เทรนด์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพและรักษ์โลกในปัจจุบันกำลังขับเคลื่อนตลาดโปรตีนทางเลือกในประเทศไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด และเริ่มได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กับความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เลือกรับประทานอาหารที่ยั่งยืนมากขึ้น
จากข้อมูลงานวิจัยตลาดโปรตีนพืชในไทยมีมูลค่า 4,100 ล้านบาท (ปี 2565 ) และคาดการณ์ว่าจะแตะ 6,500 ล้านบาทภายในปี 2568 เติบโต 5.1% แม้จะน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ถือว่ายังมีศักยภาพน่าจับตามอง เผยให้เห็นว่าตลาดโปรตีนทางเลือกยังมีโอกาสเติบโตสูง สะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ มองหาอาหารที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความยั่งยืน โดยกลุ่มสินค้าที่มีการเติบโตสูง ได้แก่ กลุ่มนมจากพืช มีการเติบโต 12.7% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มพร้อมรับประทาน เติบโต 9.4% กลุ่มขนมขบเคี้ยวเติบโต 7.3% และกลุ่มโปรตีนเสริมเติบโต 6.1% โดยผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z และ Millennials จะเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มบริโภคโปรตีนทางเลือกมากที่สุด ตลาดโปรตีนทางเลือกในต่างประเทศก็มีการเติบโตสูง เช่น อเมริกา ยุโรป ซึ่งธุรกิจอาหารขนาดใหญ่เริ่มหันมาลงทุนในธุรกิจโปรตีนทางเลือกกันมากขึ้นแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมดิ อินเตอร์เนชั่นแนล มองว่าตลาดโปรตีนทางเลือกยังเผชิญความท้าทายเป็นอย่างมากทั้งด้านราคาเพราะโปรตีนทางเลือกยังมีราคาสูงกว่าเนื้อสัตว์ทั่วไป ผู้บริโภคยังเข้าถึงได้ไม่มากนัก สินค้ายังมีวางจำหน่ายในบางพื้นที่ พฤติกรรมผู้บริโภคที่มีผู้บริโภคบางกลุ่มยังไม่คุ้นเคยกับรสชาติและเนื้อสัมผัสของโปรตีนทางเลือก รวมถึงการแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดโปรตีนทางเลือก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอาหารเสริมโปรตีนทางเลือกก็ยังเป็นโอกาสสำหรับการพัฒนาสินค้าให้ตรงกับเทรนด์และความต้องการของผู้บริโภค โดยการพัฒนาสินค้าโปรตีนทางเลือกให้มีคุณภาพ รสชาติอร่อย และมีความสะดวกในการรับประทาน เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยเจาะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น วัยรุ่น วัยทำงาน ผู้รักสุขภาพ โดยมีราคาที่จับต้องได้ อีกทั้งยังสามารถขยายช่องทางการจำหน่ายให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายเน้นช่องทางจำหน่ายออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องเน้นกลยุทธ์ด้านการสื่อสารจุดเด่นของสินค้า เช่น คุณค่าทางโภชนาการ ความยั่งยืน การรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อม สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโปรตีนทางเลือกให้ผู้บริโภครับรู้มากขึ้น