xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประสบการณ์ ‘วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์’ ผู้เชี่ยวชาญ-นักสะสมน้ำผึ้งป่ามากกว่า 400 ตัวอย่าง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์’ ผู้ก่อตั้ง ‘บำรุงสุขฟาร์ม’ ผู้เชี่ยวชาญและนักสะสมน้ำผึ้งป่า
เขาเป็นนักสะสมน้ำผึ้งที่เก็บสะสมด้วยความชอบความรัก ทั้งเชื่อมั่นว่าพันธุกรรมของพันธุ์พืชและสินค้าด้านเกษตรยั่งยืนในไทยนั้นมีความหลากหลายและคุณภาพดี

“เริ่มแรกที่ผมขาย มีน้ำผึ้งเพียงแค่ 8 รสชาติ กระทั่งวันนี้ เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว ผมมีน้ำผึ้งตัวอย่าง มากกว่า 400 ตัวอย่างแล้วครับ”

ก่อนที่จะหันมาทำเกษตรอินทรีย์และเป็นคนเลี้ยงผึ้ง ขายน้ำผึ้ง เชี่ยวชาญด้านน้ำผึ้งป่านั้น เขาเคยเป็นครูสอนว่ายน้ำ ก่อนที่จะมีเหตุให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่า "…อะไร คือสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข"

“…ผมมองว่าการทำเกษตรนี่แหละครับ อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่อด แม้เราจะไม่รวย เมื่อมองอย่างนี้แล้ว ผมก็กลับมาทำการเกษตรตั้งแต่นั้นเลยครับ”


‘วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์’ ผู้ก่อตั้ง ‘บำรุงสุขฟาร์ม’ ผู้เชี่ยวชาญและนักสะสมน้ำผึ้งป่า
เขาคือผู้ก่อตั้ง ‘บำรุงสุขฟาร์ม’ แบรนด์น้ำผึ้งไทย ที่ได้รับการยอมรับไม่น้อยจากคนชอบน้ำผึ้งและผู้สนใจในวิถีของเกษตรยั่งยืน

เมื่อขอให้ช่วยยกตัวอย่างว่าเวลาที่คุณชิมน้ำผึ้ง คุณจะได้กลิ่นหรือรสอะไรบ้าง

เขาบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ โดยเปรียบน้ำผึ้งเหมือนบ้านหนึ่งหลังที่เขียนว่า ‘หวาน’
เมื่อเข้ามาในบ้านก็จะพบว่ามีห้องต่างๆ แทนแต่ละรสชาติ…


‘วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์’ ผู้ก่อตั้ง ‘บำรุงสุขฟาร์ม’ ผู้เชี่ยวชาญและนักสะสมน้ำผึ้งป่า
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์’ ผู้ก่อตั้ง ‘บำรุงสุขฟาร์ม’ ผู้เชี่ยวชาญและนักสะสมน้ำผึ้งป่ามากกว่า 400 ตัวอย่าง

เขาถ่ายทอดเรื่องราวการเดินทางเก็บเกี่ยวองค์ความรู้ทั้งด้านเกษตรอินทรีย์และการเลี้ยงผึ้ง ที่เชื่อมโยงกันได้อย่างเห็นภาพของห่วงโช่แห่งระบบนิเวศ ทั้งบอกเล่าถึงเอกลักษณ์สำคัญของน้ำผึ้งป่าในเมืองไทยที่มีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค รวมถึงคุณลักษณะ รสชาติของน้ำผึ้งที่เป็นตัวชี้วัดธรรมชาติได้อย่างแจ่มชัดและน่าสนใจยิ่ง

‘วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์’ ผู้ก่อตั้ง ‘บำรุงสุขฟาร์ม’ ผู้เชี่ยวชาญและนักสะสมน้ำผึ้งป่า


ชอบน้ำผึ้ง คือแรงบันดาลใจแรกเริ่ม

ถามว่าอะไรคือแรงบันดาลใจแรกเริ่ม ที่ทำให้สนใจน้ำผึ้งป่า
วีรวิชญ์ตอบว่า “เดิมทีผมชอบกินน้ำผึ้งครับ ไม่ได้มีอะไรพิเศษเลย
เริ่มจากที่ชอบกินน้ำผึ้งแล้วก็ซื้อจากหลายๆ แหล่งมากิน แต่ช่วงนั้นผมยังไม่มีความรู้เรื่องน้ำผึ้งหรือเรื่องการเรียนรู้ระบบนิเวศอะไรเลย เพียงแค่เดินทางบ่อยแล้วก็ชอบซื้อน้ำผึ้ง

"นอกจากนั้น อีกส่วนหนึ่งคือผมทำงานกับชุมชน ทำด้านงานหัตถกรรม และสมัยก่อนผมชอบเดินป่าด้วยครับ ซึ่งก็จะมีลูกหาบเอาน้ำผึ้งมาให้ เหล่านี้คือจุดเริ่มแรกเลย” วีรวิชญ์ระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า
จากจุดเริ่มในครานั้น กระทั่งช่วงประมาณปี พ.ศ.2558 เขาได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ และเล็งเห็นว่า มีเครือข่ายเยอะพอ มีเพื่อนๆ ที่ทำงานกันหลายๆ กลุ่ม รวมทั้งมีเพื่อนสนิทที่เคยเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน
( หมายเหตุ : คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม )
จึงหารือกันว่าน่าจะลองทำกระเช้าปีใหม่กัน โดยมีวัตถุประสงค์คือ หวังให้ลูกค้ามีอาหารดีๆ ทาน พร้อมกับผลักดันประเด็นเกษตรยั่งยืนไปด้วย โดยมองของขวัญในกระเช้าไว้ 3 อย่าง ได้แก่
1. ข้าว 2. น้ำผึ้ง 3. งา

“ในการทำเรื่องนี้ มีเพื่อนเป็นคนออกทุน ส่วนผมเป็นคนหาของโดยมี connection จากเชียงใหม่ ตอนนั้นเราก็ยังไม่รู้จักหรอกว่าน้ำผึ้งแท้หรือไม่แท้ดูอย่างไร แต่รู้ว่าคนนั้น คนนี้ขายน้ำผึ้งดีนะ เมื่อเรามีน้ำผึ้งดีแล้ว ได้ข้าวจากเครือข่ายมาแล้ว งาก็มีแล้ว แต่กลายเป็นว่าเมื่อได้ของมาแล้ว และกำลังแพ็คของเตรียมส่ง เพื่อนก็แจ้งมาว่าผู้ใหญ่ของเขามองว่าสินค้าเรา ไม่มี อย. เดี๋ยวจะมีปัญหาทีหลัง เราจึงต้องล้มโปรเจ็กต์ แล้วก็กลายเป็นว่าน้ำผึ้งชุดแรกที่เราซื้อมา 100 ขวดนั้น ไม่ได้จัดส่ง ปรากฏว่าเราทำธุรกิจเจ๊งตั้งแต่ในมุ้งน่ะครับ”

วีรวิชญ์บอกเล่าอย่างตรงไปตรงมา และอธิบายว่า จากโปรเจ็กต์ที่ล่มลง กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้นำน้ำผึ้งออกมาขาย เมื่อรวมกับน้ำผึ้งที่เขามีอยู่แล้วในมือ จึงทำให้มีมากพอ กอปรกับเขาได้เริ่มไปเรียนรู้กับเครือข่ายที่ขายน้ำผึ้งซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เครือข่ายดังกล่าวใช้น้ำผึ้งจากต่างประเทศ ขณะที่น้ำผึ้งของวีรวิชญ์เป็นน้ำผึ้งไทย






จากน้ำผึ้ง 8 รสชาติ สู่น้ำผึ้งมากกว่า 400 ตัวอย่าง

เนื่องจากเขาเป็นนักสะสมน้ำผึ้งที่เก็บสะสมด้วยความเชื่อมั่นว่าพันธุกรรมของพันธุ์พืชและสินค้าด้านเกษตรยั่งยืนในไทยนั้นมีความหลากหลายและคุณภาพดี

“ผมจึงมองประเด็นว่า ถ้าเช่นนั้นเราก็มาทำน้ำผึ้งไทยดีกว่า โดยเริ่มแรกที่ผมขาย มีน้ำผึ้งเพียงแค่ 8 รสชาติ กระทั่งวันนี้ เข้าสู่ปีที่ 8 แล้ว ผมมีน้ำผึ้งตัวอย่าง มากกว่า 400 ตัวอย่างแล้วครับ”

แล้วหากย้อนกลับไปช่วงที่คุณเริ่มทำเกษตรอินทรีย์นั้น มีที่มาอย่างไร

วีรวิชญ์ตอบว่าก่อนที่จะหันมาทำเกษตรอินทรีย์นั้น เขาเคยเป็นครูสอนว่ายน้ำที่จังหวัดภูเก็ต

“ผมมองว่าการสอนว่ายน้ำรายได้ดีก็จริง แต่ปัญหาคือเมื่อถึงช่วงหน้าฝนเราสอนไม่ได้ เพราะช่วงนั้นไม่มีเด็กมาเรียน เนื่องจากผู้ปกครองกลัวลูกไม่สบาย เราก็ไม่มีรายได้ ผมจึงมองหาทางออกว่ามีอาชีพอะไรที่ทำให้เรามีความสุข คือ ผมไม่ได้มองถึงความร่ำรวยนะครับ ผมถามตัวเองว่าอาชีพไหนที่เราทำแล้วมีความสุข แล้วเราได้อยู่กับครอบครัว ผมก็มองว่าการทำเกษตรนี่แหละครับ อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่อด แม้เราจะไม่รวย เมื่อมองอย่างนี้แล้ว ผมก็กลับมาทำการเกษตร
และใช้คำว่า ‘บำรุงสุข’ ตั้งแต่นั้นเลยครับ”

ถามว่า จากที่เป็นคนสะสมน้ำผึ้ง เมื่อตั้งใจที่จะจริงจังในเรื่องของน้ำผึ้งป่าแล้ว ต้องใช้ระยะเวลาในการสั่งสมองค์ความรู้นานแค่ไหน อย่างไรบ้าง

วีรวิชญ์ตอบว่าการหาความรู้ในเรื่องนี้ ต้องเป็นคนช่างสังเกต โดยตัวเขามองว่าต้องมี 3 ประการ คือ ประการที่ 1. ชอบตั้งโจทย์ ตั้งประเด็น
ประการที่ 2. เข้าใจในวิธีการเกษตร เช่นเข้าใจว่าข้าวไทยมีมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ ซึ่งคุณลักษณะของแต่ละสายพันธุ์ขึ้นอยู่กับว่าปลูกในพื้นที่น้ำท่วมถึง หรือข้าวดอย การปลูกในแต่ละพื้นที่ย่อมให้ลักษณะที่แตกต่างกัน

“ข้าวที่มีมากว่า 20,000 สายพันธุ์ เรายังอยากชิมใช่ไหมครับ กล้วยไทย กล้วยน้ำว้าก็มีหลายสายพันธุ์ แต่สำหรับน้ำผึ้ง เมื่อเราชิมเรารู้แค่ว่าน้ำผึ้งนี้มีรสขมนะ อันนี้รสเปรี้ยวนะ อันนี้รสหวานนะ อันนี้มีรสหอมนะ”




“เมื่อผมขายน้ำผึ้ง ผมก็ทดลองชิมกับลูกค้า ดังนั้น ลูกค้าจึงเป็นทั้งครูให้ผม แล้วผมก็เป็นครูให้ลูกค้า ผมก็ชิมไป จับประเด็นไป จากนั้นก็ไปศึกษาความรู้จาก น้องๆ ที่เขาทำกาแฟ ภรรยาผมเขาก็ทำกาแฟด้วย เราก็มีวิธีการคิดแบบกลุ่มที่เขาทำกาแฟ ที่เขาก็มีการ Taste แบบ Taste Note ว่ารสชาติมีกี่กลุ่ม ผมก็มาศึกษาดูพบว่าน้ำผึ้งก็มีหลายกลุ่มเหมือนกัน สังเกตเห็นว่าน้ำผึ้งไทยมีหลายแบบ”

“หลังๆ มาเราก็เริ่มมีเพื่อนหลากหลายมากขึ้น เพราะเมื่อเราเดินทางมากขึ้น เลี้ยงผึ้งด้วย เราก็มีโอกาสได้รู้จักกลุ่มที่เฃาทำด้านนี้ อย่างเช่น ทำน้ำหวานจากผึ้งในแต่ละภูมิภาค เมื่อเขาส่งมาให้เราแล้วเรามีตัวอย่างเยอะขึ้น สิ่งที่เราได้รับก็คือมีมิติของความรู้ที่กว้างขึ้น ลึกขึ้นครับ”




สัมผัสมิติแห่งรสชาติ ผ่าน ‘บ้าน’ แห่งความหวาน

เมื่อขอให้ช่วยยกตัวอย่างว่า เวลาที่คุณชิมน้ำผึ้ง คุณจะได้กลิ่นอะไรบ้าง
วีรวิชญ์บอกเล่าได้อย่างเห็นภาพว่า “ผมใช้คำเพื่อให้เข้าใจง่ายแบบนี้แล้วกันนะครับ ผมเปรียบน้ำผึ้งเหมือนบ้านหนึ่งหลังที่เขียนว่า ‘หวาน’ เป็นรสหวาน"

"เมื่อคุณเข้ามาในบ้านก็จะพบว่ามีห้องต่างๆ
ห้องด้านซ้ายเป็นห้องแรก อาจจะเป็นคำว่า ‘เปรี้ยว’ หลังจากที่คุณชิมเข้าไป
แล้วห้องถัดมาอาจจะเป็น ‘ขม’
ห้องถัดมา อาจจะเป็น ‘หอม’ แต่ทั้งหมด จะมีคำว่า ‘หวาน’ ติดอยู่เสมอ
เพียงแต่ว่า การยืนตำแหน่งของแต่ละห้องอาจไม่เท่ากัน"


"จริงๆ แล้วการชิมน้ำผึ้งไม่ได้ยากครับ แต่เราอาจจะต้องจับประเด็น เพราะเราเป็นครู เราจึงมีวิธีการสอนในแบบของเรา ที่ทำให้ลูกค้าเข้าใจง่าย แต่ที่เหลือเป็นเรื่องของประสบการณ์ที่จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อผ่านการชิม
เราชิมแล้ว ได้รสอะไรเราก็ต้องระบุไปตรงๆ แบบนั้นเลยครับ ตามที่เรารู้สึกเลย”

‘วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์’ ผู้ก่อตั้ง ‘บำรุงสุขฟาร์ม’ ผู้เชี่ยวชาญและนักสะสมน้ำผึ้งป่า
มุ่งหวังอนุรักษ์ผึ้งโพรงไทย

เมื่อถามว่า คุณเลี้ยงผึ้งเองไหม
นักชิมน้ำผึ้งผู้นี้ตอบว่า “เลี้ยงครับ จริงๆ แล้วผมคุยกับเพื่อนๆ ไว้ด้วยว่าอยากทำการอนุรักษ์ผึ้งโพรงไทย เนื่องจากผึ้งพันธุ์พื้นเมืองของไทยเริ่มเหลือน้อย เพราะคนกลัวผึ้ง คนส่วนใหญ่อาจไม่ได้รักผึ้ง ไม่เข้าใจว่าผึ้งให้ประโยชน์อะไร อาจเข้าใจว่าผึ้งให้น้ำหวาน หรือถ้ามีผึ้งอยู่ในบ้านก็กลัวว่าจะอันตราย เป็นต้น

"ผมเองก็เคยไปเอาผึ้งจากบ้านเพื่อนมา เพราะผึ้งทำรังอยู่ในยางรถยนต์ เราก็ทำการย้ายจากยางรถยนต์มาใส่ลังที่เป็นกล่องไม้ ทำให้เหมือนเป็นบ้านของผึ้ง เหมือนผึ้งพันธุ์ เช่น หากเราไปซื้อน้ำผึ้งตามภาคเหนือ เราจะเห็นผึ้งโพรงในลัง ในกล่อง เราก็ทำลักษณะนั้น คือนำผึ้งธรรมชาติมาใส่ไว้ในรัง แล้วเค้าก็ออกหากิน เมื่อเรามีการจัดการที่ดีเราก็นำเค้ามาทีละรวง ค่อยๆ ทยอยนำมา แบ่งน้ำหวานออกมา แล้วนำตัวอ่อนไปไว้ในรังเหมือนเดิม ซึ่งไม่รบกวนระบบนิเวศของเค้า”






หลากรสล้วนสะท้อนระบบนิเวศ : เอกลักษณ์น้ำผึ้งป่าเมืองไทย

เมื่อขอให้ช่วยเล่าว่าเอกลักษณ์สำคัญของน้ำผึ้งป่าของไทย มีอะไรที่โดดเด่น เป็นพิเศษบ้าง
วีรวิชญ์ตอบว่า ตนเองก็ยังคงหาความรู้และศึกษาเรื่องน้ำผึ้งป่าอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งเคยมีโอกาสได้พบอาจารย์ที่ท่านเป็นปราชญ์ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำผึ้งป่าของไทยคนหนึ่ง ซึ่งท่านอยู่ที่จังหวัดราชบุรี เคยไปนั่งฟังท่าน ทำให้ทราบว่าท่านก็มีการเก็บตัวอย่างน้ำผึ้งในแบบของท่าน ส่วนเราก็มีการเก็บน้ำผึ้งในแบบของเรา

“สิ่งที่เราได้เห็นก็คือ ประการแรก ระบบนิเวศย่อมสะท้อนถึงรสชาติของน้ำผึ้ง น้ำผึ้งจากแต่ละภูมิภาคให้ รสชาติไม่เหมือนกัน
ประการที่ 2. น้ำผึ้งไทยมีการหมักตัวเองได้ตลอดเวลา ซึ่งน้ำผึ้งต่างประเทศไม่มีการหมักตัวเอง เนื่องจากน้ำผึ้งต่างประเทศส่วนใหญ่จะเป็นเขตหนาว เขตเย็น​ เมื่อถึงหน้าร้อนจึงจะเริ่มมีน้ำหวาน แต่ของไทยเรา เราเป็นเขตร้อน รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ลาว พม่า เหล่านี้ล้วนเป็นเขตร้อน ส่วนไทย อยู่ในเขตยุทธศาสตร์ที่ดี มีน้ำผึ้งในป่าที่หลากหลาย”

วีรวิชญ์ยกตัวอย่างว่า ไทยมีทั้งน้ำผึ้งจากป่าดิบชื้นซึ่งเป็นป่าทางภาคใต้ โดยภาคใต้มีป่าสามลักษณะ
คือ ‘ป่าเขา’ อาทิ เทือกเขาบูโด เทือกเขาบรรทัด
‘ป่าดิบชื้น’ เช่น ป่าในจังหวัดยะลาและจังหวัดนราธิวาสธิวาส

นอกจากนั้น ภาคใต้ยังมี ‘ป่าพรุ’ ที่ครอบคลุมพื้นที่ป่าพรุควนเคร็ง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงป่าพรุที่ทะเลน้อย
โดยน้ำผึ้งจะมีกลิ่นของป่าที่เป็นแบบเฉพาะ เมื่อเราชิม เราจะรู้ได้เลยว่าน้ำผึ้งนี้มาจากป่าพรุ ซึ่งเป็นการหมักหมมจากทั้งการทับถมของใบไม้ ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม

ยังมีป่าประเภทต่อมาคือ ‘ป่าชายเลน’ ซึ่งลักษณะน้ำผึ้งของป่าชายเลนก็จะมีกลิ่นเฉพาะ มีรสชาติน้ำผึ้งที่ไม่เหมือนกัน ได้มาจากทั้งพันธุ์ไม้อย่างเช่นเสม็ด แสม โกงกาง เป็นต้น

“แค่ความหลากหลายทางใต้ก็สนุกแล้ว เมื่อมาถึงภาคกลาง ผมก็ต้อง Focus แล้วว่า จะเลือกน้ำผึ้งบ้าน หรือน้ำผึ้งป่า แต่หลักๆ ผมจะเลือกน้ำผึ้งป่า เพราะไม่ว่าการปนเปื้อนของสารเคมี หรืออากาศและปัจจัยหลายๆ อย่าง ล้วนมีผลทั้งสิ้น แต่เรามักมองข้าม เนื่องจากบ้านเราไม่มีการพูดถึงสารเคมีปนเปื้อนในน้ำผึ้ง แต่ในต่างประเทศมีการตรวจสอบสารเคมีที่ปนเปื้อนในน้ำผึ้ง อาจจะเป็นเพราะว่าผึ้งในประเทศเขาอยู่ในเขตเมือง
แต่ของเรา ผมจะ Focus ว่าป่าที่เราจะได้น้ำผึ้งมานั้น เราจะเลือกป่าผืนใหญ่ เช่น ป่าจากเทือกเขาตะนาวศรี ป่าตะวันตกไล่มาจากจังหวัดตาก ถึง จังหวัดเพชรบุรี
ซึ่งส่วนใหญ่น้ำผึ้งจากป่าตะวันตก เราจะได้มาจากตาก ผมมีรุ่นพี่ที่เขาทำวิจัยอยู่ เป็นแหล่งที่เราซื้อขายกันประจำ”

ถามถึงเอกลักษณ์ของน้ำผึ้งป่าจากภาคเหนือบ้าง ว่าเป็นอย่างไร

วีรวิชญ์ตอบว่า “น้ำผึ้งที่ดีในมุมของผม ในส่วนของผม ผมชอบของจังหวัดตาก และจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งที่แม่ฮ่องสอนมีป่าสักที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
ป่าบ้านเราในโซนนี้ค่อนข้างสมบูรณ์และมีกลิ่นเฉพาะ ส่วนเชียงใหม่ เชียงราย ส่วนใหญ่จะเป็นผึ้งเลี้ยง เนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำผึ้งไทย ร้อยละ 90 อยู่ในภาคเหนือทั้งสิ้น”

ถามว่ากลุ่มลูกค้าน้ำผึ้งของคุณมีใครบ้าง
วีรวิชญ์เล่าว่า “ลูกค้าของเราเริ่มจากคาเฟ่ที่เราตั้งธงไว้ แต่ทุกวันนี้ ลูกค้ามีทุกกลุ่มจริงๆ ครับ มีทั้งคาเฟ่ มีบาร์ มีผู้ประกอบการโรงแรม มีกลุ่มที่ทำชีสซึ่งเขานำชีสมา Pairing (หมายเหตุ : การจับคู่เครื่องดื่มกับวัตถุดิบหลักของอาหาร ) กับน้ำผึ้ง มีกลุ่มนักสะสม มีแพทย์แผนไทย เป็นต้นครับ”

อดถามไม่ได้ว่าเมื่อเอ่ยถึงการสะสมน้ำผึ้ง คุณสะสมไปเพื่ออะไร
วีรวิชญ์ตอบว่า “จริงๆ แล้ว เริ่มแรกผมก็ไม่ได้คิดว่าเราจะเป็นนักสะสมนะครับ แต่ผมอยากมีตัวอย่างไว้เพื่อสำหรับเช็ครสชาติ ว่าปีนี้เราได้น้ำผึ้งแบบไหนมาบ้าง”




รสชาติน้ำผึ้ง ตัวชี้วัดธรรมชาติ

เมื่อเริ่มเก็บน้ำผึ้ง ทำให้วีรวิชญ์ตระหนักว่าเราสามารถนำรสชาติของน้ำผึ้งมาเป็นตัวชี้วัดธรรมชาติได้ว่าปีนี้ป่าสมบูรณ์ไหม ปีนี้เกิดอะไรขึ้น ปีนี้ฝนตกเยอะไหม รสชาติน้ำผึ้งเป็นแบบไหน ปีที่แล้ง รสชาติน้ำผึ้งเป็นแบบไหน

“แล้วในปีนี้ผมก็เล่าให้ฟังได้ว่า เราพบปัญหาใหม่ คือผึ้งไม่เข้า น้ำผึ้งน้อย ป่าหาย แม้แต่ป่าชุมชนก็น้อยลง เพราะจริงๆ แล้ว น้ำผึ้งต้องส่งมาตั้งแต่เดือน 12 คือเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว เมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ผมต้องมีของที่เตรียมส่งจนแน่นแล้ว แต่นี่ผมยังไม่ได้จ่ายเงินซื้อน้ำผึ้งเลย ผมทำงานกับชาวบ้าน เราเป็นเกษตรอินทรีย์ เราเข้าใจห่วงโซ่ของระบบนิเวศ”

ถามว่าน้ำผึ้งที่ดีมีอายุกี่ปี

วีรวิชญ์ตอบว่า “น้ำผึ้งที่ผมได้มา เก่าที่สุดคือ ปี พ.ศ.2510 อายุ 57 ปี เป็นอุตสาหกรรมน้ำผึ้งจากจังหวัดลำปาง เขาเขียนว่าเป็นน้ำผึ้งลำปาง 201 เกาะคา น้ำผึ้งเป็นน้ำตาลที่มีชีวิต มีจุลินทรีย์ น้ำผึ้งจึงเป็นน้ำตาลที่ดี เป็นน้ำตาลจากธรรมชาติ นี่คือที่เก่าที่สุดที่เรามีนะครับ ที่เหลือส่วนใหญ่จะอยู่ที่อายุ 30 กว่าปี”

วีรวิชญ์เล่าเพิ่มเติมด้วยว่า “ปีนี้ผมทำน้ำผึ้งเป็นปีที่ 8 แล้วครับ สามารถระบุได้ว่าเดือน 1 น้ำผึ้งใช้เกสรดอกอะไร เดือน 2 ใช้ดอกอะไร เนื่องจากเรามีนายพรานชำนาญการของเรา ซึ่งเขาช่วยดูให้เราได้ว่าเดือนนี้ ดอกไม้อะไรเยอะ แล้วผึ้งตอมเยอะ”






แล้วเอกลักษณ์ของน้ำผึ้งป่าจาก ‘บำรุงสุขฟาร์ม’ คืออะไร

ผู้เชี่ยวชาญน้ำผึ้งรายนี้ตอบว่า “เอกลักษณ์ของเราจริงๆ ก็คือคำว่าน้ำผึ้งไทยนี่แหละครับ ด้วยความเป็นเขตร้อนของบ้านเรานี่แหละ น้ำผึ้งไทยมีความหลากหลายของพันธุกรรม พันธุ์ไม้เราเยอะ
“สมดังคำโบราณที่เค้าบอกว่า ‘น้ำผึ้งไทยเป็นน้ำผึ้งเดือนห้าจากเกสร 108 ซึ่งคำว่าเกสร 108 ก็หมายถึงความหลากหลายของระบบนิเวศ เป็นน้ำผึ้งดี"

“นอกจากนั้น สิ่งที่ผมพยายามบอกลูกค้าเสมอก็คือการยกตัวอย่างถึง ‘มานูก้า ฮันนี่’ (Manuka Honey)
ชื่อนี้มีที่มาจากต้นไม้ชื่อมานูก้าซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ( หมายเหตุ : Manuka Honey เป็นน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งที่ผสมเกสรกับต้นมานูก้าซึ่งมีแหล่งกำเนิดในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ )
มานูก้า ฮันนี่ เขามีใบ certificate มีงานวิจัยที่รับรองมาแล้วว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งน้ำผึ้งบ้านเราเมื่อเทียบกับมานูก้า ฮันนี่แล้ว เราสู้ได้สบายเลย เพียงแต่ว่าคนไม่ค่อยรู้จักน้ำผึ้งไทย"

“องค์ความรู้ด้านนี้ เมื่อเราออกงานแต่ละงาน เราพยายามแบ่งปัน เราอาจไม่ได้พิมพ์ ไม่ได้ลงข้อมูลในเพจเฟซบุ๊คของเราว่าดียังไง แต่เราอาศัยว่าถ้าลูกค้าอยากเรียนรู้ก็มาที่บูธเราได้ในเวลาที่เราไปออกงานต่างๆ
แต่ผมก็ยังมีความฝันว่า ถ้าผมหาทุนได้แข็งแรงกว่านี้ ผมก็อยากทำหนังสือเอาไว้ เพื่อที่จะเป็นข้อมูลที่จะส่งต่อให้กับผู้ที่อยากทำน้ำผึ้งว่าต้องมีอะไรบ้าง”






เชื่อมโยงองค์ความรู้เกษตรอินทรีย์กับการเลี้ยงผึ้ง

หากเชื่อมโยงการทำเกษตรอินทรีย์ของคุณกับการทำน้ำผึ้ง สิ่งเหล่านี้ส่งเสริม หนุนเสริมกันอย่างไรบ้าง

วีรวิชญ์ตอบว่า “สิ่งที่หนุนเสริมกันจริงๆ อย่างเห็นภาพก็คือเรื่องของห่วงโซ่อาหารครับ โดยเฉพาะในเรื่องของการปลูกผักหรือปลูกดอกไม้ให้เป็นอาหารผึ้ง"

"เราอาศัยการสังเกตว่าผึ้งชนิดไหน ตอมดอกไม้ชนิดไหน เพราะเค้ามีกลุ่มอาหารของเค้า เช่นใบแมงลัก โหระพา พริก ก็จะมีผึ้งมิ้มที่เป็นผึ้งเล็กและมีชันโรงตอม (หมายเหตุ : ชันโรง หรือ Stingless Bee คือแมลงกลุ่มเดียวกับผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กใน)
ถ้าเป็นดอกพวงชมพู ดอกมะขาม ก็จะเป็นผึ้งโพรงกับผึ้งหลวงตอม
ถ้าเรามีพื้นที่ก็ปลูกดอกไม้และผักเหล่านี้ทิ้งไว้ จะเป็นอาหารให้ผึ้งได้ เมื่อผึ้งมาตอม สิ่งที่เราได้คือการผสมเกสร"




วีรวิชญ์ยกตัวอย่างให้ฟังว่า "ผมเคยเก็บข้อมูลของพริกที่ผมปลูก ผมทำเกษตรอินทรีย์ ผมเชื่อมั่นว่าผมปรุงดินได้ ผมทำฮอร์โมนให้เค้าได้ แล้วเปลี่ยนธาตุอาหาร ระหว่างช่วงวัยของเค้าได้

“ในช่วงเริ่มต้น ถ้าเปรียบต้นไม้เหมือนคน เป็นเด็กน้อย ต้องการนม เพื่อเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง สำหรับต้นไม้ก็คือ เค้าต้องการไนโตรเจน เมื่อต้นไม้โตขึ้น เราก็เปลี่ยนสูตรปุ๋ยอินทรีย์ เค้าก็มีการออกดอก ปัจจัยเสริมก็คือ แมลงจะมาช่วยผสมเกสร ถ้าไม่มีการผสมเกสร เกสรก็ร่วงโรย

"ตัวอย่างที่เห็นชัดที่สุดจากการผสมเกสร เช่น มะละกอ มะม่วง ทุเรียน
ลูกที่ได้ทรงสวยและถูกส่งออกไปต่างประเทศ นั่นคือมีการผสมเกสรอย่างสมบูรณ์ 100 % นี่คือภาพที่เราเห็นจากการทำเกษตรอินทรีย์

“อย่างเช่น พริกขี้หนูสวนของผม ผมปรุงดินได้ ต้นพริกของผมสูง 2 เมตรเลยนะครับ ใบพริกของผมยาวประมาณ 22 เซนติเมตร ใหญ่กว่าฝ่ามือผม แล้วเม็ดพริกเท่านิ้วชี้ครับ แต่ปัญหาคือเราปรุงดินได้ดีมากแต่ผู้บริโภคไม่กล้ากินเพราะว่าเขากลัว อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อคือ ผมทำให้ดินดีได้ ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ แต่ผมผสมเกสรไม่ได้
วันนั้น ผมเลี้ยงชันโรงอยู่ 20 กล่อง สิ่งที่เราได้จากการเก็บข้อมูลคือ พริกเราทรงพุ่ม กว้าง 2 เมตร สูง 2 เมตร จำนวนพริกที่เรานับได้คือ 1,580 เม็ด

"เราจึงสรุปได้ว่า เราไม่ต้องปลูกพริกเยอะ ปลูกแค่ 7 ต้นก็เพียงพอ หรือ 14 ต้น ในพื้นที่ของเรา แล้วเราเก็บ 2 ต้นต่อ 1 วัน ซึ่งเพียงแค่ 1 ต้น ผมต้องใช้เวลาเก็บเกือบ 3 ชั่วโมงนะครับ นี่คือข้อมูลที่ผมทำ

"นอกจากนี้ สิ่งที่เราเห็นคือผึ้งใหญ่ ผึ้งโพรง เขาจะไม่ตอมดอกเล็กๆ เราก็ต้องเลี้ยงอีกชนิดหนึ่ง
ก่อนหน้านี้ผมเคยเป็นประธานวิสาหกิจชุมชน ผมก็เคยแนะนำว่าแต่ละกลุ่มต้องมีชันโรงไปเลี้ยง เพื่อเป็นตัว Jigsaw ของระบบนิเวศในสวน ทุกสวนควรต้องมี”




คำถามทิ้งท้าย ถ้ามีผู้สนใจอยากเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์และเรื่องน้ำผึ้งป่าจากคุณ ติดต่อได้ทางใดบ้าง

วีรวิชญ์ตอบอย่างถ่อมตนว่า “ติดต่อได้ทางแฟนเพจเฟซบุ๊คของเรา คือ BUM RUNG SUUK artisan natural honey ครับ เพียงแต่ในเรื่องขององค์ความรู้ เราเองก็ยังต้องสั่งสมอีกมาก จึงยังไม่ได้เปิดสอนเป็นทางการ เรียกว่าเรายังอยู่ในช่วงของ ‘ระหว่างการเดินทาง’ แต่ถ้าเป็นเรื่องของรสชาติ เรื่องการจับคู่กับอาหาร เรามีหลักสูตรสอนอยู่ครับ” คนรักน้ำผึ้งผู้นี้ระบุ
……….


Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : วีรวิชญ์ อินทร์ประยงค์, Facebook Fanpage : BUM RUNG SUUK artisan natural honey