หน่วยงานภาครัฐบึงกาฬร่วมแก้ปัญหาข้อพิพาทแนวเขตป่าสงวนไม่ชัดเจนทับซ้อนที่ทำกินชาวบ้าน “ห้วยเล็บมือ” ริมน้ำโขง หลังผู้ว่าฯ รับปากช่วย ด้านตัวแทนกรมป่าไม้ยอมรับปัญหาเกิดจากอดีตมีการกำหนดแนวเขตหลายรอบ แต่พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายดูแลชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอบุ่งคล้า จ.บึงกาฬ มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาข้อร้องเรียนชาวบ้านหมู่บ้าน บ้านห้วยเล็บมือ ต.หนองเดิ่น อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ ที่ได้รับผลกระทบจากการขีดเส้นแนวป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงภูวัว ซึ่งการประชุมเป็นไปตามคำสั่งของ นายจุมพฏ วรรณฉัตรสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัด บึงกาฬ
นายนคร ศิริปริญญานันท์ รองผู้ว่าราชการจัดหวัดบึงกาฬ ในฐานะประธานในที่ประชุม กล่าวว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมารับฟังปัญหาของชาวบ้าน ประกอบด้วยตัวแทนสำนักจัดการทรัพยากร ป่าไม้ที่ 6 อุดรธานี (รับผิดชอบเขตบึงกาฬ) ป่าไม้จังหวัด ปฏิรูปที่ดินจังหวัด สำนักงานที่ดินจังหวัด ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และนายอำเภอบุ่งคล้า พร้อมทั้งมีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบจุดที่มีปัญหาด้วย
ทั้งนี้ เบื้องต้นได้ชี้แจงชาวบ้านว่า สำหรับชาวบ้านที่มีเอกสารแสดงสิทธิที่ดินทำกินอยู่แล้ว ถึงแม้จะอยู่ทับซ้อนกับพื้นที่เขตป่าสงวน ก็สามารถไปยื่นคำร้องขอออกเป็นโฉนดได้ เป็นรายๆไป ส่วนชาวบ้านรายที่มีที่ดินในเขตพื้นที่ทับซ้อนกับป่าสงวนต้องขอให้ชะลอการออกเอกสารสิทธิไปก่อน จนกว่าจะมีขอข้อสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังใช้ประโยชน์ในที่ดินที่มีปัญหาดังกล่าวได้แต่ต้องไม่ทำผิดกฎหมายป่าไม้เช่น นำดินไปขาย ตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น
รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวต่ออีกว่า ส่วนกรณีที่ชาวบ้านเรียกร้องให้เดินออกสำรวจรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดตามนโยบายรัฐ (บอกดิน) ประจำปี 2567 นั้น จากการประสานทราบว่าในพื้นที่บ้านห้วยเล็บมือยังไม่ถึงคิวของการออกเดินสำรวจ แต่หลังจากนี้จะทำบันทึกรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ ให้ทราบข้อมูลที่เป็นจริง ซึ่งในเร็วๆ นี้ผู้ว่าราชการจะได้นัดประชุมกับคณะกรรมการถ่ายทอดแนวเขตป่าอีกครั้ง เพื่อสรุปหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป
ด้านนายทรัพย์สิน จงดี ผู้อำนวยการส่วนจัดการที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากร ป่าไม้ที่ 6 (อุดรธานี) กล่าวยอมรับว่า ภาครัฐได้ทำการประกาศและออกกฎหมายแนวเขตป่าสงวนหลายครั้ง จึงทำให้มีแนวเขตหลายแนว รวมทั้งมีการออกเอกสารแสดงสิทธิทำกินในพื้นที่เรื่อยมา ทั้ง ส.ค.1 น.ส.3 ส.ป.ก. แต่อย่างไรก็ตามเป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องทำงานบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชน
นายพรเทพ ท้าวดี สมาชิก อบต. ต.หนองเดิ่น กล่าวว่า ปัญหาแนวเขตป่าทับที่ดินทำกินในพื้นที่มีมายาวนานและมีการประชุมแก้ไขปัญหามาตลอด กระทั่งในปี 2561 มีข้อตกลงว่าจะยึดระวางแผนที่แนวท้ายกฎกระทรวง 2510 ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ชาวบ้านและหน่วยงานในขณะนั้นเห็นชอบไปแล้ว แต่เมื่อเร็วๆ นี้ทราบว่ากรมป่าไม้จะกลับไปใช้แนวเขตเมื่อ พ.ศ. 2553 ซึ่งไม่มีกฎหมายรองรับ และยังเป็นแนวเขตที่สร้างปัญหาทับซ้อนที่ดินตามสิทธิชาวบ้านอย่างมาก ดังนั้นจึงอยากให้คณะกรรมการที่ผู้ว่าราชการปัจจุบันตั้งขึ้นหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณาด้วย
“ชาวบ้านห้วยเล็บมืออยู่ในพื้นที่มาก่อนประกาศเขตป่า เราถอยร่นออกจากเขตป่ามาตลอด กระทั่งวันนี้ติดน้ำโขงแล้ว เราไม่ต้องการอะไรมากขอเพียงภาครัฐแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน เพื่อให้ชาวบ้านไม่เสียโอกาส เช่นที่ผ่านมาเราเข้าโครงการช่วยเหลือจากภาครัฐไม่ได้เลยเพราะอ้างว่าเราอยู่ในเขตป่า ชาวบ้านขอให้ภาครัฐมีความชัดเจนในแนวเขต และถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ลิดรอนสิทธิประชาชนแค่นั้น ไม่ได้ขอที่ดินเพิ่ม” นายพรเทพกล่าว