มะละกอเป็นพืชอีกชนิดหนึ่งซึ่งไม่ได้กำเนิดในประเทศไทย แต่ข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาแพร่หลายจนกลายเป็นพืชพื้นเมืองไปแล้ว สารานุกรมไทย ฉบับราชบัณฑิต กล่าวว่า มะละกอเป็นพืชของทวีปอเมริกา มีกำเนิดอยู่ในเม็กซิโกตอนใต้และคอสตาริกา ต่อมามีผู้นำเมล็ดปลูกแพร่กระจายไปยังหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ชาวสเปนนำไปลูกในฟิลิปปินส์จนแพร่ไปยังอินเดีย
สำหรับประเทศไทยเข้าใจว่าชาวโปรตุเกสที่เข้ายึดครองมะละกาในปี ๒๐๕๓ และเข้ามาแป็นทหารอาสาในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์พระองค์ที่ ๑๓ ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งทรงครองราชย์อยู่ในช่วง พ.ศ.๒๐๗๗-๒๐๘๙ เป็นผู้นำเข้ามา และได้ชื่อที่เพี้ยนจาก มะละกา เป็น มะละกอ
มะละกอตั้งแต่ยอดจนถึงรากมีคุณค่าทั้งทางอาหารและยามากมาย อีกทั้งมะละกอดิบและมะละกอสุกก็มีคุณค่าต่างกัน ไทยเรารับประทานมะละกอเป็นทั้งผลไม้และผัก และคิดสูตรที่ฝรั่งยังต้องติดใจมะละกอดิบไปด้วย เรียกกันว่า “ปาปาย่าป๊อกๆ”
คนไทยเรารู้ซึ้งถึงคุณค่าของมะละกอเป็นอย่างดี ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่มขึ้นในยุโรป จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีที่มองการณ์ไกล คาดว่าไทยเราคงหนีไม่พ้นสงครามแน่ จึงรณรงค์ให้ประชาชนเตรียมตัวรับสงครามโดยไม่ให้ขาดแคลนอาหาร ด้วยการทำสวนครัวปลูกผักไว้ทุกบ้าน และพิมพ์หนังสือคู่มือการทำสวนครัวแจกจ่าย หนึ่งในจำนวนนี้แนะนำให้ปลูกมะละกอไว้ด้วย และยกย่องมะละกอไว้ว่า “เป็นอาหารอย่างดี หาที่เปรียบได้ยาก”
มะละกอกินได้ตั้งแต่ยอดจนถึงรากก็จริง แต่คนไทยเราจะไม่นิยมกินยอดมะละกอ รังเกียจว่าขมจัด แต่หลายประเทศก็กินกัน ว่ามีคุณค่าทางอาหารมาก ลองเอามาต้มให้ความขมจางลงแล้วจิ้มน้ำพริกก็เข้ากันดี มีรสชาติเหมือนยอดคะน้า
ส่วนต้นมะละกอนั้น เมื่อปอกเปลือกออกเนื้อในมีสีขาวอ่อนนุ่ม สมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้เขียนก็เคยได้กินต้นมะละกอกับรากดองมาแล้ว รสชาติไม่ต่างจากหัวไชโป๊ ส่วนลูกมะละกอดิบก็เอามาดองได้เช่นกัน ทั้งยังเอาไปทำเป็นตังฉ่ายได้ด้วย
ส่วนใบมะละกอมีสรรพคุณบำรุงหัวใจ ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้บิด แก้ปอดบวม ขับพยาธิ วิธีใช้ก็คือนำไปต้มน้ำแล้วกรองดื่ม หรือมีอาการปวดข้อ ปวดเข่า บวมแดงบนร่างกายตรงไหน ก็ไปตัดใบมะละกอไปย่างไฟ แล้วประคบตรงที่มีปัญหา อาการปวด บวม ก็จะทุเลาลง
รากมะละกอ นอกจากจะเอาดองเค็มดองหวานแล้ว นำไปต้มน้ำดื่ม เป็นยาขับปัสสาวะเช่นกัน
แม้แต่ดอกมะละกอของต้นตัวผู้ที่ออกมาเป็นพวงห้อยระย้า ตามปกติจะไม่ติดลูก แต่หากอากาศแปรปรวน ก็อาจจะติดลูกได้ แต่ก็เป็นลูกเล็กๆ ต้องตัดต้นทิ้งไปทั้งต้น แต่ดอกตัวผู้นี้ก็เอาไปต้มจิ้มน้ำพริกได้เหมือนกัน
มะละกอดิบกับมะละกอสุกนั้นมีคุณค่าต่างกัน มะละกอดิบที่ใช้เป็นผัก เอามาทำส้มตำ หรือแกงส้มคนที่โบราณบอกเคล็ดลับว่า “มะละกอแกงกุ้ง ผักบุ้งแกงปลา” ยังเป็นยาด้วย มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ ช่วยขับลม ขับปัสสาวะ และขับพยาธิ แม้แต่น้ำต้มเอาน้ำมาดื่ม ยังช่วยล้างผนังลำไส้ให้สะอาด
ส่วนมะละกอสุกเป็นผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง บำรุงผิวพรรณให้สดใส ป้องกันการเกิดริ้วรอย ช่วยชะลอวัยแล้ว ทั้งยังเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงต้านทานโรค และเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ ซึ่งช่วยบำรุงสายตา ป้องกันภาวะจอตาเสื่อม
เส้นใยอาหารในเนื้อมะละกอจะช่วยป้องกันมะเร็งในลำไส้ใหญ่ บำรุงระบบหัวใจและหลอดเลือด มีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อน บำรุงธาตุ แก้ท้องผูก กระเพาะอาหารอักเสบ และทำให้ลำไส้สะอาด สีแดงอมส้มในเนื้อมะละกอสุกนั้น ก็คือสารไลโคฟิน ซึ่งเป็นสารช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
นอกจากนี้ยังพบว่า มะละกอที่สุกงอมนั้นจะมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างยอดเยี่ยมอีกอย่างหนึ่งที่บริเวณเปลือกและผิวใต้เปลือก ฉะนั้นเวลาปอกมะละกอก็พยายามเฉือนส่วนเปลือกให้บางที่สุด หรือรับประทานแบบเอาช้อนตัก ก็ขูดส่วนใต้เปลือกไปด้วยให้มาก และถ้ารับประทานมะละกอบ่อยๆจนเบื่อ ก็ลองบีบมะนาวลงไปด้วย นอกจะเพิ่มวิตามินซีแล้ว ยังทำให้มะละกอมีรสชาติเปลี่ยนไปอีกแบบด้วย
แม้แต่เมล็ดมะละกอที่เราทิ้งกันไปนั้น ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันรักษาโรคได้หลายโรค เช่นต่อมลูกหมาก ปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเลือดขาว ป้องกันไตเสื่อม ถ่ายพยาธิในลำไส้ ช่วยในการย่อยอาหาร เมล็ดมะละกอแม้จะไม่อร่อย แต่ก็พอรับได้ถ้าจะรับประทานเพื่อประโยชน์ และไม่ต้องเอาเมล็ดไปเคี้ยวโดยตรง มีวิธีที่ดีกว่านั้นคือเอาเมล็ดมะละกอแห้งไปบดเป็นผง นำไปหมักเนื้อสัตว์ จะทำให้เนื้อสัตว์นุ่มขึ้นจากปาเปน และยังตามไปช่วยย่อยอาหารในกระเพาะอีกด้วย หรือจะบดเป็นผงโรยในสลัดก็ได้ เมล็ดมะละกอจะมีกลิ่นรสอ่อนๆคล้ายพริกไทย
นี่ก็เป็นแค่คุณประโยชน์ของมะละกออย่างย่อๆ ที่ไม่ย่อก็คงจาระไนไม่ไหว ตอนนี้บรรยากาศของโลกก็คุกรุ่นใกล้เคียงกับในปี ๒๔๘๒ เหมือนกัน ปลูกผักสวนครัวและมะละกอเตรียมๆกันไว้หน่อยก็ดี จะได้ไม่อดตอนเขารบกัน เป็นได้ทั้งผัก ผลไม้ และยา เชียวละ จะบอกให้