xs
xsm
sm
md
lg

เกมการเมือง? “ยาบ้า 5 เม็ด” เป็นผู้ป่วย “ปลูกกัญชา 1 ต้น” จำคุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



วิจารณ์ขรม กฎกระทรวงสาธารณสุข ครอบครองยาบ้า 5 เม็ดเป็นผู้เสพ จะทำให้ยาบ้าระบาดหนัก ซึ่งที่จริงเป็นหลักการที่ใช้มานาน ยุค “ทักษิณ” เป็นนายกฯ เคยให้ถึง 15 เม็ด แต่สิ่งที่ย้อนแย้งกว่า คือการออก พ.ร.บ.กัญชาฯ ห้ามปลูกเอง ใครปลูกแม้ต้นเดียวก็ติดคุก ชี้เป็นเกมการเมืองของเพื่อไทย ด้อยค่าภูมิใจไทย ขณะเดียวกันก็ให้ความหวังก้าวไกล แลกไม่โจมตีนักโทษเทวดา ส่วน ภท.ก็เงียบกริบ จากพรรคที่พูดแล้วทำกลายเป็นพรรคทำแล้วทิ้ง



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวง ว่าด้วย “การกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.2567” ที่ระบุให้ ดำเนินการแบ่งแยกให้ผู้ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องนำไปบำบัด โดยไม่ต้องนำไปต้องโทษ จำคุก ซึ่งทำให้เกิดกระแสการโจมตีจากผู้คนจำนวนมากว่ามันจะทำให้มีผู้ติดยาบ้าหนักมากขึ้น


ขณะที่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ได้มีการร่างพระราชบัญญัติกัญชา กัญชง ฉบับใหม่ ออกมาโดยกระทรวงสาธารณสุขยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีสาระสำคัญ โดยสรุปคือห้ามปลูกเองโดยไม่ได้รับอนุญาต ห้ามสันทนาการทุกรูปแบบ และมีโทษหนักขึ้นกว่ารัฐบาลที่แล้ว


ทั้ง 2 เรื่องนี้มีเรื่องให้น่าพิจารณาและเปรียบเทียบ ได้ในหลายมิติ

เริ่มจากเรื่อง “ยาบ้า” ก่อน ซึ่งความจริงไม่ควรจะมีทัวร์ลงไปที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะว่า “หมอชลน่าน” ไม่ได้เป็นคนเริ่มต้นในเรื่องนี้ แต่เริ่มต้นมานานแล้ว

หลักคิดในเรื่องนี้คือความพยายามแบ่งแยกให้ “ผู้เสพ” เป็นผู้ป่วยและเป็นเหยื่อส่วน “ผู้ค้า” เป็นอาชญากร

ถ้าหลักคิดนี้ถูกแปลว่า “ผู้เสพ” แม้จะครอบครองแต่ไม่ใช่ “ผู้ค้า” ต้องถูกนำตัวไปบำบัดรักษา ไม่ใช่เอาเขาไปเข้าคุก เพราะทุกวันนี้ที่คุกล้นก็เพราะเต็มไปด้วยคดียาเสพติด

อาจจะมีคนคิดว่าการแยกผู้เสพ กับผู้ค้าออกจากกันนั้นเป็นเรื่องยาก และอาจจะเปิดช่องทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตีความ ทุจริตคอร์รัปชั่น หรือรับส่วย ทำให้ผู้ค้ากลายเป็นผู้เสพได้

สำหรับประเด็นนี้ก็คงไม่ใครปฏิเสธว่าเป็นจริง เพราะในสังคมไทยเต็มไปด้วยตำรวจชั่วรับส่วย ตบทรัพย์เต็มไปหมด

แต่ถ้าคิดว่าตำรวจชั่ว ต่อให้ไม่มีกฎหมายแบ่งแยกระหว่าง “ผู้เสพ” กับ “ผู้ค้า” ออกจากกัน ตำรวจก็ทำหลับตาปล่อยผู้ค้ายาเสพติดขายได้อยู่ดี ไม่ต่างจากพนันออนไลน์ที่เปิดเว็บไซต์กันเกลื่อนเต็มไปหมด

แต่ถ้ามีกฎหมายที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงได้ด้วยจำนวนบริโภคของผู้เสพที่เป็นผู้ป่วยจริง อย่างน้อยก็ช่วยลดปัญหาการรับส่วย ตบทรัพย์ของตำรวจ และลดนักโทษในคุกลงได้

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาก็คือ มีที่บำบัดฟื้นฟูยาเสพติดทั่วประเทศเพียงพอจริงหรือไม่ ? เพราะทุกวันนี้ก็มีคิว “คนรอเข้าบำบัด” ยาวเหยียดมาก ?


ทั้งนี้ ภายใต้หลักคิดที่ว่า “ผู้เสพเป็นผู้ป่วย แต่ผู้ค้าคืออาชญากร” นั้น มีประวัติการเดินทางที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

โดยในสมัย รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ปี 2545 กำหนด ครอบครองยาบ้าไม่เกิน 15 เม็ดให้จัดเป็นผู้เสพไม่ใช่ผู้ค้า และให้ส่งตัวไปบำบัดรักษาตามนิยามผู้เสพคือผู้ป่วย ไม่ต้องส่งไปเรือนจำในฐานะผู้ค้ายาเสพติด ส่วนใครครอบครองมากกว่า 15 เม็ดให้ถือว่าเป็นผู้ค้า

ต่อมาใน สมัยรัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 108/2557 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 เรื่องการปฏิบัติต่อผู้ต้องสงสัยว่ากระทำผิดตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟูและการดูแลผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟู ข้อ 1 ระบุว่า“ในกรณีที่ผู้ใดต้องสงสัยว่ากระทำความผิดฐานยาเสพติด หรือเสพและมียาเสพติดไว้ในครอบครอง ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดตามบัญชีท้ายประกาศนี้… หากผู้นั้นยินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ให้เจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติดดำเนินการให้ผู้นั้นเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู”

แลในบัญชีท้ายประกาศนี้ระบุเอาไว้สำหรับยาบ้าสำหรับความผิดฐานเสพและมีไว้ในครอบครองว่า “เมทเอมเฟตามีน(ยาบ้า)มีปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือมีน้ำหนักสุทธิ ไม่เกิน 500 มิลลิกรัม”

แปลว่าถ้าไม่เกิน 5 เม็ดถือว่ามีความผิดฐานเสพและครอบครอง เพียงแต่ว่าในปริมาณเท่านี้ ถ้ายินยอมเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ก็ไม่ต้องนำตัวไปติดคุก ส่วนใครครอบครองเกิน 5 เม็ดให้ถือว่าเป็น “ผู้ค้า”

ซึ่งที่ นพ.ชลน่าน ประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุขนั้น ก็ยึดหลักการเดียวกันนี้ คือไม่ใช่แปลว่าถ้าไม่เกิน 5 เม็ดไม่ต้องติดคุก คำตอบคือต้องติดคุกถ้าไม่ยอมรับการบำบัด แต่ถ้าครอบครองมากกว่า 5 เม็ดให้ถือว่าต้องนำตัวไปติดคุก และมีความผิดฐานค้ายาเสพติดด้วย

ต่อมาใน ปี 2565 ก็เกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ กลายเป็นเรื่องราวโด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก คือ กรณีที่มีนายตำรวจคนหนึ่งถูกจับกุมและดำเนินคดีในข้อหา"ครอบครองยาเสพติด"และให้ออกจากราชการไว้ก่อนใน ช่วงเดือน มกราคม 2565 ซึ่งก็แปลว่าตำรวจคนนี้ต้องครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด


ต่อมาเกิดความเครียด วันที่ 6 ตุลาคม 2565 อดีตตำรวจคนนี้เกิดคลั่ง ก่อเหตุกราดยิงภายในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.อุทัยสวรรค์ จ.หนองบัวลำภู และขับรถชนอีกทั้งไล่ยิงประชาชนตามรายทาง ระหว่างเส้นทางหลบหนีกลับบ้าน ก่อนมาก่อเหตุยิงภรรยา ลูก และตัวเองเสียชีวิต

เหตุการณ์ดังกล่าวประชาชนต่างโกรธแค้นและไม่พอใจ และทำให้นโยบายทางการเมืองเปลี่ยนไป


โดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ได้มีพูดปราศรัยลงพื้นที่ เขตพญาไท เมื่อ วันที่ 29 มกราคม 2566 ว่าพรรคภูมิใจไทยจะเสนอให้มี การแก้กฎหมาย ครอบครองยาบ้า 1 เม็ด เท่ากับผู้เสพ และ 2 เม็ดขึ้นไป เป็นผู้จำหน่าย เพื่อไม่ให้ต้องไปรับโทษในเรือนจำ แต่เกิดการยุบสภาเสียก่อน

แปลว่าใครครอบครองเกิน 1 เม็ดให้เป็นผู้ค้าให้เอาไปติดคุก ไม่ต้องเอาไปบำบัด

แม้จะทำให้ประชาชนถูกใจ แต่ก็แก้ปัญหาไม่ตรงจุดอยู่ดี เพราะ “ผู้เสพยาบ้า” มีมากกว่า “ผู้ค้ายาบ้า” การทำให้ “ผู้เสพ”กลายเป็น “ผู้ค้า” มีโทษหนักทำให้เกิดการรีดส่วยกับผู้เสพง่ายขึ้น และก็ไม่ได้ถูกนำตัวไปบำบัดด้วย

เพราะในความเป็นจริงแล้วการจะกำหนดว่าเป็นผู้ค้าหรือผู้เสพนั้นต้องยึดที่ “พฤติกรรม” ถ้าครอบครองยาเสพติด 2 เม็ด แต่ค้า 1 เม็ด ก็เป็นผู้ค้าได้

ในทางตรงกันข้ามผู้ติดยาเสพติด หากเผลอพกยาบ้าไป 6 เม็ด ตราบใดที่เขาไม่ใช่ผู้ค้า เขาก็เป็นผู้เสพอยู่วันยังค่ำ


ดังนั้นจึงมีคำถามว่าแล้วเราจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร?

คำตอบ คือต้องแก้ไขปัญหารากฐานที่แท้จริงของยาเสพติดคือ “ตำรวจรับส่วย จากพ่อค้ายาเสพติด” จึงทำให้ยาเสพติดยังคงดำรงอยู่ในสังคมไทยถึงทุกวันนี้


กัญชากำลังจะเปลี่ยนนโยบายอีกครั้ง

จากรัฐบาลชุดที่แล้ว ที่ทำให้กัญชาใคร ๆ ก็สามารถปลูกเพื่อการพึ่งพาตนเองด้านการรักษาได้ แต่ถ้าขายจะต้องมีใบอนุญาต

จากมุมมองของผู้ครอบครองยาบ้าน้อย ๆ ว่า “เป็นผู้เสพ” ว่า “เป็นผู้ป่วย” เพราะยาบ้านั้นมีแต่โทษ เป็นสารเคมี เป็นสิ่งเสพติด ที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

แต่ “กัญชา” เป็นมากกว่านั้น คือ มีสรรพคุณเป็นยาชั้นเลิศ โดยผู้ป่วยจำนวนมากต้องการใช้ยากัญชาเพื่อรักษาตัวเองและเพิ่มคุณภาพชีวิตในครัวเรือน เพื่อลดการใช้ยาที่ต้องซื้อหาราคาแพง ๆ เช่น ยานอนหลับ ยาลดความเครียด ยาลดอาการปวด ยาแก้ลมชัก ยาแก้พาร์กินสัน ยาลดผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง เป็นยาทำให้เจริญอาหาร ฯลฯ แต่ถ้าเป็นผลิตภัณฑ์ จะค้าขาย ต้องผ่านมาตรฐานต้องขออนุญาต

ที่หลักคิดนี้เกิดขึ้นมาได้ ก็เพราะในความเป็นจริงแล้ว“กัญชา”เสพติดยากกว่าเหล้าและบุหรี่ ต่างจาก “ยาบ้า” และกัญชาช่วยส่งเสริมสุขภาพได้ ต่างจาก “เหล้าและบุหรี่” ที่ทำลายสุขภาพ


“กัญชา” หากใช้มากทำให้หวาดกลัวจนเข็ดขยาดไม่กล้าใช้เกินขนาดอีก จึงไม่ได้ก่อให้เกิดอาการคลุ้มคลั่งเหมือนเหล้าและยาบ้า

แต่ความจริงจากกงานวิจัยในต่างประเทศ และมีกรณีศึกษาจำนวนมากในประเทศไทย คือมีผู้ใช้กัญชามาช่วยลดการใช้ยาเสพติดที่รุนแรงหรือทดแทนยาเสพติดที่รุนแรง คือ ยาบ้า เฮโรอีน และยามอร์ฟีน เรียกการบำบัดแบบนี้ว่า Harm Reduction ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดการมีศูนย์บำบัดยาเสพติดเสียอีก

ข้อสำคัญการลดปัญหายาเสพติดที่รุนแรงด้วยกัญชา ยังทำให้ลดปัญหาอาชญากรรมจากเหล้าและยาบ้าด้วย

การเมืองเรื่องกัญชา เพื่อไทย vs ภูมิใจไทย

แต่พอเป็นประเด็นการเมือง ก็ทำให้ “กัญชา” กลายเป็นเรื่องที่มีการบิดเบือนความจริง เพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้าม

ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า“กัญชา”ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคหลักที่เดินหน้าในหลักการนี้ แต่เมื่อไม่สามารถชนะการเลือกตั้งเป็นผู้นำการจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายขั้วตรงกันข้ามก็ต้องคิด “กลืนพรรคภูมิใจไทย” ให้มาอยู่ภายใต้อาณัติ “พรรคเพื่อไทย”


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่พรรคภูมิใจไทยมีความสุ่มเสี่ยงกำลังจะโดนคดีอาญา หรือถูกยุบพรรค อำนาจต่อรองของพรรคภูมิใจไทยย่อมเหลือน้อยลงในรัฐบาลชุดนี้ การทำให้พรรคภูมิใจไทยเสื่อมถอยที่สุด ย่อมเป็นเป้าหมายสูงสุด

การทำให้พรรคภูมิใจไทยเสื่อมถอยที่ไม่รักษานโยบายกัญชาของตัวเองได้ คือการด้อยค่าทางการเมือง ประจานต่อประชาชนให้เสื่อมถอยได้อย่างดีที่สุด

จึงเกิดคลื่นความขัดแย้งกันอย่างหนักในพรรคเพื่อไทยกันเอง

“ผมเชื่อว่าในขณะนี้ 2 หมอ คือ “หมอมิ้ง” นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุรีย์เดช และ “หมอเลี้ยบ” นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี น่าจะเป็นคนที่อยากให้ นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง โดยไม่ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา-กัญชงใดๆ” นายสนธิกล่าว


ซึ่งหากทำอย่างนั้น คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดคือบริษัทยาขนาดใหญ่ หรือบริษัทยาข้ามชาติ ส่วนแพทย์แผนไทยคงไม่ต้องมาใช้กัญชาอะไรทั้งสิ้น

ดังนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ขณะนี้กำลังถูกบีบให้นำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

แต่ นพ.ชลน่าน ไม่เห็นด้วย เพราะการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีก จะเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง รวมถึงผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหาร เครื่องดื่ม ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมกัญชา-กัญชงต้องเลิกไปทั้งหมด


ด้วยเหตุผลนี้ นพ.ชลน่าน จึงเลือกหนทางในการ ออก“กฎหมายกัญชา-กัญชง”มาโดยเฉพาะ โดยไม่ต้องกลับไปเป็นยาเสพติด แต่ก็จะเป็นการตรากฎหมายที่เข้มกว่าเดิม เพื่อตอบสนองพรรคเพื่อไทยที่ต้องการถึงระดับนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด

โดยร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ของกระทรวงสาธารณสุขยุคใหม่ออกมาแล้ว คือ

1.เป็นร่างกฎหมายที่ยืนยันว่า ไม่ได้ให้กัญชาเป็นยาเสพติด โดยยึดเอาร่างของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง เป็นหลัก

2.แต่กฎหมายฉบับใหม่นี้การปลูกจะต้องได้รับอนุญาตอย่างเดียวเท่านั้น ใครไม่ขออนุญาตแม้แต่ปลูก 1 ต้น ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้นใครปลูกเอาไว้ที่บ้านเพื่อการพึ่งพาตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ขออนุญาตจะต้องไปโค่นทำลายทิ้ง ไม่ต้องถูกนำไปติดคุกให้หมด

3.กฎหมายฉบับนี้กำหนดห้ามสันทนาการทุกรูปแบบ ห้ามมิให้สถานที่ปลูก ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ที่ใดมีการปล่อยให้มีการสันทนาการ หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนใครไปบริโภคกัญชาเพื่อสันทนาการก็จะมีโทษปรับ 6 หมื่นบาท

แปลว่าร้านกัญชาทั้งหมดจะต้องปิดตัวลงไปทั้งหมด ส่วนใครใช้กัญชาเพื่อคุณภาพชีวิตตัวเองเกิดความรู้สึกบันเทิงส่วนตัวก็ไม่ได้ ต้องฝืนเอาไว้

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับยาบ้า ก็จะเป็นตรรกะที่แปลกมากตรงที่ว่า มียาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดไม่ต้องติดคุกได้ถ้านำไปบำบัดเพียงเพราะเป็นผู้ป่วย

แต่ถ้าเป็นกัญชาปลูกแม้แต่ 1 ต้นโดยไม่ข้ออนุญาตมีโทษจำคุกได้ถึง 1 ปี ทั้งๆ ที่คนเหล่านั้นเขาอาจจะเป็นผู้ป่วยที่แพทย์ไม่ยอมจ่ายกัญชาให้

ถ้าทำแบบนี้ ในที่สุดกัญชาก็จะกลับไปลงใต้ดินใหม่ ที่ไม่มีใครไปควบคุมได้ เพราะตำรวจไทยก็ยังคงรับส่วย รีดไถเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิม

เพียงแต่น่าสงสารตรงที่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชาแต่หมอไม่ยอมจ่าย ก็จะกลับมาถูกรีดไถอย่างน่าเห็นใจอย่างยิ่ง

ความจริง ประเทศไทยควรใช้ประโยชน์จากกัญชาให้ดีกว่านี้ เหมือนประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่ใช้กัญชาเพื่อช่วยลดปัญหาการเสพติดยาเสพติดที่รุนแรง และลดปัญหาอาชญากรรม จนกระทั่งคุกร้าง ต้องปล่อยเช่าให้ต่างประเทศ

โดยในเนเธอร์แลนด์ เขาให้มีร้านกัญชา ที่ห้ามมีเหล้า บุหรี่ และห้ามยาเสพติดอื่นเข้ามาในร้าน กำหนดปริมาณต่อคนให้ใช้ในร้าน ทำให้ควบคุมการใช้ต่อวันได้ และควบคุมได้

และ พอร้านกัญชาเผยแพร่ไปมากขึ้นในพื้นที่ควบคุม ก็ทำให้อัตราการเสพติดยาเสพติดที่รุนแรงลดน้อยลง ส่งผลทำให้อาชญากรรมทั่วประเทศลดลงไปด้วย อีกทั้งยังทำให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนถูกระทบทั้งระบบด้วย

“ผมเชื่อว่าความพยายามนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติดของพรรคเพื่อไทย จะยังคงอยู่ต่อไป เพราะการนำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ให้กับบริษัทยาขนาดใหญ่ ตำรวจที่ต้องการรีดส่วย และยังเป็นการทำลายพรรคภูมิใจไทยด้วย


“และถ้านำกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด นโยบายก็จะเหมือนพรรคก้าวไกล ซึ่งสามารถนำมาแทนพรรคภูมิใจไทยได้ด้วย หรือสร้างความฝันและสร้างความหวังให้กับพรรคก้าวไกล เพื่อไม่ให้โจมตีนายทักษิณ หรือพรรคเพื่อไทย ตามที่นายธนาธร อาจจะมีดีลเอาไว้กับนายทักษิณที่ฮ่องกง

“ผมได้ข่าวมาว่าเพื่อบรรลุภารกิจนี้ จะมีหมอคนหนึ่งที่หนุนให้กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จะมานั่งเก้าอี้เป็นรัฐมนตรีว่การกระทรวงสาธารณสุข แทนหมอชลน่าน

“ซึ่งหมอที่เลื่อยขาหมอชลน่านนั้น ได้เดินสายไปยัง ส.ส.ภาคอีสานให้มาสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีครั้งนี้แล้ว

“ส่วนพรรคภูมิใจไทย เงียบลง ถึงเงียบที่สุด จากพรรคที่ “พูดแล้วทำ” กำลังจะกลายเป็นพรรคที่ “ทำแล้วทิ้ง” และถ้าพรรคภูมิใจไทยเฮงซวยอย่างนั้น การถูกยุบพรรคที่ไม่มีจุดยืน ก็เป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งแล้ว จริงไหมครับท่านผู้ชม”
นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น