโภคชาวจีน ในอีกด้านหนึ่ง ทุกท่านคงทราบกันดีว่า ตลาดการส่งออกสินค้าเกษตรในการค้าระหว่างประเทศจะมีการแข่งขันค่อนข้างดุเดือด แต่เฉพาะจีนประเทศเดียวก็ได้นำเข้าสินค้าเกษตรส่งออกของไทยมากกว่า 40% นอกจากนี้ การนำเข้าสินค้าจีนมายังไทยที่เป็นสัดส่วนค่อนข้างมากคือวัตถุดิบและชิ้นส่วน การนำเข้าสินค้าเหล่านี้จะถูกนำไปผลิตและแปรรูปโดยบริษัทในไทยก่อนที่จะส่งออกด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2566 ไทยนำเข้าแผ่นซิลิคอนจากจีนเป็นมูลค่า 1,295 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์เป็นมูลค่า 2,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การนำเข้าสินค้าจากจีนหมวดนี้โดยแท้จริงแล้วจะช่วยสร้างมูลค่าการผลิตและการส่งออกมากขึ้นให้ไทย เมื่อมองความสัมพันธ์เศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ ต้องดูภาพรวมของดุลการชำระเงิน นอกจากการค้าสินค้าแล้ว ต้องดูธุรกิจบริการและการลงทุนโดยตรงด้วย ซึ่งสองด้านนี้ไทยได้ดุลอยู่ไม่น้อย ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจีนใช้จ่ายในไทย 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนโดยตรงของบริษัทจีนในไทยมีมูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สองกรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ผมจำเป็นต้องชี้ชัดว่าจีนไม่แสวงหาการได้ดุลการค้าจากไทย อีกทั้งเปิดรับสินค้าไทยมาโดยตลอดและจะเปิดรับต่อไปในอนาคต
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมเห็นรายงานและการวิจารณ์มากมายบนสื่อและอินเทอร์เน็ตเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าราคาถูกของจีนมายังประเทศไทยจำนวนมาก ปัญหาหลักๆ คือผลกระทบต่อผู้ผลิตไทยที่ผลิตสินค้าที่คล้ายกันและบางส่วนก็เกี่ยวข้องกับการละเมิดเครื่องหมายการค้า การไม่ปฏิบัติตามมาตรฐาน การหลบเลี่ยงภาษี และการกระทำที่ผิดกฎหมายรูปแบบอื่นๆ
ผมอยากแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ประการแรก กิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศควรดำเนินการภายใต้กฎระเบียบต่างๆ นี่เป็นข้อเรียกร้องที่รัฐบาลจีนมีต่อธุรกิจจีนและพลเมืองจีนที่ไปต่างประเทศตลอดมา เราสนับสนุนให้ฝ่ายไทยปราบปรามปัญหาการนำเข้าสินค้าจีนที่ผิดกฎหมายทุกรูปแบบ ประการที่สอง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้านั้นมีกฎระเบียบทางการค้าและมีการแข่งขันทางธุรกิจเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งควรให้ความเคารพในจุดนี้ ความร่วมมือที่เป็นประโยชน์บางครั้งอาจมีปัจจัยลบอยู่บ้าง เรื่องที่คนส่วนใหญ่พอใจมักมีคนส่วนน้อยไม่พอใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องมีการควบคุมและจัดการอย่างองค์รวม ประการที่สาม นโยบายปลอดภาษีนำเข้าสินค้ามูลค่าไม่สูงของไทยถือเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นมาตรการที่จำเป็นในการส่งเสริมการพัฒนาอีคอมเมิร์ซ ฝ่ายจีนเองก็มีนโยบายคล้ายๆ กัน ปัญหาการหลบเลี่ยงภาษีของนักธุรกิจที่ไร้ศีลธรรมสามารถป้องกันได้ด้วยการเสริมสร้างความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้ได้ผลกำไรและป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
การลงทุนของบริษัทจีนช่วยให้ประเทศไทยพัฒนา ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ไปลงทุนในจีนหลังจีนเริ่มนโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศ และในไม่กี่ปีมานี้ บริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว บริษัททุนจีนที่อยู่ในประเทศไทยจากทะเบียนของ สถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย ปัจจุบันมีมากกว่า 850 บริษัท นอกจากบริษัททางการเงินและการบินจำนวนหนึ่งแล้ว ที่เหลือส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจในภาคการผลิตหรือการก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาผลิตขึ้นถูกจำหน่ายไปยังทั่วโลก ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างรายได้จากการส่งออกของประเทศไทย เพิ่มโอกาสการเก็บภาษีและการจ้างงานให้ไทย และช่วยให้เยาวชนไทยหลายหมื่นคนได้รับการถ่ายทอดความรู้ด้านทักษะทางเทคโนโลยีที่สำคัญ ตลอดจนดำเนินกิจกรรมสาธารณกุศลในสังคมไทยอย่างแข็งขัน ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นอย่างดี
ดังที่ทุกท่านทราบกันดีว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เปิดตัว 5G เชิงพาณิชย์ ขณะนี้กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างเทอร์มินัลอัจฉริยะ โรงพยาบาลอัจฉริยะ เกษตรกรรมอัจฉริยะ และเหมืองอัจฉริยะเพื่อใช้ 5G เสริมพลังให้กับทุกสาขาอาชีพ นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาของไทย และบริษัทจีนก็ได้มีส่วนร่วมในเรื่องนี้ บริษัท Huawei ในฐานะหนึ่งในบริษัททุนจีนที่เข้ามาในตลาดของไทยในช่วงต้นๆ ได้ยึดมั่นในพันธกิจ “อยู่ไทยเพื่อไทย”หรือ “Grow in Thailand, Contribute to Thailand”และช่วยให้ประเทศไทยสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีการสื่อสารหรือ ICT ระดับชั้นนำของโลก นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้ง Huawei ASEAN Academy และได้ฝึกอบรมผู้มีความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประเทศไทยไปแล้วกว่า 70,000 คนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในยุคของยานพาหนะเชื้อเพลิง ทุนส่วนใหญ่มาจากญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม บริษัทรถยนต์จีนได้เป็นผู้นำในยุคของรถยนต์ไฟฟ้า บริษัท SAIC, GWM ฯลฯ ได้ลงทุนและตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายแรกในประเทศไทย ในปี 2566 ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในไทยอยู่ที่ 76,000 คัน ซึ่งประมาณ 80% เป็นแบรนด์จีน ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค นอกจากนี้ หลายๆ บริษัทรถยนต์ของจีนกำลังพยายามผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยปรับให้เข้ากับท้องถิ่น (Localization) พวกเขาจะกลายเป็นพลังใหม่ของการปรับเปลี่ยนสู่การพัฒนาสู่อุตสาหกรรมพลังงานใหม่และการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวของไทย
ทุกท่านทราบดีว่าเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นทิศทางของการพัฒนาของโลกและเป็นจุดสูงสุดของการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคต ผมดีใจมากที่เห็นประเทศไทยนำหน้าหลายประเทศในภูมิภาคในสองด้านนี้ ผมดีใจมากที่ได้เห็นบริษัทจีนมีส่วนร่วมในกระบวนการนี้มุ่งสู่การพัฒนาในอนาคตของประเทศไทย
เมื่อพูดถึงบริษัทจีนที่ลงทุนในไทย มีประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะแสดงจุดยืน เป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้วที่สื่อท้องถิ่นมักกล่าวถึงประเด็น “ทุนสีเทา” และยังมีชาวจีนที่ชื่อตู้ห่าว (ซึ่งในความเป็นจริง บุคคลนี้ได้สัญชาติไทยมาหลายปีแล้ว) ถูกตำรวจจับในข้อหามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมสีเทา ทำให้คำว่า “ทุนจีนสีเทา” กลายเป็นคำที่ใช้กันถี่ในข่าวและการแสดงความเห็นในที่สาธารณะของผู้คน ผมเข้าใจว่าคำว่า “ทุนสีเทา” หมายถึงผู้ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสื่อลามก การพนัน และยาเสพติด กฎหมายจีนห้ามมิให้ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสื่อลามก การพนัน และยาเสพติดโดยเด็ดขาด และดำเนินการปราบปรามกิจกรรมเหล่านี้อย่างเด็ดขาด เราสนับสนุนให้ฝ่ายไทยปราบปรามพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายเหล่านี้ และในความเป็นจริงแล้วหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของจีนและไทยได้ร่วมมือกันในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดอยู่แล้วผมเห็นว่าเราจำเป็นต้องเน้นย้ำว่ากิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทจีนที่ลงทุนในไทยนั้นโดยส่วยใหญ่แล้วถูกกฎหมายและเป็นไปตามข้อกำหนดและเป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชน ถ้ามีชาวจีนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “อุตสาหกรรมสีเทา” ก็นับว่ามีปริมาณน้อยมาก หากเปรียบการลงทุนของบริษัทจีนในประเทศไทยเป็นเหมือนป่าไม้ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับ “ทุนสีเทา” ก็เป็นเพียงแค่ใบหญ้าซึ่งเป็นวัชพืชที่มีพิษเท่านั้น การปกป้องป่าไม้ ไม่ใช่ถางป่าทั้งหมดเพื่อกำจัดวัชพืชที่มีพิษ
2. เมื่อเผชิญกับโอกาสครั้งใหม่ของประวัติศาสตร์ ความร่วมมือจีน-ไทยนับว่ามีอนาคตที่สดใส
จีนและไทยมีความสัมพันธ์และความร่วมมือในระดับที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประชาชนทั้งสองประเทศล้วนยินดีกับสิ่งนี้ แต่สิ่งที่ผมอยากบอกกับทุกท่านก็คือ ช่วงเวลาที่สดใสยิ่งกว่าของความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างเราทั้งสองประเทศกำลังจะมาถึง ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตก็น่าตื่นเต้นมากกว่า
(1) จีนกำลังพัฒนาและประตูของจีนกำลังเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ
GDP ของจีนมีมูลค่า 18 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 18% ของเศรษฐกิจโลก จีนเป็นประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก โดยผลิตสินค้าอุตสาหกรรมหลักถึง 30% ในตลาดโลก ประเทศจีนเป็นประเทศตลาดขนาดใหญ่ โดยมีขนาดตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ที่ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สิ่งสำคัญคือจีนมุ่งมั่นที่จะสร้างระบบเศรษฐกิจแบบเปิดในระดับที่สูงขึ้น กับภายนอก จีนได้ปกป้องระบบการค้าเสรีระดับโลกอย่างแข็งขันและมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการจัดการการค้าเสรีระดับภูมิภาคและทวิภาคีและพหุภาคี ภายในจีนเองได้จัดตั้งเขตนำร่องการค้าเสรี 22 แห่ง ในด้านการส่งเสริมการค้าและการลงทุน จีนได้ให้ข้อเสนอที่มากกว่าข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องของ WTO เกาะไห่หนานในฐานะเกาะที่มีพื้นที่ 35,400 ตารางกิโลเมตรและมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนได้กลายเป็นเขตการค้าเสรีทั้งเกาะแล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่าการพัฒนาของจีนไม่สามารถแยกออกจากโลกได้ เมื่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกพัฒนาได้ดีจีนก็จะพัฒนาได้ดี จีนยินดีร่วมมือกับทั่วโลกและแบ่งปันความสำเร็จในการพัฒนากับโลก
ช่วงนี้มีเสียงซุบซิบมากมายว่าเศรษฐกิจจีนกำลังหดตัวทำให้มีแรงกดดันสูงมากจากเศรษฐกิจที่ตกต่ำ เรื่องนี้เป็นสภาพทั่วไปของทั่วโลกที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่ก็ไม่ควรพูดให้เกินจริง ปีที่แล้วจีนมีการเติบโตถึง 5.2% ซึ่งเป็นผู้นำในแง่ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ในการประชุมครั้งที่ 2 ของสภาประชาชนแห่งชาติจีนชุดที่ 14 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลจีนได้เสนอเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจไว้ที่ 5% ในปีนี้ ในขณะเดียวกัน เน้นการส่งเสริมการก่อสร้างระบบอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่างจริงจัง เร่งการพัฒนากำลังการผลิตใหม่ เปลี่ยนแปลงและยกระดับอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมด้วยนวัตกรรมใหม่และเทคโนโลยี อีกทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมระดับไฮเอนด์ระบบอัจฉริยะและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจจีนจะรักษาแนวโน้มการเติบโตที่มั่งคงอย่างต่อเนื่อง เร่งการพัฒนาที่มีคุณภาพสูงและจะมีอนาคตที่สดใส(2) การเชื่อมต่อเปิดโลกใหม่แห่งความร่วมมือระหว่างจีนและไทย ในปี พ.ศ. 2556
ประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง ได้เสนอความริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากประเทศต่างๆ ตามเส้นทางดังกล่าว รวมทั้งประเทศไทยด้วย ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา “การเชื่อมต่อ” มีความก้าวหน้าอย่างมาก รถไฟจีน-ลาวจะเปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 ธันวาคม 2564 และรถไฟความเร็วสูงจาการ์ตา-บันดุงของอินโดนีเซียเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 รถไฟจีน-ไทยเริ่มการก่อสร้างในปี 2560 กล่าวกันว่าความคืบหน้าของการก่อสร้างรถไฟจีน-ไทยล่าช้า แต่รัฐบาลไทยก็เน้นย้ำหลายครั้งว่ารัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อโครงการนี้ ขณะนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่และมีแนวโน้มเร่งดำเนินการให้มีความคืบหน้า ในขณะที่การพัฒนาการเชื่อมต่อทางกายภาพ ก็ยกระดับการเชื่อมต่อเชิงนโยบายและกฎระเบียบเช่นกัน ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) มีผลบังคับใช้อย่างสมบูรณ์ และมีการริเริ่มการเจรจาเพื่ออัพเกรดข้อตกลงการค้าเสรีจีน-อาเซียนเวอร์ชัน 3.0 ประเทศที่เกี่ยวข้องยังหารือเกี่ยวกับการดำเนินการตามมาตรการอำนวยความสะดวกในการเข้า-ออก การตรวจสอบร่วมกัน และการขนส่งแบบผสมผสานร่วมกัน
ประเทศไทยตั้งอยู่ในใจกลางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน จึงมีทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อโครงข่ายของภูมิภาค ถ้ามองไปข้างหน้าเมื่อรถไฟจีน-ไทยสร้างเสร็จระบบขนส่งระหว่างจีน ลาว และไทยจะเชื่อมต่อกันจะทำให้อินโดจีนและแม้แต่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเชื่อมต่อกับตลาดจีนอันกว้างใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถึงตอนนั้น การไปมาหาสู่ของผู้คนและโลจิสติกส์จะเป็นอีกภาพหนึ่งและเป็นภาพของความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันจะปรากฏอย่างแน่นอน
(3) ร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันจีน-ไทย
ดังที่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงเยือนประเทศไทยในปี 2565 และได้ร่วมกับผู้นำไทยประกาศยุคใหม่และเป้าหมายใหม่ของ "การร่วมสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันจีน-ไทย" นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีของไทยเยือนจีนในปี 2566 และได้พูดคุยเชิงลึกกับผู้นำจีนเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านต่างๆและบรรลุฉันทามติในวงกว้าง ปีหน้าจีนและไทยจะเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้การพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีก้าวสู่จุดเริ่มต้นใหม่ทางประวัติศาสตร์ผมอยู่ในกรุงเทพฯ ผมรู้สึกได้ถึงแรงผลักดันที่แข็งแกร่งของความพยายามของประเทศไทยในการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้ประเทศพัฒนาเร็วขึ้นและก้าวหน้ามากขึ้นทุกๆ วัน ผมรู้สึกได้ถึงความกระตือรือร้นและความแข็งแกร่งของสังคมไทยและคนไทยในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างจีน-ไทย การแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างจีนและไทยมีความใกล้ชิด ซึ่งนับได้ว่าถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน ซึ่งมีแนวโน้มเช่นนี้ต่อไปที่ไม่อาจหยุดยั้งและไม่อาจย้อนกลับได้
3. ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้องบ้านร่วมกันในเอเชียตะวันออก
เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและประเทศชาติมีการพัฒนาก้าวหน้าและเจริญรุ่งเรืองนี่คือความปรารถนาร่วมกันของทุกประเทศ แต่การที่จะให้ความปรารถนาดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นจริงไม่ได้เลยหากปราศจากสภาพแวดล้อมที่สันติและมั่นคง เป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่โลกทุกวันนี้ไม่ค่อยมีสันติสุขหลังจากสามปีของการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้เศรษฐกิจโลกที่ยากลำบากแต่เดิมอยู่แล้วต้องเผชิญกับการหยุดชะงัก และด้วยผลกระทบมากมายจากวิกฤตการณ์ในยูเครน ความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์กับอิสราเอล ลัทธิเอกภาคีนิยมของผู้ที่ถือปฏิบัติตามแนวคิดแบบสงครามเย็น และการใช้มาตรการการกีดกันและการเผชิญหน้า ก็เป็นการสร้างผลกระทบเชิงลบ และลัทธิกีดกันทางการค้าโดยสร้างกลุ่มก๊วนเล็กๆ ตลอดจนการสร้างความแตกแยกและแยกเศรษฐกิจหรือห่วงโซ่ออกจากกันก็เป็นการสร้างผลกระทบเชิงลบเช่นกัน
สิ่งที่ต้องระวังมากขึ้นก็คือเอเชียตะวันออกกำลังพัฒนาไปด้วยดีและกลายเป็นศูนย์กลางการเติบโตของโลก กลุ่มอิทธิพลระหว่างประเทศต่างๆ ต้องการเพิ่มการมีส่วนร่วมขยายการแสดงบทบาทของตนและขยายอิทธิพลของพวกตนอันที่จริงการมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นของทุกฝ่ายไม่ใช่เรื่องเลวร้ายในตัวของมันเองวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเน้นการเปิดกว้างครอบคลุมและแบ่งปันมาโดยตลอด ปัญหาคือบางประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกพยายามเล่นเกมภูมิรัฐศาสตร์พยายามปลุกปั่นความขัดแย้งระหว่างประเทศในภูมิภาค เพื่อปกป้องสถานะความเป็นเจ้า คำศัพท์ที่พวกเขาใช้เรียกการกระทำแบบนี้ คือการถ่วงดุลนอกชายฝั่ง (offshore balancing) เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ปัญหาละเอียดอ่อนบางประการในภูมิภาคนี้เริ่มร้อนแรงมากขึ้นก็เพราะมีมือที่มองไม่เห็นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคอยบงการ เอเชียตะวันออกต้องการสันติภาพและการพัฒนาและยินดีต้อนรับทุกประเทศในโลกให้มีส่วนร่วมและแบ่งปันการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองของเอเชียตะวันออกแต่ไม่อาจจะปล่อยให้เอเชียตะวันออกซึ่งเป็น "โอเอซิส" ที่หายากในโลกถูกปั่นป่วนถูกเหยียบย่ำ เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างเอเชียตะวันออกให้เป็นบ้านแห่งสันติภาพความสงบสุขความเจริญรุ่งเรืองความสวยงามและมิตรภาพ
แม่น้ำล้านช้าง-แม่โขงที่มีต้นกำเนิดในประเทศจีนทอดยาว 5,000 กิโลเมตร หกประเทศที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำ "ดื่มน้ำจากแม่น้ำสายเดียวกัน" และเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเหมือนครอบครัวเดียวกัน เมื่อ 8 ปีที่แล้วทั้ง 6 ประเทศเปิดตัวความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงด้วยจิตวิญญาณของการพัฒนาเป็นอันดับแรกการปรึกษาหารือที่เท่าเทียมกันและความเปิดกว้างครอบคลุมและประสบผลสำเร็จในหลายๆด้านเช่นการพัฒนาเศรษฐกิจการปรับปรุงการดำรงชีวิตของผู้คนการคุ้มครองและการใช้ทรัพยากรน้ำการบังคับใช้กฎหมายและความปลอดภัยการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนและวัฒนธรรมฯลฯซึ่งได้นำผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่มาสู่ประชาชนของทุกประเทศและแสดงให้เห็นถึงแรงขับเคลื่อนที่แข็งแกร่งและอนาคตที่ดี เรารู้สึกตื่นเต้นกับการยกเว้นวีซ่าร่วมกันระหว่างจีนและไทย ขณะเดียวกันไทยได้เสนอความริเริ่ม "หกประเทศหนึ่งวีซ่า" ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้คนจากทุกประเทศในลุ่มน้ำล้านช้าง-แม่โขงสามารถสัญจรข้ามพรมแดนได้อย่างอิสระ
จากมุมมองนี้ผมเชื่อว่าในอนาคตไม่เพียงแต่ผู้คนจะสามารถเดินทางได้อย่างอิสระและสามารถจินตนาการต่อไปได้อีกว่าในอนาคตอันใกล้นี้สินค้าเงินทุนและข้อมูลข่าวสารต่างๆ จะสามารถเดินทางได้อย่างอิสระด้วยเนื่องจากความร่วมมือบูรณาการทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่มีความลึกซึ้งยิ่งขึ้น ประเทศในลุ่มน้ำจะมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าในการพัฒนาและแบ่งปันความเจริญรุ่งเรืองร่วมกันอย่างแน่นอน ประเทศไทยเป็นผู้ริเริ่มหลักของความร่วมมือล้านช้าง-แม่โขงและเป็นประธานหมุนเวียนในปัจจุบันหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมกับประเทศไทยและประเทศอื่นๆ และพยายามทำงานหนักเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่าของภูมิภาคล้านช้าง-แม่โขงต่อไป